อาจารย์นิติ มธ. เตือนสนช. อย่ารีบร้อน ดันกม. เบี้ยประชุมศาล ปีละ 207 ล้าน

เบี้ยประชุมศาล / เมื่อวันที่ 19 พ.ย. นายอานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึง กรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นัดพิจารณาร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม (ฉบับที่…) พ.ศ… ในวาระที่ 2-3 วันที่ 22 พ.ย.นี้ ว่า สาระสำคัญเรื่องกฎหมายเบี้ยประชุมคดีของผู้พิพากษาที่เข้าสู่วาระการพิจารณาสนช. คือเป็นการได้รับเบี้ยไปทั้งที่เป็นงานในหน้าที่ประจำอยู่แล้ว ก่อให้เกิดภาระทางการคลังของประเทศเพิ่มขึ้นปีละ 207 ล้านบาท

การอ้างเหตุผลว่า ให้แจกเบี้ยได้ เพื่อความรอบคอบในความยุติธรรม ก่อให้เกิดคำถามคือถ้าไม่มีเบี้ยประชุม ผู้พิพากษาจะไม่รอบคอบใช่หรือไม่ เหตุผลที่อ้างดังกล่าวเกิดคำถามว่าในทางปฏิบัติที่ผ่านมาตลอดของกระบวนการยุติธรรมในศาลไทย เหตุใดศาลจึงสามารถยังอำนวยความยุติธรรมได้เสมอมาแม้ไม่มีการแจกเบี้ยประชุมใหญ่ของศาล

นอกจากนี้พบในความเป็นจริงว่า ผู้บริหารศาลได้ออกระเบียบแจกเบี้ยประชุมกันไปก่อนแล้ว แต่ได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ตอนนี้ เพราะกฎหมายปัจจุบัน ไม่บัญญัติให้อำนาจไว้อย่างชัดแจ้ง โดยจะเห็นได้จาก บทเฉพาะกาลในร่างกฎหมายที่เข้าสภา ก็ฟ้องในตัวเองว่า ขอให้ระเบียบที่แจกเบี้ยประชุมก่อนหน้าไปนั้น มีผลตามกฎหมาย

นายอานนท์ กล่าวว่า อีกทั้งเป็นที่สังเกตด้วยว่า ร่างกฎหมายที่เสนอเข้าไปนี้ รีบร้อนลนลานมาก เพราะก่อนหน้าจะเข้าสภา ได้นำเข้าสู่คณะกฤษฎีกาคณะหนึ่ง ปรากกฏว่าถูกกรรมการในคณะนั้นค้านคือ คุณพรทิพย์ จาละ นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์ เลยมีการเปลี่ยนไปเข้าอีกคณะหนึ่ง สุดท้ายผ่านจากคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ แล้วในที่สุดก็เข้าสู่การพิจารณาของสภา

ข้อมูลพื้นฐานที่ควรทราบ คือ ร่างกฎหมายนี้ริเริ่มผลักดันโดยพวกผู้บริหารศาล คือ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ไม่ใช่การริเริ่มโดยรัฐบาลหรือสนช.

ร่างกฎหมายดังกล่าวหากประกาศใช้บังคับ จะทำให้เกิดภาระการคลังมหาศาลขึ้นทุกปีต่อไป ซึ่งแน่นอนว่า ผู้ได้รับผลกระทบคือประชาชนผู้เสียภาษีอากรแก่รัฐ ความเร่งรีบในการออกกฎหมายฉบับนี้

ก่อให้เกิดคำถามว่า เหตุใดไม่รอสภาจากการเลือกตั้งของประชาชน ผู้ควรมีอำนาจตัดสินใจในผลที่จะตามมาอย่างแท้จริงท้ายสุด อยากจะให้สังเกตว่า สนช.เพิ่งแก้กฎหมายขึ้น “เงินเดือน” ให้แก่ศาล บัดนี้จะให้ สนช.แก้กฎหมายให้ “เบี้ยประชุม” อีก

จึงเกิดคำถามว่า จะใช้ สนช.ออกกฎหมายให้ประโยชน์แบบรัวๆ แบบนี้ใช่หรือไม่ ทั้งที่การขึ้นเงินเดือนก็เพิ่งได้รับไปจากการออกกฎหมายเมื่อไม่นาน ด้วยเหตุดังกล่าว จึงวอนขอให้คำนึงภาษีอากรจากประชาชน ความเหมาะสมในการเร่งผลักดันกฎหมาย

“ท้ายที่สุด จะเป็นเรื่องที่กลับไปส่งผลต่อภาพลักษณ์ขององค์กรตุลาการ ทางออกคือควรถอนร่าง พ.ร.บ.ที่เข้าสนช. และควรยกเลิกระเบียบไป ถ้าไม่ยกเลิกตอนนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนระเบียบดังกล่าวได้ อีกอันคือหวังว่า สนช.จะไม่เห็นชอบให้ผ่านไป” นักกฎหมาย ม.ธรรมศาสตร์กล่าว

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน