สถานการณ์อุทกภัยช่วงฤดูฝนประจำปี 2567 ปรากฏว่ารุนแรง และส่งผลกระทบชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นวงกว้างมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

ก่อนหน้านี้รัฐบาล โดยมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติกรอบวงเงิน 3,045 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 57 จังหวัด รวมจำนวน 338,391 ครัวเรือน

โดยกำหนดหลักเกณฑ์ความเสียหายมากน้อย และจำนวนการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาตามลำดับ ตั้งแต่ให้ครัวเรือนละ 5,000 บาท 7,000 บาท และ 9,000 บาท แต่ดูเหมือนจะไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับความเสียหายจริง

ล่าสุดรัฐบาลตัดสินใจปรับเปลี่ยน ด้วยการจ่ายเยียวยาขั้นต้นที่ครัวเรือนละ 9,000 บาททั้งหมด และเตรียมที่จะจ่ายเยียวยารอบสองด้วย

ขณะเดียวกัน จากการไปดูพื้นที่จริงของนายกรัฐมนตรีที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย พบอีกปัญหาใหญ่คือการฟื้นฟูสภาพพื้นที่เสียหายจากอุทกภัย ที่อาจต้องใช้ระยะเวลามากกว่าเดิม

รัฐบาลจึงจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มส่วนหน้า จ.เชียงราย โดยมี รมช.มหาดไทยเป็นประธานศูนย์ รมช.กลาโหมเป็นที่ปรึกษา พร้อมระดมเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ เข้าปฏิบัติงานในพื้นที่

เริ่มตั้งแต่การสนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมืออุปกรณ์ การซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้าง จัดการขยะและดินโคลน ยกระดับการเตือนภัย การขุดลอกแหล่งน้ำไม่ให้ตื้นเขิน เพื่อป้องกันการพังทลายของตลิ่ง และเร่งจ่ายเงินเยียวยาผู้ประสบภัย

นับว่าเป็นการตอบสนองที่รวดเร็วฉับพลัน หลังนายกฯ ไปดูสถานการณ์จริงในพื้นที่

สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ภาคเหนือ และบางจังหวัดของภาคอื่นๆ ปีนี้ นอกจากความเสียหายด้านสภาพพื้นที่ สิ่งปลูกสร้าง สาธารณูปโภค และชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนแล้ว ยังส่งผลกระทบเป็นห่วงโซ่ในด้านอื่นๆ ด้วย

ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยระบุว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการเดินทาง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ

จึงมีเสียงเรียกร้องว่านอกจากการเยียวยาช่วยเหลือประผู้สบภัย ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการอยู่แล้วนั้น การเร่งฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้กลับสู่ปกติโดยเร็ว อย่างเช่น จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ ทุกฝ่ายต้องเร่งจัดการอย่างรวดเร็ว

ยิ่งขณะนี้กำลังเข้าสู่ไฮซีซั่น ฤดูท่องเที่ยว ดังนั้น ถ้าการฟื้นฟูล่าช้าจะกระทบต่อโอกาสทางรายได้ของประชาชนในพื้นที่ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน