FootNote : ตำแหน่งนำ ภายใน “วุฒิสภา” สะท้อน ทิศทาง บริหารอำนาจ
การเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภาในอีกไม่กี่วันข้างหน้าจะเป็นคำตอบอย่างชัดเจนทางการเมืองว่ากลุ่มการเมืองใดที่ครอบครองอำนาจผ่านสมาชิกวุฒิสภาอย่างเป็นจริง
ที่ระบุว่าสาย “สีน้ำเงิน” ยึดกุมจำนวนข้างมากกว่า 100 สมาชิกวุฒิสภาเป็นจริงอย่างที่ประเมินและเข้าใจหรือไม่
เนื่องจากคือเวลาแห่งการตัดสินใจในการใช้ “อำนาจ” ในมือ
ประการสำคัญเป็นอย่างมากยังเป็นกระบวนการในการใช้อำนาจทางการเมืองว่าจะเหมือนหรือแตกต่างไปจากอำนาจเดิมมากน้อยเพียงใดหรือไม่
นั่นก็คือ รวบอำนาจมาไว้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนในยุคก่อนการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 หรือว่าบริหารอำนาจด้วย การผ่อนปรนมากยิ่งขึ้น
เด่นชัดยิ่งว่าตำแหน่ง “ประธาน” จะต้องเป็นของ “สายสีน้ำเงิน” อย่างไม่ต้องสงสัย แต่คำถามอยู่ที่ว่าตำแหน่ง “รองประธาน” จะแบ่งให้กับกลุ่มอื่นหรือไม่
สายตาจึงไม่เพียงแต่ทอดมองไปยังการเคลื่อนไหวของสมาชิกวุฒิสภา “สายสีน้ำเงิน” หากยังอยู่ที่สายอื่น
เงาสะท้อนแห่งการประนอมอำนาจจึงท้าทาย แหลมคม
มีความแตกต่างระหว่าง 250 สมาชิกวุฒิสภา “เก่า” กับ 200 สมาชิกวุฒิสภา “ใหม่” ในทางองค์ประกอบและรากฐานที่มาอย่างเห็นได้เด่นชัดเป็นรูปธรรม
นั่นก็เนื่องจาก 250 สมาชิกวุฒิสภามาจาก “การแต่งตั้ง” ขณะที่ 200 สมาชิกวุฒิสภามาจาก “การเลือก”
กระบวนการ “เลือก” นี้คือที่มาแห่งดุล “อำนาจ” ใหม่การเมือง
เป็นดุลอำนาจที่อยู่ภายใต้โครงสร้างแห่งการจัดตั้งองค์กรอัน ต่างไปจากองค์กรเดิมในทางรูปแบบ เพราะองค์กรเดิมมีพื้นฐานมาจากรัฐประหาร แต่องค์กรใหม่มาจากการเลือกตั้ง
ความคาดหวังต่อ 200 สมาชิกวุฒิสภา “ใหม่” จึงไม่เหมือนกับความไม่สามารถคาดหวังต่อ 250 สมาชิกวุฒิสภา “เก่า” ตรงนี้เองคือสถานะที่ได้มาของสมาชิกวุฒิสภา “สายสีน้ำเงิน”
คำถามอยู่ที่ว่ากลุ่มที่อยู่เบื้องหลังสมาชิกวุฒิสภา “สายสีน้ำเงิน” จะตัดสินใจและเลือกแนวทางใด
คล้ายกับคำถามนี้จะดังมาจากภายใน 200 สมาชิกวุฒิสภา “ใหม่” แต่ก็เป็นคำถามที่สังคมการเมืองให้ความสนใจเป็นอย่างสูง
เพราะคำตอบสัมพันธ์กับแนวคิดในการบริหาร “อำนาจ”
เป็นการบริหารอำนาจในแบบเหล้า “ใหม่” ในขวด “เก่า” เป็นการบริหารโดยกลุ่มที่มีพื้นฐานมาจากการเลือกตั้ง หรือโดยกลุ่มที่มีพื้นฐานมาจากการรัฐประหาร
ตำแหน่งประธานและรองประธานวุฒิสภาจึงสะท้อนวิถีแห่งอำนาจทางการเมืองออกมาได้อย่างเด่นชัด