เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 10 ธ.ค. ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีงานเสวนาหัวข้อ “ออกตามหาประชาธิปไตยในยุคดึกดำบรรพ์” จัดโดยกลุ่ม people go network มีวิทยากรร่วมพูดคุยได้แก่ นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ น.ส.ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ นายสุธาชัย ยิ้มประเสิรฐ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ นายบัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และนายยุทธพร อิสรชัย รองอธิการบดี ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

นายสมชาย กล่าวว่า นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้นอย่างน้อยที่สุดไม่มีลักษณะการถือว่าตัวเองเหนือกว่าประชาชน สังคมประชาธิปไตยสามารถรับฟังสิทธิเสียงและถกเถียงกันได้ ไม่ต้องมีผู้นำมาชี้หน้าว่าควรทำอะไร อย่างเช่นในกรณีที่ข้าวราคาตก ชาวนากลับถูกไล่ให้ไปปลูกหมามุ่ยแทน อีกประเด็นที่อยากชั้ให้เห็นคือ ที่ผ่านมา สถาบันตุลาการมีบทบาทสูงขึ้นตั้งแต่ รัฐประหารปี 2549 หรือที่เรียกว่าตุลาการภิวัฒน์ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าไปตัดสินคดีทางการเมือง ซึ่งมีลักษณะการอ้างความดีและศีลธรรม ซึ่งตนมองว่าเป็นอคติอย่างหนึ่งในทางการเมือง

นายบัณฑิต กล่าวว่า โลกสมัยใหม่ ประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงแค่ความเลื่อนลอยหรือคำพูดสวยหรู แต่อยู่ในชีวิตประจำวัน สังคมเปลี่ยนไปจนคนกลุ่มหนึ่งไม่สามารถจะสั่งประชาชนให้เดินตามใจตัวเองได้อีกแล้ว ประชาธิปไตยมีหลายแบบ แต่เห็นได้ว่าทุกประเทศในโลกไม่มีใครกล้าปฏิเสธประชาธิปไตยเพราะมันเป็นวิถีชีวิต เป็นระบอบที่สะท้อนความเห็นอันหลากหลายในสังคมได้ ทั้งนี้ประชาธิปไตยจะต้องมีลายลักษณ์อักษรกำกับไว้ ซึ่งคือรัฐธรรมนูญ

“วันที่ 10 ธ.ค. เมื่อ 3 ปีก่อน กลุ่มนักวิชาการก่อตั้งสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย และยอดคลิกไลค์นั้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ประชาธิปไตยจึงเป็นเรื่องของพันธสัญญาและไม่สามารถอนุญาตให้ใครบางคน บางกลุ่มถืออำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ คำถามคือ จะทำอย่างไรให้มีการเห็นหัวประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะถูกประกาศใช้แก้ไขได้ยาก ซึ่งอาจมีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีก” นายบัณฑิต กล่าว

15409469_1630144087011487_1142674577_o

ด้านนายสุธาชัย กล่าวว่า ประชาธิปไตยแบบไทยๆ คำว่าแบบไทยๆ มีลักษณะพิเศษมากเพราะมีความหมายเฉพาะ เป็นวัฒนธรรม ซึ่งทำให้เสียหาย เพราะประชาธิปไตยทั่วโลกมีความหมายเดียวคืออำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ประชาชน มีเพียงการออกแบบเท่านั้นว่าจะให้ประชาชนใช้อำนาจอย่างไร ประชาธิปไตยในอเมริกาที่เป็นต้นแบบประชาธิปไตยเองก็มีปัญหามากมาย ในอินเดียก็มีประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่สุดในเอเชีย แต่อำนาจก็อยู่ที่ตระกูลคานธี แต่ถึงจะมีปัญหา แต่กลไกก็ยังมีการกระจายอำนาจของประชาชนมากกว่าระบอบเผด็จการ เพราะมันรับประกันว่าทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่ากัน

“ที่ผ่านมา สังคมไทยสร้างภาพผิดๆ ด้วยการบอกว่าสังคมที่ดีคือสังคมที่ทุกคนคิดเหมือนกัน ต้องสามัคคีกัน ซึ่งไม่จริง ไม่มีทางที่ทุกคนคิดเหมือนกันได้ อีกลักษณะของสังคมไทย คือพูดอย่างหนึ่งทำอย่างหนึ่ง อาทิ เหตุผลคณะรัฐประหารมักอ้างการปฏิรูป แต่อะไรคือสิ่งที่เห็นเป็รรูปธรรม ที่สังคมล้าหลังเพราะมีชนชั้นนำที่ล้าหลังลากจูงชนชั้นกลางให้ล้าหลังไปด้วย การปฏิรูปจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะระบบราชการเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นระบบที่เอื้อให้ทหารได้ประโยชน์มากกว่าสาธารณะ

ส่วนน.ส.ปองขวัญ กล่าวว่า ข้อดีของประชาธิปไตยไม่ใช่การตัดสินว่าอะไรดีที่สุด แต่เป็นการให้พื้นที่ทุกคนได้แสดงความเห็นและแลกเปลี่ยนกัน และให้ทุกคนได้มีสิทธิเรียกร้องในประเด็นที่มีผลกระทบต่อชีวิต แม้ไม่ได้นำไปสู่จุดที่ดีที่สุด แต่อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่ามีพื้นที่ให้ทั้งคนที่ไม่เห็นด้วยได้ออกมาแสดงความเห็น และนำมาสู่สิ่งที่สังคมจะตกผลึกร่วมกัน แต่สังคมที่ปิดปากคนจะไม่นำมาสู่การตกผลึกร่วมกัน และไม่มีจุดยืนตรงกลางที่ทุกฝ่ายจะเห็นร่วมกันได้

ขณะที่ นายยุทธพร กล่าวว่า โครงสร้างรัฐและวัฒนธรรมไทยไม่ส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตย เพราะมีความเป็นรัฐซ้อนรัฐสูง ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญแต่อีกด้านหนึ่งก็อยู่ในสภาวะรัฐราชการ เพราะรัฐราชการไทยมีมาก่อนประชาธิปไตย กลไกรัฐราชการเกิดขึ้นในระบอบการเมืองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทั้งนี้ในอนาคต ตนมองว่าการรัฐประหารยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทยอยู่ตลอดเวลา เพราะกองทัพเป็นกำลังสำคัญในระบบราชการ รัฐธรรมนูญก็จะออกมาในรูปแบบที่ประนีประนอมกับกลุ่มอำนาจต่างๆ ของชนชั้นนำ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน