มติคณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่ รมว.แรงงาน เสนอมติคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ ประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ ยืนยันตามมติเดิมเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2566 ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอัตรา 2-16 บาท หรือ 330-370 บาท

โดยลดหลั่นรายจังหวัด แบ่งเป็น 17 ขั้น เริ่มจากต่ำสุดจาก 328 เป็น 330 บาท ได้เพิ่มขึ้น 2 บาท ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี นราธิวาส ยะลา

ส่วนที่ปรับเพิ่มสูงสุดคือ จ.ภูเก็ต จาก 354 บาท เป็น 370 บาท คณะกรรมการให้เหตุผลว่าเป็นจังหวัดพิเศษ มีภาคเกษตรกรรมน้อยมาก แต่มีแหล่งท่องเที่ยวมากที่สุด อัตราการจ้างงานจึงสูง

รองลงมาคือกรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ขึ้น 10 บาท จากเดิม 353 บาท เป็น 363 บาท มีผลวันที่ 1 ม.ค.2567

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ระบุว่าวันที่ 17 ม.ค.2567 คณะกรรมการไตรภาคีจะประชุมอีกครั้ง และตั้งอนุกรรมการไตรภาคีขึ้นมาศึกษารายละเอียดขึ้นค่าแรงครั้งต่อไป

โดยจะพิจารณาลงลึกไปถึงในระดับอำเภอ เทศบาล และรายวิชาชีพ เพราะการประกาศรายจังหวัดแบบเดิมสะท้อนภาพเป็นจริงส่วนหนึ่ง ไม่เป็นจริงอีกหลายๆ ส่วน

เนื่องจากเมื่อออกนอกพื้นที่อำเภอ หรือเทศบาลเมือง ก็จะเข้าสู่สังคมชนบท เศรษฐกิจไม่ได้ดีเหมือนตัวเมือง หรือเขตเทศบาลเมือง จึงต้องนำรายละเอียดตรงนี้มาพิจารณาด้วย

เมื่อพิจารณาองค์ประกอบดังกล่าวครบถ้วน จะนำเข้าสู่คณะกรรมการไตรภาคีชุดใหญ่ในเดือนมี.ค.2567 และจะประกาศขึ้นค่าแรงอัตราใหม่ช่วงวันสงกรานต์

รมว.แรงงานอธิบายว่าสูตรการคำนวณค่าแรงขั้นต่ำที่ใช้ฐานปี 2563-64 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตโควิด จะไม่นำมาพิจารณา แต่จะใช้ข้อมูลปี 2565 เป็นฐานในการคำนวณ รวมถึงนำข้อมูลดิบปี 2566 มาเป็นองค์ประกอบด้วย

หากทำได้ในแต่ละพื้นที่ มั่นใจว่าหลายอาชีพจะปรับค่าแรงขั้นต่ำได้ ไม่ได้ประกาศครอบจักรวาลเหมือนทุกวันนี้ และไม่จำเป็นว่าจังหวัดเดียวกันจะได้ค่าแรงอัตราเหมือนกัน

การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังไม่พอใจ เพราะห่างจากเป้าหมายที่รัฐบาลจะทำให้ถึงวันละ 400 บาท และต่อเนื่องไปถึงวันละ 600 บาท ในปี 2570

ดังนั้น ในการพิจารณาครั้งต่อไปเพื่อขึ้นค่าแรงในช่วงสงกรานต์ 2567 หวังว่าอัตราใหม่จะสอดคล้องกับสภาพแต่ละพื้นที่ และรายวิชาชีพ ตามที่รัฐบาลสัญญาไว้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน