กกต. ระแวง! อียู ขอสังเกตการณ์เลือกตั้ง ขนมาเป็นร้อย เหมือนไทยอยากให้มา

วันที่ 8 พ.ย. นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง กกต. กล่าวถึงกรณี สหภาพยุโรป หรือ อียู ขอมา สังเกตการณ์เลือกตั้ง ส.ส.ปี 2562 มากกว่า 200 คน ว่า เป็นเรื่องที่ทาง จะต้องพิจารณาความเหมาะสมและขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศเพื่อประกอบการพิจารณา

แต่เบื้องต้นเสนอให้ยึดแนวทางปฏิบัติที่ผ่านมา คือ หากเข้ามาในลักษณะสังเกตการณ์เชิงสร้างสรรค์ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ไม่สร้างปัญหาต่อกระบวนการเลือกตั้งก็ไม่มีเหตุผลต้องปฏิเสธ

นายอิทธิพร กล่าวอีกว่า ตามที่ตนเคยให้ข่าวว่าได้มีการติดต่อจาก อียู เรื่องขอส่งผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งการเลือกตั้ง ปี 2562 นั้น ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาแต่เนื่องจาก ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง การพิจารณาเรื่องนี้จึงอาจขยับไปอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า

ทั้งนี้ เรายังต้องหารือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ ที่อาจจะมีการบันทึกพฤติกรรมผู้ที่เคยมาสังเกตการณ์เชิงความเหมาะสมที่อาจนำข้อสังเกตการณ์ไปทำอะไรที่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือไม่ ก่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาอีกครั้ง

นายอิทธิพร กล่าวว่า ตนพูดในลักษณะว่าตามแนวปฏิบัติของ กกต. ที่ผ่านมาตั้งแต่ ค.ศ. 2003 เป็นต้นมา หรือ 15 ปีมาแล้วที่ เคยเปิดให้ผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศ ไม่ว่าประเทศที่ไทยเคยไปสังเกตการณ์ในประเทศของเขา หรือประเทศใหม่ๆ ที่สนใจจะมาหรือองค์การระหว่างประเทศ หรือ NGO ที่อยากมาสังเกตการณ์ในบ้านเราสามารถเข้ามาได้ภายใต้โปรแกรมผู้สังเกตการณ์ของกกต. ซึ่งมีสาระสำคัญคือต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย

เงื่อนไขที่เราขอร้อง เช่นจะไปไหนต้องแจ้งต้องบอกเรา และในบางพื้นที่ เช่นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องขออนุญาตในบางพื้นที่ที่ล่อแหลมมีความเสี่ยง มาสังเกตการณ์แต่ไม่ใช่มายุ่งย่ามหรือรบกวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ เป็นต้น ซึ่งก็มีการเข้ามาสังเกตการณ์ โดยเฉพาะอียูเองก็เคยส่งมาสองครั้ง

ถ้าขอมาแล้วปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าใครจะมานอกเหนือกว่านี้เรายังตอบไม่ได้ เพราะถ้าจะมาเกินขอบเขตของผู้สังเกตการณ์ เราก็ต้องรู้ก่อนว่าเขามาด้วยเงื่อนไขอะไรบ้าง ก่อนที่จะลงมติเราก็ต้องถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นกระทรวงการต่างประเทศ หรือรัฐบาลด้วยซ้ำว่า มีความเห็นอย่างไรแล้วอยากฟังความเห็นของหน่วยงานอื่นเพื่อประกอบการตัดสินใจขั้นสุดท้าย เพราะเราไม่อยากตัดสินใจโดยลำพังสำหรับรูปแบบใหม่ ๆ

นายอิทธิพร กล่าวว่า ที่ผ่านมา อียู ขอมาเป็น “Election Expert Mission (EEM)” แต่คราวนี้ขอมาแบบ “Election Observation Mission (EOM)” ซึ่งสแกลค่อนข้างใหญ่และซับซ้อนกว่า EEM มาก ซึ่งดูแลไม่น่าจะเข้าข่าย Visitor Program ที่เราเปิดกว้างให้อยู่

เมื่อถามถึงกรณีความเห็นของนายดอน ปรมัถต์วินัย รมว.ต่างประเทศ ที่ไม่เห็นด้วยกับการให้องค์กรต่างประเทศมายังเหตุการณ์นั้น นายอิทธิพร กล่าวว่า สิ่งที่นายดอนพูดถึงเงื่อนไขของการมาสังเกตการณ์นั้นถูกต้อง คือเมื่อคุณขอมาดูก็ควรจะเป็นการสังเกตการณ์อย่างสร้างสรรค์คือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์กฎหมาย แล้วเสนอแนะด้วยใจที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่มาแถลงข่าวติติงมาจับผิดหรือทำตัวเป็นกรรมการตัดสินการเมืองในประเทศอื่น

เมื่อถามว่าต้องถามความเห็นจาก คสช. ก่อนการตัดสินใจหรือไม่นั้น นายอิทธิพร กล่าวว่า ยังไม่คิดว่าจะต้องไปขออนุมัติหรืออนุญาตจาก คสช. เพราะเป็นเรื่องการจัดการเลือกตั้งโดยแท้ และการเข้ามาสังเกตการณ์ก็ไม่น่าจะมีประเด็นกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองโดยตรง

แต่หาก คสช. มีความเห็นเบื้องต้นก่อนที่เราจะถามไปเราก็อาจนำประกอบการพิจารณา คือความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่ากระทรวงการต่างประเทศ ครม. หรือแม้แต่ กอ.รมน. ก็มีความหมายเราก็จะถามเขาไป

ส่วน คสช. ถ้ามีความคิดอย่างไรเราก็รับฟัง เพราะถ้าเขาออกคำสั่งอะไรมันตอนนี้มันก็เป็นกฎหมาย เขาสั่งได้ แต่เชื่อว่าเขาไม่ถึงขั้นสั่ง อาจจะแค่สะท้อนว่าเป็นห่วงเรื่องการรักษาความปลอดภัย เพราะหากขอเข้ามาสังเกตการณ์มากเกินไปมันก็เป็นประเด็น

นายอิทธิพร กล่าวอีกว่า คำขอของอียูครั้งนี้นอกจากจะมากด้วยจำนวนคนเป็นหลักร้อย จากที่เคยขอมา 4 – 5 คนแล้ว ยังขอมาแบบให้เปิดเสรีไปได้ทุกที่ แถมยังมีการขอให้ฝ่าย กกต. เป็นผู้ออกหนังสือเสมือนเป็นการร้องขอให้อียูมาสังเกตการณ์ ซึ่งเป็นจุดที่แปลก

ที่ผ่านมาอียูเคยไปขอสังเกตการณ์เลือกตั้งในประเทศเคนย่าแบบ EOM ซึ่งตอนแรกก็มีการรายงานข้อสังเกตธรรมดา แต่ไม่นานก็มีการออกรายงานประณามการเลือกตั้ง โดยไม่ดูเลยบริบทว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากที่มีการฆ่ากันตายไป 3 พันคนเมื่อ 6 ปีก่อนหน้านั้น ซึ่งควรจะให้เครดิตด้วยซ้ำว่าสามารถจัดการเลือกตั้งได้สงบเรียบร้อยมากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน