นัดเยี่ยม”บ้านลุงตู่” กลุ่มแฮ็กเว็บชวนลุยเว็บทบ. ประกาศจุดยืน ไม่เกี่ยวสีเสื้อการเมืองทำเพื่อเสรีภาพสื่อสารเท่านั้น ย้ำยุติพ.ร.บ. คอมพ์ทุกอย่างก็จบ ด้านผบ.ทบ.ยันป้องกันเต็มที่ คสช.ล็อก 5 มือป่วนเว็บเข้าค่ายทหาร เตรียมขยายผลจับอีกนับร้อย จุฬาฯเสวนา ชี้พ.ร.บ.คอมพ์เขียนไม่กว้าง-ไม่ชัดเจน ห่วงกระทบอื้อ “บิ๊กตู่”รับเหนื่อยแต่ยังไหว

บิ๊กตู่บินดูน่านปลูกป่า

เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) พร้อมด้วยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เดินทางจากฝูงเครื่องบิน กองการบิน ศูนย์การเคลื่อนย้ายกองทัพบก ดอนเมือง (ขส.ทบ.เดิม) ไปยังท่าอากาศยานน่านนคร จ.น่าน

จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์นำคณะเดินทางไปจุดชมวิวบ้านน้ำป้าก หมู่ 7 ต.ตาลชุม อ.ท่าวังผา เพื่อรับฟังบรรยายสรุปเรื่อง “โครงการปลูกป่าสร้างคนบนวิถีพอเพียงรักษาต้นน้ำบรรเทาอุทกภัยจังหวัดน่าน” และเป็นประธานสักขีพยานในการมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องที่ดินทำกิน ซึ่งพล.อ.ฉัตรชัย ทำงานมาตลอด อย่าไปโทษ เมื่อมีปัญหามาก็ต้องทำงานช่วยกันแก้ไข และอย่าไปโกรธเกลียดพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะเขาทำตามกฎหมาย รัฐบาลยังมีมาตรการช่วยเหลือการเกษตรอีกหลายอย่าง ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังแก้กฎหมายที่ไม่ทันสมัย มีข้อมูลที่ไม่ชัดเจนทั้งเรื่องพื้นที่ป่า การกำหนดพื้นที่ป่าให้ชัดเจนและมาตรการดูแลผืนป่าให้ชัดเจน โดยไม่มีการบุกรุกอีกต่อไป

ยอมรับเหนื่อยแต่ยังไหว

“ยอมรับว่าผมเองก็หนื่อย แต่ยังทำงานไหวอยู่ ไม่เคยกลัวใครหรือยอมแพ้ และขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลบิดเบือน ข้าราชการต้องเป็นหลักในการทำงาน หากพบว่าที่ไหนข้าราชการมีปัญหาก็ให้ส่งหลักฐานมาที่ผม ผมจะตรวจสอบให้ และยืนยันว่าไม่มีมาตรการล้วงข้อมูลประชาชน เพราะเราไม่อยากรู้ แต่จำเป็นต้องกำจัดขยะที่มีอยู่ที่มีอยู่ทางโซเชี่ยลมีเดียออกไปเพื่อให้สังคมสงบสุขมากขึ้น” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์พบปะ กล่าวทักทายประชาชนที่มาต้อนรับ ก่อนเดินทางไปยังบ้านห้วยส้มป่อย อ.เมือง เพื่อพบปะผู้นำชุมชน เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาเมืองน่านในมิติต่างๆ อย่างยั่งยืน และไปกราบนมัสการพระ พุทธมหาพรหมอุดมสักยมุนี พระประธานจตุรพักตร์ในวิหารหลวง วัดภูมินทร์ ต.ในเวียง อ.เมือง แล้วเดินทางกลับกรุงเทพฯ

ย้ำอีกอย่าติดกับดักประชาธิปไตย

พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า ด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้รัฐมนตรีซึ่งได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งใหม่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณ ก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พวกเราทุกคนควรได้ระลึกและรับใส่เกล้าใส่กระหม่อม น้อมนำไปสู่การปฏิบัติ ทั้งนี้ การปฏิบัติงานใดๆ ย่อมมีปัญหา มีอุปสรรค ก็ขอให้ปรึกษากันหาข้อมูลที่ถูกต้องและปฏิบัติด้วยความรอบ คอบ ทันกาล เหมาะสมกับสถานการณ์และมีเหตุผล ซึ่งปัญหาและอุปสรรคนอกจากจะเป็นเสมือนบททดสอบ บทเรียนแล้ว ยังช่วยเพิ่มความสามารถให้กับเราทุกคนด้วย ดังนั้น ต้องมีความตั้งใจ มีขันติ อดทน มีความกระตือรือร้นที่จะศึกษาปัญหาและแก้ไขให้รอบคอบ จะได้ผลต่อประเทศ เป็นบุญกุศลกับตนเองด้วย

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ทุกวันนี้บางคนยังติดกับดักประชาธิปไตย ยังถกเถียงวนเวียนและเข้าใจเพียงว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งเป็นหลัก ซึ่งมีหลายอย่างประกอบกัน เมื่อมีรัฐบาลแล้วก็จะเรียกร้องขอความช่วยเหลือ ทวงสัญญาจากการหาเสียง หรือสัญญาว่าจะให้ โดยไม่ยอมสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเอง ชุมชน และสังคม มันเป็นช่องทางให้กับ นักธุรกิจการเมืองเข้ามาลงทุน กอบโกยผลกำไรในอำนาจหน้าที่ ซึ่งเป็นความบกพร่องที่ตนพยายามให้สติกับสังคมไทยมาตลอด เพื่อให้คนไทยรู้จักพัฒนาตนเอง และพัฒนาประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสังคมไทยร่วมกัน

เพจต้านกม.คอมพ์ย้ำไม่มีสีเสื้อ

วันเดียวกันนี้ เพจพลเมืองต่อต้าน Single Gateway : Thailand Internet Firewall #opsinglegateway ที่ประกาศทำสงครามไซเบอร์กับร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง หลักการและจุดยืนทางการเมืองของพื้นที่นี้ 1.ขอปฏิเสธที่จะไปสนับสนุนหรือขัดแย้งทางการเมืองเรื่องสีเสื้อกับทุกๆ สี เรื่องการเมืองของสีเสื้อ พวกเราไม่เกี่ยว พวกเราที่มาร่วมกันนี้มีทุกสี โปรดอย่าใช้พื้นที่นี้เพื่อการนี้โดยเด็ดขาด

2.พวกเรามีจุดยืนดำเนินกิจกรรมบนโลกออนไลน์เท่านั้น กิจกรรมนอกโลกออนไลน์ หากจะมีขึ้นก็มีเพื่อสังสรรค์สนุกสนาน จะไม่มีวัตถุประสงค์ไปเคลื่อนไหวนอกออนไลน์ เพื่อกดดันในประเด็นต่างๆ

ลั่นจุดยืนเพื่อเสรีภาพการสื่อสาร

3.เรามีเป้าหมายเพื่อเสรีภาพและความยุติธรรม เพื่อให้เกิดเสรีภาพในการสื่อสารอย่างแท้จริงเท่านั้น 4.ขอต่อต้านคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบและจากทุกแหล่ง ไม่ว่าข้าราชการ นักการเมือง ทหาร ตำรวจ และนักธุรกิจฉ้อฉล โดยถือว่ามีเลวร้ายไม่ต่างกัน 5.การกระทำใดๆ ที่เป็นความผิดของผู้กุมอำนาจรัฐ (ไม่ว่าสมัยใด) ในทุกกรณี ที่มีผลต่อชีวิตของประชาชน ย่อมไม่สามารถได้รับการให้อภัยโดยเด็ดขาด

6.ในการปฏิบัติการทุกกรณีของเรา ต้องจำกัดความเสียหายให้น้อยที่สุดและหลีกเลี่ยงได้ ให้พิจารณาเป็นลำดับแรก 7.พวกเราคือผู้ไร้ตัวตน (Anonymous) ไร้ร่องรอยอย่างแท้จริง ห้ามเปิดเผยตัวตนโดยเด็ดขาดว่า เป็นนักรบไซเบอร์ของกลุ่มพลเมืองต่อต้าน Single Gateway นักรบไซเบอร์ ของพวกเราล้วนไร้ตัวตน และไม่มีใครทราบว่าพวกเราคือใคร เหมือนอากาศ มองไม่เห็น แต่สัมผัสได้ว่ามีตัวตน

นัดลุยเว็บทบ.-บ้านลุงตู่

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวต่อต้าน (แนวคิด) Single Gateway หมายถึงการต่อต้านแนวคิดการจำกัดเสรีภาพของประชาชนในทุกวิธีการ ไม่ว่าการใช้เครื่องมือ การใช้กฎหมาย การใช้อำนาจเข้าข่มขู่ คุกคาม ล้วนอยู่ในคำจำกัดนี้ของพวกเรา

ก่อนหน้านี้ เมื่อคืนวันที่ 22 ธ.ค. เพจดังกล่าวโพสต์ประกาศยกระดับความเข้มข้นขึ้นอีก โดยประกาศเยี่ยมบ้านบิ๊กตู่ ด้วยการจะเปิดเผยข้อมูลการใช้งบประมาณบางหน่วยงานในกองทัพบก ซึ่งเปรียบเสมือนไปเยี่ยมบ้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในเวลา 20.00 น. ของวันที่ 23, 26 และ 27 ธ.ค. นี้

โดยระบุว่า “มาตามคำเรียกร้องในที่สุด ได้เวลาไปเยี่ยมบ้านลุงตู่ #OpSingleGateway ทนได้ ทนไป อึดได้ อึดไป จากการไปเยี่ยม ตร.พิษณุโลก, ตร.ภาค1, ตม., ตร.จราจร, ตร.ทางหลวง, ห้องประชุมใน สตช. ก็ถึงคิว บ้านลุงตู่ตอนนี้ทุกทีม ก็พุ่งเป้าไปเยี่ยมลุงตู่กัน คิดถึง ลุงตู่ ป.ล.พวกเราเตือนคุณแล้ว ให้ยุติเรื่องกฎหมายนี้เสีย ทุกอย่างก็จบ”

ประเดิมล่มเว็บทัพภาค2

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมาเวลา 20.00 น. เพจต่อต้านซิงเกิลเกตเวย์ฯ ได้โพสต์ข้อความว่า เปิดเยี่ยมบ้านลุงตู่ วันแรก ตอนแฮ็กเกอร์ได้จริงหรือไม่ พร้อมระบุ URL ของเว็บไซต์หลายหน่วยงานในสังกัดกองทัพภาคสอง และข้อความว่า “ถ้าแบบนี้ ไม่ได้เจาะระบบเข้าไปดูแล้วจะเรียกว่า อะไร จ๊ะ…..เมื่อมั่นใจว่า นี่เป็นบ้านหลังเล็ก หลังหนึ่ง ของลุงตู่ แน่ๆ ก็มาดูกันต่อไป”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนั้นยังอ้างเข้าไปดูข้อมูลการใช้งบประมาณของหน่วยงานเหล่านี้มาแล้ว และวิจารณ์การใช้งบหลักของทหารหน่วยนี้กลับกลายเป็นเรื่องการขุดลอกแหล่งน้ำ 184 ล้าน ก่อนสรุปเปิดบ้านลุงตู่วันแรก ก็จบเพียงเท่านี้ โปรดติดตามวันที่สองในวันจันทร์

ตร.ยันชั้นความลับเว็บไม่เสียหาย

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พ.ต.อ. กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. กล่าวถึงพลเมืองต่อต้านซิงเกิลเกตเวย์โพสต์ประกาศจะเปิดข้อมูลส่วนบุคคลของตำรวจกว่า 4,000 นาย ทั้งข้อมูลเงินดือน ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียน เลขที่บัญชีธนาคาร และค่าใช้จ่ายต่างๆ พร้อมเตรียมแฮ็กข้อมูลหน่วยงานของรัฐอีกจำนวนมากว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ให้สำนักเทคโนโลยีและสารสนเทศเร่งรัดหามาตรการป้องกันการเข้าถึงชั้นความลับทุกกรณี และสั่งการให้ทุกหน่วยไปตรวจสอบการเข้าถึงที่ไม่ชอบทุกกรณีด้วย พร้อมมอบให้กองบังคับการปราบปรามการ กระทำความผิดเกี่ยวอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บก.ปอท.) รับผิดชอบตรวจสอบกลุ่มคนผู้กระทำผิด

พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวว่า ส่วนข่าวตามเพจต่างๆ ที่แชร์ว่ามีหลายเว็บไซต์ของตำรวจถูกแฮ็ก เบื้องยังไม่พบว่ามีเพจใดได้รับความ เสียหาย หรือถูกเข้าถึงข้อมูลชั้นความลับ เชื่อว่าเป็นการดิสเครดิตภาคราชการเท่านั้น เตือนผู้ที่ชักชวนผู้อื่นให้กระทำผิดและผู้ที่ลงมือกระทำผิดจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งนี้ ได้ให้ทุกหน่วยไปสำรวจความเสียหายของเว็บและข้อมูลก่อนมาร้องทุกข์ ซึ่งไม่อยากให้มองว่าเว็บไซต์ตำรวจถูกแฮ็กได้ง่าย ยืนยันว่าไม่มีความเสียหายทางข้อมูลหรือชั้นความลับทางราชการ

ลั่นเร่งติดตามตัวแฮ็กเกอร์

รองโฆษก ตร.กล่าวว่า ส่วนที่มีการแฮ็กข้อมูลของตำรวจทางหลวงแล้วนำมาแฉผ่านอินเตอร์เน็ต ทั้งเงินตำรวจ ค่ารักษาพยาบาล เลขบัญชีธนาคารและค่าใช้จ่ายอื่นๆ นั้น ไม่ได้เป็นข้อความในชั้นความลับ จึงไม่ได้เสียหาย และขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดของรัฐมาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุ ส่วนจะท้าทายอำนาจรัฐหรือไม่ มองว่าคงจะเป็นแบบนั้น

พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง รองโฆษก ตร. กล่าวว่า ตำรวจได้เร่งติดตามกลุ่มแฮ็กเกอร์ แต่ยังไม่ได้รับรายงานเข้ามา บอกได้เพียงว่าการสืบสวนสอบสวนมีความคืบหน้าค่อนข้างมาก เชื่อว่าอีกไม่นานน่าจะชัดเจนเกี่ยวกับผู้กระทำผิดว่าเป็นคนกลุ่มใด

คสช.ล็อก5มือป่วนเว็บเข้าค่าย

แหล่งข่าวจากคสช. เปิดเผยถึงการเชิญตัวกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการป่วนเว็บไซต์ของทางราชการเพื่อแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านซิงเกิล เกตเวย์ว่า เจ้าหน้าที่ด้านไซเบอร์ได้ติดตามพฤติกรรมกลุ่มต้องสงสัยกลุ่มนี้มา ระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งมีหลักฐานที่ชัดเจน 5 คน ที่มีพฤติกรรมโจมตี เจาะเว็บไซต์หน่วยงานราชการ เจ้าหน้าที่คสช.และกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ในพื้นที่นั้น จึงเชิญตัวทั้งหมดมาให้ข้อมูล ภายในมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจากการพูดคุยทั้งหมดให้ความร่วมมืออย่างดี คาดว่าจะขยายผลไปยังผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดอีกเกือบ 100 คน ส่วนใหญ่ดูจากพฤติกรรมและการพูดคุยกันนั้น น่าจะเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่คึกคะนอง

“เรามีข้อมูลเอาผิดบุคคลต้องสงสัยทั้ง 5 คน และกำลังสอบสวนขยายผลเพิ่มเติม หลังครบ 7 วันจะนำตัวส่งพนักงานสอบสวน และส่งฟ้องศาลพลเรือน ส่วนความผิดที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ปี 50 หากแจ้งข้อหาเพิ่มเติม ทางเจ้าหน้าที่จะพิจารณาพยานหลักฐานเพิ่มเติม รวมถึงเจตนาด้วยว่าทำลายความมั่นคงของประเทศหรือไม่ เบื้องต้นมีความชัดเจนว่าเข้าข่าย เพราะไปโจมตีกรมบัญชีกลาง เว็บไซต์หน่วยงานราชการ เพื่อให้เว็บไซต์ล่ม” แหล่งข่าว คสช. กล่าว

ผบ.ทบ.ยันเว็บคสช.ไม่เสียหาย

พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. กล่าวถึงกรณีประชาชนยังไม่เข้าใจพ.ร.บ.การกระทำ ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ว่า ตอนนี้มีบทบาทชี้แจงให้ความรู้กับประชาชน 2 อย่าง 1.พยายามทำความเข้าใจ 2.ถ้าทำความเข้าใจแล้วยังไม่เข้าใจและก่อกวนก็ให้ดำเนินการตามกฎหมาย โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบจะเป็นคนออกมาแแถลงเรื่องดังกล่าว ซึ่งคสช. ก็มีหน่วยตรวจสอบอยู่แล้ว กองทัพบกและคสช.ก็ทำงานร่วมกัน ส่วนจะเป็น กลุ่มไหนที่ก่อกวนนั้น ตนขอไม่บอก แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกมาชี้แจงเอง

“เว็บไซต์ของคสช.ก็โดนโจมตีแต่ไม่ได้เสียหายมาก ก็ทำให้เว็บอืดบ้างเล็กน้อย แต่ไม่สามารถนำข้อมูลอะไรไปได้ เรามีการป้องกันเต็มที่ เว็บของกรมการเงินก็เหมือนกัน แต่ยังไม่มีผลกระทบใดกับเว็บกรมการเงิน” ผบ.ทบ.กล่าว

ผบ.ทบ.กล่าวต่อว่า เราพยายามทำความเข้าใจกับทุกส่วนให้เห็นว่ามีแต่ความเสียหายกับประเทศ ส่วนใหญ่เท่าที่ทราบเป็นเด็กเยาวชนที่คงได้ความสะใจ แต่สูญเสียอนาคตมันคุ้มกันหรือไม่ โดยผู้รับผิดชอบไม่ได้ปล่อยปละละเลย ได้ดำเนินการอยู่และจะออกมาแถลงในโอกาสต่อไป

เมื่อถามถึงกรณีคสช.คุมตัว 5 ผู้ต้องสงสัยไปสอบใน มทบ.11 พล.อ.เฉลิมชัยกล่าวว่า รอเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องข้อมูล หากตอบไปเกรงว่าจะเกิดความคลาดเคลื่อน ส่วนที่กลุ่มแฮ็กเกอร์โจมตีเว็บไซต์กองทัพภาคที่ 2 นั้นได้รับทราบแล้วและกองทัพมีระบบป้องกันที่ดีอยู่แล้ว

กสม.ชี้แฮ็กข้อมูลส่วนตัวคือละเมิด

นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงกลุ่มแฮ็กเกอร์นิรนามที่เรียกตัวเองว่า “Anonymous” เจาะข้อมูลเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการไทยหลายหน่วยรวมถึงเจาะข้อมูลของประชาชนว่า หากแฮ็กข้อมูลของประชาชนจริง ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ทำให้บุคคลอื่นเดือดร้อน ประชาชนที่ถูกเจาะข้อมูลต้องแจ้งความร้องทุกข์ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องรีบหาตัวคนผิดมาลงโทษให้ได้ เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นอยู่ส่วนบุคคล

นางอังคณากล่าวว่า ส่วนที่หน่วยราชการถูกแฮ็กเกอร์ข้อมูลนั้น เจ้าหน้าที่ต้องเร่งหาวิธีป้องกัน เพราะถือเป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติ ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งหาคนผิดมาดำเนินคดีให้ได้ เท่าที่ทราบจากข่าว การกระทำของกลุ่มดังกล่าวเป็นการต่อต้านพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยรณรงค์ให้กด F5 บนแป้นพิมพ์คีย์บอร์ดเรื่อยๆ ในเว็บที่ต้องการให้ล่มหรือเว็บหน่วยงานต้องการแฮ็กข้อมูล ซึ่งกรณีนี้หากประชาชนคนใดถูกแฮ็กข้อมูลเข้าร้องเรียนต่อกสม. ทางกสม.จะสืบสวนสอบสวนโดยเรียกเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบได้ แต่หากกรณีดังกล่าว สังคมได้ระบบผล กระทบในการละเมิดสิทธิโดยทั่วกัน กสม.สามารถหยิบยกมาพิจารณาได้

มาร์คแนะรัฐควรฟังเสียงค้าน

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า อยากเห็นการรับฟังความเห็นคนที่ไม่เห็นด้วยโดยไม่มองว่าเป็นเรื่องการเมือง เพราะคนที่คัดค้านจำนวนมากเป็นคนรุ่นใหม่ ที่เป็นห่วงเรื่องการใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขต รัฐจึงควรพิจารณาว่า จะแก้ไขอย่างไรให้เกิดความมั่นใจว่า จะไม่มีการละเมิดสิทธิ แต่ไม่กระทบกับการรักษาความมั่นคงและการปกป้องสิทธิของคนที่อาจจะถูกละเมิด ดีกว่าที่จะมานั่งคิดว่า จะรับมือกับการแฮ็กข้อมูลราชการอย่างไร

นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า รัฐควรเปิดช่องทางให้มีการแลกเปลี่ยนเพื่อทำให้กฎหมายมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะต้องมีการให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น ไม่เช่นนั้นจะมีความขัดแย้งว่า พูดถึงนโยบาย 4.0 แต่กลับมีปัญหาเรื่องพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

จุฬาฯเสวนา”พรบ.คอมพ์”

ที่หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเวทีจุฬาฯเสวนา ครั้งที่ 3/2559 เรื่อง “ก้าวต่อไปของผู้ให้บริการออนไลน์ หลัง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ 2559” มีวิทยากรประกอบด้วย นางปารีณา ศรีวนิชย์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ นายศรัทธา หุ่นพยนต์ หัวหน้าฝ่ายกฎหมายบริษัท Lazada (Thailand) และนายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล เลขานุการมูลนิธิเพื่ออินเตอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง

นางปารีณา อภิปรายว่า สาระสำคัญของกฎหมายภาพรวมโอเค แต่มีข้อห่วงกังวลในร่างประกาศกระทรวงที่มุ่งเน้นรัฐและเอกชนเป็นหลัก อยากให้ห่วงเรื่องประชาชนในฐานะผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้นด้วย สำหรับการให้ผู้ให้บริการทำการระงับการเผยแพร่และลบทำลายข้อมูล ทั้งที่ยังไม่มีการชี้ถึงความผิดของข้อมูลนั้น จึงควรระบุฐานความผิดให้ชัดเพื่อไม่ก้าวล่วงศาลและให้ผู้ให้บริการสบายใจ หลักเกณฑ์การแจ้งเตือนร่างประกาศ กำหนดให้ผู้ร้องเรียนต้องใส่ข้อมูลตัวตนที่แจ้งไปยังผู้ให้บริการแล้วส่งต่อให้ผู้ร้องเรียนทราบด้วยนั้น มันจะกลายเป็นการทำให้เอกชน 3 ฝ่ายมาทะเลาะกันจากมาตรการของรัฐนี้หรือไม่ จึงมองว่า มาตรา15และร่างประกาศที่เกี่ยวข้องควรมีลักษณะตั้งต้น ด้วยการพิสูจน์เจตนาตามหลักกฎหมายอาญาก่อน หากพิสูจน์ได้ก็ไม่ต้องดำเนินการตามกระบวนการนี้

ชี้มีช่องเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว

นางปารีณากล่าวว่า ร่างประกาศตามมาตรา 20 จะต่างจากมาตรา 15 เนื่องจากเกี่ยวข้องกับอำนาจศาลสั่งระงับการเผยแพร่และลบข้อมูล ในฐานความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคงและการละเมิดศีลธรรมอันดีนั้น ต้องตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองขึ้นมาพิจารณา แต่จากประกาศที่กำหนดให้คณะกรรมการชุดนี้มีเงินเดือน ก็กังวลว่าคณะกรรมการจะเฝ้าดูเราตลอด 24 ชั่วโมงเลยหรือไม่ นอกจากคณะกรรมการกลางชุดนี้แล้วยังมีคณะกรรมการเฉพาะด้าน ที่ยังไม่เห็นว่าจะมีด้านใดบ้าง จึงอยากเรียกร้องกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยออกมาก่อน

“เมื่อมีคำสั่งศาลให้ระงับและลบการเผยแพร่ข้อมูลแล้ว ร่างประกาศกำหนดให้เจ้าหน้าที่ระงับได้เองหรือสั่งผู้ให้บริการให้ดำเนินการได้ จุดที่น่ากังวลที่สุดคือ การระงับหรือลบข้อมูลของเจ้าพนักงานซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อเข้าไปในฐานข้อมูลของผู้ให้บริการ ผู้รับบริการก็เสี่ยงต่อการถูกเจาะข้อมูลส่วนอื่นจากหลังบ้าน ที่ไม่ได้เกี่ยวกับความผิดนั้นได้ หมายความว่าเขาจะเข้าถึงข้อมูลเราได้ทั้งหมด หากตอนลบเกิดผิดพลาด ผลกระทบจะเกิดมหาศาลในทันที และความน่ากลัวอีกจุดหนึ่งในประกาศ ที่กำหนดว่าเพื่อประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ ให้ตั้งศูนย์กลางบริหารจัดการเพื่อระงับและลบการเผยแพร่ ที่ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงฐานข้อมูลผู้รับบริการจากผู้ให้บริการได้ จึงเสนอให้ความรับผิดชอบนี้ควรเป็นของผู้ให้บริการเพราะมีความชอบธรรมจากคำสั่งศาล และเจ้าหน้าที่ไม่ต้องไปยุ่งกับผู้ให้บริการ” นางปารีณากล่าว

กม.กว้างกระทบ”อีคอมเมิร์ซ”

ด้านนายศรัทธา กล่าวว่า สำหรับธุรกิจไม่ได้กลัวกฎหมายแต่กลัวผู้บังคับใช้กฎหมาย เพราะไม่รู้เขามีทัศนคติต่อการใช้กฎหมายนั้นอย่างไร ธุรกิจขายของออนไลน์จะโดนเรื่องข้อมูล ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และหน่วยงานด้านคุ้มครอง ผู้บริโภค จะใช้พ.ร.บ.คอมพ์ เป็นตัวหลักมาดูความผิดของเรา ซึ่งในมาตรา 15 สบายใจขึ้น ช่วยทำให้เราไม่ผิดแต่ร่างประกาศกระทรวงถ้อยคำยังไม่ชัดเจนและจะเป็นปัญหากับ ผู้ประกอบการ ซึ่งระบบแจ้งเตือนให้ดึงลง (notice and take down) ตามร่างประกาศ ผู้ประกอบการจะมีมาตรการนี้อยู่แล้ว ใครรายงานอะไรมาที่มีมูลเราก็ดึงข้อมูลนั้นลง

“แต่หากกำหนดตามร่างประกาศนี้ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซทั้งหมดคงไม่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 15 เพราะร่างประกาศมีเนื้อหาว่าผู้ให้บริการต้องไม่ได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม จากข้อมูลที่มีปัญหาจนถูกรายงาน การเขียนแบบนี้กว้างไป เราทำธุรกิจขายของออนไลน์ มีรายได้จากค่าคอมมิชชั่น ซึ่งเราไม่มีเจตนาขายของที่มีความผิด ที่ผ่านมาเราเจอปัญหาจากเจ้าหน้าที่ที่มีทัศนคติแบบนี้ อย่างเลขาฯอย. บอกเราให้กลั่นกรองข้อมูลสินค้าทุกชิ้นก่อนลงเว็บ เราขายสินค้าเป็นล้านชิ้น จะต้องเสียทรัพยากรจ้างคนมาดูทุกอย่างให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ก่อนขึ้นเว็บ มันมีต้นทุนสูงมาก อีกทั้งระบบแจ้งเตือนของเรา ก็พบว่ามีรายงานการกลั่นแกล้งกันเองของร้านค้าจำนวนมากที่ใช้บริการเรา” หัวหน้าฝ่ายกฎหมายลาซาด้าระบุ

กังวลใช้กม.กลั่นแกล้ง

ส่วนนายอาทิตย์ กล่าวว่า ตัวพ.ร.บ.คอมพ์ยังคงมีปัญหา สุดท้ายมาตรา 14 มีการเพิ่มคำว่าบิดเบือนเข้ามา แม้กมธ.ของสนช.จะยืนยันว่าคดีหมิ่นประมาทจากมาตรานี้จะน้อยลง แต่เกิดคำถามว่า การใช้กฎหมายนี้เพื่อฟ้องปิดปาก นักสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม และนักอนุรักษ์ จะหมดไปหรือไม่ ส่วนมาตรา 15 ข้อยกเว้นสำหรับผู้ให้บริการไม่ต้องรับโทษ ยังสงสัยว่าไม่ต้องรับโทษนั้น แต่จะยังมีคดีอาญาติดตัวหรือไม่ ทั้งยังผลักภาระไปยังผู้ให้บริการต้องเป็นผู้พิสูจน์ แต่คนกล่าวหานั้นคือเจ้าหน้าที่รัฐ และอาจมีการกลั่นแกล้งกัน ตัวอย่างจากสถิติของกูเกิ้ลที่ให้ข้อมูลต่อสภานิวซีแลนด์ เพื่อปรับแก้กฎหมายลักษณะนี้ พบว่าการแจ้งเตือนสูงถึง 57 เปอร์เซ็นต์ มาจากบริษัทคู่แข่งการค้า นอกจากนี้ระบบแจ้งเตือนดังกล่าวยังผลักภาระให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มขึ้น

“ควรปรับประกาศกระทรวงให้ชัดเจนกว่านี้ โดยเฉพาะระบบรับแจ้งแล้วดึงลง ที่เราจะเห็นว่าเป็นมาตรการของผู้แจ้งและผู้ให้บริการ ไม่เกี่ยวกับผู้ถูกแจ้งในฐานะเจ้าของข้อมูลเลย อย่างแคนาดา เขามองว่าเจ้าของข้อมูลผู้ถูกร้องต้องอยู่ในกระบวนการนี้ด้วย จึงกำหนดมาตรการให้ผู้ให้บริการ เมื่อได้รับรายงานจากผู้ร้อง ให้แจ้งผู้ถูกร้อง เพื่อตัดสินใจว่าจะดึงลงหรือไม่ ถ้าไม่ก็ไปพิสูจน์กันที่ศาล ส่วนร่างประกาศตามมาตรา 20 ควรกำหนดมาตรการให้ผู้ให้บริการรับผิดชอบก่อนเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งนี้ มาตรการควรมีระดับจากเบาไปหาหนัก เพื่อไม่ให้มีผลกระทบเยอะ” นายอาทิตย์กล่าว

กรธ.ลดค่าสมาชิกพรรคเหลือ50บ.

ที่รัฐสภา คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ประชุมพิจารณาทบทวนร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยนายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรธ. แถลงความคืบหน้าการร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยพรรคการเมืองและร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยกกต.ว่า ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมืองใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อความและเลขมาตรา ที่กรธ.ได้ปรับแก้ตามข้อเสนอที่รับฟังจากเวทีสัมมนาพรรค ส่วนร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยกกต. กรธ.กำลังพิจารณาข้อเสนอจากเวทีสัมมนาและข้อเสนอจากกกต. โดยเฉพาะประเด็นของผู้ตรวจการเลือกตั้ง ที่กรธ.ตั้งแทนกกต.จังหวัด แต่กกต.เห็นว่าอาจจะยังไม่ตอบโจทย์ปัญหาประสิทธิภาพในการตรวจสอบทุจริตการเลือกตั้งได้

นายอุดมกล่าวอีกว่า ส่วนข้อสรุปของร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง กรธ.ได้ปรับเวลาการเตรียมตัวของพรรคเก่าเป็น 180 วันหลังจากกฎหมายประกาศใช้ทั้งหมด ทั้งการหาสมาชิกให้ครบ 500 คน การหาทุนประเดิมพรรค 1 ล้านบาท การเก็บค่าสมาชิกพรรคให้ได้ 500 คน แต่ปีแรก กรธ.กำหนดให้จ่ายขั้นต่ำ 50 บาท ส่วนปีต่อไปให้จ่าย 100 บาท รวมทั้งการประชุมใหญ่พรรคเพื่อกำหนดนโยบาย ข้อบังคับและการเลือกกรรมการบริหารพรรค ทั้งหมดนี้กรธ.พยายามทำไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ระหว่างพรรคเก่ากับพรรคใหม่

ยื่นอุทธรณ์ศาลสั่งขัง”ไผ่ดาวดิน”

เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น นายอธิพงษ์ ภูผิว ทนายความประจำตัวนายจตุรภัทร บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ผู้ต้องหาตามความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้เข้ายื่นอุทธรณ์ต่อศาลจังวัดขอนแก่น หลังจากวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดข่อนแกนมีคำสั่งถอนประตัวนายจตุรภัทร และคุมขังที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นทันที ท่ามกลางความงุนงงของทีมทนายและคนในครอบครัวและสมาชิกกลุ่มดาวดินที่นำตัวนายจตุรภัทรมารายงานตัวต่อศาลตามคำสั่ง

นายอธิพงษ์ กล่าวว่า ทีมทนายได้หารือกันก่อนตัดสินใจเข้ายื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลจังหวัดขอนแก่น ซึ่งขณะนี้ได้ลงรับเรื่องคำสั่งอุทธรณ์จากฝ่ายจำเลยแล้ว โดยเอกสารหลักฐานที่ทีมทนายยื่นอุทธรณ์ต่อศาลนั้น มีการสรุปสำนวนรวม 9 หน้า โดยยืนตามสำนวนเดิมและการชี้แจงในสิ่งที่ศาลระบุทั้งหมด เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้พิจารณาและมีคำสั่งกลับของศาลจังหวัดขอนแก่น โดยให้ยกเลิกคำสั่งเพิกถอนการประกันตัวและยกเลิกหมายขัง ผู้ต้องหาตามคำสั่งศาลจังวัดขอนแก่น ลงวันที่ 22 ธ.ค.2559 และมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในช่วงระหว่างการพิจารณาคดี

“หลังจากศาลรับเรื่องแล้ว ในแนวทางปฏิบัติน่าจะอยู่ในช่วงพิจารณาของศาลอุทรณ์ภายใน 7 วัน จึงจะทราบเรื่องว่าศาลจะพิจารณาคำร้องดังกล่าวแบบใด ซึ่งขณะนี้ไผ่ ดาวดิน จะยังอยู่ในการควบคุมของทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นต่อไป ซึ่งตัวผู้ต้องหาก็ยินยอมที่จะต่อสู้ตามขั้นตอนของกฎหมายในทุกคดี การถอนการประกันตัวของศาลขอนแก่นเมื่อวานนี้นั้น ทีมทนายยอมรับว่าไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้เพราะเราทำตามขั้นตอนของกฎหมายแต่เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้วเราจะต้องดำเนินการในทุกขั้นตอนอย่างรัดกุม” นายอธิพงษ์กล่าว

นางพริ้ม บุญภัทรรักษา แม่ของไผ่ ดาวดิน กล่าวว่า ได้เข้าเยี่ยมลูกชายแล้ว ยังคงมีกำลังใจสู้และไม่มีอะไรผิดปกติเพราะเคยถูกคุมขังในสถานที่นี้แล้ว ต่อไปคงต้องกำชับให้เพิ่มความระมัดระวังในเรื่องต่างๆ เพิ่มขึ้น

สปน.แจงบี้ขรก.ทุจริต1.1หมื่นล.

เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. นายจิรชัย มูลทองโร่ย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เป็นหน่วยงานกลางเร่งรัดติดตามหน่วยงานของรัฐที่เกิดกรณีเงินขาดบัญชีหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริต ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติครม.ที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด ทั้งการชดใช้เงินหรือทรัพย์สินคืน การดำเนินการทางแพ่ง อาญา หรือทางวินัยโดยเร็ว โดยให้สปน.รายงานให้นายกฯทราบทุก 6 เดือน โดยในปีงบประมาณ 2559 ได้รับเรื่องเงินขาดบัญชีและเจ้าหน้าที่รัฐทุจริต 151 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติแล้ว 20 เรื่อง ปัจจุบันมีเรื่องเงินขาดบัญชีและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริตที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานของสปน. 2,838 เรื่อง รวมเป็นเงินที่เสียหาย 11,383 ล้านบาท

นายจิรชัยกล่าวต่อว่า หน่วยงานที่มีทุจริตมาก 3 อันดับแรกคือ องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น 1,496 เรื่อง กระทรวงมหาดไทย 219 เรื่อง และกระทรวงศึกษาธิการ 218 ส่วนประเภทการทุจริต อันดับหนึ่งคือ การยักยอกเงินหรือทรัพย์สินราชการ 1,507 เรื่อง การปฏิบัติผิดระเบียบ 656 เรื่อง การจัดซื้อจัดจ้าง 605 เรื่อง การเบิกค่าเช่าบ้านเท็จ 39 เรื่อง การทุจริตน้ำมันเชื้อเพลิง 20 เรื่อง และการเบิกค่ารักษาพยาบาลเท็จ 11 เรื่อง

วันเดียวกัน สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้แจงกรณีมีผู้ร้องเรียนต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ขอให้ตรวจสอบคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องการออกระเบียบป.ป.ช.ว่าด้วยการแต่งตั้งทนายความและการจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความ พ.ศ. 2552 และใช้เงินงบประมาณจำนวนมาก ว่าจ้างสภาทนายความเพื่อฟ้องคดีต่างๆ ให้กับป.ป.ช.นั้น

ป.ป.ช.ขอชี้แจงว่า ตามที่กฎหมายให้ป.ป.ช.มีอำนาจฟ้องคดีเองหรือแต่งตั้งทนายให้ฟ้องคดีแทน ดังนั้นเมื่อมีกรณีต้องแต่งตั้งทนายให้ฟ้องคดีแทน จึงอยู่ในขอบเขตอำนาของ ป.ป.ช. ที่จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขแต่งตั้งทนาย รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการฟ้องคดีแทน ป.ป.ช.จึงออกระเบียบป.ป.ช.ว่าด้วยการแต่งตั้งทนายฯ และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 25(4) และมาตรา 107 แห่งพ.ร.บ. ว่าด้วยป.ป.ช.

ตามระเบียบฯ กำหนดให้สำนักงาน ป.ป.ช. ประสานสภาทนายความ เพื่อเสนอรายชื่อทนายที่มีความรู้ ความสามารถในการว่าความมาให้ป.ป.ช. พิจารณาแต่งตั้งเพื่อฟ้องคดีแทน ซึ่งสอดคล้องกับพ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 8 ดังนั้น ยืนยันว่าการแต่งตั้งทนายให้ฟ้องคดีแทนของป.ป.ช. เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และการใช้เงินงบประมาณ อยู่บนพื้นฐานตามความจำเป็นและเหมาะสมแล้ว ส่วนที่มีการร้องเรียนมานี้ สตง.ได้ส่งเรื่องมาให้ป.ป.ช. ดำเนินการ ซึ่งป.ป.ช.พิจารณาประเด็นดังกล่าวเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการจัดทำหนังสือเพื่อแจ้งผลไปยังสตง.ต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน