FootNote สัญญา รถไฟฟ้า สายสีเขียว เส้นแบ่ง ต่อ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

กรณีรถไฟฟ้า “สายสีเขียว” จะเป็นเส้นแบ่งอย่างสำคัญผลักดันให้กรุงเทพมหานครยุค นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จำเป็นต้องดำเนินมาตรการบางประการเพื่อก้าวไปสู่บรรทัดฐานใหม่ เห็นได้จากการได้รับความยินยอมจาก “กรุงเทพธนาคม” ให้เปิดเผย “สัญญา” ต่อสาธารณะ

และพลันที่ทางด้าน “กรุงเทพธนาคม” ไม่ว่าจะเป็น นายธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการ นายประแสง มงคลศิริ กรรมการผู้จัดการ ยินยอม ในฐานะที่กรุงเทพมหานครเป็นผู้ถือหุ้นส่วนหลักมากถึงกว่าร้อยละ 90 ของกรุงเทพธนาคม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็นำสัญญาที่เคยเป็นเรื่องเร้นลับลงในเว็บไซต์ของกรุงเทพมหานคร

จากการเปิดเผยสัญญาด้วยความเห็นร่วมระหว่างกรุงเทพธนาคมกับกรุงเทพมหานครในวันที่ 1 สิงหาคมนี้เอง ทำให้ทุกความเร้นลับที่เคยมีอยู่ได้แผ่แบออกมา

คำถามแรกที่เกิดขึ้นก็คือ มีความจำเป็นอะไรที่กรุงเทพมหานครในยุค ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร และในยุค พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ไม่ยอมเปิดเผยสัญญา ตามมาด้วยคำถามที่ว่าเหตุใดกรุงเทพมหานครจึงปล่อยให้เกิดหนี้สินเรื้อรังมากว่า 30,000 กว่าล้านบาท

ความจริงคำถาม 2 คำถามนี้มิได้เป็นคำถามใหม่ หากแต่เป็นคำถามอันดังกึกก้องตลอดเวลาของการรณรงค์หาเสียงและนำไปสู่คำประกาศร่วมกันของผู้สมัคร นั่นก็คือ คำประกาศเรียกร้องต้องการให้มีการเปิดเผยสัญญา กระทั่งบางคนทำหนังสือขอต่อกรุงเทพมหานครด้วยซ้ำ

ขณะเดียวกัน ความสงสัยต่อหนี้สินที่พอกพูนขึ้นเป็นลำดับก็มิได้เป็นความสงสัยต่อ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องเท่านั้น

หากยังเป็นคำถามถึงรัฐบาลตั้งแต่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นี่คือผลสะเทือนจากการตัดสินใจเปิดเผย “สัญญา” ขึ้นมา

สภาพการณ์ของกรุงเทพมหานครยุค นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จึงเป็นสภาพการณ์ที่แต่ละก้าวย่างอยู่ในสายตาและการผลักดันจากคนกรุงเทพมหานคร นี่ย่อมต่างไปจากผู้ว่าฯกทม.ในยุค พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เนื่องจาก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง มาเพราะอำนาจของมาตรา 44 แต่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มาจากการเลือกตั้งรากฐานที่แตกต่างทำให้วิธีการบริหารแตกต่างกันไปด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน