FootNote จากกรณี PISA ถึง หมูเถื่อน ทำไมจึงต้อง “พัฒนา” ร่วมกัน
ไม่ว่าผลคะแนนจากการประเมินของ PISA ไม่ว่าเงาสะท้อนจากการล่วงละเมิดทางเพศที่พัทยา ไม่ว่าการรุกเข้าไปตรวจค้นหมูเถื่อนจากแหลมฉบังไปยังนครปฐม
เหมือนกับจะเป็นคนละเรื่อง เป็นคนละกรณี อันเกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศ
นั่นก็คือ เรื่องของ PISA สัมพันธ์กับกระทรวงศึกษาธิการ นั่นก็คือ เรื่องของพัทยาสัมพันธ์อยู่กับแต่ละสายธารแห่งกระบวน การยุติธรรม จากตำรวจถึงอัยการและศาล
ขณะที่เรื่องของหมูเถื่อนมีจุดเริ่มต้นจากสถานการณ์โรคระบาดโดยเฉพาะโควิด แต่ก็โยงยาวไปถึงกระบวนการทำงานของกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงยุติธรรม
ยิ่งหากโยงยาวไปยังรากฐานก็ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ยึดโยงอยู่กับอดีตในห้วง 20 ปีของการสอบ PISA ในรอบ 5 ปีของการจับกุมชาวเยอรมัน และการจับกุมหมูในตู้คอนเทนเนอร์
นั่นก็คือ เป็นเรื่องที่ตั้งแต่ก่อนรัฐประหารไม่ว่าเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าเดือนพฤษภาคม 2557
เพียงแต่เป็น “เผือกร้อน” อันอยู่ในมือ “รัฐบาล” ปัจจุบัน
หากจับปฏิกิริยาอันเท่ากับเป็นเงาสะท้อนแห่งความรู้สึกร่วมของสังคม ก็ต้องยอมรับว่าไม่ว่าเรื่อง PISA ไม่ว่าเรื่องการละเมิดทาง เพศ ไม่ว่าเรื่องของหมูเถื่อน
ที่สามารถทำได้เฉพาะหน้าคือความเข้มในการทำให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ ปฏิบัติได้จริงและเที่ยงธรรม
แต่หากสอบค้นถึงแต่ละปัญหาอย่างจริงจังก็ต้องยอมรับอีก เหมือนกันว่า ทุกอย่างไม่สามารถแก้ไขปัญหาในลักษณะประแป้งแต่งตัวได้อย่างเด็ดขาด
ภาพสะท้อนจากการปฏิบัติตามกฎหมายของเยอรมนีเห็นได้ อย่างเด่นชัด ภาพสะท้อนจากความจำเป็นที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจักต้องเดินหน้าไม่อาจสกัดขัดขวางได้
ยิ่งกว่านั้น ยิ่งมีการศึกษาและทำความเข้าใจต่อลักษณะถดถอยแห่งคะแนน PISA ยิ่งเรียกร้องลงลึกไปถึงโครงสร้าง
การแก้ปัญหาต่อแต่ละปัญหามีความสำคัญและจำเป็นต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ กระทรวงยุติธรรม
แต่เมื่อเป็นเรื่อง “โครงสร้าง” ก็เท่ากับเป็นสัญญาณเตือน เตือนกระทรวงศึกษาธิการ เตือนกระทรวงการคลัง เตือนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตือนกระทรวงยุติธรรม เตือนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
นี่ย่อมเป็นเรื่องที่จะต้อง “พัฒนาร่วมกัน” อย่างมี “บูรณาการ” แม้ว่าจะใกล้เคียงกับ “การปฏิรูป” อย่างยิ่งก็จำเป็น จำเป็นต่อ “รัฐบาล” จำเป็นต่อ “พรรคการเมือง” ร่วมรัฐบาล