ยูเอ็น ระบุ ไทย เป็นหนึ่งในประเทศ น่าละอาย หลังนักสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก ถูกคุกคาม

ยูเอ็น – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ย.61 องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ได้เผยแพร่รายงานสำหรับการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น โดยประกาศรายชื่อ 38 ประเทศ ประเทศที่มีพฤติกรรมน่าละอาย ด้วยการตอบโต้หรือข่มขู่บุคคลที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งการสังหาร ทรมาน และจับกุมตัวตามอำเภอใจ ซึ่งบรรดาประเทศที่ปฏิบัติคุกคาม ยังมี ไทย รวมอยู่ด้วย

นายอันโตนิโอ กูเตเรส เลขาธิการยูเอ็น กล่าวว่า ที่โลกของเราเป็นหนี้บรรดาผู้คนที่กล้าจะลุกขึ้นมาสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน บุคคลที่คอยให้ข้อมูลและทำงานร่วมกับสหประชาชาติ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าสิทธิในการมีส่วนร่วมของพวกตนจะได้รับการเคารพ การลงโทษบุคคลที่ให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติเป็นพฤติกรรมที่น่าละอาย

อันโตนิโอ กูเตเรส เลขาธิการยูเอ็น

อันโตนิโอ กูเตเรส เลขาธิการยูเอ็น

สำหรับ 38 ประเทศในรายงานของ UN ฉบับนี้ มี 29 ประเทศที่ถูกขึ้นบัญชีจากกรณีใหม่ๆ ที่พบ ประกอบด้วย ไทย, บาห์เรน, แคเมอรูน, จีน, โคลอมเบีย, คิวบา, สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, จิบูตี, อียิปต์, กัวเตมาลา, กายอานา, ฮอนดูรัส, ฮังการี, อินเดีย, อิสราเอล, คีร์กีซสถาน, มัลดีฟส์, มาลี, โมร็อกโก, เมียนมา, ฟิลิปปินส์, รัสเซีย, รวันดา, ซาอุดีอาระเบีย, เซาท์ซูดาน, ตรินิแดด, โตเบโก, ตุรกี, เติร์กเมนิสถาน และเวเนซุเอลา

________________________________________________________

รายงาน ชี้ชัด นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ถูกคุกคามหนัก

________________________________________________________

จากรายงานที่มี 52 หน้า โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น ปรากฎอยู่ในหมวดที่ 5 เกี่ยวกับรายงานสถานการณ์ของการถูกคุกคามหรือกลั่นแกล้งจากการร่วมมือกับยูเอ็น ต่อตัวแทนของยูเอ็น และกลไกในพื้นที่สิทธิมนุษยชน โดยได้รายงานการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

อย่าง นายไมตรี จำเริญสุขสกุล นักปกป้องสิทธิชนพื้นเมืองลาหู่ ที่ถูกคุกคามล่วงละเมิดจนถึงถูกขู่ฆ่า และ น.ส.ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ถูกกล่าวหาในความผิดทางอาญาจากความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการให้ความร่วมมือกับกลไกด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น

ไมตรี จำเริญสุขสกุล นักปกป้องสิทธิชนพื้นเมืองลาหู่

ไมตรี จำเริญสุขสกุล นักปกป้องสิทธิชนพื้นเมืองลาหู่

ส่วนในภาคผนวก เป็นการรายงานเชิงลึกจากผู้รายงานพิเศษของยูเอ็นที่ได้ลงพื้นที่ติดตาม โดยในกรณีของ นายไมตรี ได้เปิดประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชุมชนชาวลาหู่ โดยเจ้าหน้าที่รัฐและการเรียกร้องความเป็นธรรมต่อการเสียชีวิตของนายชัยภูมิ ป่าแส นักเคลื่อนไหวชาวลาหู่วัย 17 ปี ที่ถูกทหารยิงเสียชีวิต (ล่าสุดมีรายงานว่าคลิปบันทึกช่วงเกิดเหตุได้หายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ)

แต่หลังจากการพบผู้รายงานพิเศษไม่นาน เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่เข้าตรวจค้นขนานใหญ่โดยอ้างปฏิบัติปราบปรามยาเสพติด และได้จับกุมสมาชิกครอบครัวของนายไมตรีไป 2 คน และถูกตั้งข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครองแต่ทั้งสองให้การปฏิเสธ

ชัยภูมิ ป่าแส

ชัยภูมิ ป่าแส

ต่อด้วยรายงานในเดือนสิงหาคม ปี 2017 ที่ระบุถึงกรณีของ น.ส.ศิริกาญจน์ ถูกตั้งข้อหาทั้งให้การเท็จ ข้อหาปลุกปั่นตามมาตรา 116 ของกฎหมายอาญา และฝ่าฝืนข้อ 12 ตามคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ว่าด้วยห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน

โดยเกิดขึ้นหลังจาก น.ส.ศิริกาญจน์ พร้อมทีมทนายความสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับ 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่ถูกจับกุมหลังชุมนุมต่อต้านรัฐบาลคสช.อย่างสันติ ในช่วงวันที่ 24 มิ.ย.58 (ตรงกับวันอภิวัฒน์สยาม ที่คณะราษฎรก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้เป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ)

น.ส.ศิริกาญจน์ เจริญศิริ

น.ส.ศิริกาญจน์ เจริญศิริ

โดย น.ส.ศิริกาญจน์ ปฏิเสธให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นของที่ 14 นักศึกษาฝากไว้กับทนายเพราะไม่มีคำสั่งตรวจค้นจากศาล ต่อมารัฐบาลคสช.ได้ตอบกลับด้วยวิธีการสื่อสารพิเศษว่า น.ส.ศิริกาญจน์ ไม่ได้ถูกตั้งข้อหาระหว่างทำหน้าที่เป็นทนายความหรือนักปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่ด้วยพื้นฐานที่เป็นไปได้ว่า น.ส.ศิริกาญจน์เป็น 1 ในผู้มีส่วนร่วมกระทำความผิดขัดคำสั่ง คสช.

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผู้ช่วยเลขาธิการสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น เดินทางเยือนไทยช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้กล่าวถึงข้อกล่าวหาที่คุกคามหรือกลั่นแกล้งไปยังรัฐบาลและจะรายงานผลความคืบหน้าให้ทราบ แต่กระนั้นรัฐบาลไทยกลับไม่มีการตอบสนอง

________________________________

นักสิทธิชายแดนใต้ ถูกกองทัพฟ้อง

________________________________

ไม่เพียงเท่านี้ ในรายงานยังระบุถึงกรณีของ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ นายสมชาย หอมละออ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ จากกลุ่มด้วยใจ ถูกกองทัพไทยฟ้องหมิ่นประมาทจากการเผยแพร่รายงานการซ้อมทรมาน 54 กรณี ที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงปี 2557-2558 โดยกล่าวหาว่าองค์กรดังกล่าวมีอคติและใช้ข้อมูลที่ล้าสมัย ต่อมากอ.รมน.ภาค 4 ได้ยื่นฟ้องทั้ง 3 ในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560

จากนั้น 1 ก.ค.60 มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่เชื่อว่าเป็นทหารเข้าพบ น.ส.อัญชนา และเตือนว่าอย่าโพสต์อะไรบนเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่แล้ว กอ.รมน.ภาค 4 ได้ถอนฟ้องหมิ่นประมาทกับทั้ง 3 คน

3 นักสิทธิชายแดนใต้

3 นักสิทธิชายแดนใต้

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าทั้ง 3 ตกเป็นเป้าในการคุกคามบนโลกโซเชียล ด้วยคำกล่าวหาว่ามีอคติ และเชื่อมโยงนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน รวมถึงบล็อกเนื้อหาที่ไปถึงขั้นข่มขู่ฆ่า น.ส.พรเพ็ญ

นอกจากนี้ มีรายงานถึงการดำเนินคดีกับ นายอิสมาแอ เต๊ะ ประธานองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานี โดยกอ.รมน.ภาค 4 และสภ.ปัตตานี ยื่นฟ้องหมิ่นประมาทนายอิสมาแอ หลังให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประสบการณ์ถูกซ้อมทรมานในค่ายทหารในจังหวัดปัตตานี แต่ศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินให้นายอิสมาแอชนะคดี

โดยระบุว่าถูกละเมิดภายใต้การควบคุมตัวของทหารจากข้อมูลทางการแพทย์ และสั่งให้กองทัพไทยเยียวยานายอิสมาแอ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน