‘บิ๊กตู่’ ย้ำทูตผู้ดี ไทยมุ่งประชาธิปไตยยั่งยืน ‘บิ๊กป้อม’ ปัดข้อเสนอเพื่อไทยให้ทหารลงนามบันทึกข้อตกลงเลิกทำปฏิวัติ ไม่สน ‘เทพเทือก’ เมินเอ็มโอยูปรองดอง ‘สุวิทย์’ นัดถกประธานสนช.วันนี้ เดินหน้าป.ย.ป. เตรียมดึงบิ๊กภาคเอกชนเสริมทัพ สัปดาห์หน้าจัดเวิร์กช็อปปฏิรูป วางตัว ‘ดร.กบ’ นั่งผอ.พีเอ็มดียู ‘สุรชัย’ แนะฝ่ายการเมืองลดทิฐิ ทิ้งจุดยืน เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้า ‘มาร์ค’ ชี้เซ็นเอ็มโอยูไร้หลักประกัน เตือนตีโจทย์ผิดจะหลงทาง ศาลฎีกานักการเมืองสั่งปรับ ‘หม่อมเต่านา’ 500 บาท ฐานจ้องหน้าอัยการคดีจำนำข้าว

‘บิ๊กตู่’ขออังกฤษหนุนไทยสู่ปชต.

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 19 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายไบรอัน จอห์น เดวิดสัน เอกอัคร ราชทูต (ออท.) สหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง โดยนายเดวิดสัน ย้ำความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างไทย-สหราชอาณาจักร และมีความสัมพันธ์อันดีในทุกระดับตั้งแต่ราชวงศ์ ไปจนถึงประชาชน การรับตำแหน่งครั้งนี้มุ่งหวังที่จะกระชับความสัมพันธ์และแสวงหาโอกาสความร่วมมือใหม่ๆ ระหว่างกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการสนทนา พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงสถานการณ์ด้านทางเมือง ว่า ทราบว่าสหราชอาณาจักรมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ทางการเมืองของไทย ซึ่งไทยกำลังเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อยากให้สหราชอาณาจักรสนับสนุนกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยด้วย ซึ่งออท.สหราชอาณาจักร แสดงความเข้าใจถึงสถานการณ์ทางการเมืองไทย โดยเห็นถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการเดินหน้าตามโรดแม็ปเพื่อปฏิรูปด้านต่างๆ และวางรากฐานไปสู่การมีประชาธิปไตยที่ยั่งยืน

‘บิ๊กป้อม’แจงปมเอ็มโอยู

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประ ชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย และแกนนำประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ประกาศไม่ลงนามเอ็มโอยูเพื่อทำสัญญาปรองดองว่า ตนพูดตั้งแต่แรกแล้วว่าต้องเป็นข้อตกลง ส่วนจะลงนามหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ต้องตกลงร่วมกันก่อนว่าต้องอยู่ร่วมกันในอนาคตอย่างสันติ ต้องการแค่ให้เกิดความปรองดอง คิดว่าชัดเจนแล้วไม่ขอพูดเรื่องรายละเอียด

ส่วนการกำหนดประเด็น หรือที่มาว่ามีเรื่องอะไรบ้างนั้น ทหารไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่เป็นการรวบรวมความคิดเห็นจากทั้งหมดมาสรุปว่าจะทำอะไรร่วมกัน เป็นข้อตกลงเท่านั้นเอง ไม่ได้เป็นข้อกฎหมาย หรือข้อบังคับ เพียงแต่ไปดูว่าอะไรต้องออกเป็นกฎหมายก็ว่ากัน ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติ หรือ มาตรา 44 หรือทำอะไรที่ให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ ไม่ใช่ทหารอยากทำอะไรก็ทำ ทหารไม่เกี่ยวไม่มีการลงโทษว่าใครไม่ทำตาม เพราะบทลงโทษนั้นมีอยู่ในกฎหมายอยู่แล้ว ตรงนี้อยากให้อนาคตอยู่ร่วมกันอย่างสันติ อย่างที่ตนย้ำว่าเรื่องนี้จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนิรโทษกรรม กฎหมายเก่า และคดีเก่า เป็นเรื่องของศาลยุติธรรมที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด

หวังจะสำเร็จ-แต่ไม่มั่นใจ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากตกลงกันแล้วกลับคำก็ไม่มีบทลงโทษใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่มีบทลงโทษ ทุกคนก็รู้กันเอง เชื่อว่าเมื่อทุกคนยอมรับว่ากติกาเป็นเช่นนี้ จะอยู่ร่วมกันแบบนี้ ก็แค่นั้นเอง ต้องเข้าใจว่าเป็นข้อตกลงร่วมกัน และไม่ใช่สัญญาใจ ถ้าไม่ตกลงก็ไม่เป็นไร ตนก็ไม่ได้ว่าอะไร อย่าไปคิดมาก ถ้าท่านไม่รับก็ไม่รับ ต่อข้อถามว่า จะเป็นการปรองดองแค่ระยะเวลาสั้นๆ หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่เป็นไร ขอให้เกิดความปรองดองก่อน จะระยะสั้น หรือระยะยาว ถ้าทุกฝ่ายได้พูด และมีข้อสรุปว่าเป็นข้อตกลง

ผู้สื่อข่าวถามว่า มั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ตนไม่ได้พูดเลยว่ามั่นใจ ผู้สื่อข่าวพูดเอง ตนไม่รู้อนาคต สิ่งนี้เป็นความคิด จะมาสรุปว่ามั่นใจได้อย่างไร เพียงแต่หวังว่าจะเป็นเช่นนั้น เมื่อตกลงกันแล้ว ถ้าไม่ทำก็จะถามกันเองว่าทำไมตกลงแล้วไม่ทำ ส่วนกรณีที่พรรคหรือกลุ่มการเมืองไม่ได้เป็นกรรมการคุยปรองดอง มีแต่ทหาร เพราะเลือกเอาคนเป็นกลาง ทหารไม่เกี่ยวกับความขัดแย้ง คนดูแลบ้านเมืองต่อคือ พรรคการเมือง นักการเมือง ทหารสนับ สนุน ไม่เกี่ยวกับทหาร

ปัดให้ทหารเซ็น-ไม่ปฏิวัติ

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยต้องการให้ทหารลงนามในเอ็มโอยูไม่ให้ปฏิวัติอีกนั้น คิดว่า ทหารเป็นกลาง ไม่มีความขัดแย้ง ตอนที่พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาครั้งนั้นไม่ได้ปฏิวัติ แต่เป็นการหยุดความขัดแย้งเพื่อให้บ้านเมืองสงบ

“ไม่มีใครอยากจะปฏิวัติ ไม่ต้องไปเซ็นหรอก ผมยืนยันไม่มีใครอยากทำ ท่านคิดไปเองว่าทหารจะออกมา ตอนนี้ผมอายุ 70 กว่าปีแล้ว อยู่มาตั้งแต่เด็ก ไม่มีใครอยากจะมาแย่ง แต่เมื่อบ้านเมืองไปไม่ได้ ที่สำคัญประชาชนเห็นชอบให้เราเข้ามาเพื่อให้เกิดความสงบ การออกมาปฏิวัติ ถ้าประชาชนไม่เอาด้วย ไม่มีทางทำได้อยู่แล้ว อันนี้เป็นความคิดของผม และคิดว่าทหารส่วนใหญ่ก็คิดแบบนี้ ไม่มีใครอยากมายึดอำนาจ อยากมีอำนาจ ไม่เห็นมีอะไรดี ใครอยากมาแทนผมก็มา ผมไม่ว่าหรอก” พล.อ.ประวิตรกล่าว

‘สุวิทย์’เดินสายขับเคลื่อนป.ย.ป

ด้านนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) กล่าวถึงการตั้ง 4 คณะกรรมการย่อยในป.ย.ป. ภายหลังพล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจตามมาตรา 44 จัดตั้งโครงสร้างเมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่า ตนได้หารือกับรองนายกฯ 6 คนแล้ว โดยทำความเข้าใจกันและพิจารณาโจทย์ที่นายกฯ มอบให้รองนายกฯ แต่ละคนช่วยดูแลและขับเคลื่อนงานของคณะกรรมการ 4 คณะ และกำลังเดินสายหารือกับประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เพื่อเตรียมโครงสร้างของป.ย.ป. และ 4 คณะย่อย ซึ่งองค์ประกอบต่างๆ จะเสร็จภายในสัปดาห์นี้

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีบุคคลจากภาคเอกชนที่จะดึงมาทำงานด้วยหรือไม่ นายสุวิทย์กล่าวว่า เราดูบุคคลในระดับผู้ใหญ่ที่จะมาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิของป.ย.ป.ไว้หลายคน แต่ยังไม่ได้เสนอชื่อให้นายกฯ พิจารณา เช่น นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ สมาชิก สนช. และอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายสมพล เกียรติไพบูลย์ อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์

เตรียมเวิร์กช็อปสนช.-สปท.

นายสุวิทย์กล่าวว่า ส่วนคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ซึ่งดูแลโดยพล.อ.ประวิตรนั้น ตนกำลังหารือกับพล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เพื่อจัดทำโครงสร้างของคณะกรรมการ ซึ่งนอกจากโครงสร้างที่พล.อ. ประวิตรได้วางไว้แล้ว อาจมีปลัดกระทรวงยุติธรรม สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และส่วนงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมด้วย

นอกจากนี้ ตนได้หารือกับ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคาตะ ประธาน สปท. ถึงวาระการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศอย่างเป็นรูปธรรมในปีนี้ภายใต้โจทย์ของนายกฯ ซึ่งมี 4-5 เรื่อง รวมถึงสิ่งที่เกี่ยวพันกับรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้เร่งการปฏิรูป เช่น ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปตำรวจ และได้แจ้งให้ร.อ.ทินพันธุ์ทราบว่าจะพบกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ในวันที่ 20 ม.ค. และถ้าเป็นไปได้ภายในสัปดาห์หน้าจะเชิญคณะกรรมาธิการของ สนช. และ สปท.ที่เกี่ยวกับการปฏิรูป มาประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กช็อป) ร่วมกับรัฐบาล เพื่อจัดลำดับความสำคัญและคัดเลือกเรื่องที่จะต้องเร่งขับเคลื่อนภายในปีนี้

วางตัว‘ดร.กบ’นั่งผอ.พีเอ็มดียู

นายสุวิทย์กล่าวว่า สำหรับการจัดตั้งสำนักบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พีเอ็มดียู) จะเปิดให้คนเก่ง มีความรู้ความสามารถ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามาด้วย ไม่ได้ มีแค่เฉพาะคนจากสำนักเลขาธิการนายกฯ (สลน.) หน้าที่หลักคือการประสานงานคณะกรรมการทั้ง 4 คณะ แต่งานส่วนใหญ่จะอยู่ที่การช่วยนายกฯ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 10 ประเด็นให้ออกมาเป็นรูปธรรม จึงมีแนวคิดว่าอาจคัดเลือกผู้ช่วยรัฐมนตรี 4-5 คนมาร่วมงานด้วย สำนักงานนี้ควรเป็นหน่วยงานที่ตั้งง่าย ยุบง่าย รวมถึงมีความยืดหยุ่นในงบประมาณของตัวเอง หากรัฐบาลชุดใหม่เห็นว่าภารกิจของพีเอ็มดียูเป็นไปด้วยดีเขาก็รับให้ทำต่อไป แต่ถ้าคิดว่ามันไม่ไหวก็ปิดได้ทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้วาง ตัว ผอ.พีเอ็มดียู คือนายอําพน กิตติอําพน ที่ปรึกษานายกฯ ซึ่งเพิ่งเกษียณอายุราชการจากตำแหน่งเลขาธิการ ครม. เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2559

‘สุรชัย’แนะการเมืองลดทิฐิ

ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 กล่าวว่า ขณะนี้กรรมา ธิการ (กมธ.) การเมือง สนช. กำลังพิจารณาร่างพ.ร.บ.อำนวยความยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างความปรองดอง และเชื่อว่าทุกฝ่ายตั้งความหวังให้ประสบความสำเร็จ มิเช่นนั้นป.ย.ป.คงไม่ทำ รัฐบาลโดยเฉพาะพล.อ.ประวิตร จะนำผลการศึกษาของคณะกรรมการหลายชุดที่เคยศึกษาเรื่องการปรองดองมาเป็นตัวช่วยสำคัญ โดยเฉพาะการพิจารณาว่าสาเหตุที่ทำให้การสร้างความปรองดองในอดีตตามที่คณะกรรมการแต่ละชุดศึกษามาไม่ประสบความสำเร็จมีจุดติดขัดเรื่องใด จึงอยากให้ทุกฝ่ายละจากจุดยืนเดิมมายืนบนจุดร่วมประเทศ ลดทิฐิของตัวเอง เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อได้

ส่วนข้อเสนอลงนามเอ็มโอยู เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการสร้างความปรองดองนั้น คงต้องถามพล.อ.ประวิตร ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ตนเห็นว่าเป็นเรื่องที่สังคมอยากได้ความแน่นอนว่าหลังจากผ่านขั้นตอนต่างๆ แล้ว ทุกฝ่ายจะไม่เปลี่ยนแปลงจากที่เคยพูด เพราะต้องปฏิบัติตามสัจจะสัญญาเพื่อเป็นแนวทาง แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความจริงใจของทุกฝ่าย ถ้าละทิ้งจุดยืนตัวเองได้ ก็เดินหน้าได้ ส่วนเรื่องนิรโทษกรรม อภัยโทษ เป็นแค่วิธีการ ขอให้เอาหลักการก่อน เชื่อว่าพล.อ.ประวิตรมีวิธีอยู่ในใจแล้ว

‘นิกร’ลั่นเอ็มโอยูไม่จำเป็น

นายนิกร จำนง กมธ.การเมือง สปท. กล่าวว่า เชื่อว่ารัฐบาล และคสช.เอาจริงกับการสร้างความปรองดองในครั้งนี้ จะต้องทำให้ดีที่สุด เพราะเป็นผู้เปิดหน้าเล่นเอง ส่วนตัวมองว่าคณะกรรมการปรองดองทุกฝ่ายที่รัฐบาลจะตั้งขึ้น ควรมีที่มาจากหลากหลาย ควรเชิญคณะกรรมการที่เคยทำรายงานเรื่องการสร้างปรองดองมาร่วมด้วย ไม่ควรมีแต่ทหารฝ่ายเดียว เชื่อว่ารัฐบาลคงรับฟัง

ส่วนการให้คู่ขัดแย้งมาลงนามเอ็มโอยูเพื่อสร้างความปรองดองนั้น คิดว่าไม่จำเป็น เพราะหากมีใครไม่ปฏิบัติตามจะยิ่งเกิดความเสียหาย ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีบทลงโทษอย่างไร ดังนั้น ควรใช้วิธีเชิญฝ่ายการเมืองมาหารือร่วมกันแล้วให้สัญญาเป็นคำมั่นต่อสังคม และแถลงจุดยืนให้สาธารณชนทราบ แม้น้ำหนักจะเบากว่าการลงนามเอ็มโอยู แต่ให้สังคมเป็นผู้ใช้อำนาจลงโทษแซงก์ชั่นนักการเมืองที่ไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญา ซึ่งในส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนายินดีมาร่วมพูดคุยกับทุกฝ่าย

‘มาร์ค’บอกอย่ายึดรูปแบบ

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประวิตรเตรียมหารือกับทุกพรรคการ เมืองและฝ่ายต่างๆ เพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับแนวทางปรองดองว่า คงไม่ได้เรียกคุยพร้อมกัน แต่เป็นการรับฟังความคิดเห็นแต่ละฝ่ายเพื่อเก็บข้อมูล ซึ่งตนยินดีให้ความเห็นเพราะถือเป็นจุดเริ่มต้นที่เดินไปได้ แต่อย่าปักใจว่าต้องจบลงด้วยวิธีการรูปแบบไหน เช่น ที่พูดว่าจะลงนามเอ็มโอยูร่วมกัน ขออย่ายึดติดตรงนั้น อยากให้การปรองดองเป็นเรื่องคิดถึงอนาคตมากกว่าอดีต ต้องมองไปข้างหน้าและสรุปบทเรียนให้ถูก อย่ามองว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคลหรือระหว่างพรรค เพราะรากฐานความขัดแย้งรอบล่าสุดเกิดจากกฎหมายนิรโทษกรรม ไม่ได้เกิดจากพรรคทะเลาะกัน ถ้าสรุปผิดคิดว่าพรรคทะเลาะกันก็เป็นเรื่องหลงทาง

“การปรองดองอยากให้มองอนาคต ส่วนเรื่องอดีตก็ปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมทำงานไป ยกเว้นคดีที่เกี่ยวกับประชาชนมาชุมนุมแล้วทำผิดกฎหมายพิเศษ ควรจะนิรโทษกรรม หากทำเช่นนี้จะได้ข้อยุติเกี่ยวกับข้อเท็จจริง ส่วนที่พล.อ.ประวิตรระบุหลังจากพูดคุยแล้วจะให้ลงนามเพื่อเป็นข้อตกลงก่อนการเลือกตั้งนั้น ผมไม่ทราบว่าข้อตกลงจะมีเนื้อหาอย่างไร ลำพังมีเอกสารและคนร่วมลงนามจะเป็นหลักประกันได้ยาก เพราะคนที่ไปลงนามจะยืนยันได้อย่างไรว่าประ ชาชนจะเห็นเหมือนตนเอง การจะให้หัวหน้าพรรคและผู้บริหารไปลงนามโดยต้องผูกมัดสมาชิกจะเป็นไปได้ยาก ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้มีเจตนาขัดขวาง ผมยืนยันพร้อมให้ความร่วมมือ แต่ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสำเร็จ” นายอภิสิทธิ์กล่าว

ระวังตีโจทย์ผิด-หลงทาง

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การจะเอาเรื่องปรองดองไปผูกว่าต้องทำให้เสร็จก่อนเลือกตั้งนั้น เรื่องเงื่อนไขการเลือกตั้งความจริงก็เป็นไปตามโรดแม็ป แต่ถ้ามาบอกว่าพรรค จะต้องไปยอมรับอะไรตนเห็นว่าขัดกับประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งตนไม่ทำเพราะบ้านเมืองต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญกว่า ส่วนที่นายกฯ ห่วงใยว่าอะไรจะเป็นหลักประกันว่าเลือกตั้งแล้วจะไม่กลับมาตีกันนั้น ตนอยากให้ย้อนกลับไปดูการเลือกตั้งปี 2550 หรือปี 2554 ไม่ได้ทะเลาะกันจนไปสู่ความขัดแย้ง ถ้าตีโจทย์ว่าขัดแย้งจากการเลือกตั้งก็ไม่ตรงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงอยากให้ทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้ก่อน มิเช่นนั้นจะหลงทาง จึงควรรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะพรรคหรือกลุ่มการ เมือง และนำสิ่งเหล่านั้นมาวิเคราะห์และกำหนดหลักการแก้ไขต่อไป

เมื่อถามถึงกรณี กมธ.การเมืองของ สปท.ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน เสนอแนวทางแก้ไขกฎหมายเพื่อยุติคดีทาง การเมือง นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนได้คุยกับ นายกษิต ภิรมย์ สมาชิก สปท. ทราบว่า สปท.หลายคนไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้

พท.ไม่แปลกใจท่าทีกปปส.

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประ ชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย และนายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. ประกาศจะไม่เซ็นเอ็มโอยูยุติความขัดแย้งว่า ไม่เหนือความคาดหมาย ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งของความขัดแย้งมาจากปัญหาชัตดาวน์ประเทศ ก่อจลาจลขัดขวางการเลือกตั้ง ถ้าจะปรองดองจริงการชัตดาวน์หรือการก่อจลาจลลักษณะนี้ต้องไม่เกิดขึ้นอีก

การปรองดองมีมากกว่าการเซ็นเอ็มโอยู มากกว่าการนิรโทษกรรม และต้องดูในภาพใหญ่ที่เป็นต้นเหตุความขัดแย้งว่ามาจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เท่าเทียม สองมาตรฐาน การไม่เคารพการตัดสินใจของประชาชน การไม่เคารพหลักนิติธรรม ใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย การรัฐประหารยึดอำนาจ หรือสมคบคิดกันสร้างสถานการณ์เพื่อนำไปสู่การยึดอำนาจ

แนะให้อภัย-ก้าวผ่านขัดแย้ง

นายอนุสรณ์กล่าวว่า การปรองดองต้องค้นหาข้อเท็จจริงให้ได้ก่อน ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันมองภาพใหญ่ การปฏิบัติการไอโอเรื่องปรองดองต้องการสื่อว่าคนขัดแย้งคือนักการเมืองหรือไม่ ที่จริงคู่ขัดแย้งมีมากกว่านั้นหรือไม่ สมาชิกส่วนใหญ่ของ กปปส.ก็อยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ กปปส.และพรรคประชาธิปัตย์จะเห็นอย่างไรก็เป็นสิทธิ์ แต่พรรคเพื่อไทยมองว่าการปรองดองจะต้องเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ประโยชน์ของนักการเมือง ถ้าสามารถปรองดองได้ประเทศชาติสงบ เดินหน้าพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นได้ คงไม่มีใครไปขัดขวาง

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอให้ป.ย.ป.รีบทำหน้าที่ให้ดีที่สุด มีความเป็นกลางและเป็นธรรมให้มากที่สุด ฝ่ายการเมืองและกลุ่มการเมืองส่วนใหญ่ต่างขานรับรัฐบาลที่จะทำการปรองดอง มีบ้างบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย จึงขอให้ คสช.เดินหน้าทำในแนวทางที่ประชาชนยอมรับได้ บ้านเมืองจะได้ก้าวพ้นและกลับคืนสู่ความสงบ ความสัมพันธ์กับนานาชาติจะกลับคืนสู่สภาวะปกติ ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายรู้จักเสียสละ ลดทิฐิ ให้อภัยและลืมสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมากันบ้าง เราจะก้าวผ่านปัญหาบ้านเมืองกันไปได้อย่างแน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน