‘มาร์ค’ นำทีม อดีต ส.ส.ใต้ จี้รัฐบาลแก้ปัญหาราคายาง-ปาล์มตกต่ำ เสนอ 3 มาตรการ ผลักดันใช้ยางพารา ในประเทศอย่างจริงจัง – สนับสนุนปลูกพืชเสริม – ตั้งโรงงาน แปรรูปชุมชน

มาร์ค แก้ราคายาง – เมื่อวันที่ 12 พ.ย. เวลา 10.20 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคดูแลภาคใต้ และทีมอดีตส.ส.ใต้ แถลงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคายางพาราและปาล์มตกต่ำ โดยนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ทางพรรคมีข้อเรียกร้องและจะยื่นหนังสือต่อรัฐบาล เพื่อให้แก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนที่สุดใน 3 ข้อ

คือ 1.การใช้ยางพาราในประเทศโดยเฉพาะในภาครัฐ เป็นสิ่งที่รัฐบาลรับหลักการมาโดยตลอด แต่ไม่สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติได้ มีเพียงท้องถิ่นบางแห่งที่เดินหน้าได้จริงจัง ดังนั้น ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องเปิดเผยว่า จากที่เคยประกาศจะใช้ยางพาราแสนตันนั้น ใช้ไปแล้วกี่ตัน เพราะเท่าที่ตรวจสอบพบว่ามีสัดส่วนน้อยมาก จึงต้องดูว่าเหตุใดหน่วยงานราชการจึงไม่ใช้จริง ติดขัดที่ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ขั้นตอนการประมูลหรืออะไรก็ต้องแก้ปัญหาโดยทันที

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า 2.สภาพราคายางพารามีความจำเป็นที่ชาวสวนยางต้องมีรายได้เสริม เช่น การปลูกพืชอื่น ในสวนยาง แม้จะมีการคลายระเบียบกองทุนให้ทำได้ แต่การทำงานก็ยังไม่ได้ทำในเชิงรุกเท่าที่ควร โดยหน่วยงานที่เกี่ยวต้องสนับสนุนการปลูกพืชเสริมและประสานงานในเรื่องตลาด ไม่ให้พืชที่ปลูกเสริมแล้วมีปัญหาเรื่องราคาซ้ำอีก จึงต้องมีแผนการตลาดรองรับให้มั่นใจว่าปลูกแล้วมีกำไร

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า 3.การใช้ยางพาราโดยภาคเอกชนยังมีศักยภาพนำยางพาราไปแปรรูปในชุมชน เช่น ผลิตหมอนยางพารา รองเท้า เพราะมีตลาดทั้งในและต่างประเทศรองรับ แต่ปัญหาอยู่ที่การจัดตั้งโรงงานระดับชุมชนมีปัญหาเรื่องผังเมือง ถ้าเร่งรัดอนุญาต ก็จะทำให้ยางพาราแปรรูปได้ต่อไป

“เรื่องเร่งด่วนนี้ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ปัญหาก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้ ถ้าเห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวยังไม่พอก็ควรนำหลักคิดเรื่องประกันรายได้เกษตรกรมาปรับใช้กับชาวสวนยางพาราด้วย นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายใหญ่

จึงอยู่ในวิสัยเจรจาหาความร่วมมือกับผู้ค้าด้วยกันได้ แต่รัฐบาลต้องมีแผนที่ชัดเจนในการร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตเพื่อต่อรองกับผู้ใช้ รวมถึงหาตลาดส่งออกใหม่ๆ เพื่อรองรับยางพารา และการแปรรูปที่ใหญ่กว่าระดับชุมชน รวมถึงการผลักดันนิคมอุตสาหกรรมยางพาราต้องมีกรอบให้ชัดเจนว่าจะผลักดันให้เกิดขึ้นเมื่อไหร่” หัวหน้าพรรคปชป. กล่าว

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงปัญหาราคาปาล์มตกต่ำด้วยว่า ปัญหาหลัก คือ สต๊อกที่ล้นอยู่ ถ้าสามารถขจัดได้ 3 แสนตัน มั่นใจว่าราคาปาล์มจะขยับทันที จึงเสนอให้นำปาล์มไปใช้ผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้ากระบี่ โดยใช้เวลาครึ่งปีก็สามารถขจัดสต๊อกที่ล้นได้ ซึ่งทำให้ราคาขยับขึ้นทันที โดยใช้งบประมาณจำนวน 3 พันล้านบาท ที่ผ่านมารัฐบาลเหมือนขยับในเรื่องนี้ แต่กลับนำไปใช้โรงไฟฟ้าบางปะกงและราชบุรี ทำให้สูญเสียค่าขนส่งโดยเปล่าประโยชน์ 1 บาท ต่อ 1 กิโลกรัม และศักยภาพผลิตก็ไม่เท่าโรงไฟฟ้ากระบี่

นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า เรื่องเร่งด่วนเหล่านี้เป็นปัญหาที่ตอกย้ำสภาพของเศรษฐกิจที่โตยาก เนื่องจากคนส่วนใหญ่ขาดรายได้ ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำที่พรรคให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ดังนั้น นโยบายพรรคจะเปลี่ยนวิธีคิดบริหารที่หลงกับตัวเลขภาพรวมจีดีพี แต่ใส่ใจรายได้จริงของประชาชน ดังนั้น รัฐบาลต้องทำงานเชิงรุกถึงลูกถึงคน เพื่อช่วยประชาชนทันที

ด้านนายนิพิฏฐ์ ระบุว่า รัฐบาลต้องดำเนินการตามข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อทันที เพื่อพยุงราคายางพาราให้สูงขึ้น เพราะตามแผนที่รัฐบาลระบุว่าจะให้หน่วยงานราชการใช้ 1 แสนตันนั้น ทำได้จริงเพียงแค่ 1,129 ตันเท่านั้น ดังนั้น ทางพรรคจะไปยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเร่งด่วน

ขณะที่น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล คณะทำงานด้านปาล์มน้ำมันของพรรค กล่าวว่าขณะนี้ปาล์มมีสต๊อกเกิน 3 แสนตัน ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มถูกกดไว้ ทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือ ต้องกำจัดออกจากระบบ เพื่อให้ราคาปาล์มเข้าสู่ดุลยภาพ แต่ในขณะนี้รัฐบาลเตรียมทำแค่ 1.6 แสนตัน ด้วยการไปใช้ที่โรงไฟฟ้าราชบุรี บางปะกง ซึ่งไม่สมเหตุสมผล เพราะจะมีเงินสูญเปล่าจากค่าขนส่งถึง 160 ล้านบาท โดยไม่จำเป็น

จึงขอให้รัฐบาลกำจัดปาล์มที่ล้นสต๊อกออกจากระบบจำนวน 3 แสนตัน ภายใน 6 เดือนด้วยการนำไปใช้ในโรงไฟฟ้ากระบี่ ซึ่งจะทำให้ราคาปาล์มขยับจาก 2.80 บาท ไปเป็น 4 บาท อีกทั้งประชาชนรอบโรงไฟฟ้าก็จะได้ประโยชน์จากกองทุนด้วย

น.ส.พิมพ์รพี กล่าวด้วยว่า ขอเรียกร้องไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ดูแลราคาน้ำมันปาล์มขวดที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากต้นทุนราคาน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 16-17 บาท แต่กลับขายราคาขวดละ 42 บาท เท่ากับในช่วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ที่ราคาน้ำมันปาล์มสูงถึง 30 บาท ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค จึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์เข้าไปดูแล

เพราะเมื่อราคาถูกลงการบริโภคก็จะมากขึ้น เป็นการช่วยเหลือทั้งเกษตรกรและประชาชน พร้อมกัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาคใต้เข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว ชาวใต้เองไม่ต้องการทำม็อบเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือในด้านราคาเกษตร หากรัฐบาลไม่รีบดำเนินการก็อาจส่งผลกระทบทั้งในภาคการเกษตรและภาคการท่องเที่ยวด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน