สภาผู้แทนราษฎร กำหนดประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 31 พ.ค.- 2 มิ.ย.นี้

โดยมีวงเงินรวมทั้งสิ้น 3.18 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ทั้งสิ้น 8.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 78.2% และรายจ่ายลงทุน 21.8%

รัฐบาลคาดหวังว่าจะเป็นการจัดทำขึ้นมาเพื่อฟื้นฟูประเทศในช่วงหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งความมั่นคง สังคม และเศรษฐกิจ

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าฝ่ายค้านจะไม่เห็นด้วยกับแนวทางการจัดทำงบประมาณลักษณะเช่นนี้ โดยมองว่าจะไม่สามารถแก้ไขและฟื้นฟูประเทศได้เลย

มีการตั้งฉายาว่าเป็นฉบับขอทานเลี้ยงวันเกิด คือไม่มีช่องทางใดที่ก่อให้เกิดรายได้ กระตุ้นเฉพาะการบริโภค แต่ไม่ได้กระตุ้นการผลิต

หรือฉบับช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้ แทนที่จะจัดสรรเพื่อการฟื้นฟูประเทศ แต่กลับเป็นงบที่นำไปใช้ในเรื่องของอดีต และกระจุกตัวอยู่ที่งบกลาง

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่างบการลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลดลง ส่วนใหญ่ใช้ไปกับการสร้างถนนหนทาง แต่งบสวัสดิการกลับไม่ตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลประชาชนในทุกช่วงวัยที่ประสบความเดือดร้อน

ในรายละเอียดทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ คงจะได้ทราบจากการอภิปรายอย่างเจาะลึก รอบด้าน ของทั้ง 2 ฝ่ายตลอดระยะเวลาช่วง 3 วันนี้

ที่น่าตื่นเต้นระทึกใจอีกกรณี ก็คือสมาชิกสภาผู้แทนฯ ในซีกพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งหมดมีแนวทางที่จะลงมติไม่เห็นชอบ ถ้ารัฐบาลไม่นำไปแก้ไขปรับปรุง

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเอง ก็ดูเหมือนว่ามีความหวาดหวั่นวิตกกังวลไม่ใช่น้อย โดยเรียกร้องขอไม่ให้ฝ่ายค้านอย่านำไปเป็นประเด็นการเมือง ด้วยการจับประชาชนเป็นตัวประกัน

เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติงบประมาณมีความสำคัญอย่างมาก หากไม่ผ่านการพิจารณาของสภา นายกรัฐมนตรีจะต้องลาออกหรือประกาศยุบสภา

หากรัฐบาลยอมรับฟังข้อสังเกต ตลอดจนข้อเสนอแนะต่างๆ ของทุกฝ่าย แล้วนำไปปรุงแก้ไขเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน บางทีอาจผ่านศึกใหญ่ในครั้งนี้ไปได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน