วันที่ 15 พ.ค. ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงข้อเสนอให้งดเว้นไพรมารี่โหวตตามพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง ในการเลือกตั้งครั้งแรก ว่า รัฐธรรมนูญกำหนดประชาชนต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมของพรรค กรธ.ก็ร่างกฎหมายลูกให้มีส่วนร่วมระดับหนึ่ง พอถึงสนช.ก็เพิ่มอีกระดับหนึ่ง มีไพรมารี่โหวตด้วย

นายมีชัย กล่าวว่า ทั้งนี้ ต้องรอดูที่นายกฯจะให้พรรคร่วมหารือด้วยในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ ตามกำหนดการเดิมที่คาดว่ากฎหมายลูกจะประกาศในราชกิจานุเบกษาเดือนมิ.ย. แต่ตอนนี้ คำสั่งคสช.ที่ 53/2560 เรื่องการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และพ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ การหารือจะช้ากว่านี้หรือไม่ ต้องถามนายกฯ

นายมีชัย กล่าวว่า เมื่อเขียนไพรมารี่โหวตแบบนี้ก็ต้องใช้ ซึ่งไม่ได้เข้มข้น ต้องลงคะแนนเอิกเกริกแบบอเมริกา แค่เรียกสมาชิกมา 100 คนก็ทำได้ แต่ไม่ใช่ทำทีเดียวพร้อมกันทั่วราชอาณาจักร เพราะพรรคต้องมีคนมาดูด้วย ต้องใช้เวลา การกำหนดวันเลือกตั้งต้องดูเรื่องนี้ด้วย ขณะนี้งดเว้นไม่ได้ นอกจากนี้ ยังต้องรอฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งมีความเป็นไปได้ 3 แบบคือ 1. ไม่ขัด ก็ไม่มีอะไร

2.ขัดบางอัน แต่ใช้ได้ และ3.ขัด แล้วใช้ไม่ได้ ต้องร่างใหม่ ถ้าเป็นร่างพ.ร.บ. 2 ฉบับเป็นหน้าที่กรธ.ก่อนส่งให้สนช. หากเป็นคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ก็เป็นหน้าที่คสช.แก้ไข ถ้าไม่ขัดพรรคก็เดินหน้าหาสมาชิก ถ้าขัดก็ได้สมาชิกเก่าคืน แล้วจะเป็นภาระเรื่องไพรมารี่โหวต พรรคไหนมีเป็นล้านก็เหนื่อย ตนจึงไม่กังวลใจคำวินิจฉัยว่าอย่างไรก็อย่างนั้น

นายมีชัย กล่าวถึงนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปด้านกฎหมาย ระบุการปฏิรูปไร้จุดจบเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดในบทหลักว่า มีเวลา แต่มีขั้นต้น การปฏิรูปจริงไม่มีวันเสร็จ ทำส่วนหนึ่งแล้วก็กระทบอีกส่วนหนึ่ง ต้องปฏิรูปต่อ หรือปฏิรูปไปแล้วไม่ออกผล ก็ต้องทำใหม่ ตามแผนปฏิรูปกำหนดไว้ 5 ปีตามที่สปช.และสปท.ทำไว้ ส่วนในรัฐธรรมนูญกำหนดกรอบไว้กว้างๆ แต่ครอบคลุมทุกส่วน เช่น ด้านบริหาร ก็กระทบทุกระทรวง มันจึงยากที่จะทำจากหนึ่งถึงร้อย จึงต้องทำหลักๆก่อน ส่วนที่ระบุการปฏิรูปโดยให้ผู้ถกปฏิรูปทำจะมีปัญหานั้น จริง ดังนั้นกฎหมายและแผนการปฏิรูปจึงเจาะจงมากกว่าปกติ ต้องกำหนดให้ชัดภายในกี่ปี

นายมีชัย กล่าวว่า อย่างการปฏิรูปกฎหมายชุดนายบวรศักดิ์ ที่เห็นว่าควรใช้โทษทางปกครองแทนโทษทางอาญา ก็ลงไปสำรวจข้อมูลเอง เพื่อนำมาแก้กฎหมายแล้วเสนอรัฐบาล หากไปถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเขาก็บอกไม่มีปัญหา คณะกรรมการปฏิรูปทั้ง 11 ด้านจึงต้องลงมือทำ เหมือนปฏิรูปตำรวจที่ตนรับผิดชอบ

 

นายมีชัย กล่าวถึงการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานีตำรวจภูธรในพื้นที่จ.ระยองช่วงวันเสาร์ อาทิตย์ที่ผ่านมาโดยไม่แจ้งให้ตำรวจทราบล่วงหน้าว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะการแบ่งเกรดสถานีตำรวจ ที่มีการแบ่งเป็นเกรดเอ บี ซี ดี เหมือนกระทรวง สถานีที่เป็นเกรด เอ ก็จะไม่ยอมรับฟังหรือเห็นด้วยที่จะให้มีการปฏิรูปในเรื่องต่างๆ จึงจะลองคุยกับเกรดดีดูบ้าง

นายมีชัย กล่าวว่า ยังพบว่า การทำงานของเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนนั้นเป็นไปอย่างลำบาก เพราะต้องออกค่าใช้จ่ายเองหลายอย่าง ไม่ว่าค่ากระดาษพิมพ์สำนวน หรือค่าเดินทาง ที่ไม่สามารถเบิกจากงบราชการได้ ทำให้ตำรวจต้องหาแหล่งรายได้มาทดแทน ซึ่งแหล่งที่มาของรายได้เหล่านี้เป็นที่มาของการแบ่งเกรดสถานีตำรวจ

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน