สงครามการค้ารอบใหม่เริ่มต้นขึ้นเป็นทางการ หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐใช้คำสั่งฝ่ายบริหาร เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากแคนาดา และเม็กซิโก 25% และจีน 10% มีผลตั้งแต่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันทั้งสามประเทศก็ได้เปิดฉากตอบโต้เอาคืนด้วยการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐเช่นกัน
การประกาศนโยบายขึ้นภาษีสินค้าประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐ ทำให้ไทยมีความเสี่ยงสูงต้องเผชิญกับกำแพงภาษีที่สูงขึ้น เพราะไทยอยู่ในอันดับ 12 ประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐ มากว่า 10 ปี
สถานการณ์ดังกล่าวบีบรัดให้รัฐบาลไทยต้องเร่งหาทางเอาตัวรอดจากเทรดวอร์รอบใหม่นี้ เช่นเดียวกับภาคเอกชนของไทย
นอกจากต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่สหรัฐอาจตั้งกำแพงภาษีสินค้าไทยสูงขึ้น 10% ผลทางอ้อมจากการที่สหรัฐขึ้นภาษีสินค้าจีน ทำให้จีนในฐานะประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก ต้องกระจายสินค้าไปยังประเทศอื่น
รวมถึงการเข้ามาตีตลาดในไทยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลเสียหายอย่างหนักต่อผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ที่ไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับสินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาได้ ไม่ว่าสินค้านั้นจะได้มาตรฐาน หรือต่ำกว่ามาตรฐานก็ตาม
ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ประกอบด้วยสภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ และสมาคมธนาคารไทย ล่าสุดหยิบยกสถานการณ์ดังกล่าวขึ้นมาหารือ
พร้อมเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้เร่งเจรจาต่อรองกับสหรัฐ ประเทศต้นตอสงครามการค้ารอบนี้
สิ่งที่ภาคเอกชนเสนอต่อรัฐบาล 2 เรื่อง คือ ตั้งวอร์รูมที่มีทั้งรัฐและเอกชน ร่วมกันเป็น “ทีมไทยแลนด์” เพื่อรับมือผลกระทบเพราะเอกชนมีข้อมูล กับข้อเสนอให้รัฐบาลจ้างล็อบบี้ยิสต์ ที่มีฝีมือเก่งกาจ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในเกมเจรจาต่อรอง
อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศ ชี้ว่า สงครามการค้ารอบนี้มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างมาก ทั้งในทางตรงคือการขึ้นภาษีของสหรัฐ และทางอ้อมคือสินค้าจีนที่จะไหลบ่าเข้ามา
แม้รัฐบาลจะกระตือรือร้นต่อสถานการณ์ แต่ด้วยขนาดปัญหาที่ใหญ่ แค่รัฐบาลยังไม่พอ มีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนไม่ว่าภาครัฐ เอกชน นักวิชาการเศรษฐศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนภาคประชาสังคม
ทุกฝ่ายต้องผนึกกำลังความคิดร่วมกันหาทางออก ถึงจะนำพาประเทศรอดบาดเจ็บจากสงครามนี้ให้ได้