รัฐบาลผสมพรรคเพื่อไทยแกนนำหลัก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีอำนาจเต็มบริหารประเทศเดินหน้าปฏิบัติตามนโยบายดังที่แถลงไว้ต่อที่ประชุมรัฐสภา
ผลการประชุมครม.นัดแรกเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2566 เห็นชอบลดค่าไฟฟ้า 35 สตางค์ จะเริ่มในรอบบิลเดือนก.ย. ลดราคาน้ำมันดีเซลต้นทุนค่าขนส่งให้ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร
พักหนี้เกษตรกรและธุรกิจขนาดเล็กเป็นเวลา 3 ปี ฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวชาวจีนและคาซัคสถาน เพื่อปลุกกระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยว ตลอดจนตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ
นับเป็นความฉับไวและมุ่งมั่นของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นในหลายๆ ด้าน
นอกจากนี้ ครม.ยังหารือเรื่องการเปลี่ยนบทบาทของภาครัฐ จากการเป็นผู้ดูแล กำกับดูแล แล้วออกกฎระเบียบต่างๆ ทำให้การดำเนินชีวิต การทำมาหากินของประชาชน และการดำเนินธุรกิจต่างๆ เจออุปสรรคซ้ำซ้อน
โดยพบว่ารัฐบาลชุดที่แล้วแต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ มากถึง 178 ชุด นายกฯ จึงสั่งให้ไปพิจารณาว่าคณะกรรมการชุดใดบ้างที่ยังคุ้มค่า และควรจะมีต่อไป แต่หากไม่มีเหตุผลที่ดีก็ให้ยกเลิกกรรมการชุดนั้น
รวมถึงให้กระทรวง ทบวง กรม ที่เคยได้รับคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือใช้อำนาจคสช.ปฏิบัติอยู่ ก็ขอให้ทบทวนว่าคำสั่งเหล่านั้นยังมีอะไรที่จำเป็นต้องคงเอาไว้หรือไม่ แล้วให้เสนอกลับมา หากไม่เสนอก็ให้ถือเป็นอันยกเลิกทั้งหมด
สะท้อนถึงวิธีคิดและการทำงานอันแตกต่างจากยุครัฐบาลก่อน ที่ออกกฎระเบียบเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า
ความฉับไวต่อปัญหา และวิธีการทำงานยุครัฐบาลเศรษฐา น่าจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นในด้านต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นที่เฝ้าจับตามอง และพร้อมจะตรวจสอบอย่างเป็นพิเศษเช่นกัน
ดังที่ปรากฏผ่านการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมต่างๆ ตลอดจนการอภิปรายนโยบายรัฐบาลในที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งสมาชิกไม่น้อยท้วงติงซักถามถึงงบประมาณ ตั้งข้อสังเกตถึงความเป็นไปได้ต่อนโยบายทั้งหลาย
หรือบางเรื่องสำคัญที่รัฐบาลไม่ได้กำหนดไว้อย่างละเอียดเพียงพอ เช่น การแก้ปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้ การอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้สูญเสียจากความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 เป็นต้น
จึงหวังว่ารัฐบาลจะนำไปพิจารณาปรับปรุง แต่งเติมเสริมนโยบายให้ครอบคลุมเพียงพอไปถึงวิกฤตปัญหาเหล่านี้ด้วย