ผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐระหว่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” จากพรรครีพับลิกัน กับ “กมลา แฮร์ริส” จากพรรคเดโมแครต จะส่งผลต่อโลกและต่อไทยอย่างไร
บนเวทีเสวนาของเครือมติชน เมื่อเร็วๆ นี้ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกฯ และอดีตรมว.การต่างประเทศ วิเคราะห์ผลกระทบต่อโลกด้านต่างๆ ว่า มีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางเดิม เพียงแต่จะรุนแรงขึ้นหรือไม่ และรุนแรงขึ้นในเรื่องใด
แต่ไม่ว่าใครชนะ โลกจะยังปั่นป่วนอยู่ดี ไม่ว่าปัญหาตะวันออกกลาง รัสเซีย-ยูเครน คาบสมุทรเกาหลี ช่องแคบไต้หวัน ทะเลจีนใต้ จะยังปั่นป่วนต่อไป
หากแต่ถ้าแฮร์ริส ชนะได้เป็นประธานาธิบดี จะเป็นความปั่นป่วนที่คาดเดาได้ แต่ถ้าทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดี จะเป็นความปั่นป่วนที่คาดการณ์ไม่ค่อยได้
มุมมองน่าสนใจต่อสถานการณ์โลกปัจจุบันคือ การที่ประเทศหนึ่งๆ มีจุดยืนแยกเป็นเรื่องๆ ไม่สามารถพูดเป็นภาพรวมได้ว่าประเทศไหนอยู่ฝั่งใด เช่น
อินเดียซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ ในเรื่องเศรษฐกิจอยู่ฝั่งชาติตะวันตก แต่เรื่องรัสเซีย-ยูเครน อินเดียไม่อยู่ฝั่งตะวันตก เพราะมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซียและได้ประโยชน์จากการซื้อน้ำมันราคาถูก
จะเห็นว่าเรื่องการเมืองกับเศรษฐกิจผสานกัน สงครามเศรษฐกิจกับสงครามแย่งดินแดนไม่ได้แยกขาดจากกันเหมือนอดีต แต่มีผลเชื่อมโยง ทำให้แต่ละประเทศมีจุดยืนต่างออกไปในแต่ละเรื่อง
ความยากของไทยคือการดูในแต่ละเรื่องว่า ประเทศใดมีจุดยืนอย่างไรในเรื่องไหน แล้วประเมินผลกระทบและตัดสินใจว่าจุดยืนของไทยแต่ละเรื่องจะไปในทิศทางใด
ต่อปัญหาในเมียนมาที่ซับซ้อนขึ้น แต่ละฝั่งมีมหาอำนาจสนับสนุน สิ่งที่ไทยและอาเซียนต้องทำคือ คุยกับผู้มีอำนาจภายนอกที่เข้ามาหนุนฝ่ายต่างๆ ไทยต้องประเมินให้ดี มีจุดยืนที่ถูกต้อง
ทันโลกทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมือง ความยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย ต้องดูว่าผลประโยชน์ของความขัดแย้งแต่ละเรื่องคืออะไร ประเทศไหนหนุนฝ่ายไหน
ไทยต้องวางจุดยืนให้ถูกและปลอดภัย ต้องมีบทบาทเป็นผู้หาทางออกจากความขัดแย้ง ผลักดันการแก้ปัญหาในเรื่องที่มีพลังพอจะทำได้ อย่างเรื่องเมียนมา ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ไทยต้องเป็นตัวเอก อย่าไปเชื่อมในเรื่องที่เราไม่มีพลัง เช่น รัสเซีย-ยูเครน ปัญหาตะวันออกกลาง
ดังนั้นสิ่งที่จะตามมาหลังผลการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐ ไทยต้องกวาดสัญญาณอนาคตให้ดีและเตรียมตัวให้พร้อม กำหนดจังหวะก้าวให้ถูกต้อง พร้อมรับทั้งด้านบวกและด้านลบ