กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยผลการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2566 จนถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 รวมระยะเวลา 86 วัน แต่ยังเหลือเวลาอีกจนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์นี้

มีผู้ลงทะเบียนแล้ว 147,043 ราย มูลหนี้รวม 10,670.505 ล้านบาท ผ่านระบบออนไลน์ 122,081 ราย และลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบจำนวน 24,962 ราย มีเจ้าหนี้รวม 118,429 ราย

พื้นที่และจังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก กรุงเทพมหานคร ยังคงมีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด ตามด้วยนครศรีธรรมราช สงขลา นครราชสีมา และสุรินทร์

ส่วนจังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ยังเป็นแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 243 ราย เจ้าหนี้ 244 ราย ตามด้วย ระนอง สมุทรสงคราม และตราด ซึ่งจะต้องตรวจสอบในเชิงลึกต่อไป

ที่ผ่านมา มีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้วจำนวน 27,137 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 17,225 ราย มูลหนี้ก่อนการไกล่เกลี่ย 2,456.857 ล้านบาท หลังไกล่เกลี่ย 1,719.783 ล้านบาท มูลหนี้ลดลง 737.073 ล้านบาท

จังหวัดที่นำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้มากที่สุดยังคงเป็นนครสวรรค์ ทำให้มูลหนี้ลดลงถึง 233.572 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นหนี้รายย่อย

สำหรับกรณีที่ไม่ได้รับความร่วมมือและไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ จึงส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนในพื้นที่ดำเนินการต่อจำนวน 288 คดี ใน 40 จังหวัด

ขั้นตอนจากนี้ก็จะนำเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ดำเนินคดีตามความผิด โดยต้องให้ความเป็นธรรมทั้งฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างตรงไปตรงมา

ระหว่างนี้ กระทรวงมหาดไทยได้จัดโครงการตลาดนัดแก้หนี้สินในทุกวันหยุดราชการคู่ขนานกันไป โดยมีเจ้าหน้าที่สถานีตำรวจในท้องที่และเจ้าหน้าที่ธนาคารร่วมให้การปรึกษาช่วยเหลือ

โครงการนี้ รัฐบาลหวังจะสามารถดึงหนี้สินนอกระบบที่คาดว่ามีอยู่ประมาณ 5 แสนล้านบาท ให้เข้าไปอยู่ในระบบ เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการและตัดวงจรการปล่อยกู้ดอกเบี้ยเกินอัตราที่กำหนด

แม้จะยกเป็นวาระแห่งชาติที่หวังว่าปัญหาหนี้นอกระบบต้องจบสิ้นภายในการบริหารของรัฐบาลปัจจุบัน แต่เชื่อว่าการดำเนินการที่ผ่านมานั้นพบปัญหาและอุปสรรคต่างๆ นานัปการ

ดังนั้น จะต้องนำมาถอดบทเรียนอย่างละเอียด เพราะยังมีหนี้นอกระบบอีกจำนวนมากที่ลูกหนี้ไม่กล้าร่วมโครงการ รัฐบาลจึงต้องมีแผนและมาตรการอื่นๆ ที่ต่อเนื่องกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายให้จงได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน