นัยยะแฝงคำว่า’ปฏิวัติ’พ่วง’คำขู่’ที่ไม่แน่ชัดว่าจะส่งถึงใครกันแน่ของบิ๊กแดง

นัยยะแฝงคำว่า – หลังพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก แถลงถึงสถานการณ์การเมืองไทย พร้อมประกาศกร้าวถึงจุดยืนของตัวเองในฐานะผู้นำเหล่าทัพ เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมาว่า “เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย ทำอะไรก็ลำบาก คนไทยออกมาตีกัน ยิงกัน ฆ่ากัน วันนั้นทหารถูกรัฐบาลสั่งการให้ออกมาควบคุมความสงบเรียบร้อย เราทำด้วยหัวใจ ไม่ได้คิดแบบนักการเมืองว่าเราจะเข้ามาบริหารประเทศ สิ่งที่สื่อถามว่าจะมี ‘ปฏิวัติ’ หรือไม่ ผมหวังอย่างยิ่งว่า การเมืองอย่าเป็นสาเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งของคนในชาติอีก ผมมั่นใจว่าถ้าการเมืองไม่เป็นต้นเหตุแห่งการจลาจลก็ไม่มีอะไร”

นัยยะแฝงคำว่า

เมื่อคำพูดดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ก็เรียกเสียงฮือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะนักการเมือง และนักวิชาการ หรือกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการปกครองโดยกองทัพ ขณะเดียวกันนักรัฐศาสตร์บางท่าน ก็โจมตีการใช้คำว่า ‘ปฏิวัติ’ ของ ผบ.ทบ. ว่าผิดหลักการ เพราะ สิ่งที่กองทัพทำ คือ ‘การรัฐประหาร’ ไม่ใช่ ‘การปฏิวัติ’

อาจารย์วิโรจน์ อาลี จากคณะรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อท่าทีของ ผบ.ทบ. คนปัจจุบันว่า หากสรุปคร่าวๆ ตามหลักรัฐศาสตร์ การปฏิวัติ จะมาพร้อมกับการปฏิรูป และเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง แต่การรัฐประหาร เป็นเพียงการแย่งชิงอำนาจ ส่วนใหญ่จะถูกทำโดยกองทัพ แน่นอนว่าในระบบรัฐศาสตร์ไทย หากลองศึกษางานของอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช ก็จะอธิบายว่า การรัฐประหาร เป็นจุดเริ่มต้นของการหยุดยั้ง วงจรอุบาทว์ ในการเมืองไทย แต่ก็ไม่มีการอธิบายต่อว่าทำไม วงจรอุบาทว์ จึงยังคงมีอยู่และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงสรุปได้ว่า การทำรัฐประหาร มันไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง การปฏิรูป หรือแก้ไขปัญหาเดิมที่มีอยู่ เป็นแค่การผลัดกันขึ้นมามีอำนาจของกองทัพเท่านั้น

“ยกตัวอย่างเช่นการทำรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผมคิดว่าหลายคนฝากความหวังไว้มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิรูป การปรองดอง แต่กลับพบว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จึงเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า ทั้งหมดที่ทำไปก็เพื่อ สืบทอดอำนาจต่อไปเพียงเท่านั้น มันจึงปัญหาของการทำรัฐประหารเรื้อรัง ซึ่งจะไปส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของประชาธิปไตย” อาจารย์วิโรจน์ กล่าว

อาจารย์วิโรจน์ อธิบายเพิ่มเติมถึงข้อสงสัยดังกล่าวว่า ตนคิดว่าการใช้คำ ‘ปฏิวัติ’ ของพล.อ.อภิรัชต์ อาจจะเป็นการรวมคำระหว่าง ‘รัฐประหาร’ และ ‘ปฏิวัติ’ ทั้งที่ความจริงแล้ว สิ่งที่ทำคือการรัฐประหาร แต่พยายามจะแฝงว่า กองทัพทำรัฐประหาร เพื่อจะนำไปสู่การปฏิวัติ และการปฏิรูป แต่หากเราย้อนกันไปดูก็จะพบว่า การรัฐประหารไม่เคยนำมาซึ่งการปฏิรูป เป็นการพยายามสร้าง ‘วาทกรรม’ ขึ้นมาใหม่ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่กองทัพ เพราะคำว่า ‘ปฏิวัติ’ ให้ความหมายในแง่บวกกว่า รัฐประหาร คือ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง

ส่วนประเด็นการวางเงื่อนไขการจับอาวุธออกมายึดอำนาจของกองทัพนั้น อาจารย์วิโรนจ์ อธิบายว่า การพูดของพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก เป็นการชี้ให้เห็นว่า ทหารซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเมือง มีความพยายามเข้ามาแทรกแซงการปกครอง หรือแม้กระทั่งเข้ามายุติการจลาจลนั้น ก็ต้องอธิบายว่า คำว่า จลาจล ของพล.อ.อภิรัชต์ หมายความว่าอย่างไร หมายถึงการชุมนุม หรือหมายถึงการชัตดาวน์ประเทศ

ซึ่งความจริงก็มีกฎหมาย หรือตำรวจคอยดูแลอยู่แล้ว ถ้าทหารดำรงอยู่ในกรอบของประชาธิปไตยจริงๆ ทหารอาจจะเข้ามาประกาศกฎอัยการศึก แต่ไม่ใช่การยึดอำนาจ จึงเข้าใจว่า คำพูดดังกล่าว เป็นเพียงการเพิ่มขอบเขตความชอบธรรมของการยึดอำนาจของกองทัพเพียงเท่านั้น ก่อนจะโยนความผิดให้กับ นักการเมือง หรือประชาชนแทน ทั้งที่ความจริงตามหลักการรัฐศาสตร์ หรือรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับ การทำรัฐประหาร ถือว่าเป็นสิ่งที่ผิด เพราะเป็นการลบล้างการปกครอง

ส่วนท่าทีของพล.อ.อภิรัชต์ในครั้งนี้ อาจารย์วิโรจน์วิเคราะห์ว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าพล.อ.อภิรัชต์ สร้างความประหลาดใจให้แก่ทุกคน หากย้อนไปดูพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือพล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ขณะที่เป็น ผบ.ทบ. ซึ่งท่านหลังถือว่าวางตัวค่อนข้างดี เพราะไม่เคยออกมาชี้ช่อง หรือวางเงื่อนไขการออกมาทำรัฐประหารของกองทัพ

ส่วนตัวคิดว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงยังไม่คุ้นชินกับการออกมาให้สัมภาษณ์ หรืออาจจะเป็นคนที่มีพื้นฐานความคิดแบบนี้ เพราะที่ผ่านมา ผบ.ทบ. ทุกคนจะถูกแซวว่า อยากจะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี หรือก็อาจจะเป็นไปตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พูดก็ได้ว่า การออกมาพูดแบบนั้นของพล.อ.อภิรัชต์ ไม่มีนัยยะสำคัญ เพียงแค่ออกมาพูดเหมือนปรามไม่ให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองอีก แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรออกมาพูดต่อที่สาธารณะแบบนี้ เพราะค่อนข้างสร้างความตระหนกให้แก่สังคม และส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว

“ถือเป็นการขู่ปรามกันไว้ก่อน แต่ก็ต้องจับตาดูว่าต่อจากนี้ไป พล.อ.อภิรัชต์ จะต้องระมัดระวังการให้สัมภาษณ์มากขึ้น บางคนก็คาดเดาว่า พล.อ.อภิรัชต์ กำลังขู่รัฐบาล คสช. ไปพร้อมกัน ว่า หากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการเมืองได้ ก็อาจจะเกิดรัฐประหารขึ้นอีกครั้งหนึ่ง” อาจารย์วิโรจน์กล่าวปิดท้าย

การออกสัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนด้วยท่าทีที่ดุดัน และการประกาศจุดยืนที่มีต่อ ‘สถาบัน’ ของพล.อ.อภิรัชต์ ทำให้เกิดความกังวลว่า แนวโน้มการรัฐประหารจะยิ่งมีสูงขึ้น และถูกมองว่าบทบาทนำของกองทัพ จะเข้ามาก้าวล่วงในการปกครองของประเทศ จนทำให้ตัดตอนการเกิดประชาธิปไตยของไทย ซึ่งก็ถูกสกัดกั้นมาตลอด ตั้งแต่การปฏิวัติ 2475

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน