ป.ป.ช. โว!! ตรวจสอบ นาฬิกาหรู เสร็จเร็วๆ นี้ ไม่เคยคิดยื้อเวลา ดำเนินตามกรอบเวลา ลั่น ไม่ซ้ำรอย คดีสินบนโรลส์รอยซ์

นาฬิกาหรู – วันที่ 23 ก.ค. ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมว่า ที่ผ่านมาคณะทำงานได้รายงานเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. และที่ประชุมมีมติใช้ระเบียบว่า ด้วยการตรวจสอบทรัพย์สินว่า เอกสารหรือข้อมูลที่มีอยู่ในตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยนั้นยังไม่มีข้อมูล จึงจำเป็นที่จะต้องไปขอข้อมูลกับบริษัทผู้ผลิตนาฬิกาแต่ละยี่ห้อ ว่านาฬิกายี่ห้อนี้ โมเดลนี้ ซีเรียลนัมเบอร์นี้ เขาได้ขายให้กับใคร เพื่อเป็นการยืนยันที่มาว่า ใครเป็นเจ้าของนาฬิกา

ทั้งนี้ คาดว่าใช้เวลาไม่นานในการรอข้อมูลจากต่างประเทศ เพราะ เป็นการขอความร่วมมือระหว่างประเทศ ไม่ใช่การขอความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่เป็นเอกชนที่พร้อมให้ข้อมูล หากมีข้อมูลตามที่เราประสานขอไป โดยกรอบเวลาที่รอข้อมูลจากต่างประเทศไม่มีกำหนดแน่ชัด แต่การดำเนินการที่ผ่านมาบางหน่วยงานก็ให้ข้อมูลเร็ว อย่างไรก็ตามหากบริษัทผู้ผลิตในต่างปฏิเสธให้ข้อมูลกับ ป.ป.ช. ต้องมาพิจารณาหาหนทางอื่น ซึ่งหากไม่มีหนทางอื่น ป.ป.ช.ก็ต้องวินิฉัยตามข้อมูลหลักฐานเท่าที่มีอยู่

เมื่อถามว่ามีการมองกันว่า เหมือนกับยื้อเวลาออกไปอีกหรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ตนไม่คิดว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ร่วมพิจารณาคดีดังกล่าวยื้อเวลา เพราะ กรรมการที่เข้าร่วมพิจารณาได้เล่าให้ตนฟังว่า หากทำไม่ครบถ้วนแล้วรีบสรุปไป ก็จะเป็นประเด็นอีก เพราะ กรรมการป.ป.ช. ที่ร่วมพิจารณาจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้นก็พยายามที่จะหาข้อมูลให้ครบถ้วนครบประเด็น แต่กรณีดังกล่าวเกิดความติดขัด คือไม่ได้รับข้อมูลจากในประเทศ ก็จะต้องขอข้อมูลจากต่างประเทศ

เมื่อถามอีกว่าจะซ้ำรอยกรณีสินบนโรลส์รอยซ์ ที่สถาบันทางการเงินต่างประเทศไม่ยอมให้ความร่วมมือหรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า กรณีดังกล่าวค่อนข้างช้า เพราะ เป็นการขอความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ หรือมีกรณีที่บางประเทศในยุโรปไม่ยอมให้ข้อมูล เพราะมีเงื่อนไขว่า ประเทศไทยยังมีโทษประหารชีวิตอยู่ แม้ไทยจะมีกฎหมายที่กำหนดว่า คณะรัฐมนตรีสามารถให้คำมั่นได้

อย่างไรก็ตามคดีดังกล่าวมีความคืบหน้าไปบ้าง ยังคงดำเนินการตรวจสอบเส้นทางการเงิน เพราะ บางเรื่องบางประเด็นเป็นเรื่องที่เกิดมานานพอสมควร ทำให้พยานเอกสารหลักฐานค่อนข้างจะหากยาก และต้องระวังผลกระทบในการดำเนินคดีของประเทศนั้น ซึ่งเราก็พยายามเจรจาทำความเข้าใจ ซึ่งก็ยังคงอยู่ระหว่างการดำเนินการอยู่ แต่อาจจะไม่ครบถ้วนตามที่เราขอ ส่วนข้อมูลที่มีอยู่ขณะนี้ไม่สามารถตอบได้ว่า เพียงพอที่จะชี้มูลความผิดหรือไม่ เพราะคณะทำงานจะต้องรายงานข้อมูลที่มีให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาก่อน

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวถึงการตรวจสอบกรณีสินบน บ.มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็ม จ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ทางการของไทยมูลค่า 20 ล้านบาทว่า คดีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งเป็นองค์คณะขึ้นมาพิจารณา โดยมีข้อมูลหลักฐานที่เป็นภาพถ่ายการรับสินบน ล่าสุดมีการแจ้งข้อกล่าวหาบุคคลที่เกี่ยวแล้ว 4-5 คน แล้ว เรารู้ตัวหมดแล้ว คาดว่าอีกไม่นานจะแล้วเสร็จ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดูพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน