“บิ๊กตู่” ลั่นประชาธิปไตยพังก่อนทหารมา “บิ๊กป้อม” ชี้ 3 เดือนเห็นแนวปรองดอง ขอเวลาฟังความเห็นทุกฝ่าย ให้กก.สรุปสุวิทย์เดินสายถก สนช.แล้ว นัดแม่น้ำ 3 สายคุยอีก 25 ม.ค. “ปู” ชี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี หวังเป็นกลาง เป็นธรรม ยึดนิติธรรมสากล และไม่เลือกปฏิบัติ ภูมิธรรมแนะ 4 ข้อสู่ปรองดอง

บิ๊กตู่ลั่นจับเข่าคุยปรองดอง

เมื่อวันที่ 20 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า วันนี้เราต่างเรียกร้องการปรองดอง ซึ่งต้องรับฟังทุกฝ่าย ทั้งความเห็นตรงและความเห็นต่าง ทั้งจากนักกฎหมาย พรรคการเมือง ประชาสังคม ประชาชน เพื่อหาคำตอบให้ได้ว่าเราจะเดินหน้าประเทศไทยไปข้างหน้าและจะช่วยกันได้อย่างไร ตนอยากเห็นทุกฝ่าย พรรค กลุ่มการเมืองหันหน้าเข้าหากัน ร่วมมือกับประชาชนทุกคนผลักดันประชาธิปไตยที่แท้จริงสู่สังคมไทย และนำบ้านเมืองสู่ความสงบสุข และสันติ

“ต้องจับเข่าคุยกัน แสดงความจริงใจ ความเสียสละและแสดงความรักชาติ ช่วยกันหาแนวทางเดินหน้าประเทศด้วยความปรองดองในทุกมิติ ทั้งความคิด จิตใจ การบังคับใช้กฎหมายและการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข แสดงให้ลูกหลานเห็นว่าทุกปัญหามีทางออก ไม่ใช่ทุกทางออกมีแต่ปัญหา เราต้องหาให้เจอแล้วดำเนินการให้ได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน เรารู้ว่าไม่ง่ายเหมือนพลิกฝ่ามือแต่ต้องเริ่มนับ 1 และวันข้างหน้าจะครบ 100 หรือสมบูรณ์ในที่สุด” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ย้ำอีกทหารไม่ใช่คู่ขัดแย้งใคร

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ตนเห็นว่าจุดเริ่มต้นของความปรองดองนั้น คือความเข้าใจ นำมาซึ่งความร่วมมือเพื่ออยู่อย่างสันติสุขในอนาคต สิ่งหนึ่งที่อยากฝากให้ทุกคนได้คิด อาจเป็นอุทาหรณ์เพื่อความเข้าใจกัน ตัวอย่างง่ายๆ คือ ที่ผ่านมาในยามที่พืชผลทางการเกษตรตกต่ำ มักมีการรวมกลุ่ม ตั้งเวที ปิดถนน เรียกร้อง ต่อรองให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา เอาประชาชนเป็นตัวประกัน เอาความเดือดร้อนจากการจราจรเป็นเงื่อนไขเร่งรัดให้ต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมักมีผู้อยู่เบื้องหลัง อาจเป็นผู้หวังดีหรือไม่หวังดีต่อสังคมและอาจเป็นผู้ที่หวังผลทางการเมือง ถือว่าเป็นแนวทางที่ไม่ปรองดอง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า แนวทางที่ถูกต้อง ปรองดองและยั่งยืนที่อยากบอกให้ทราบก็คือ 1.ประชาชนต้องเข้าใจความเดือดร้อนของเกษตรกรก่อน เมื่อเข้าใจก็จะให้อภัยกัน 2.การปิดถนนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะละเมิดสิทธิผู้อื่น ดังนั้นผู้กระทำผิดโดยเฉพาะผู้ที่อยู่เบื้องหลัง จะมีความผิดตามกฎหมาย ยกเว้นไม่ได้ และ3.ต้องให้ความรู้กับเกษตรกร ถึงช่องทางสื่อสารที่ถูกต้องกับผู้ที่รับผิดชอบ จะได้ไม่เป็นเหยื่อ เป็นเครื่องมือของใครที่ไม่หวังดี หากทำได้ตาม 3 ข้อนี้ก่อน เชื่อว่า ปัญหาจะไม่บานปลาย ที่สำคัญ เอาใจเขามาใส่ใจเราแล้วความเข้าใจ ก็จะเกิดความปรองดอง ซึ่งการปรองดองคือการร่วมกันคิดว่าเราจะอยู่กันอย่างไร ต่อไปเมื่อเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ทหารไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งของใคร จะทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก ที่ผ่านมาเมื่อทุกอย่างติดล็อก จะด้วยอะไรก็แล้วแต่ อาจจะกล่าวอ้างกัน ทุกคนทราบดีแก่ใจ ก็อยากให้พิจารณาให้ลึกซึ้ง

ชี้”ปชต.”เสียหายก่อนทหารเข้ามา

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า รัฐบาลและตนนั้นเปิดโอกาสตลอดเวลา ในคำแนะนำหรือคำวิจารณ์ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่สร้างความขัดแย้งอย่างนั้น ตนก็ยอมรับไม่ได้ เพราะสถานการณ์ต้องการความสงบเรียบร้อย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป อย่าให้ใครใช้เพื่อหวังผลทางการเมือง มุ่งประโยชน์ส่วนตนแล้วอ้างคำว่าประชาธิปไตย สร้างภาพ จอมปลอม ไม่จริงใจ แอบแฝง รวมทั้งสิทธิมนุษยชนที่อาจจะทำผิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้อื่น สิทธิสาธารณะ ขณะที่ประชาชนเกินร้อยละ 90 ปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ต้องพลอยได้รับผลกระทบ เดือดร้อน โดยมีแกนนำ กลุ่มบุคคล บุคคลไม่กี่คน ซึ่งยังจะคงทำลายประเทศของตนเองต่อไป อาจจะด้วยรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง ตนได้แต่เพียงขอร้องให้สังคม ประชาชน ทุกหมู่เหล่าช่วยกันคิดว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เราจะยอมให้ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ทำอะไรก็ได้ใช่หรือไม่ แล้วมากล่าวว่าทหารเข้ามาทำให้ประชาธิปไตยเสียหาย มันเสียหายตั้งแต่ก่อนที่ตนจะเข้ามาแล้ว สุดท้ายนี้ขอความร่วมมือประชาชน ผู้ที่รักประเทศร่วมกับรัฐบาล ในการเดินหน้าประเทศตามยุทธศาสตร์ ปฏิรูปประเทศ และสร้างการปรองดอง ในสิ่งที่ควรจะทำได้ โดยไม่ต้องบังคับ ไม่ออกนอกกรอบกฎหมาย อ้างประชาธิปไตย ก็คือปรองดองไม่มีความผิดเป็นไปไม่ได้ ตนพร้อมรับฟังทุกภาคส่วน แต่อย่าเอาความต้องการตัวเองมาชี้นำให้สังคมวุ่นวาย รัฐบาลและคสช. จะอำนวยความสะดวกในเรื่องเหล่านี้ ในเวทีที่เปิดการพูดคุยรับฟังความคิดเห็น

“ป้อม”พอใจคนหนุนปรองดอง

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าว่า ตนเห็นว่าทุกฝ่ายมีท่าทีในเชิงบวกที่จะรับและอยากให้เกิดความปรองดอง เพราะหากสร้างสามัคคีปรองดองได้ ประเทศก็มีความสงบ ทุกอย่างเดินหน้าต่อไปได้ รวมถึงการทำมาหากินของประชาชนและเศรษฐกิจก็จะดีขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่าได้ประสานไปยังกลุ่มการเมือง พรรคการเมืองในเรื่องการร่วมสร้างปรองดองอย่างไรบ้าง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ตนไม่ได้ประสานกับใคร ตอนนี้ขอให้รอ รายชื่อของคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดองออกมาชัดเจนก่อนแล้วจึงจะเริ่มพูดคุย ซึ่งขั้นตอนต่างๆ ตนได้ชี้แจงไปหมดแล้ว โดยกรรมการจะเป็นผู้ไปรับฟังข้อมูลความคิดเห็นจากกลุ่มการเมือง พรรค ซึ่งเปิดให้ทุกพรรคทุกกลุ่มเข้ามาแสดงความคิดเห็นให้ข้อเสนอแนะ แล้วจะนำสิ่งเหล่านั้นมาพิจารณา ทั้งนี้ คณะกรรมการจะเป็นผู้พิจารณาว่าสมควรเชิญพรรคใด กลุ่มใดหรือใคร หรือภาคราชการด้วยว่าใครจะเป็น ผู้ร่วมพูดคุยให้ข้อเสนอแนะเป็นกลุ่มแรกบ้าง

ชี้กก.จะเลือกคนในพรรคเอง

เมื่อถามว่ารายชื่อคณะกรรมการชุด ดังกล่าวจะออกมาเมื่อใด พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เชื่อว่าน่าจะออกมาได้ในสัปดาห์หน้า ส่วนเสียงวิจารณ์ในกรรมการมีแต่ชื่อนายทหารเข้ามาจำนวนมากนั้น ไม่เป็นไร เพราะทหารเป็นกลาง เคยบอกแล้วว่าทหารไม่มีความขัดแย้งกับใคร และคนที่เข้ามาร่วมในคณะกรรมการก็ไม่ใช่เด็กๆ แต่เป็นระดับผู้ใหญ่ในกองทัพ พวกเขารู้ว่าควรทำอย่างไร

เมื่อถามว่าหากพรรคการเมืองขอให้ปลดล็อกให้ประชุมพรรคได้เพื่อเลือกตัวแทนเข้าร่วมพูดคุยกับคณะกรรมการจะอนุญาตหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าไม่เห็นจะต้องคัดเลือก หรือประชุมอะไรกันในเรื่องนี้ จะประชุมทำไมให้มันยุ่ง เพราะคณะกรรมการจะเป็นคนที่เลือกอยู่แล้ว

ให้แสดงความเห็น-ไม่ขอมติพรรค

เมื่อถามว่าตัวแทนจากพรรค กลุ่มการเมือง จะต้องเป็นระดับแกนนำที่สามารถตัดสินใจเองได้ทันทีใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าไม่จำเป็น แต่ตนต้องการให้คนที่มานั้นให้ความคิดเห็นได้มากกว่า ว่าเราจะสร้างความสงบให้เกิดขึ้นในยุคของรัฐบาลต่อไปได้อย่างไร โดยไม่ให้เกิดการขัดแย้งหรือตีกันอีกเหมือนในอดีต

เมื่อถามว่าหากบางพรรคหรือบางกลุ่มระบุไม่สามารถมาให้ความคิดเห็นได้ เนื่องจากไม่มีมติพรรค จะแก้ปัญหาอย่างไร พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ตนไม่ได้บอกว่าขอให้มีมติพรรคให้มา แต่ใครต้องการเสนออะไร ขอให้เข้ามาเสนอได้ทั้งหมด เพราะต้องการนำข้อเสนอทั้งหมดมาพิจารณาเพื่อรวมกันเป็นหนึ่งเดียวให้ได้ ทั้งนี้ ในการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าว เชื่อว่าจะใช้เวลา 3 เดือน โดยมีการแบ่งหัวข้อแต่ละด้านแล้วเชิญผู้เกี่ยวข้องแต่ละด้านมาพูดคุย ทั้งนี้ จะนำข้อมูลข้อเสนอแนะที่ได้มาจัดทำและเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบ

ด้านนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงรัฐบาลเริ่มดำเนินการเรื่องปรองดอง ปฏิรูปว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีและหากต่างประเทศสนใจก็พร้อมชี้แจง ซึ่งผู้ที่สนใจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลักคือ คณะทูต สื่อต่างประเทศ และนักธุรกิจ

สุวิทย์ถกสนช.ขับเคลื่อน”ปยป.”

ที่รัฐสภา นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสร้างสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เข้าหารือกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 เพื่อหารือถึงแนวทางการขับเคลื่อนของ ป.ย.ป.

นายพรเพชรเผยว่า นายสุวิทย์ในฐานะเลขานุการป.ย.ป.ได้รับมอบหมายให้มาประสานงาน เนื่องจาก 1.รัฐบาลและคสช.มี นโยบายที่จะปฏิรูปประเทศเป็นหลักใหญ่ตามรัฐธรรมนูญฉบับที่อยู่ในระหว่างทูลเกล้าฯ 2.เรื่องยุทธศาสตร์แห่งชาติเป็นเรื่องที่อยู่ในรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ และ 3.เรื่องการปรองดอง ทั้ง 3 เรื่องสนช.มีส่วนร่วมด้วยในด้านกฎหมาย สำหรับเรื่องที่ได้รับแจ้งจากนายสุวิทย์ สนช.ก็เห็นด้วยและคิดว่าการดำเนินการในรูปแบบที่มีนายกฯ เป็นเจ้าภาพ คงจะหาข้อยุติได้ โดยขณะนี้นายสุวิทย์ระบุว่า เป็นขั้นตอนการตั้งองค์ประกอบคงเร่งรัดให้เสร็จโดยเร็วและคงเสนอนายกฯเพื่อให้ประกาศแต่งตั้งต่อไป และนำไปสู่การประชุมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วที่มี จุดมุ่งหมายชัดเจนเพื่อบรรลุและสร้างผลงานให้ได้ ส่วนตัวก็คงเข้าร่วมอยู่ในกรรมการทั้ง 3 คณะ อย่างไรก็ดีได้พูดคุยว่าหากออกฎหมายเพื่อบังคับให้มีการปรองดองคงไม่ได้ ต้องดูว่าฝ่ายปรองดองว่าต้องการอะไร

เน้นปฏิรูปการศึกษา-ตำรวจ

นายสุวิทย์กล่าวถึงการหารือว่า เป็นการหารือเพื่อวางแผนโครงสร้าง 3 ใน 4 คณะกรรมการย่อยของป.ย.ป.คือ คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งอาจมีเลขาธิการสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเข้ามาเป็นกรรมการเพื่อรองรับงานในอนาคต, คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ซึ่งทั้ง 3 คณะนี้ จะมีสนช.และสปท.เข้ามาร่วมด้วย โดยคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ จะมีนายสุรชัยมาเป็นกรรมการ ขณะที่คณะกรรมการสร้างความสามัคคีปรองดอง มีพรเพชร และนายพีระศักดิ์ เป็นกรรมการ

นายสุวิทย์กล่าวต่อว่า การหารือครั้งนี้เน้นไปที่เตรียมการปฏิรูปที่พล.อ.ประยุทธ์ให้ความสำคัญและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะเน้นปฏิรูป 2 เรื่องสำคัญ คือ การศึกษาและปฏิรูปตำรวจ ระหว่างนี้จะทำทั้งสองเรื่องให้เป็นรูปธรรม และในสัปดาห์หน้าองค์ประกอบของป.ย.ป.จะทยอยแล้วเสร็จ แต่ขณะนี้กรรมการทั้ง 4 คณะยังไม่นิ่งเรื่องตัวบุคคลเข้ามาทำงาน ยังต้องปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสม จากนั้นนายกฯอาจทบทวนการกำกับการดูแลงานในแต่ละคณะของรองนายกฯด้วย โดยย้ำให้เร่งทำงานและพร้อมดีเดย์ทำงานทันทีในวันที่ 1 ก.พ.นี้

25 มค.นัดแม่น้ำ 3 สายคุยอีก

นายสุวิทย์กล่าวว่า ในวันที่ 25 ม.ค. นี้ ตนได้เชิญตัวแทนจากแม่น้ำ 3 สาย คือ ครม. สนช. สปท. ประกอบด้วย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ นายพรเพชร ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสปท. กรรมาธิการจากสปท. 13 คณะ และจากสนช. มาหารือเตรียมสำหรับการเวิร์กช็อป 1 ก.พ.นี้ โดยจะมีสาระพูดคุยประมาณ 3-4 ประเด็น และมีการปฏิรูปการทำงานของวิป 3 ฝ่ายใหม่

“เนื่องจากการทำงานแบบเดิมอาจไม่ตอบโจทย์ เพื่อให้แต่ละฝ่ายไปทำการบ้านและหาคำตอบในการปฏิรูปการทำงานในสอดคล้องกับภารกิจของ ป.ย.ป. และเพื่อเปลี่ยนวิป 3 ฝ่าย และวิปรัฐบาลให้มาเป็นตัวขับเคลื่อนในคณะกรรมการเตรียมการขับเคลื่อนการปฏิรูปในป.ย.ป. นอกจากนั้นยังหารือถึงบทบาทของการปฏิรูป ซึ่งสปท.เป็นตัววางแผนโดยมีรัฐบาล เป็นคนขับเคลื่อน ซึ่งการประชุมเวิร์ก ช็อปในวันที่ 1 ก.พ.นี้ จะพิจารณาวาระการปฏิรูปเร่งด่วนก่อนหลัง” นายสุวิทย์กล่าว

ทาบ”ดร.กบ”คุมบริหารนโยบาย

นายสุวิทย์กล่าวด้วยว่า สำหรับการจัดตั้งสำนักบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พีเอ็มดียู) ได้ทาบทามนายอำพน กิตติอำพน ที่ปรึกษานายกฯ มานั่งเป็นผอ.แล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาตัดสินใจ โดยคุณสมบัติของผู้ที่จะมานั่งทำงานนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีบารมีพอสมควร รู้กลไกภาครัฐ ทราบถึงปัญหาอุปสรรคและการบริหารจัดการปัญหาต่างๆ เป็นมือประสานสิบทิศ รู้โจทย์ว่ารัฐบาลจะปฏิรูปเรื่องใดก่อนหลัง สามารถเข้ามาเสริมให้มินิคาบิเนต ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนายอำพน เป็นหนึ่งในบุคคลที่เข้าข่ายจะมาเป็นผอ.พีเอ็มดียู เพราะมีประสบการณ์ทั้ง เป็นเลขาฯสภาพัฒน์ และทำงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเลขาฯครม.มาก่อน มองเห็นยุทธศาสตร์ชาติทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม

“ถ้าได้มาก็ทูอินวันเพราะสามารถมอบในเชิงยุทธศาสตร์ รู้ว่ากลไกที่จะขับเคลื่อนและข้อติดขัดมีอะไรบ้าง เบื้องต้นได้ทาบทามแล้วและท่านขอเวลาคิดก่อน เป็นแคนดิเดตที่สื่อมวลชนคิดตรงกัน” นายสุวิทย์กล่าว

ฐิติวัจน์ค้านชงทหารทำเอ็มโอยู

พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) กล่าวถึงฝ่ายการเมืองให้ทหารทำเอ็มโอยูหยุดทำรัฐประหารก่อนการปรองดองว่า โมเดลเอ็มโอยูของพล.อ.ประวิตร คงหวังให้ประเทศเดินหน้าหยุดความขัดแย้ง ซึ่งบอกชัดว่าไม่เกี่ยวกับกฎหมาย ดังนั้นคนที่หวังดีต่อชาติควรเสนอความเห็นที่สร้างสรรค์ ส่วนตัวคิดว่าเร็วเกินไปที่จะให้ฝ่ายทหารทำเอ็มโอยูอย่างที่เสนอ เพราะเป็นข้อเสนอที่นำมาซึ่งการสาดโคลน โต้คารมกัน จะยิ่งแสดงว่าการปรองดองเริ่มยาก ตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่มขบวนการ วันนี้ทุกฝ่ายต้องหยุดพูดเท็จในที่สาธารณะก่อนตนเห็นว่าทุกคนรักประเทศเหมือนกัน ควรมาเปิดอกคุยกันอย่างลูกผู้ชายไปเลย เพื่อหาทางออกประเทศให้เกิดการปรองดองอย่างแท้จริง ยั่งยืน จะดีกว่า

ภูมิธรรมแนะ 4 ข้อสู่ปรองดอง

นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย โพสต์ผ่านทางเฟซบุ๊กว่า ปัญหาความไม่ปรองดอง มิใช่เกิดจากเฉพาะพรรคการเมืองแต่เพียงฝ่ายเดียว หากแต่เกี่ยวพันกับคนหลายกลุ่ม หลายองค์กร รวมถึงผู้มีอำนาจในปัจจุบันก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาที่เกิดขึ้น จึงต้องอาศัยความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของฝ่ายต่างๆ ทั้งพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองต่างๆ ฝ่ายผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ความปรองดองเกิดขึ้นเป็นผลสำเร็จ ต้องคำนึงถึง 1.ความเข้าใจในความหมายของการปรองดองตรงกัน จึงจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาได้ พรรคเพื่อไทยเข้าใจว่าการปรองดองหมายถึง”การอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติภายใต้หลักนิติธรรม บนพื้นฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ดังนั้น การจะสร้างความปรองดองได้ คือการอำนวยให้เกิดความยุติธรรม และการยอมรับการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างของแต่ละฝ่าย

2.ควรให้ความสำคัญกับการแสวงหาความรู้ที่ชัดเจนถึงสาเหตุความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ซึ่งในส่วนนี้ คอป.และสถาบันพระปกเกล้าเคยศึกษาไว้อย่างละเอียดและครอบคลุมพอสมควรแล้ว สมควรหยิบยกมาพิจารณาประกอบควบคู่กัน การแก้ปัญหาจึงจะบรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ 3.ควรทราบว่ามีผู้ใด องค์กรใด หรือหน่วยงานใดบ้างที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และแสวงหาความร่วมมือจากส่วนต่างๆเหล่านี้ให้เข้ามาหาทางแก้ปัญหา มิฉะนั้นจะแก้ไม่ถูกจุด และลงแรงโดยไม่เกิดประโยชน์ เพราะอาจวิเคราะห์ปัญหาคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้

คุณสมบัติกก.เป็นกลาง-มีอิสระ

4.คณะกรรมการที่จะเข้ามาดำเนินการเรื่องปรองดอง ควรมีองค์ประกอบจากผู้ที่เป็นกลาง มีอิสระ มีคุณธรรม และสังคมยอมรับ จึงขอนำเสนอหลักยึดที่พรรคเพื่อไทยถือเป็นแนวแก้ไขเรื่องการปรองดองในอดีต เพื่อให้สังคมร่วมกันพิจารณาคิดแก้ปัญหา ความปรองดองจึงจะเกิดเป็นจริงได้

นายภูมิธรรมระบุว่า ตนได้หารือหัวหน้าพรรคและขอมอบให้นายโภคิน พลกุล นายชัยเกษม นิติสิริ นายชูศักดิ์ ศิรินิล นาย จาตุรนต์ ฉายแสง นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นผู้ดำเนินการศึกษาและติดตามเรื่องนี้ต่อไป

ชี้เมื่อปฏิวัติก็ร่วมขัดแย้งแล้ว

นายชัยเกษม นิติสิริ อดีตรมว.ยุติธรรม ฐานะคณะกรรมการศึกษาและติดตามเรื่องการปรองดอง พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงพล.อ. ประวิตรระบุทหารไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ไม่ต้องการออกมาปฏิวัติ แต่ที่ออกมาเพราะประชาชนเห็นชอบ จึงไม่จำเป็นต้องเซ็นเอ็มโอยูว่า ถ้าพูดแบบนี้ก็เท่ากับพล.อ.ประวิตรยังอยากจะเข้ามาแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ หากเมื่อใดที่มีความเห็นไม่ตรงกัน ทั้งนี้ ตนไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่อยากให้โต้กันไปมา เพราะอยากให้การปรองดองเดินหน้าไปได้สำเร็จ ซึ่งการจะบอกว่าทหารไม่ใช่คู่ขัดแย้งคงไม่ถนัด เพราะที่ผ่านมาแม้นักการเมืองจะทะเลาะกัน แต่เมื่อทหารเข้ามาปฏิวัติ ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในความขัดแย้งแล้ว ซึ่งฝั่งเขาอาจมองว่าไม่ขัดแย้ง แต่ความจริงเส้นทางระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตยจะไม่ขัดแย้งกันได้อย่างไร หากยังเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ปัญหาก็จะไม่มีวันจบ

“ถ้าจะให้ประเทศเดินหน้าไปได้ ไม่มีปัญหาแบบนี้ซ้ำๆ อีก ผมไม่เชื่อว่าจะมีประชาชนคนไหนอยากให้มีปฏิวัติไปเรื่อยๆ แต่ตอนนี้ท่านเป็นผู้กำหนดกติกาที่จะเดินหน้าสู่การปรองดอง อยู่ที่ว่าท่านจะเข้ามาอยู่ในกระบวนการหรือไม่ ถ้าเข้ามาก็จะเป็นผลดี เป็นประโยชน์ต่อประเทศ และทำให้ทุกอย่างเดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น ถือว่าเป็นฮีโร่ แต่ถ้าไม่ประสงค์ที่จะเข้ามาอยู่ในกระบวนการเดียวกัน ก็คงไม่มีใครไปบังคับท่านได้” นายชัยเกษมกล่าว

“ปู”อุทธรณ์ชดใช้จำนำข้าวแล้ว

ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ พร้อมทีมทนาย เดินทางมาขึ้นสืบพยานฝ่ายจำเลยนัดที่ 10 ในคดีโครงการรับจำนำข้าวด้วยสีหน้าเรียบเฉย โดยมีอดีตรัฐมนตรี แกนนำพรรคและอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย อาทิ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ พล.ต.ท. วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทร ปราการ นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราช ธานี เป็นต้น ร่วมให้กำลังใจ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 จำนวน 1 กองร้อย

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวถึงการยื่นอุทธรณ์ เพิกถอนคำสั่งต่อศาลปกครองกรณีชดใช้ค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวว่า ได้ยื่นไปแล้ว ส่วยรายละเอียดคงต้องรอก่อน ตนจะชี้แจงอีกครั้งหนึ่ง เพราะขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการยื่น

แนะ”ปยป.”ยึดเป็นธรรมต่อทุกคน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงป.ย.ป. ว่า ในเรื่องปรองดองนั้น ตนพร้อมให้การสนับสนุน ทุกอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน ที่สำคัญคือหลักของการปรองดอง ต้องยึดหลักความเป็นกลาง เป็นธรรมและเป็นไปตามกฎหมาย หรือหลักนิติธรรมที่เป็นสากล ทั้งนี้ ต้องทำทุกอย่างให้เป็นธรรมกับทุกคนแล้วทุกอย่างจะสงบสุข และก้าวข้าม ต่อไปได้

เมื่อถามว่าโครงสร้างของคณะกรรมการมีแต่ทหาร ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นคู่ขัดแย้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า หวังว่าในกลไกนี้ฝ่ายภาครัฐหรือฝ่ายทหารจะทำตัวเป็นผู้ประสานงาน หากเป็นไปได้ก็อยากให้เชิญผู้ที่เป็นกลางโดยเฉพาะนักวิชาการ หรือผู้ที่สังคมให้การยอมรับเข้ามาแลกเปลี่ยนให้ความรู้ เพื่อให้เกิดการยอมรับ ทั้งนี้เรื่องนี้ทุกคนควรให้การสนับสนุน ถ้าอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ เชื่อว่าไม่มีใครปฏิเสธหรือขัดขวาง

ย้ำต้องไม่เลือกปฏิบัติ

เมื่อถามว่าปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย เป็นเงื่อนไขหรืออุปสรรคในการสร้างปรองดองหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เราต้องอย่ามองที่ปลายทาง อยากให้มองตั้งแต่ต้นทางก่อนว่า นิยามคำว่าปรองดองต้องเป็นนิยามที่ทุกคนยอมรับ และเป็นนิยามที่ทุกคนรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรม เป็นกลาง ไม่เลือกปฏิบัติกับทุกฝ่าย เมื่อได้นิยามตรงนี้แล้วค่อยไปดูว่าขั้นตอนต่างๆ จะต้องดำเนินการอย่างไร

เมื่อถามว่ามองอย่างไรหากการปรองดองทำให้โรดแม็ปต้องขยับออกไป น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า คงเร็วไปที่จะพูดคำนี้ เพราะจริงๆ แล้วหลายอย่างก็ทำควบคู่กันไปได้ แต่อย่างน้อยขอให้มีจุดสตาร์ตหรือจุดเริ่มต้นที่ดี

“ปปช.”ชี้เทือกรับบริจาคไม่ผิด

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ตนได้รับหนังสือชี้แจงผลการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานจากป.ป.ช. ลงวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตนยื่นเรื่องร้องเรียนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ฐานะประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (กปปส.) ตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.2557 ว่าฝ่าฝืนหลักเกณฑ์รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ.2543 ประกอบพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. และแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 103 วรรคสอง กรณีรับทรัพย์สินเป็นนกหวีดทองคำและเงินสดจำนวนมากจากบุคคลทั่วไปต่างกรรมต่างวาระกัน

นายเรืองไกรกล่าวว่า ป.ป.ช.ชี้แจงกรณีนายสุเทพรับเงินสดจำนวนมากจากบุคคลทั่วไป เป็นการรับเงินบริจาคในฐานะแกนนำกปปส. ไม่ได้เป็นผู้เก็บรักษาเงินและไม่ได้เป็นผู้ดูแลบริหารจัดการ ดังนั้น นายสุเทพไม่ได้มีเจตนาหรือประสงค์จะรับไว้เป็นสิทธิของตน ส่วนกรณีรับนกหวีดทองคำจากชาวเยาวราช ป.ป.ช.ชี้แจงว่านายสุเทพรับมอบนกหวีดในฐานะแกนนำกปปส. มิได้มีเจตนาจะรับไว้เป็นสิทธิของตน อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 27 ม.ค.นี้ตนจะเดินทางไปป.ป.ช. เพื่อให้ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดต่อไป

พ่อเผย”ไผ่ ดาวดิน”ยังไม่ได้สอบ

ที่ศาลจ.ขอนแก่น นายวิบูลย์ และนางพริ้ม บุญภัทรรักษา พ่อและแม่ของนายจตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ผู้ต้องหาตามความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พร้อมด้วยทนายความ ได้มาให้กำลังใจและยื่นเรื่องคัดค้านการฝากขังผัดที่ 5 โดยมีนักกิจกรรมจำนวนมากยืนชูป้ายข้อความพร้อมรูปเหมือนของ ไผ่ ดาวดิน ข้อความว่า “สิทธิการประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานคืนอิสรภาพให้ ไผ่ ดาวดิน #FreePai” อาทิ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว แกนนำกลุ่มพลเมืองโต้กลับ นายสุลักษณ ศิวรักษ์ หรือส.ศิวรักษ์ นายรังสิมันต์ โรม แกนนำขบวนประชาธิปไตยใหม่ และสมาชิกประมาณ 30 คน ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยของทหารและตำรวจ ให้ยุติการแสดงสัญลักษณ์ดังกล่าว

นายวิบูลย์กล่าวว่า วันนี้ฝากขังผัดที่ 5 ซึ่งครอบครัวและทนายได้ยื่นคัดค้านการฝากขัง ส่วนเรื่องสอบของไผ่ที่ออกไปมั่วทั้งนั้น หน่วยงานของรัฐได้หน้าทุกคน จริงแล้วไผ่ไม่ได้สอบเมื่อวันที่ 17-18 ม.ค.ที่ผ่านมา

ปปช.ขอเวลาสอบปม”บินไทย”

เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ กล่าวกรณีบริษัท โรลส์-รอยซ์ ยอมรับต่อสำนักงานปราบปรามการทุจริตของประเทศอังกฤษว่ามีการจ่ายสินบนในหลายประเทศที่ซื้อขายเครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์รวมถึงไทยในระหว่างปี 2534-2548 ว่า ต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนและรอการตรวจสอบ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะพิจารณาว่าจะมอบให้ดำเนินการอย่างไร จะให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหรือให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ต้องดูเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว และนายกฯยังไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีบริษัท โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนแก่อดีตผู้บริหารและพนักงานบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ช่วงปี 2534-2548 วงเงิน 1,253 ล้านบาท ในการจัดซื้อเครื่องยนต์เครื่องบินโบอิ้งว่า การแสวงหาข้อเท็จจริงเบื้องต้น คงไม่สามารถกำหนดระยะเวลาได้ เพราะเป็นการประสานขอความร่วมมือด้านข้อมูลระหว่างประเทศ แต่จะเร่งรัดสรุปข้อมูลให้เร็วที่สุด คงต้องรอดูข้อมูลจากต่างประเทศ และในส่วนของการบินไทยว่าการจัดซื้อดังกล่าวมีใครเกี่ยวข้องบ้าง ป.ป.ช.จะเข้าไปตรวจสอบให้เกิดความถูกต้อง ส่วนกรณีที่กระทรวงยุติธรรม สหรัฐ ตรวจสอบพบการติดสินบนของบริษัท โรลส์-รอยซ์ ให้เจ้าหน้าที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) กว่า 385 ล้านบาทนั้น ได้ให้นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการป.ป.ช.ไปดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเบื้องต้นโดยเร็วแล้ว

กกต.ยังวุ่น-ปมตั้งเลขาใหม่

วันที่ 20 ม.ค. ที่สำนักงานกกต. นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. กล่าวกรณีประธานป.ป.ช.ปฏิเสธจะส่งกรรมการมาร่วมเป็นกรรมการตรวจสอบจริยธรรม นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กรรมการกกต. ว่า กกต.ยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งกลับมาอย่างเป็นทางการ หากได้รับจะนำเข้าที่ประชุมกกต. แต่เบื้องต้นมีองค์กรอิสระตอบรับที่จะส่งกรรมการมาแล้ว 1 คน ซึ่งจะมาทำหน้าที่เป็นประธาน แต่ยังขาดบุคคลที่จะมาทำหน้าที่เป็นกรรมการอีก 2 คน

นายศุภชัยกล่าวด้วยว่า ขณะนี้กกต.ยังไม่ได้หนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนของนายอำพล วงศ์ศิริ ที่กกต.มีมติจ้างให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการกกต. หากได้รับแจ้งหนังสือกลับมากกต.ก็จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมกกต.ต่อไป

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการกกต. กล่าวว่า วันที่ 24 ม.ค. กกต.มีประชุม และคงมีความชัดเจนต่อกรณีเรื่องร้องเรียนของนายอำพล ส่วนตัวเห็นว่ามี 2 แนวทาง คือ 1.รอการ วินิจฉัยของป.ป.ช. ที่ระบุว่าอาจใช้เวลา 2 เดือน 2.ถ้ามองว่ากกต.เป็นองค์กรที่มีมาตรฐานสูงการถูกร้องเรียน หากให้มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการกกต.จะเกิดความด่างพร้อยกับองค์กร อาจจะมีมติไม่ทำสัญญาจ้างและพิจารณาคัดเลือกเลขาธิการกกต.ใหม่จากผู้สมัคร 5 คน โดยไม่ต้องแสดงวิสัยทัศน์อีกรอบ ใช้เวลาเพียง 7-15 วัน หรืออาจเปิดรับสมัครใหม่ซึ่งก็จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุม กกต.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน