สภาพอากาศประเทศไทย อุณหภูมิปรับสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ จากฝุ่นควันการเผาป่าและวัชพืชทางการเกษตร

เดือนเมษายน อุณหภูมิความร้อนพุ่งสูงสุด เฉลี่ยที่ระดับ 44-44.5 องศา และทรงตัวระดับใกล้เคียงกันในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม สถานการณ์ร้อนแล้งต่อเนื่อง ส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งภาคเกษตรกรรม ชาวไร่ ชาวสวนผลไม้ ชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพของประชาชน อุตสาหกรรม รวมถึงการท่องเที่ยว

ระหว่างลงพื้นที่ จ.มหาสารคาม และร้อยเอ็ดช่วงวันหยุดที่ผ่านมา นอกจากปัญหาหนี้นอกระบบ และยาเสพติด นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ประกาศให้การแก้ปัญหาภัยแล้งเป็นวาระแห่งชาติ

ยืนยันให้ความมั่นใจรัฐบาลจะเดินหน้าช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลัง

สถานการณ์ภัยแล้งที่ไทยกำลังเผชิญส่งผลให้บางพื้นที่น้ำประปาเริ่มขาด กระทบต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว

อากาศที่ร้อนแล้งทำให้ปริมาณน้ำในแหล่งกักเก็บลดลงอย่างมาก ไม่เพียงพอนำไปผลิตน้ำประปา อีกทั้งต้องกันบางส่วนไว้ให้ภาคเกษตรกรรม ชาวสวนพืชผัก ผลไม้ ที่ผลผลิตได้รับความเสียหายอย่างหนัก

ต่อปัญหาที่เกิดขึ้น นายกรัฐมนตรีสั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มหาดไทย เหล่าทัพ บูรณาการร่วมกันวางแผนรับมือสถานการณ์ เร่งออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นระบบ ทั่วถึงและเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ไม่ว่าจัดให้มีรถผลิตน้ำดื่มเคลื่อนที่ รถบรรทุกน้ำช่วยเหลือเกษตรกร ขุดลอกแหล่งน้ำคูคลอง ซ่อมบำรุงระบบประปาชุมชนฯลฯ

ไม่เพียงนำมาซึ่งการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และด้านผลิตผลทางการเกษตร

ภัยแล้งยังมีผลกระทบทางอ้อม ได้แก่ การอพยพทิ้งที่ดินทำกินไปหางานทำในเมือง ก่อให้เกิดปัญหาด้านสังคมตามมา การประกาศให้การแก้ปัญหาภัยแล้งเป็นวาระแห่งชาติจึงเป็นสัญญาณการแก้ไขปัญหาที่ดี

ภัยแล้งเป็นปัญหาภัยธรรมชาติที่รัฐบาลไม่อาจควบคุมได้ แต่สามารถบริหารจัดการบรรเทาทุกข์ให้ประชาชนได้

และจะดีที่สุด หากมีแนวทางการบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืน เช่น นำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบน้ำของประเทศทั้งหมด เช่น การบริหารทรัพยากรน้ำ การส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อม การชลประทาน น้ำบาดาล การปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร บูรณาการร่วมกัน

จัดทำเป็นแผนบริหารจัดการน้ำ แก้ภัยแล้งในรูปแบบที่ยั่งยืนในระยะยาว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน