ระหว่างการรอคอยรัฐบาลใหม่ที่ลากยาวมาเกิน 3 เดือน ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่น่าวิตกสำหรับเศรษฐกิจไทย คือตัวเลขหนี้ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
จำนวนหนี้ครัวเรือนเกือบ 16 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 90.6 ของจีดีพี ดูจะทยอยเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือหนี้เสีย (NPL) มากขึ้น
ข้อมูลจากบริษัทเครดิตบูโรเมื่อเร็วๆ นี้ ประเมินว่า ตัวเลขหนี้เสีย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 กลับมาแตะที่ 1 ล้านล้านบาทอีกครั้ง ที่ระดับ 1.03 ล้านล้านบาท จากเมื่อช่วงไตรมาสหนึ่งของปีนี้ยังอยู่ที่ 9.5 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
เพราะสภาพทางเศรษฐกิจไม่ได้สดใส สภาพการเมืองยังไม่นิ่ง รัฐบาลใหม่ยังมาไม่ถึง
ในจำนวนนี้หนี้เสียก้อนใหญ่ 1 ล้านล้านบาทนี้ แยกเป็นหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล 2.5 แสนล้านบาท หนี้กู้ซื้อรถยนต์เกือบ 2 แสนล้านบาท และหนี้กู้ซื้อบ้านที่อยู่อาศัยอีก 1.8 แสนล้านบาท
หนี้การเกษตร สูง 7.2 หมื่นล้านบาท และหนี้บัตรเครดิต สูง 5.9 หมื่นล้านบาท ทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของประชาชน
แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่า ตัวเลขหนี้เสียและหนี้บูด (SM) คือหนี้ที่มีโอกาสกลายเป็นหนี้เสีย ไม่ได้มีลักษณะพุ่งขึ้นจนกระทบเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม
แต่การที่หนี้เสียเฉพาะในระบบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนว่าชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอย่างไร
ทำไมจึงมีข่าวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายอันมีสาเหตุจากปัญหาหนี้สินให้ได้ยินกันอยู่บ่อยๆ เป็นที่น่าสลดใจ
ภารกิจของรัฐบาลใหม่จึงมีโจทย์ทางเศรษฐกิจอยู่อันดับต้น ซึ่งแม้มีแนวโน้มว่าจะเป็นงานถนัดของพรรคเพื่อไทย จากประสบการณ์ในสมัยที่เป็นรัฐบาลมาก่อน
แต่ครั้งนี้อาจต้องเผชิญกับโจทย์ยากกว่าในอดีต เพราะพรรคเพื่อไทยไม่เคยเป็นแกนนำของรัฐบาลผสมในฐานะพรรคอันดับสองมาก่อน และไม่เคยร่วมงานกับพรรคของรัฐบาลเก่ามาก่อนด้วยเช่นกัน
ผู้บริหารของพรรคยอมรับด้วยว่าการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้มีต้นทุนสูงมาก เพราะถูกกระแสต่อต้านจากประชาชน โดยเฉพาะมวลชนที่สนับสนุนพรรคอันดับหนึ่งอย่างพรรคก้าวไกล
การเปิดนโยบายทำทันทีที่ได้เป็นรัฐบาล ไม่ว่าดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ลดราคาค่าไฟฟ้าและน้ำมัน พักหนี้เกษตรกรและเอสเอ็มอี แสดงให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยเองก็ตระหนัก
การเดิมพันเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาลครั้งนี้ จำเป็นต้องสร้างผลงานเศรษฐกิจในวันข้างหน้าให้สูงกว่าครั้งใดๆ