การเมืองในระบอบประชาธิปไตย จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งไม่ว่าในระดับชาติ หรือระดับท้องถิ่น เป็นสิ่งสำคัญ
ในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 47 จังหวัด และเลือกตั้งสมาชิก อบจ. 76 จังหวัด ที่กำลังจะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568
คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ได้จัดกิจกรรมคิกออฟ รณรงค์การเลือกตั้ง ยืนยันความพร้อมเดินหน้าทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรมและชอบด้วยกฎหมาย พร้อมเปิดตัวมาสคอต “หมูเด้ง” เพื่อเชิญชวนดึงดูดประชาชนในท้องถิ่นแต่ละจังหวัดออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งให้มากที่สุด
ในการเลือกตั้ง อบจ.เมื่อปี 2563 ตัวเลขผู้มาใช้สิทธิ์อยู่ที่ร้อยละ 62.86 ครั้งนี้ปี 2568 กกต.ตั้งเป้าผู้มาใช้สิทธิ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 65
เหตุผลอย่างหนึ่งที่ทำให้บางพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครลงแข่ง กังวลว่าการเลือกตั้งครั้งนี้อาจมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ไม่เป็นไปตามเป้าตามที่ กกต.ตั้งไว้
คือการกำหนดวันหย่อนบัตรตรงกับวันเสาร์ ไม่ใช่วันอาทิตย์แบบทุกครั้งที่ผ่านมา โดยไม่เปิดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งในเขตและนอกเขต
ผู้ช่วยหาเสียงพรรคใหญ่บางคน ตั้งข้อสังเกตถึงการมีประชาชนอีกมากที่ต้องทำงานวันเสาร์ อาจเป็นอุปสรรคต่อการออกมาใช้สิทธิ์
กกต.ชี้แจงว่า กรณีครบวาระต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน ปกติกำหนดเป็นวันอาทิตย์สัปดาห์สุดท้ายก่อนครบ 45 วัน แต่ครั้งนี้วันสุดท้ายตรงกับวันอาทิตย์ 2 ก.พ. ทำให้ไม่เหลือเวลาปฏิบัติ และสุ่มเสี่ยงต่อการจัดเลือกตั้งเกินเวลากฎหมายกำหนด
จึงกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันเสาร์ 1 ก.พ.
แม้ กกต.จะขอความร่วมมือนายจ้างบริษัท ห้างร้านต่างๆ อนุญาตให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ต้องทำงานวันเสาร์ ออกมาใช้สิทธิ์ได้ ด้วยถือเป็นหน้าที่ทั้งของนายจ้างและลูกจ้าง ก็ต้องรอดูผลในทางปฏิบัติ
การเลือกตั้งทุกครั้งไม่ว่าระดับใด การรณรงค์โน้มน้าวให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ให้มากที่สุด ไม่ว่าโดย กกต. หน่วยงานรัฐ ตลอดจนนักการเมืองหรือพรรคการเมือง เป็นหน้าที่สมควรทำอยู่แล้ว
แต่สิ่งสำคัญคือ ประชาชนก็จำเป็นต้องตระหนักว่าหากมีผู้ออกไปใช้สิทธิ์น้อย
ผลกระทบไม่เกิดแต่เฉพาะกับผู้สมัครหรือพรรคการเมืองที่ตนเองชื่นชอบเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียหายต่อระบอบประชาธิปไตย ซึ่งผลการเลือกตั้งอาจไม่ได้สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนเสียงส่วนใหญ่อย่างแท้จริง