คดีสลายการชุมนุม 99 ศพ ยังจบไม่ได้!!! อดีตผู้พิพากษาศาลฏีกา ชี้ ยื่นตั้งกก.ไต่สวนอิสระสู้ต่อ หนุนชง “ดีเอสไอ” ฟ้องมือสังหาร ซัดทอดนายบงการผิดกฎหมาย

99ศพ เมษา-พฤษภา2553 / เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. นางสมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตคณะกรรมการป.ป.ช. และ อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา กล่าวถึงแนวทางการสู้คดี 99 ศพ ภายหลังป.ป.ช.มีมติยกคำร้องรื้อฟื้นคดีเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่า ป.ป.ช.ไม่เห็นพยานหลักฐานใหม่ จึงมียืนตามมติเมื่อปี 2558 ไม่สั่งฟ้อง โดยระบุว่า มองการสลายการชุมนุมเป็นไปตามหลักสากล ผู้ชุมนุมบางรายมีอาวุธ จึงให้ทหารเข้าควบคุมขอคืนพื้นที่โดยสามารถพกอาวุธและใช้ได้ตามความสมควรและจำเป็นนั้น แต่สิ่งที่ปรากฎออกมาคือมีผู้เสียชีวิตมากถึง 99 ศพ อาวุธที่ใช้ไม่ธรรมดาแต่ยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในราชการสงครามอย่างสไนเปอร์ที่ปรากฎในภาพข่าว ตรงจุดนี้ก็จะค้านกับคำพิพากษาผลการไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้ชุมนุมที่เสียชีวิต 10 กว่ารายทันที เพราะไม่พบคราบเขม่าดินปืนจากอาวุธในตัวผู้ตาย อีกทั้งคำพิพากษานี้ยังระบุด้วยว่ามาจากฝั่งเจ้าหน้าที่หน่วยไหนที่อยู่ในพื้นที่ เชื่อว่า ตรงนี้จะมีข้อโต้แย้งว่า ผลการไต่สวนชันสูตรพลิกศพที่เหลือของผู้ตายอาจมีบางรายก็ได้ที่พกอาวุธ

“แต่ส่วนตัวเห็นว่า ถึงแม้จะมีผู้ชุมนุมบางรายมีอาวุธ แต่การใช้อาวุธสงครามสลายการชุมนุมก็ยังหนักเกินความจำเป็นอยู่ดี ตามกฎหมายอาญาเจ้าหน้าที่จะใช้อาวุธได้ก็ต่อเมื่อต้องมีการต่อสู้ ไม่ใช่อีกฝ่ายมีอาวุธแล้วก็ประหารได้เลย คดี 99 ศพจึงยังจบไม่ได้ ผู้บริหารประเทศไม่มีสิทธิประหารใคร สำหรับแนวทางการสู้ต่อตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4288-4289/2560 เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.60 ทีผ่านมา ตอนหนึ่งระบุว่า ให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ 2550 ตามคำฟ้องและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายใต้การบังคับใช้ของรัฐธรรมนูญฉบับนั้น เพื่อร้องต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนอิสระขึ้นมาพิจารณาสั่งฟ้อง คดี 99 ศพ ดิฉันยังคงคาใจอยู่ 2 ข้อคือ 1.ทำไมต้องใช้อาวุธร้ายแรงเหมือนอยู่ในราชการสงคราม และ2.ทำไมจึงใช้ทหารไม่ใช้ตำรวจที่ถูกฝึกมาให้ควบคุมสถานการณ์เช่นนี้โดยเฉพาะ การนำมาเทียบเคียงกับคดีสลายการชุมนุมพันธมิตร ที่ป.ป.ช.เห็นว่า การใช้ตำรวจไม่เป็นไปตามหลักสากลนั้นคนละเรื่องกัน เหตุการณ์ 7 ตุลาฯ 51 ตำรวจได้ใช้มาตราการจากเบาไปหาหนักนั้นเป็นไปตามหลักสากลแล้ว” นางสมลักษณ์กล่าว

ส่วนมติป.ป.ช.ที่ระบุถึงการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ทหารและนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ใช้กำลังและอาวุธจนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ให้ส่งเรื่องไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ดำเนินการตามป.วิอาญา ตามมาตรา 89/2 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช.นั้น อดีตผู้พิพากษา กล่าวว่า

เป็นการมองในกรณีว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการทำเกินกว่าเหตุ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ.และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ที่ออกคำสั่งให้เข้าสลายการชุมนุมไม่ได้มีเจตนาพิเศษ แต่ในมุมมองดิฉันก็ยังเหตุเจตนา เพราะมีคำให้สัมภาษณ์ออกมาลักษณะว่าให้ยิงต่ำกว่าเข่าได้ ซึ่งการชุมนุมของผู้ชุมนุมไม่ได้มีใครอยู่เฉยเหตุการณ์ชุลมุน ขาของคนหนึ่งอาจเป็นหัวของคนหนึ่งก็ได้ จึงถือว่าเล็งเห็นผลให้ผู้ชุมนุมถึงแก่ความตาย

“จึงเห็นด้วยอยู่เหมือนกันที่จะไปดีเอสไอแล้วให้ฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติว่า ทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ เพราะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการสามารถให้การซักทอดผู้บังคับบัญชาที่สั่งการได้ โดยตามกฎหมายอาญาก็คุ้มครองเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการไว้ว่า หากผู้บังคับบัญชาออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วผู้ปฏิบัติการเข้าใจว่าคำสั่งนั้นชอบด้วยกฎหมาย ผู้ปฏิบัติการมีความผิดจริงแต่ไม่ต้องถูกลงโทษ” อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน