ร่างพ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด หรือพ.ร.บ.อากาศสะอาด ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้งในช่วงหลายพื้นที่จังหวัดของไทยประสบวิกฤตฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ตลอด 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา
พรรคแกนนำรัฐบาลปัจจุบันเคยประกาศนโยบายช่วงหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปปี 66 ว่าจะแก้ปัญหาพีเอ็ม 2.5 ที่ทุกต้นตอ ด้วยการผลักดันพ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
ภายหลังนายเศรษฐา ทวีสิน เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอร่างกฎหมาย จนผ่านมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และเข้าสู่สภา วาระแรก ตั้งกรรมาธิการพิจารณาดำเนินการถึงตอนนี้ 1 ปีเต็ม
ล่าสุดเตรียมเข้าสู่สภา วาระ 2 และ 3 เดือนก.พ.นี้
หัวใจของร่างพ.ร.บ. คือการจัดการกับ 6 แหล่งกำเนิดฝุ่น ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม คมนาคม เกษตร ป่าไม้ เมือง และฝุ่นข้ามแดน กำหนดทำงานต่อเนื่อง 8 เดือนก่อนเกิดฝุ่นหนักช่วงปลายปีถึงต้นปี
แต่ละกลุ่มปัญหาเดิมมีกรรมการและกฎหมายควบคุมดูแลเฉพาะอยู่แล้ว แต่พ.ร.บ.อากาศสะอาดจะเป็นตัวช่วยอำนวยการให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่น
จุดเด่นอีกข้อคือ การกำหนดให้ผู้ก่อมลพิษจ่ายค่าปรับและค่าธรรมเนียมเข้ากองทุนอากาศสะอาด เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที ส่วนฝุ่นข้ามแดน กฎหมายจะเป็นคู่มือให้รัฐบาล ในการจัดการสินค้าก่อมลพิษจากประเทศอื่นแล้วนำเข้ามาในไทย จะมีบทลงโทษที่ชัดเจน
รวมถึงกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งชัดเจนมากขึ้น
แม้กฎหมายยังไม่ออกมาบังคับใช้เต็มรูปแบบ แต่ภาครัฐได้นำเนื้อหาส่วนหนึ่งมาปฏิบัติจริงในบางพื้นที่ตั้งแต่ปี 67 โดยเฉพาะการลดเผาพื้นที่เกษตร และป่าไม้
ผลเปรียบเทียบปี 66 กับ 67 พบสัดส่วน “จุดความร้อน” ลดลงกว่าร้อยละ 30 กรณีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่เคยไหม้ใน 10 พื้นที่แรก รวม 3.3 ล้านไร่ในปี 66 ลดลงเหลือ 2.2 ล้านไร่ ในปี 67
ถึงกระนั้นก็ยังเป็นผลสำเร็จเพียงแค่บางส่วน การจัดการปัญหายังไม่ครอบคลุมทุกแหล่งกำเนิด เช่น ภาคอุตสาหกรรม คมนาคม และฝุ่นข้ามแดน
ดังนั้น สิ่งที่สังคมไทยคาดหวังคือ อยากให้พ.ร.บ.อากาศสะอาดออกมาบังคับใช้โดยเร็ว ไม่ติดขัด เพื่อเร่งขยายผล เพิ่มขีดความสามารถจัดการกับต้นทางแหล่งกำเนิดฝุ่นครบถ้วนทุกต้นตอ
ภายใต้เป้าหมายที่ทุกฝ่ายร่วมกันคือ สร้างอากาศสะอาดและปลอดภัยให้กับประชาชนทุกคน