“บิิ๊กตู่” ถกร่วมครม.-คสช. ขอมติใช้ ม.44 ยุบทิ้ง 3 องค์กร สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ-สภาพัฒนาการเมือง-กรรมการปฏิรูปกฎหมาย ซัดพรรคการเมืองไม่ปลดล็อกตัวเองแล้วมาเรียกร้องรัฐบาล ส่วนครม.ต้องปรับแน่ แต่ไม่บอกว่าเมื่อไร ลั่นรัฐบาล คสช. นายกฯ สั่งได้ทุกกระทรวง ใครเป็นรมต.ก็มีค่าเท่ากัน ‘มีชัย’เล็งผ่อนปรนพ.ร.บ.พรรคการเมือง ยืดเวลาจ่ายค่าสมาชิกพรรค เครือข่ายพลเมืองเน็ตล่า 5 หมื่นต้านพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ยื่นสนช.ทบทวนก่อนถกวาระ 3 วันที่ 15 ธ.ค.นี้

นายกฯตู่ถกร่วมครม.-คสช.

เวลา 09.00 น. วันที่ 13 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมร่วมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ คสช. จากนั้นจึงประชุมครม.ต่อ โดยพล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธจะตอบคำถามถึงวาระการประชุมมีอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ เพียงแต่ยิ้ม ก่อนเดินขึ้นห้องประชุม

เวลา 10.00 น. หลังประชุมซึ่งใช้เวลาประชุม 1 ชั่วโมง พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. และเลขาธิการคสช. กล่าวว่า การประชุมวันนี้เป็นการพูดคุยกันภายในของคสช.และครม.เท่านั้น ยังไม่มีการพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการคสช.เพิ่ม

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะกรรมการคสช. ยืนยันการประชุมร่วมครม. คสช. ไม่มีประเด็นการหารือในเรื่องการปลดล็อกพรรคการเมือง

อ้างหารือปมคำสั่งคสช.3 เรื่อง

ด้านพ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช. พล.อ.ประยุทธ์ ให้คสช.ยังคงสนับสนุนงานรัฐบาลโดยเฉพาะช่วยกันติดตามสนับสนุนการทำงานในระดับพื้นที่ให้มีความโปร่งใส โดยเฉพาะการใช้จ่ายงบประมาณต่างๆ ซึ่งอยากให้รวบรวมข้อมูล ผลงาน ทั้งงานตามหน้าที่หลัก งานตามนโยบายและงานตามหน้าที่เสริมและสนับสนุนต่างๆ ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา โดยสรุปเป็นผลงานออกมาให้เห็นชัดเจน

พ.อ.วินธัยกล่าวว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ รายงานต่อที่ประชุมถึงความจำเป็นในการออกคำสั่งหัวหน้าคสช. อาศัยความตามมาตรา 44 จำนวน 3 ฉบับ ที่เกี่ยวกับงานของกระทรวง ทบวง กรม เนื่องจากการออกคำสั่งดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบและเป็นมติของคสช. จึงต้องมีมติในที่ประชุม ได้แก่เรื่องการยกเลิกกฎหมายว่าด้วยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยสภาพัฒนาการเมือง และกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย, เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของผอ.สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินการศึกษา (เพิ่มเติม) และเรื่องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ในที่ประชุมไม่มีการหารือหรือพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการคสช. แทนพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา อดีตรมว.ยุติธรรม ซึ่งลาออกไปโดยเป็นการคุยกันภายในเท่านั้น

ใช้ม.44ยุบ3องค์กร

วันเดียวกัน ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ คำสั่งที่ 71/2559 การยกเลิกกฎหมายว่าด้วยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยสภาพัฒนาการเมือง และกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เพื่อให้การดําเนินการมีประสิทธิภาพ ไม่ซ้ำซ้อน อาศัยอำนาจ ม.44 ยกเลิกพ.ร.บ.สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ พ.ศ.2543 และฉบับพ.ศ.2547 ยกเว้นม.27 และ 27/2 ให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป, ยกเลิกพ.ร.บ.สภาพัฒนาการเมือง พ.ศ.2551 ยกเว้นหมวด 3 สำนักงานสภาพัฒนาการเมือง และ 4 กองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง และให้กรรมการพ้นจากตำแหน่ง ให้อำนาจบริหารเป็นอำนาจของนายกฯ, ยกเลิกพ.ร.บ.คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ.2553 ยกเว้น หมวด 3 สํานักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย โดยทั้ง 3 สำนักงานยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของนายกฯ หรือรองนายกฯ ที่นายกฯ มอบหมาย

ราชกิจจาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 73/2559 เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของผอ. สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือสมศ. (เพิ่มเติม) ใช้อำนาจตามม.44 ให้นายชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผอ.สมศ. พ้นจากผอ.สมศ.โดยไม่มีความผิด และให้ไปเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐประจำสำนักนายกฯ และให้นายคมศร วงษ์รักษา รองผอ.สมศ. พ้นจากการรักษาการแทนผอ.สมศ. เหตุอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ในวันที่ 17 ธ.ค.2559 และให้คณะกรรมการบริหาร สมศ.สรรหาและแต่งตั้งผอ.สมศ.ขึ้นแทน

บิ๊กตู่ลั่นมีอำนาจสั่งทุกกระทรวง

เวลา 13.45 น. หลังเป็นประธานประชุมครม. พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่า ก่อนประชุมครม.มีการประชุมคสช.เนื่องจากจำเป็นต้องออกคำสั่งหัวหน้า คสช. 3 ฉบับ คือ 1.การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ 2.การยกเลิกกฎหมายว่าด้วยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ กฎหมายว่าด้วยสภาพัฒนาการเมือง และกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เนื่องจากทั้ง 3 องค์กรครบวาระไปแล้ว จึงเห็นว่าควรให้บุคลากรไปทำงานยังหน่วยงานตัวเองส่วนหนึ่ง และองค์กรที่ยังขาดคนส่วนหนึ่ง ไม่ได้ยุบ และ 3.เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของผอ.สมศ. ก่อนหน้านี้มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จึงห่วงว่าเจ้าหน้าที่จะไม่มีงานทำ จึงให้เข้าไปช่วยงานที่สำนักนายกฯ ส่วนรักษาการผอ.ที่จะครบวาระเร็วๆ นี้ ก็สั่งการให้มีกระบวนการคัดสรรขึ้นใหม่

เมื่อถามถึงความคืบหน้าการปรับครม. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถึงอย่างไรก็ต้องปรับ แต่จะปรับเมื่อไรอย่างไรอยู่ในขั้นตอนที่ตนกำลังพิจารณา ส่วนใครจะมาเป็นรัฐมนตรีนั้นคิดว่าสถานการณ์ในวันนี้ไม่ใช่สถานการณ์การบริหารราชการด้วยนักการเมือง และขอพูดไว้ก่อนว่าตนไม่ได้รังเกียจนักการเมือง ทั้งนี้การบริหารภายในกรอบของรัฐบาลคสช. เรามีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติงานที่ลงลึกถึงทุกกระทรวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตนมีอำนาจที่จะสั่งการทุกกระทรวงด้วยตัวเอง ทั้งในส่วนความคิดริเริ่ม การมองวิสัยทัศน์ การมองยุทธศาสตร์ชาติและกำหนดแนวทางปฏิบัติกว้างๆ ลงไป ซึ่งกระทรวงมีหน้าที่นำไปสู่การปฏิบัติ และขับเคลื่อนคิดแผนงานโครงการต่างๆ ขึ้นมา

ต่างจากรัฐบาลผสม

“ฉะนั้นไม่ว่าใครจะเป็นรัฐมนตรีมันมีค่าเท่ากัน ไม่ใช่เหมือนรัฐบาลอื่นที่ผ่านมา เพราะอันนั้นเขาเป็นคนละพรรค คนละกระทรวง จึงต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละพรรค ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลถือเป็นคนละแบบกัน ดังนั้นการบริหารจึงต่างกัน อย่าให้ความสนใจเรื่องนี้มากนักคอยดูแล้วกัน เมื่อปรับครม.แล้วจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงขึ้นมาบ้าง ผมคิดว่าก็เปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว ทุกวันนี้หลายอย่างเกิดผลสัมฤทธิ์มามากพอสมควร” นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่น่าชื่นชมอย่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ที่มีความก้าวหน้า วันนี้ให้เอาวีดิทัศน์ออกทีวีด้วยว่าทำอะไรมาแล้วบ้าง ดังนั้น ควรจะเปรียบเทียบดูว่าช่วงที่ผ่านมารัฐบาลก่อนๆ ทำเรื่องเหล่านี้บ้างหรือไม่ ถ้าทำก็ดีไป แต่ถ้าเขาไม่ทำเราก็ทำ นี่คือแนวทางบริหาร ซึ่งตนได้แจกเอกสารนโยบายการบริหารของรัฐบาล ในห้วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้ใช้แนวทาง 21 ข้อ ถ้าไม่เอาแนวทางเหล่านี้มาก็จะตอบและถามคำถามอยู่แบบนี้ กระทั่งจับต้นชนปลายไม่ถูกว่ารัฐบาลทำอะไรไปบ้าง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สำหรับข้อเรียกร้องให้ปลดล็อกพรรคนั้น ในเมื่อพรรคยังไม่ปลดล็อกตัวเอง ยังพูดในเรื่องขัดแย้งกันตลอดเวลา กรธ.เชิญให้มาหารือร่วมก็ไม่มา แล้วตนจะไปปลดล็อกอะไรให้ เขาไม่ปลดตัวเอง ก็เรื่องของเขา ถึงเวลาที่กำหนดก็ไปสู่การเลือกตั้งเอาแล้วกัน

ชื่อบิ๊กโด่งยังหนึบคุมศึกษาฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระแสข่าวปรับครม.ตู่ 4 ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ในส่วนของ รมว.ศึกษาธิการที่จะมาแทนพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรีนั้น ยังมีชื่อของพล.อ. อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ซึ่งสามารถดูแลการแก้ไขปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมขับเคลื่อนงานคณะทำงานผู้แทนพิเศษของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งยังเป็นเพื่อนร่วมรุ่นของ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จึงเห็นว่า น่าจะทำงานสอดคล้องกันได้

สำหรับตำแหน่งรมว.ยุติธรรม ที่จะมาแทนพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรีนั้น คาดว่าจะเป็นพล.อ.นิวัตร มีนะโยธิน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นเพื่อนรักร่วมรุ่นตท.15 รุ่นเดียวกับพล.อ. ไพบูลย์ หรืออาจเป็นพล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ อดีตผช.ผบ.ทบ. แต่หากพลาดพล.อ.กัมปนาท ยังมีชื่อนั่งรมช.กลาโหมแทนพล.อ.อุดมเดช แต่ต้องขับเคี่ยวกับ พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข อดีตเสนาธิการทหารบก ที่มีบทบาทช่วงทำรัฐประหารที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน พล.อ. กัมปนาท ยังมีชื่ออาจจะได้นั่งรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) แต่ขึ้นอยู่กับพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งอาจจะคัดเลือกบุคคลที่มีความชำนาญด้านเศรษฐกิจและดิจิทัลมาทำหน้าที่ก็ได้

‘มีชัย’ยันกม.ลูกตั้งพรรคไม่ยาก

ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรธ. ให้สัมภาษณ์ถึงการปลดล็อกพรรคการเมืองว่า คสช.จะเป็นผู้พิจารณาการปลดล็อกพรรค ซึ่งต้องรอกฎหมายพรรคการเมืองผ่านความเห็นชอบจากสนช. เนื่องจากกฎหมายจะกำหนดสิ่งที่ต้องทำไว้ โดยข้อบังคับต่างๆ ที่วางไว้พรรคต้องทำให้ได้ ยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้เพิ่มอำนาจสมาชิกพรรคให้มีมากขึ้น จะได้เป็นเจ้าของพรรคอย่างแท้จริง เป็นไปตามเสียงของประชาชนที่กรธ.รับฟังมา

นายมีชัยกล่าวว่า ส่วนข้อสังเกตว่าจะกระทบต่อพรรคเล็กนั้นหลักเกณฑ์การตั้งพรรคไม่ได้ยากและไม่ได้บีบพรรคเล็ก อีกทั้งยังง่ายกว่าเดิมที่กำหนดให้ต้องมีสมาชิกเริ่มต้น 5,000 คน แต่ร่างนี้กำหนดให้มีเพียง 500 คน ทุนประเดิมก็ไม่ได้มาก แค่คนละ 2,000 บาท ไม่ยาก เพราะหากตั้งพรรคมาแล้วไม่มีเงินจะทำกิจกรรมการเมืองกันอย่างไร

เมื่อถามถึงในทางปฏิบัตินายทุนอาจจ่ายเงินทุนประเดิมแทนสมาชิกผู้ก่อตั้งแทนได้ นายมีชัย กล่าวว่า นี่คือการเลี่ยงกฎหมาย ก็อาจต้องไปใส่บทกำหนดโทษเอาไว้ เชื่อว่าประชาชนที่อยากตั้งพรรคคงไม่ยอมเพราะต้องการเป็นเจ้าของ อยากมีส่วนร่วม เหมือนคนเข้าสมาคม จัดทอดกฐิน คนริเริ่มที่เป็นกรรมการก็ต้องออกเงิน

เล็งผ่อนปรนเงินค่าสมาชิกพรรค

เมื่อถามว่าพรรคใหญ่วิจารณ์กฎหมายพรรคในหลายประเด็นจะปรับเปลี่ยนหรือไม่ และถ้า 2 พรรคใหญ่ไม่ร่วมด้วยจะมีผลหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า หากมีเหตุผลก็คงปรับ ล่าสุดไปเจอคนมาเสนอให้ปรับบางประเด็นตนก็เก็บใส่กระเป๋าไว้พิจารณา เช่น เกณฑ์การให้สมาชิกพรรคเดิมต้องชำระค่าบำรุงสมาชิกทันทีภายใน 150 วัน มีคนบอกว่าทำจริงได้ยากต้องมีการติดต่อกับสมาชิก โดยเฉพาะพรรคที่มีสมาชิกเป็นหมื่นเป็นแสน จึงคิดว่าจะผ่อนปรนให้ ถ้าพรรคไหนปฏิเสธการเข้าร่วมสัมมนาวันที่ 14 ธ.ค.นี้ ก็ถือว่าเห็นด้วย แต่ยืนยันว่ากรธ.พร้อมรับฟังข้อเสนอ ส่งมาเป็นเอกสารก็ได้ ส่งมาทางไหนก็ได้ แต่ไม่ใช่บอกไม่ดีแล้วไม่เสนอ หรือจะไปเสนอตอนสนช.พิจารณาก็ได้เขาคงรับฟัง แต่ถ้าเสนอมาตอนนี้เราก็อาจปรับให้ก่อนส่งสนช.

พท.ชี้กำหนดความผิดกว้าง-โทษแรง

นายนพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ. พรรคการเมืองที่กรธ.ยกร่างเบื้องต้นมีหลายแนวคิดที่ดี แต่ก็มีหลายแนวคิดที่น่ากังวล ประเด็นที่น่ากังวลที่สุดคือการเขียนกฎหมายที่มีโทษทางอาญาที่รุนแรงมาก แต่ถ้อยคำที่ใช้กว้างขวางและเปิดช่องให้ตีความได้หลายทาง อาจสร้างสนามกับระเบิดทางนิติศาสตร์โดยไม่ตั้งใจ เช่น การห้ามพรรคส่งเสริมหรือสนับสนุนการกระทำอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งในมาตรา 43 คำว่าก่อกวนหรือคุกคาม หรือความสงบเรียบร้อย มีความหมายกว้างและนักกฎหมายตีความข้อเท็จจริงได้ต่างกัน ดังนั้นพรรคก็ยากจะรู้แนวทางปฏิบัติหรือบรรทัดฐานของการกระทำได้ อีกทั้งมาตรา 105 ยังกำหนดโทษสูงสุดถึงประหารชีวิตถ้าฝ่าฝืนมาตรา 43

นายนพดลกล่าวว่า ตนเห็นว่าการเขียนกฎหมายเช่นนี้มีปัญหาเพราะ 1.การกำหนดความผิดด้วยถ้อยคำที่กว้างมาก ขาดบรรทัดฐานในการปฏิบัติที่ชัดเจน และ 2.โทษที่กำหนดรุนแรงเกินควรไม่ได้สัดส่วนกับความผิด น่าจะไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม นี่เป็นบางตัวอย่างเท่านั้น สิ่งที่ประเทศไทยต้องการขณะนี้คือการสร้างพรรคให้เป็นสถาบันทางการเมือง การกำหนดโทษรุนแรงจึงไม่ใช่ทางออก ส่วนกรธ.และสนช.จะแก้หรือไม่ ไม่ขอก้าวล่วงเพราะมุมมองต่างกัน

ซัดกรธ.เล็งรวบหัวรวบหาง

นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ ประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในกรธ.เผยว่า ขณะนี้มีพรรคการเมืองยืนยันส่งตัวแทนเข้าร่วมวันที่ 14 ธ.ค. จำนวน 40 พรรคการเมือง มีเพียงพรรคเพื่อไทยเท่านั้นที่แจ้งกลับว่าไม่ส่งตัวแทน เข้าร่วม ในงานดังกล่าวจะมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ร่วมเวทีเพื่อชี้แจงเจตนารมณ์ ขณะที่นายอุดม รัฐอมฤต กรธ. และนาย ธนาวัฒน์ สังข์ทอง เลขานุการกรธ. คนที่สอง จะเป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดพร้อมตอบคำถาม ของตัวแทนนักการเมืองที่สงสัยหรือเข้าใจผิดต่อตัวเนื้อหา คาดหวังว่าเวทีสัมมนาดังกล่าว จะได้รับความเห็นและข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ และหากข้อเสนอใดมีประเด็นที่ดี กรธ.พร้อมรับพิจารณาและปรับปรุงเนื้อหา

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อพ.ร.บ.พรรคการเมืองในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ว่า กรธ.ไม่ได้ตั้งใจรับฟังความคิดเห็น ทำพอเป็นพิธีกรรม เห็นได้จาก 1.กำหนดเวลาให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเพียง 30 นาที ระหว่างเวลา 16.00 -16.30 น. ส่วนกรธ.ชี้แจงถึง 2 ชั่วโมงครึ่ง เวลา 13.30-16.00 น. จึงเห็นได้ว่ากรธ.ตั้งใจไม่ให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นเหตุเป็นผล ผู้ไปร่วมเท่ากับไปร่วมพิธีกรรมให้สังคมเห็นว่ารับฟังความคิดเห็นแล้ว

2.กรธ.ไม่ได้ตั้งใจเชิญพรรคเข้าร่วมสัมมนา เห็นได้จากไม่ได้มีหนังสือเชิญเป็นกิจจะลักษณะ เพียงแต่ส่งข่าวประชาสัมพันธ์การจัดสัมมนา มองว่าเป็นความตั้งใจของกรธ.ที่จะรวบหัวรวบหาง รู้สึกเสียดายที่กรธ.ใจแคบผูกขาดความเห็นตนเองเป็นใหญ่ แทนที่จะใช้ห้วงเวลาสำคัญนี้นำประเทศสู่สังคมโลกอย่างสง่างามตามระบอบประชา ธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่ กรธ.มองข้ามการมีส่วนร่วม

ปชป.ส่งตัวแทนไปยื่นเอกสารแจง

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเวทีสัมมนาร่างพ.ร.บ.พรรคการเมือง 14 ธ.ค.นี้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ส่งนายธนา ชีรวินิจ อดีตส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เป็นตัวแทนไปร่วมเวทีแสดงความเห็น โดยจะนำเอกสารความเห็นไปมอบให้กรธ.ด้วย แต่คาดว่าคงจะไม่ได้พูดแสดงความเห็นเนื่องจากเกรงว่าเวลาจะไม่พอ จึงขอเปิดโอกาสให้พรรคอื่นๆ ที่มาร่วมแต่ไม่ได้เตรียมเอกสารมาชี้แจงได้มีโอกาสพูด เพราะถ้าให้พรรคประชาธิปัตย์พูดก็คงพูดตามเอกสาร จึงส่งตัวแทนไปมอบเอกสารจะดีกว่า

นายองอาจกล่าวว่า หลังเปิดเวที 14 ธ.ค. คงบอกไม่ได้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน พรรคมีเพียงภาระหน้าที่ที่จะบอกได้ว่า สิ่งที่ร่างกฎหมายพรรคการเมืองควรเป็นในมุมมองของพรรคการเมือง ส่วนจะแก้ไขหรือไม่เป็นดุลพินิจของกรธ. ซึ่งตามขั้นตอนต้องมีการกลั่นกรองโดยสนช.อีกชั้นหนึ่ง

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสนช. หรือวิปสนช. กล่าวถึงเวทีกรธ.ในวันที่ 14 ธ.ค. สนช.จะร่วมเวทีด้วยหรือไม่ว่า วิปสนช.อยากให้สนช. ร่วมรับฟังและศึกษาข้อมูลด้วย เพราะถือว่าเกี่ยวข้องโดยตรงเนื่องจากเป็นผู้ลงมติให้ ความเห็นชอบ ส่วนที่พรรคการเมืองคัดค้าน ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวนั้น ตามรัฐธรรมนูญกำหนดว่าในการพิจารณากฎหมายใดๆ จะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมและทำประชาพิจารณ์ด้วย ซึ่งร่างกฎหมายลูกถือเป็นกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ก็ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่การทำประชาพิจารณ์ในขั้นตอนนี้อาจทำผ่านสื่อโชเชี่ยล และส่งเป็นเอกสาร หรือแสดงความเห็นมายังกมธ.สนช.ได้

นายกฯลงพื้นที่สงขลา

ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.หญิงทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์มีกำหนดการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมประชาชนในวันพฤหัสบดีที่ 15 ธ.ค. ที่อ.ระโนด จ.สงขลา ออกเดินทางจากกรุงเทพฯเวลา 07.30 น. เพื่อดูโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนดกระแสสินธุ์ ต.บ้านขาว และพบปะประชาชนที่วัดวารีปาโมกซ์ ต.ตะเครียะ ที่ประสบอุทกภัยริมคลองตะเครียะและทะเลสาบสงขลาที่มีกว่า 2,000 คน และมอบสิ่งของเครื่องใช้มากกว่า 1,000 ชุด ช่วงบ่ายลงเรือเยี่ยมประชาชนที่ประสบอุทกภัยเพื่อมอบเครื่องใช้จำเป็นให้ก่อนจะเดินทางถึงกรุงเทพฯในช่วงเวลา 15.00 น.

พ.อ.หญิงทักษดาแถลงถึงผลประชุมครม.ว่า นายกฯสั่งการในที่ประชุมครม.มอบแนวทางการบริหารประเทศ 21 ข้อของรัฐบาลตามวิสัยทัศน์ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยระบุว่าตลอด 2 ปี รัฐบาลได้ทำตามแนวทางนี้มาตลอด ขอให้สื่อดูและยึดถือแนวทาง ดังกล่าวไว้ อาทิ ตั้งเป้าหมายการพัฒนา โดยยึดถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง ต้องกำหนดตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ ประเมินผลงานได้ตามห้วงเวลาตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทุก 5 ปี สร้างความรัก สามัคคี และความปรองดอง สร้างประเทศไทยให้เป็นนิติรัฐ เอาจริงกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมทั้งสร้างการเมืองที่เป็นระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ การเมืองที่มีคุณธรรม จริยธรรม รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล รับผิดชอบทั้งข้าราชการและประชาชนเกือบ 70 ล้านคน และพัฒนาระบบเศรษฐกิจนำไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศ

ครม.เปิดช่องยืดอายุตุลาการ-อัยการ

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงว่า ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ฉบับที่ … พ.ศ. และร่างพ.ร.บ. หลักเกณฑ์การแต่งตั้งและการดำรงตำแหน่ง ผู้พิพากษาอาวุโส ฉบับที่ … พ.ศ. มีสาระสำคัญ คือกำหนดให้ชัดเจนว่าข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมและข้าราชการอัยการให้เกษียณอายุราชการที่ 70 ปี โดยข้าราชการศาลยุติธรรมเมื่ออายุครบ 60 ปี และมีประสบการณ์ทำงาน 20 ปี สามารถขอไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสได้ หากอายุครบ 65 ปีต้องไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสจนถึงเกษียณเพื่อสะสางคดีที่ค้างให้เสร็จ ส่วนข้าราชการอัยการให้ยึดหลักเกณฑ์เดียวกัน เมื่ออายุครบ 65 ปี ก่อนเกษียณในอายุ 70 ปี จะไปเป็นอัยการอาวุโส ซึ่งข้าราชการทั้งสองหน่วย เมื่อไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสและอัยการอาวุโสไม่มีสิทธิ์กลับไปดำรงตำแหน่งคณะกรรมการต่างๆ ในกระบวนการเดิม

ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.ทั้งสองฉบับเป็นการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนเกษียณอายุราชการเมื่ออายุ 60 ปี บริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงข้าราชการตุลาการ ศาลยุติธรรม และข้าราชการอัยการ

‘ปานเทพ รัตนากร’ปธ.บอร์ดสวนสัตว์

พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การสวนสัตว์ จำนวน 11 คน ดังนี้ 1.นายปานเทพ รัตนากร ประธานกรรมการ 2.นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ กรรมการ 3.นายชวลิต ชูขจร กรรมการ 4.นายเวทย์ นุชเจริญ กรรมการ 5.นางนันทริกา ชันซื่อ กรรมการ 6.นางกุฑลทิพย พานิชภักดิ์ กรรมการ 7.นายปัณรส มาลากุล ณ อยุธยา กรรมการ 8.นายสมบัติ อนันตรัมพร กรรมการ 9.นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ กรรมการ 10.พ.อ.ขจรศักดิ์ ไทยประยูร กรรมการ 11.น.ส.พรวิลัย เดชอมรชัย ผู้แทนกระทรวงการคลัง กรรมการ ทั้งนี้ ตั้งแต่ วันที่ 13 ธ.ค.เป็นต้นไป

พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า ครม.เห็นชอบผ่อนผันให้ผู้เสียหายคดีค้ามนุษย์อยู่ในประเทศ ไทยได้ชั่วคราว และอนุญาตให้ทำงานได้หลังคดีสิ้นสุด โดยให้กระทรวงมหาดไทยออกประกาศผ่อนผันให้ผู้เสียหายหรือพยานในคดีค้ามนุษย์อยู่ในประเทศไทยหลังคดีสิ้นสุดได้อีก 2 ปี หากจำเป็นต่ออายุได้คราวละ 1 ปี มีเงื่อนไขว่าระหว่างที่อยู่ในไทยต้องไม่มีพฤติการณ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย จากเดิมครม.มีมติมี.ค. 2559 อนุญาตให้อยู่ในไทยเป็นกรณีพิเศษระหว่างพิจารณาคดีไม่เกิน 1 ปี และต่ออายุคราวละ 1 ปี ตามคำแนะนำจากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี (ทริปรีพอร์ต) เพื่อจูงใจเหยื่อค้ามนุษย์ให้ความร่วมมือขยายผลการสอบสวน

พลเมืองเน็ตต้านพรบ.คอมพ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายพลเมืองเน็ต ผู้ริเริ่มล่ารายชื่อผ่านเว็บไซต์ change.org เพื่อคัดค้านร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับที่…. พ.ศ….. ที่เข้าสู่การพิจารณาวาระ 3 ของที่ประชุมสนช.ในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ ล่าสุดมีประชาชนร่วมลงชื่อแล้วทั้งสิ้น 51,427 คน ขณะเดียวกันในโลกโซเชี่ยลมีเดียมีผู้ใช้จำนวนมากโพสต์ แท็ก แชร์ สรุปเนื้อหาที่จะเกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพตากร่างกฎหมายฉบับนี้ ตลอดจนส่งอีเมล์เรียกร้องไปยังหน่วยงานสนช. และสมาชิกสนช.ที่เกี่ยวข้อง ตามแนวทางการรณรงค์ของโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์

นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า ก่อนเข้าสู่การประชุมสนช.วันที่ 15 ธ.ค. เครือข่ายพลเมืองเน็ตจะนำรายชื่อผู้คัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ไปยื่นต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ขอให้ชะลอและทบทวนร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวก่อนเข้าสู่การลงมติเห็นชอบผ่านวาระ 3 เพื่อรอประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป เนื่องจากตอนล่ารายชื่อถึง 40,000 คน ได้เคยยื่นหนังสือขอให้สนช.ทบทวนแล้ว ผ่านนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่สอง เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมา แต่ถึงตอนนี้กลับไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งยังแย่กว่าฉบับเดิมในปี 2550 และร่างแรกที่ผ่านความเห็นชอบ จึงต้องการให้สนช.ทบทวนมากกว่านี้ก่อนผ่านกฎหมาย เพราะไม่ใช่แค่การปิดกั้นเว็บไซต์ แต่จะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลการสื่อสารของประชาชนทั้งหมดได้

นายอาทิตย์กล่าวว่า การคัดค้านร่างพ.ร.บ. คอมพ์รอบนี้ได้ทำให้เกิดกระแสตื่นตัวอย่างกว้างขวาง สามารถรับรู้ได้ว่าจะกระทบกับคนทุกคน จึงต้องการทราบว่า สนช.ต้องการทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติหรือเพื่อตัวเอง สนช.จะลงมติเห็นชอบ ทั้งที่ประชาชนจำนวนมากนอกสภายังคัดค้านหรือไม่ แม้วาระแรกสนช.จะลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายนี้ด้วยคะแนน 160 ต่อ 0 แต่อย่างน้อยยัง แอบหวังว่าจะมีสมาชิกสนช.สักคนอภิปรายคัดค้าน เพื่อบันทึกไว้ให้ง่ายต่อการเสนอปรับแก้ไขในภายหลัง นอกจากนี้ เครือข่ายพลเมืองเน็ตจะคอยติดตามการผ่านกฎหมายชุดเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะกระทบกันคนจำนวนมากอย่าง ร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ และร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน