“มหาเธร์” ย้ำ! ไทย-มาเลย์ ไม่มีปัญหาระหว่างกัน ลั่นยินดีช่วยดับไฟใต้

“มหาเธร์” ย้ำ! – เมื่อเวลา 17.00 น.วันที่ 24 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และภริยา ให้การต้อนรับ นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และภริยา ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล โดยผู้นำทั้ง 2 ได้ร่วมตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ หน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล จากนั้น นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ลงนามสมุดเยี่ยม ก่อนหารือข้อราชการกลุ่มเล็ก ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล และหารือข้อราชการเต็มคณะ ณ ตึกภักดีบดินทร์

"มหาเธร์" ย้ำ!

นายกฯ มาเลเซีย /AFP

สำหรับการเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ถือเป็นการเยือนครั้งแรก นับตั้งแต่ มหาเธร์ โมฮัมหมัด เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เป็นสมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อแนะนำตัวตามธรรมเนียมปฏิบัติของผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน

จากนั้นเวลา 18.30 น.ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมนายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย แถลงข่าวร่วมกัน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในนามรัฐบาลไทยยินดีและเป็นเกียรติที่ได้ให้การต้อนรับนายมหาเธร์ และภริยาในการเดินทางมาเยี่ยมอย่างเป็นทางการ นายมหาเธร์ถือเป็นผู้นำอาวุโสของภูมิภาคและของโลก ตลอด 22 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ตนและนายกฯ มาเลเซีย ได้หารือข้อราชการร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางและประเด็นในการสร้างทศวรรษใหม่แห่งความสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่าท่ามกลางสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศมีความท้าทายมากขึ้น โดยเฉพาะจากการแข่งขันของชาติมหาอำนาจประเทศในภูมิภาคจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน ไทยและมาเลเซียจะต้องร่วมมือกันเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและร่วมมือกันผลักดันความร่วมมือในกรอบอาเซียน

"มหาเธร์" ย้ำ!

นายกรัฐมนตรีแถลงข่าวร่วม /AFP

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนและนายกฯมาเลเซียได้หารือร่วมกันในสามประเด็นสำคัญประกอบด้วย 1.การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้และความร่วมมือด้านความมั่นคง ซึ่งมีความเห็นตรงกันว่าเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งไทยและมาเลเซียและภูมิภาค ที่ปัญหาจังหวัดใช้แดนภาคใต้จะต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งตนได้เล่าให้นายกฯมาเลเซียฟังถึงแนวทางและนโยบายของรัฐบาลไทยรวมถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาทั้งนี้ฝ่ายไทยถือว่าจังหวัดใช้แดนภาคใต้เป็นปัญหาภายใน แต่ขณะเดียวกันความร่วมมือจากต่างประเทศก็จะทำให้การแก้ไขปัญหาทำได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ตนได้พูดคุยกับนายกฯมาเลเซียเกี่ยวกับกระบวนการการพูดคุยที่มีฝ่ายมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกซึ่งเป็นการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์ และได้ทำให้เกิดความเข้าใจในข้อห่วงกังวลและข้อจำกัดของกันและกันเป็นอย่างดี ทั้งนี้ การพูดคุยจะดำเนินการต่อไปโดยมีมาเลเซียเป็นผู้ประสานงานอยู่บนพื้นฐานและกรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยขณะเดียวกันจะขยายความร่วมมือในการเสริมสร้างความมั่นคงชายแดนการพัฒนาเศรษฐกิจและประเด็นความมั่นคงในภาพใหญ่โดยเฉพาะการต่อต้านการก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่ง การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติดและการค้ามนุษย์

2.การพัฒนาเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงกับแนวชายแดนซึ่งในการเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซีย ตนได้เสนอให้สองประเทศยกระดับความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจขึ้น เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่เข้มข้นเพื่อร่วมมือกันสร้างความมั่นคงมั่งคั่ง และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนของสองประเทศ ทั้งนี้ทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันผลักดันโครงการความร่วมมือที่คั่งค้างมา ซึ่งมีหลายโครงการ แล้วจะเข้มข้นเป็นพิเศษในเรื่องของความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ชายแดน การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันและการส่งเสริมการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างกัน ทั้งนี้จะมอบให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีภายในต้นปีหน้าเพื่อดูงานที่คั่งค้างและผลักดันเรื่องต่างๆ ที่คืบหน้า

"มหาเธร์" ย้ำ!

นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด /AFP

และ 3.ความร่วมมือในกรอบอาเซียนซึ่งทั้งตนและนายมหาเธร์ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากและจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในปีหน้าที่ไทยจะทำหน้าที่ประธานอาเซียนโดยมีเป้าหมายคือการก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียนที่มีความเข้มแข็งมีประชาชนเป็นศูนย์กลางประเทศสมาชิกอาเซียนจะก้าวไปพร้อมกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังโดยมุ่งสร้างความเชื่อมโยงและความยั่งยืนในทุกมิติเป็นกลุ่มพลังที่สามารถร่วมมือกับความท้าทายต่างๆ ในโลกได้อย่างแท้จริง ซึ่งนายมหาเธร์เห็นพ้องกันว่าประเทศสมาชิกอาเซียนในวันนี้จะต้องร่วมมือกันบริหารจัดการความท้าทายต่างๆด้วยความสุขุมรอบคอบ และเพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นและสร้างความเป็นแกนกลางของอาเซียนในการขับเคลื่อนความร่วมมือกับนานาประเทศให้มีสันติภาพเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองอย่างแท้จริง

“ผมขอย้ำเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยที่จะทำงานร่วมกับนายมหาเธร์และรัฐบาลมาเลเซียอย่างใกล้ชิดในทุกระดับเพื่อให้สองประเทศและประชาชนมีความสงบสุขมีความเป็นอยู่ที่ดีมีฐานะที่มั่นคงและยั่งยืนมีการพัฒนาเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของการมีเสถียรภาพความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของไทยและมาเลเซียรวมทั้งในภูมิภาคร่วมกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ด้านนายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวว่า มาเยือนไทย เพราะอยากสร้างความคุ้นเคยกับอาเซียน หลังได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องขอขอบคุณนายกฯ และรัฐบาลไทยสำหรับการต้อนรับที่อบอุ่น และการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา เราไม่มีปัญหาระหว่างกัน และเรามีประวัติศาสตร์ความร่วมมือในอดีต ซึ่งมาเลเซียเคยมีปัญหาและไทยได้ให้การสนับสนุนเพื่อยุติปัญหาดังกล่าว ก็ขอขอบคุณไทยในด้านนี้ ทั้งนี้ปัจจุบันไทยมีปัญหาชายแดนใต้ เราก็ยินดีที่จะช่วยไทยในทุกด้านเพื่อแก้ไขความรุนแรง และตนก็มั่นใจว่า ด้วยว่าความร่วมมือของสองประเทศจะทำให้สามารถแก้ไขและลดปัญหานี้ได้ และเห็นว่าการแสดงมิตรภาพไม่ใช่แค่การพูดคุย แต่ต้องเป็นการปฏิบัติอย่างแท้จริงในฐานะมิตรที่ใกล้ชิด นอกจากนี้ในส่วนของการค้าระหว่างไทย-มาเลเซียใน ปี 2018 มีมูลค่าสูงขึ้น 17 เปอร์เซ็นต์ มูลการค้า 14,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเราสามารถเพิ่มมูลค่าการค้าได้ เมื่อแก้ด่านศุลกากร ที่ปัจจุบัน มีจุดผ่านแดน 4 ด่าน ที่รัฐกลันตัน 2 ด่าน และรัฐเคดาห์ และรัฐเปอร์ลิส

นายกฯมาเลเซีย กล่าวว่า นอกจากนี้มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างลังกาวีและสตูล มีการแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยว ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะสร้างความเจริญรุ่งเรืองของสองประเทศ เราควรพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกการไปมาหาสู่ของประชาชนทั้งสองฝ่าย เพื่อที่จะบรรลุตามเป้าหมายนี้ โดยเราจะเปิดด่านศุลกากร 24 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการขนส่งสินค้า และเราจะมีการสร้างสะพาน 2 สะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก ที่เชื่อมกับรัฐกลันตัน อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีปัญหาเส้นทางถนน เชื่อว่าแก้ไขปัญหานี้ได้ และเราพร้อมที่จะสนับสนุนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้ที่มีอุปสรรค ในทุกทางที่เป็นไปได้ อย่างกรณีประชาชนถือสองสัญชาติ ต้องมีความพยายามแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดการค้ามนุษย์และการขนส่งสินค้าที่ผิดกฎหมาย

ทั้งนี้เราเห็นว่าประชาคมอาเซียนมีความแข็งแกร่ง มีประชากรกว่า 600 ล้านคน ด้วยความต้องการทางทรัพยากรต่างๆ อาเซียนควรเป็นตลาดภายในของทุกประเทศ โดยเราจะหารือประเด็นดังกล่าวในการพูดคุยอาเซียนครั้งต่อไป เชื่อว่าในความพยายามจะบรรลุเป้าหมาย ด้วยการที่ผู้นำควรร่วมกันหารือบ่อยครั้ง และในระดับผู้แทนควรจะหารือเพื่อแก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างกัน เชื่อว่าเราจะสามารถยกระดับกระบวนการต่างๆในการข้ามพรมแดน ทั้งนี้ตนยินดีอย่างยิ่งที่จะสร้างมิตรภาพกับพล.อ.ประยุทธ์ เชื่อว่าผู้นำที่มีความใกล้ชิดระหว่างกันจะช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างสำเร็จ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน