FootNote ความนิ่ง เปี่ยมกัมมันต์ ฝ่ายค้าน ก่อเกิดการรุกต่อเนื่อง การเมือง

ลักษณะแห่งการกลับไปกลับมาของ “สูตรการเลือกตั้ง” สะท้อนอะไรในทางการเมือง
1 สะท้อนความมุ่งมาด ความปรารถนาที่จะกุมชัยชนะ ขณะเดียวกัน 1 สะท้อนความสะเปะสะปะ ไร้หลักยึด ไร้ทิศทางที่เรียกว่ายุทธศาสตร์อย่างสิ้นเชิง

แม้ผู้กุมทิศทางจะได้ชื่อว่าเป็นทหาร เป็นนักการทหาร
ไม่ว่าจะมองผ่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะมองผ่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ว่าจะมองผ่าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา

เนื่องจากมีความชัดเจนเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกการเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยน “สูตร” ล้วนผลักดันมาจากด้านของกลุ่มที่เรียกตนเองว่า “3 ป.” ทั้งสิ้น

ความนิ่งอันสะท้อนผ่านพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคพลังปวงชนไทย เหมือนกับจะไม่ต่อสู้ แต่กลับกลายเป็นการต่อสู้อย่างแหลมคม
ความหมายจึงหมายความว่า ความสงบกำลังสยบการเคลื่อนไหวอย่างไร้ทิศทางของอีกฝ่ายอย่างทรงความหมาย เนื่องจากยืนยันถึง “การดิ้นรน” เพื่อหนีตายในทางการเมือง

อาการรวนเร เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาระหว่างสูตร 100 หาร เป็นสูตร 500 หาร ก็ถือว่าเป็นการพลิกกลับอย่างชนิด 360 องศาในทางการเมืองอยู่แล้ว พลันที่มีความพยายามจะเปลี่ยนจากสูตร 500 หารเพื่อหวนกลับไปยังสูตร 100 หารยิ่งสร้างความประหลาดใจ

เมื่อมีความคิดถอยกลับไปสู่บัตรใบเดียวยิ่งชวนให้หัวร่อ
เท่ากับยุทธศาสตร์เดียวของระบอบอันมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นตัวแทนก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ขอให้ได้ชัยชนะโดยไม่คำนึงถึงยุทธวิธีหรือวิธีการ

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในท่ามกลางการพร่ำบ่นในเรื่องยุทธศาสตร์ 20 ปีจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อันเท่ากับว่ายุทธศาสตร์เป็นเพียงคำประกาศหากยุทธวิธีต่างหากที่สำคัญมากกว่า
เช่นนี้แล้ว “ความนิ่ง” ต่างหากคือ “การรุก” อย่างมีความหมาย

เหมือนกับ “ความนิ่ง” จะมิได้เป็นการต่อสู้เพราะอยู่ตรงกันข้ามกับ “การเคลื่อนไหว” อย่างสิ้นเชิง กระนั้น อย่าลืมเป็นอันขาดว่าผู้ที่ตัด สินใจสุดท้ายคือ ประชาชน
ถามว่าประชาชนรับรู้ถึงการเคลื่อนไหวเหล่านี้หรือไม่
ในยุค “อะนาล็อก” การเคลื่อนไหวอาจเชื่องช้า แต่ในยุค “ดิจิทัล” อัตราความเร็วและแผ่กระจายกลับสูงอย่างสูงยิ่ง
การตัดสินใจใน “วันเลือกตั้ง” จึงจะเป็นปัจจัยชี้ขาดในที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน