รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เตรียมผลักดันกฎหมายลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และขจัดการเลือกปฏิบัติ ในนามร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. …
อันเป็นกฎหมายกำหนดให้มีกลไกในการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลในทุกกลุ่มทุกรูปแบบ
ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ภาษา เพศ เพศสภาพ วิถีทางเพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือจิต สุขภาพ ผู้พ้นโทษ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา ความเชื่ออื่น การศึกษาอบรม
หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือเหตุอื่นใดจะกระทำมิได้
ขั้นตอนการผลักดัน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ลงนามเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้ว
อันมีเนื้อหาสาระสำคัญ สอดคล้องตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR)
และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 มาตรา 4 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง และมาตรา 27 วรรคแรก บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
ทั้งยังเป็นไปตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม
ความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมเป็นปัญหาในสังคมไทยมาช้านาน เป็นสารตั้งต้นความขัดแย้งในทุกมิติ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง โดยเฉพาะในช่วงบ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย
ความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงแหล่งทุน การเข้าถึงบริการสาธารณะ สาธารณสุข การศึกษา สวัสดิการรัฐ ความเหลื่อมล้ำด้านอำนาจ สิทธิทางการเมือง การมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายทิศทางพัฒนาประเทศ การเลือกปฏิบัติทางกฎหมายต่อกลุ่มคนไร้อำนาจในสังคม ฯลฯ
ดังนั้น เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคของคนทุกกลุ่ม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ขจัดการเลือกปฏิบัติ เพื่อก่อให้เกิดความสงบสุขในการอยู่ร่วมกันของประชาชนในสังคม
การออกกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ตามหลักการสากลและรัฐธรรมนูญ จึงเป็นประเด็นใหญ่ทางสังคม รัฐบาลและการเมืองทุกฝ่ายควรร่วมมือเร่งผลักดันให้ออกมาบังคับใช้โดยเร็ว