FootNote : ภาพเด่น ฟุตบอล จตุรมิตร การปะทะ สองขั้ว การเมือง
ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับแต่ละเนื้อหาในการแปรอักษรในแต่ละวันของ การแข่งขันฟุตบอลอย่างที่เรียกว่า “จตุรมิตร” ณ สนามศุภชลาลัย แต่ก็ต้องยอมรับว่าสิ่งที่เห็นเป็น “ปรากฏการณ์”
1 เป็นปรากฏการณ์ของเงาสะท้อนในทาง “ความคิด” 1 เป็นปรากฏการณ์ของเงาสะท้อนในทาง “การเมือง”
หากมองจากพื้นฐานการเกิดขึ้นของฟุตบอลประเพณีที่เรียกว่า “จตุรมิตร” มาจากการรวมตัวกันของสถาบันการศึกษาระดับนำ 4 สถาบันในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ไม่ว่าจะมองผ่านสวนกุหลาบวิทยาลัย ไม่ว่าจะมองผ่านกรุงเทพคริสเตียน ไม่ว่าจะมองผ่านเทพศิรินทร์ ไม่ว่าจะมองผ่านอัสสัมชัญ
นี่ย่อมเป็นโรงเรียนอันมากด้วยเกียรติประวัติ นี่ย่อมเป็นโรงเรียนที่รวมบุคคลในระดับนำของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นตัวสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นตัวของนักเรียน
เพียงเห็นภาพการปรากฏตัวของนักเรียน “เก่า” ซึ่งเป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงในทางธุรกิจ ในทางวิชาการ ในทางการเมือง ในแวดวงบันเทิง ก็มีความเด่นชัดเป็นอย่างยิ่งอยู่แล้ว
การนำเสนอประเด็นทาง “การเมือง” ยิ่งมี “ความร้อนแรง”
ปรากฏการณ์ที่สะท้อนผ่านการ “แปรอักษร” ของแต่ละสถาบันอาจทำให้เกิดนัยประหวัดไปยังที่เคยเห็นในห้วงแห่งการแข่งขันฟุตบอลประเพณี “จุฬา ธรรมศาสตร์”
กระนั้น กล่าวสำหรับสังคมของนักเรียนมัธยมตัวอย่างที่ดีที่สุดย่อมเป็นตัวอย่างจากงาน “สังคมนิทรรศน์”
แม้จะเป็นเพียงจาก “สวนกุหลาบวิทยาลัย” ก็ตาม
ความตื่นตัวของงาน “สังคมนิทรรศน์” นับแต่ปี 2514 เป็นต้น มาคือสัญญาณในทางความคิด สัญญาณในทางการเมือง ที่มิได้สะท้อนเพียงการเกิดขึ้นของกลุ่มย่อยความคิดใหม่เท่านั้น
หากแต่ความคิดใหม่เหล่านั้นก็สะท้อนผ่านการจัดนิทรรศการ สะท้อนผ่านการเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มย่อยมากมายและที่สุดก็เข้าร่วมส่วนผลักดันให้เกิดสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516
สัญญาณ “สังคมนิทรรศน์” ก็เช่นเดียวกับสัญญาณ “การแปรอักษร”
แต่ละสัญญาณในทาง “ความคิด” ดำเนินไปอย่างสัมพันธ์กับพัฒนาการในทาง “การเมือง” จากสังคม “ภายนอก” สะเทือนเข้าไปยังสังคม “ภายใน”
จึงปะทะทั่งกับนักเรียน “ปัจจุบัน” กับนักเรียน “เก่า”
ไม่ว่าจะมองไปยังสภาพที่เคยเกิดขึ้นกับการแปรอักษรในงานฟุตบอลประเพณี “จุฬา ธรรมศาสตร์” ก็เริ่มมองเห็นจากการแปรอักษรของฟุตบอล “จตุรมิตร”
เป็นสัญญาณอันเริ่มจุดประกายส่องสว่างขึ้นใน “วงแคบ” และแพร่กระจายไปยัง “วงกว้าง”