FootNote : คำถาม เรือดำน้ำ เรือฟริเกต คำถาม การข่าว กองทัพเรือ
พลันที่มีหนังสือจากกองทัพเรือแจ้งต่อคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร อ้างความไม่พร้อมใน “ข้อมูล” ที่จะชี้แจง ณ เบื้องหน้าคณะกรรมาธิการ
คำถามไม่เพียงแต่จะเกิดกับคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร อันมี นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เป็นประธานเท่านั้น
หากแต่กลายเป็นคำถามต่อกองทัพเรือโดยอัตโนมัติ
เมื่อเป็นคำถามต่อกองทัพเรือย่อมเป็นคำถามต่อกระทรวงกลาโหม และเป็นคำถามต่อรัฐบาล
ไม่เพียงเป็นคำถามต่อกระทรวงกลาโหมในยุคของ นายสุทิน คลังแสง หากแต่ยังเป็นคำถามต่อกระทรวงกลาโหมในยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และในยุค พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
เนื่องจากโครงการจัดซื้อ “เรือดำน้ำ” ของกองทัพเรือ เป็นความต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อปี 2560 ซึ่งอยู่ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
กลายเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 ตกมาเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลหลังการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2566
ระยะที่ตัดสินใจตั้งแต่ปี 2560 กระทั่งปี 2566 คือ คำถาม
คำถามที่แหลมคมเป็นอย่างมากก็คือ การซื้อขายเรือดำน้ำที่ผ่านความเห็นชอบโดยมติคณะรัฐมนตรีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงอยู่บนฐานอะไร
บนฐานแห่งการทำสัญญาระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือข้อตกลงระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล
ความจริงในยุคที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือในยุคที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่เคยมีคำถาม
เนื่องจากความเข้าใจในห้วงแห่งการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของพรรคเพื่อไทยลงความเห็นว่าทุกอย่างดำเนินไปตาม “สัญญา” ที่เรียกว่ารัฐบาลต่อรัฐบาล
เพิ่งจะเกิดข้อมูลใหม่ก็ในยุคที่ นายสุทิน คลังแสง เป็นรัฐมนตรีนี้เองที่ทุกอย่างเป็นเรื่องของ “ข้อตกลง” มิได้เป็น “สัญญา”
อาการงันชะงักของกองทัพเรือที่แจ้งต่อคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ด้านหนึ่งก่อให้เกิดการชะลอ แต่อีกด้านหนึ่งก็ก่อให้เกิดความสงสัย
เป็นความสงสัยในเรื่อง “ความพร้อม” ของเอกสาร “ข้อมูล”
เป็นความสงสัยไม่เพียงแต่ในเรื่องของ “ข้อเท็จจริง” เท่านั้น หากแต่ยังเป็นความสงสัยในเรื่อง “การข่าว” ว่ากองทัพเรือ กระทรวงกลาโหม มีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด
ไม่เคยรู้มาก่อนเลยหรือว่าเครื่องยนต์ของ “เรือดำน้ำ” ไม่มีทาง ที่จะได้มาจาก “เยอรมนี” อย่างเด็ดขาดตั้งแต่เกิด “เทียนอันเหมิน”
นี่เป็นเรื่องที่จีนรู้ เยอรมนีรู้ ทั่วโลกรู้ มีเพียงกองทัพเรือที่ไม่รู้