FootNote ภาพลักษณ์ กองทัพ กับรัฐบาล กับ “กระแส” เนื่องแต่ “จีที200”

ทำไม “กระแส” ในเรื่องของจีที 200 จึงได้รับความสนใจในสังคมของข่าวสารมากกว่าเรื่องของโดรน และเรื่องของการประมูลท่อส่งน้ำที่อีอีซีระหว่างการพิจารณา “งบประมาณ”
ทั้งๆที่เรื่องทั้งหมดนี้ส่งกลิ่น “เงื่อนงำอำพราง” อันนำไปสู่การตั้งข้อสังเกตเชิงทุจริตและคอรัปชั่นไม่แตกต่างกัน
อาจเป็นเพราะ “จีที 200” ให้ภาพเปรียบเทียบที่ “โลดโผน”
นั่นก็คือ เป็นเรื่องเก่าซึ่งเกิดขึ้นในลักษณะ “ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว” และเพริศแพร้วด้วยตัวละครที่สร้างสีสันให้เป็นอย่างมากทั้ง ระดับโลกและระดับประเทศ
กล่าวในระดับประเทศมีตัวละครซึ่งเป็นคนดังเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยจำนวนมากมาย ไม่ว่าจะเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ว่าจะเป็น คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์
ยิ่งกว่านั้น ยังมี “นักการทหาร” ในระดับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ตั้งแต่ยังครองยศเป็น พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ร่วมอยู่ด้วย
กระนั้น เมื่อนำเอากรณี “จีที 200” เข้าไปวางเรียงเคียงขนานกับกรณีของ “เรือดำน้ำ” จากจีนซึ่งจ่ายเงินไปแล้วแต่ไม่มีเครื่องยนต์ ยิ่งทำให้กลายเป็นเรื่องโจ๊ก
สะท้อนไม่เพียงแต่ภูมิปัญญาที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย หากแต่ยังเป็นภูมิปัญญาของนักการเมือง นักการทหารคนเด่นคนดัง

กรณีของ “เรือดำน้ำ” อาจแสดงให้เห็นถึงกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกองทัพไทยกับบริษัทผลิตเรือดำน้ำของจีนว่ามากด้วยปม อันสลับซับซ้อนและซ่อนเงื่อน
ตกลงกันอย่างดิบดี ผ่านกระบวนการต่างทั้งสภากลาโหมและรัฐสภา แต่ที่สุดกลับเป็นเรือที่ไม่มี “เครื่องยนต์”
ทั้งหมดนี้อาจเป็น “เรื่องตลก” ที่หัวร่อมิได้ ร่ำไห้มิออก
แต่ในกรณีของ “จีที 200” ยิ่งเป็นอภิมหาตลกมากยิ่งกว่าอย่างมหาศาล เพราะว่าผู้ผลิตสัญชาติอังกฤษถูกศาลพิพากษา ลงโทษจำขังตามกฎหมายเรียบร้อยโรงเรียนสหราชอาณาจักรไปแล้ว
กระนั้นในไทยยังมะงุมมะหรา “ทดสอบ” กันในความมืดมน

ไม่ว่าจะมองจากด้านของสำนักอัยการสูงสุด ไม่ว่าจะมองจากพรรคก้าวไกลที่ “แฮ็กกะธอน” รายละเอียดของงบประมาณออกมา ยิ่งกว่ากระจกวิเศษในทางเทคโนโลยี
จึงสอดรับกับอารมณ์ทางสังคมและกลายเป็น “กระแส”
ประกอบกับในโลกยุคดิจิทัลการสอบค้นหลักฐานในทางอิเล็กทรอนิกส์ทำได้อย่างง่ายดาย รวดเร็ว เสียงหัวร่อจึงดังครืน
มองไปยัง “กองทัพ” มองไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน