iLaw เผยจำนวน ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก มีพลังพอ เสนอชื่อ นายกรัฐมนตรี

เพจ iLaw ได้โพสต์บทความ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการ เลือกตั้ง ระบุว่า จำนวน ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก (First Time Voter) สามารถกำหนดที่นั่ง ส.ส. ได้ถึง 1 ใน 10 ของสภาผู้แทนฯ จากกระแสการกำหนดวันสอบ GAT/PAT ตรงกับวันเลือกตั้ง (24 ก.พ. 2562) ของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. ได้นำไปสู่คำถามสำคัญที่ว่า กลุ่มผู้ที่จะได้มีโอกาสเลือกตั้งครั้งแรก (first time voter) นั้นมีความสำคัญแค่ไหนต่อการเมืองไทย

1.ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดว่า ‘ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง’ คือผู้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง หากวันเลือกตั้งคือ วันที่ 24 ก.พ. 62 จริง หรือผู้ที่เกิดวันที่ 23 ก.พ.2544 หรือก่อนหน้านั้น ก็จะมีสิทธิเลือกตั้ง

โดยกลุ่มผู้ที่จะได้มีโอกาสเลือกตั้งครั้งแรก (first time voter) หมายถึง กลุ่มผู้ที่เกิดระหว่างปี 2537-2544 ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มที่มีสิทธิเลือกตั้งตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา แต่ยังไม่เคยได้เลือกตั้ง และกลุ่มที่จะมีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในปี 2562

จาก ข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ผู้เกิดระหว่างปี 2537-2544 มีจำนวนไม่น้อยกว่า 6,426,014 คน

2.รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 500 คน โดยวิธีการนับจำนวนที่นั่งส.ส. ให้คำนวณจากการนำคะแนนเสียงเลือกตั้งรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตหารด้วย 500 ซึ่งเป็นจำนวนทั้งหมดของ ส.ส.ทั้งสภา

แต่เนื่องจากยังไม่มีการเลือกตั้ง เราจึงตั้งฐานจากฐานผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งมีจำนวน 52,457,500 คน เมื่อนำมาหารด้วย 500 ซึ่งเป็นจำนวนทั้งหมดของ ส.ส.ทั้งสภา จะได้ 104,915 หรือหมายความว่า ต้องใช้คะแนนเสียงเลือกตั้ง 104,915 เสียง จึงจะได้ที่นั่งส.ส. 1 คน

3.จากจำนวนผู้ที่จะได้มีโอกาสเลือกตั้งครั้งแรก เราสามารถคำนวณที่นั่งส.ส.ได้จาก สมการ “จำนวนคนที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก หารด้วยจำนวนคะแนนเสียงเลือกตั้งสำหรับส.ส. 1 คน” หรือ 6,426,014 คน / 104,915 เสียง เท่ากับ 61.25 ที่นั่ง

หรือ หมายความว่า คนรุ่นใหม่สามารถเลือกตัวแทนของตัวเองไปนั่งในสภาผู้แทนฯ ได้ถึง 61 คน หรือ คิดเป็น 12 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนส.ส.ทั้งหมด หรือ 1 ใน 10 ของสภาผู้แทนฯ

4.จำนวนส.ส. ตามจำนวนของผู้ที่จะได้มีโอกาสเลือกตั้งครั้งแรก (first time voter) เพียงพอต่อ การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี การเสนอหรือแก้ไขกฎหมาย การเสนอญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงต่อรัฐมนตรี การยื่นถอดถอนส.ส.ที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลัษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน