“บิ๊กตู่”ถกมินิคาบิเนตนัดแรก

เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ หรือ มินิคาบิเนตเป็นครั้งแรก โดยมีรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับกระบวนการสร้างความปรองดองตามแนวทางของรัฐบาลและคสช. รวมทั้งงบประมาณเพื่อสร้างกลไกให้สอดคล้องกับแนวทางของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)

นายอำพน กิตติอำพน ที่ปรึกษานายกฯ ในฐานะว่าที่ผอ.สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พีเอ็มดียู) กล่าวรายงานในที่ประชุมโดยสรุปโครงสร้างป.ย.ป.ทั้งหมดว่า อยู่ในขั้นตอนที่นายกฯจะลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ 4 คณะของป.ย.ป.

ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้ได้ทำงานระยะที่ 1 มาแล้ว ทั้งงานด้านฟังก์ชั่นและเชิงยุทธศาสตร์ ขณะนี้อยู่ระยะที่ 2 ที่มีป.ย.ป.เพิ่มเข้ามาด้วย เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการสร้างการรับรู้ และเพื่อเป็นแนวทาง ต่อไปในระยะที่ 3 ที่จะมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเป็นผู้ขับเคลื่อนในระยะ 5 ปีแรก รวมทั้งวางแผนต่ออีก 20 ปี โดยรัฐบาลประชาธิปไตย

ติวเข้มแผนงานป.ย.ป.

เวลา 15.30 น. ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมมินิคาบิเนต พล.อ.ประยุทธ์กล่าว มอบนโยบายและซักซ้อมความเข้าใจในการทำงานของคณะทำงานย่อยของป.ย.ป.ทั้ง 4 คณะ และสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดยมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) หัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วมว่า วันนี้เป็นการทำงานเพื่อประเทศชาติอันเป็นที่รักยิ่ง ซึ่งการทำงานแบ่งเป็น 3 ระยะของรัฐบาลและคสช. ดังนั้น ต้องสร้างการรับรู้ ให้ทุกคนได้รับทราบว่าทำงานมา 2 ระยะ

ขณะนี้ในปี 2560 อยู่ในระยะที่ 2 และเพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้นจึงต้องมีการตั้งคณะกรรมการป.ย.ป.ขึ้น โดยมีความมุ่งหมายให้เกิดความชัดเจน สร้างความเข้าใจ และเร่งขับเคลื่อน เพื่อส่งมอบการบริหารราชการแผ่นดินที่จะมาจากประชาธิปไตย ที่จะมาเมื่อไร ยังไม่ทราบ สอดรับกับการมียุทธศาสตร์ชาติอีก 5 ปีตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ สำหรับป.ย.ป.คนมักจะไม่สนใจเรื่องอื่น นอกจากเรื่องการปรองดอง เพราะมีเงื่อนไขมากมายที่ส่งผลกระทบกับประเทศ

มอบรองนายกฯขับเคลื่อน

พล.อ.ประยุทธ์แถลงภายหลังการประชุมว่า วันนี้สั่งการใน 2 ประเด็น หลังจากตนตั้งคณะทำงาน 4 คณะ ทั้งหมดจะนำนโยบายลงสู่สำนักงานพีเอ็มดียู ที่มีนายอำพน เป็นผอ. ซึ่งนำไปปฏิบัติและขับเคลื่อนสู่กลไกประชารัฐ ให้รับรู้ว่าจะเดินหน้าประเทศอย่างไร ทั้งหมดคือโครงสร้างที่ตนคิดขึ้น เพื่อบริหารในระยะที่ 2 คือการปฏิรูป ให้เกิดความชัดเจนขึ้น และเตรียมส่งต่อไปตามยุทธศาสตร์ชาติ ในรัฐบาลหน้า การประชุมครั้งนี้เชิญปลัดกระทรวงมาร่วมรับฟังนโยบายด้วย เพราะเป็นผู้ปฏิบัติงาน ถ้าเขาเข้าใจคิดและทำแบบที่เราทำมาตลอด 2 ปี จะเดินหน้าไปได้เร็วมากขึ้น

คสช.ไม่ได้ทำเพียงคนเดียว แต่เป็นหัว เป็นคนคิดให้ โดยสรุปตนเป็นประธานคณะกรรมการทั้ง 4 คณะ แต่มอบให้รองนายกฯ ทำหน้าที่ขับเคลื่อน เพราะตนทำคนเดียวคงไม่ไหว โดยจะให้นโยบายเองทั้งหมด ทั้งนี้ รองนายกฯ จะสั่งงานโดยมีอนุกรรมการอยู่ข้างล่างเพื่อลดแรงกดดัน ไม่เช่นนั้นทุกคน ก็กดดันพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม อยู่อย่างนี้ ดังนั้น คณะกรรมการปรองดองจะมีคณะกรรมการฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายการเมือง ฝ่ายเศรษฐกิจสังคม ซึ่งเขาจะเอาสิ่งเหล่านี้มาคุย อันไหนที่ตรงกันจะเสนอขึ้นมาเพื่อมาคุยต่อ

ย้ำไม่งัดมาตรา 44 นิรโทษ

“ฝ่ายกฎหมายจะดูเรื่องคดีที่อ้างว่าไม่เป็นธรรมมีคดีอะไรบ้างและสร้างการรับรู้กับสังคมให้ได้ ส่วนจะทำอย่างไรก็ว่ากันอีกที ซึ่งไม่ใช่การนิรโทษกรรม ทุกคนต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้ก่อน ต้องเข้าสู่การพิจารณาของศาล เมื่อศาลตัดสินและรับโทษแล้วพอสมควร มันจะลดโทษ นิรโทษกรรมในแนวทางอย่างนี้มากกว่า อย่ามองว่าอยู่ดีๆ ยังไม่เข้ากระบวนการแล้วให้ออกคำสั่งมาตรา 44 นิรโทษ ผมทำไม่ได้ ต้องถามประชาชนด้วย” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การทำงานปรองดองสำคัญที่สุดเพราะจะทำให้ 3 คณะแรกทำงานได้ ไม่อย่างนั้นทางนี้ก็ตีกันอยู่แบบนี้ มีฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายการเมือง ฝ่ายเศรษฐกิจทุกคนอยากจะพูดหมด นักวิชาการ สื่อก็มี ไปคุยกันแล้วหาข้อยุตินำสู่การปฏิบัติ อย่าไปตีกัน ตนเห็นเถียงกันมา 2 อาทิตย์พาดหัว ทุกวัน พล.อ.ประวิตร ก็หงุดหงิดทุกวันเพราะถามคำถามที่ยังไม่เกิด ยืนยันว่าเราเพียงแต่สร้างความเข้มแข็งในอนาคต เพื่อส่งต่อรัฐบาลหน้า

ลั่นไม่แอบดีลกับใคร

“ผมไม่ได้มองว่าจะมีการดีล มันจะดีล กับใคร ใครจะมาดีลกับผม แล้วดีลเรื่องอะไร ยืนยันด้วยคำสัตย์ ไม่ได้ดีลกับใคร อะไรที่พูดกันไปมาในสื่อ ถ้าผมไม่ได้พูดเรื่องนั้น จากปากของผมจะไม่เกิดขึ้น เพราะผมเป็น คนตัดสินใจ มันพูดกันไปมาว่าการสร้างปรองดองขึ้นเพื่อวางอนาคตทางการเมืองของผมหรือของรัฐบาล มันไม่ใช่ของผม วันหน้าจะเกิดอะไรก็เรื่องวันหน้า ผมไม่ต้องการ ไปสู่เรื่องการเมือง การเมืองคือการเมือง ผมอยู่ของผม จะทำงานตรงนี้ให้เสร็จโดยเร็ว อย่าเอามาพันกันเลย ถ้ายังตีกันอยู่เรื่องปรองดองมันทำอย่างอื่นได้หมดเพราะทุกคนจะลุกมาพูดโน่นพูดนี่ และไปกันใหญ่โต” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าแนวคิดปรองดองของ นายกฯ ใช้อะไรเป็นตัวนำ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ปรองดองคือทุกคนต้องอยู่อย่างสงบสันติ และสนับสนุนการเดินหน้าของทุกรัฐบาล ไม่ใช่เอาการเมืองมานำแล้วขัดแย้งกันอย่างนี้ ตอนนี้ทุกคนเข้าใจว่าการปรองดองต้องพูดเรื่องคดีต่างๆ นั้น มันไม่ใช่ เรื่องคดีต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและต้องแก้ทางนั้น ซึ่งคณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมายต้องไปหามาเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ใครมีคดีต้องกลับมาสู้คดี ถ้าไม่สู้ก็ไปต่อไม่ได้และตนยกโทษให้ไม่ได้ ถ้าอยากจะยกโทษให้ ให้ไปรัฐบาลต่อไปตนไม่ทำ

เชิญประเวศ-คณิตนั่งที่ปรึกษาป้อม

ต่อข้อถามว่าถ้าคุยแล้วนักการเมืองยังกลับมาเหมือนเดิม นายกฯ กล่าวว่า ไปถาม นักการเมือง ตนเป็นคนจัด เขาเป็นคนคุย เมื่อถามว่าจะต้องมีกฎหมายหรือไม่ หากไม่ทำตามสัตยาบัน นายกฯ กล่าวว่า กฎหมายแบบนี้ มันบังคับได้หรือ กฎหมายอาญายังบังคับไม่ได้เลย ตีกันยิงกันอยู่หน้าประตู จะให้ออกกฎหมายว่านักการเมืองจะต้องอย่างนั้นอย่างนี้หรือ แค่รัฐธรรมนูญออกมายังจะตีกันตายอยู่ ไม่ยอมรับสักอย่าง อยากกลับมาก็ทำแค่ธรรมาภิบาลให้ได้ ซื่อสัตย์ สุจริต บริหารงานเชิงยุทธศาสตร์ ให้มีอนาคต สร้างความยั่งยืน ซึ่งไม่เห็นต้องออกเป็นกฎหมายเลย

นายกฯ กล่าวว่า คณะกรรมการปรองดองมีหลายคณะ ซึ่งได้เชิญนพ.ประเวศ วะสี นายคณิต ณ นคร มาเป็นที่ปรึกษาพล.อ. ประวิตร ในฐานะรองประธานคณะกรรมการสร้างความปรองดอง ตนก็ถอดเนื้อหามาทั้งหมดว่ามีกี่ข้อ มีตรงกันบ้างไม่ตรงกันบ้าง อันไหนตรงก็ทำกัน อันไหนไม่ตรงก็เอาไว้ก่อน แต่ทั้งหมดไม่ตรงกับนักการเมือง เพราะเขามีธงของเขา แต่ตนไม่มีธง เราต้องปรองดองเพื่อให้บริหารได้ เมื่อถามว่าขณะนี้ได้รายชื่อคณะกรรมการครบหมดแล้วใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ต้องไปใส่อีก เพราะมีหลายคณะ หาคนที่เหมาะสมแล้วกัน อยากเสนอใครก็เสนอเข้ามา เดี๋ยวจะพิจารณาให้

โชว์ผังบริหาร-เวิร์กช็อป 1กพ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้นำข้อมูลเป็นกระดาษเอ 4 จำนวน 5 หน้า ที่เขียนสรุปเป็นแผนผังการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลระยะที่ 1 จากปัจจุบันระยะ ที่ 1/2 เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557-61 เพื่อต่อไปยังปี 2562-64 ประกอบด้วย งานปกติและงานเชิงยุทธศาตร์เพื่อบูรณาการ ไปสู่ระยะ 2 ที่ตั้งป.ย.ป. โดยโครงสร้างมีนายกฯเป็นประธาน แยกการขับเคลื่อนเป็น 4 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองประธาน และนายวิษณุ เครืองาม เป็นรองประธานอนุกรรมการ

ส่วนคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ มีพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร เป็นรองประธาน และพล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย เป็นประธานอนุกรรมการ, คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาตร์ชาติ มีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง เป็นรองประธาน และคณะกรรมการสร้างความสามัคคีปรองดอง มีพล.อ.ประวิตร เป็นประธาน สู่ระยะที่ 3 ดำเนินการโดยกรรมการยุทธศาตร์ชาติ 5-20 ปี เพื่อเตรียมส่งต่อถึงรัฐบาลประชาธิปไตย

นายอำพน กิตติอำพน ผอ.พีเอ็มดียู กล่าวว่า ในวันที่ 1 ก.พ.จะมีการจัดสัมมนาใหญ่ตามที่นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกฯเคยระบุไว้ ส่วนในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ รมว.คมนาคมรายงานความ คืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายว่าได้ไปตกลงเจรจาตามกรอบแล้ว และวันที่ 7 ก.พ.นี้จะเสนอเรื่องเข้าครม. นายกฯย้ำเรื่องรถไฟไทย-จีน ให้ไปดำเนินการมาว่าติดขัด ในเรื่องใดบ้าง ทำรายละเอียดมารายงาน ที่ประชุม

“บิ๊กป้อม”โต้ซูเอี๋ยนักการเมือง

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณี ที่มีการวิจารณ์ว่าอาจมีการต่อรองกับนักการเมือง ก็เพิ่งเห็นข่าวในหนังสือพิมพ์บางฉบับที่เขียนว่าผู้มีอำนาจในรัฐบาลไปพูดคุยประสานติดต่อกับพรรคการเมืองให้เกิดความปรองดองและเกิดรัฐบาลแห่งชาติ ตน ในฐานะทำงานด้านการสร้างความปรองดองยืนยันว่าไม่มีแน่นอน ใครจะไปทำอย่างนั้น และไม่ทราบว่าจะไปเจอกับใคร ที่ไหน อย่างไร รวมถึงไม่รู้จะไปเจอเพราะอะไร ไม่ว่าใครทั้งนั้น มาพูดอย่างนี้ทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐบาลและในภาพรวม

“อย่ามาเพ้อเจ้อ เพราะมันเลยคำว่ามโน ไปแล้ว นำไปเขียนแล้วไม่รับผิดชอบ คนที่ทำเรื่องปรองดองมาได้ฟังแบบนี้เขาจะเสียใจเพราะตั้งใจทำทุกอย่าง คนที่อ่านแล้วเชื่อก็มีเยอะ ผมไม่ได้โกรธหรือเกลียด แต่มันเป็นไปไม่ได้ ถ้ารัฐบาลจะให้ใครไปดีลกับพรรค จะไปดีลอย่างไรผมมองไม่ออก เพราะไม่รู้ว่าแต่ละคนจะแสดงความเห็นและเสนอแนะอย่างไร เขียนกันไปเรื่อยจนเกิดความเสียหายในภาพรวมของประเทศ เพราะไปเขียนในทางที่ไม่ดี ว่าคสช.ไปคุม ไม่ให้มีอิสระ มันไม่ใช่แบบนั้น” พล.อ.ประวิตรกล่าว

จวกดิสเครดิต-บั่นทอนกำลังใจ

รองนายกฯกล่าวว่า รัฐบาลนี้ตั้งใจทำให้เกิดความปรองดองและมีอิสระในการแสดงความเห็นของทุกภาคส่วน เพราะเรื่องอนาคตไม่มีใครรู้ว่าจะมีความปรองดองได้หรือไม่ แต่หากมีกติกาที่ชัดเจน ทุกฝ่ายมาร่วมกันก็อาจมีแนวทางที่เกิดขึ้นต่อไปในอนาคต เราไม่มั่นใจว่าตลอด 3 เดือนการพูดคุยนั้นจะเป็นอย่างไร เพราะทุกคนตอบรับว่าจะมา ขอท้าคนที่เห็นตนไปพูดคุยหรือดีลกับพรรคใดๆ ขอให้ออกมาพูด ผู้สื่อข่าวถามว่าอาจมีเพื่อนร่วมรุ่นหรือมีคนไปอ้างชื่อพล.อ.ประวิตรพูดคุยกับพรรคหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าไม่มีแน่นอน ตนไม่เคยใช้ใครแล้วจะมีปัญญาอะไรไปประสานกับเขาได้ทุกคน การทำแบบนี้บั่นทอนกำลังใจกัน ถือเป็นการดิสเครดิตลดความน่าเชื่อถือของสื่อด้วยกันเอง ใครเขียนข่าวมาอย่างนี้ต้องรับผิดชอบด้วย

พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงสื่อมวลชนออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและวิชาชีพสื่อสารมวลชนฉบับใหม่ว่า กฎหมายดังกล่าวเพิ่ง เริ่มต้นโดยสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แต่จะพิจารณาอย่างไรยังไม่ทราบ ตามขั้นตอนยังใช้เวลาอีกนาน อีกทั้งสมาชิกสปท.มีจำนวนมาก ต่างคนต่างคิด ต่างทำ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) จะพิจารณาและรวบรวมรายละเอียดอีกครั้ง จากนั้นต้องผ่านมายังรัฐบาลและคสช. ยืนยันคสช.ไม่เคยคิดอยากคุมสื่อ แต่ต้องการให้พูดความจริงเท่านั้น อย่าไปคิดเพ้อเจ้อหรือมโน มัน เสียหายไปหมด

สปท.ชงตั้งองค์กรกลางรับมือ

ที่รัฐสภา พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ เลขานุการคณะอนุกมธ.พิจารณาศึกษา รวบรวมความเห็น วิเคราะห์และสังเคราะห์ประเด็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองทางการเมือง ในกมธ.การเมือง สปท. ให้สัมภาษณ์ถึงผลการประชุมว่า ตนนำเสนอรายงานและข้อเสนอของคณะอนุกมธ.ชุดที่นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จัดทำ ซึ่งที่ประชุมรับฟังด้วยดี และได้ตั้งให้ตนและนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ อดีตสปช. ร่วมจัดทำรายงานข้อเสนอคู่ขนานกับเวทีการรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการปรองดอง ภายใต้ป.ย.ป.

เบื้องต้นที่ประชุมอนุกมธ.ได้เห็นชอบกับข้อเสนอแนวทางปรองดอง ใน 6 ประเด็น คือ 1.ให้สังคมรู้ถึงสาเหตุความขัดแย้ง 2.มีกระบวนการหาความจริง และเปิดเผยความจริง 3.การอำนวยความยุติธรรมและการให้อภัย แต่จะไม่ใช่เรื่องการให้อภัยโทษหรือนิรโทษกรรม 4.การเยียวยา 5.เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่าย คือประชาชน รัฐ ราชการมีส่วนร่วมต่อการขจัดความขัดแย้ง 6.มีกลไกแก้ไขความ ขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นรอบใหม่ในอนาคต คือมีองค์กรกลางเพื่อดูแล ซึ่งจะใช้แนวทางของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูป และการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) เคยเขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับของกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ส่วนจะเขียนรายละเอียดให้เป็นองค์กร เฉพาะกิจ หรือองค์กรถาวร หรือมีอำนาจหน้าที่อย่างไร เป็นประเด็นที่อนุกมธ.ต้องหารือในรายละเอียดอีกครั้ง

ปชป.ส่งหนังสือแจ้งสปท.

เวลา 11.30 น. ที่รัฐสภา นายราเมศ รัตนเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงภายหลังยื่นหนังสือถึงประธานกมธ. ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง สปท.ว่า ตนเป็นตัวแทนพรรคมายื่นหนังสือ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคได้ลงนามเมื่อวันที่ 27 ม.ค. กรณีที่ได้ขอความเห็นและข้อเสนอแนะการแก้ปัญหาขัดแย้งและการสร้างปรองดองจากพรรค

ทั้งนี้ พรรคพร้อมให้ความร่วมมือในการสร้างความปรองดอง แต่ขณะนี้มีป.ย.ป. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เตรียมการสร้างสามัคคีปรองดองโดยตรง ดังนั้น เพื่อให้การทำงานสำเร็จ เป็นเอกภาพ ป้องกันความสับสน พรรคจึงเห็นควรให้ ป.ย.ป.เป็นหน่วยงานหลักศึกษาเตรียมการสร้างสามัคคีปรองดอง เพื่อให้เกิดความชัดเจนและจุดเริ่มต้นที่ดี คสช.ควรอธิบายความจริงให้ประชาชนเข้าใจว่าก่อนวันที่ 22 พ.ค.2557 เกิดอะไรขึ้น รัฐบาลชุดก่อนมีพฤติกรรมแบบไหน เพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกันจะได้แก้ปัญหาได้ถูกต้อง ส่วนข้อมูลความเห็นและข้อเสนอแนะ ทางพรรคจะนำเสนอต่อป.ย.ป.ต่อไป

เพื่อไทยชี้ต้นตอขัดแย้ง

นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า พรรคได้จัดทำข้อมูลความเห็นและข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาและการสร้างความปรองดอง ส่งกลับไปให้นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ.การเมือง สปท. ตามที่มีจดหมายขอความเห็นมา ซึ่งประเด็นที่กมธ.ขอมาคือ 1.การแก้ปัญหาขัดแย้งและการสร้างความปรองดอง ได้แก่ ความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย เมื่อมีพรรคชนะเลือกตั้งอย่างท่วมท้น เข้ามาบริหารประเทศ ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถต่อสู้ผ่านระบบรัฐสภาได้ จึงนำไปสู่การหาทางต่อสู้นอกระบบ

หากฝ่ายที่แพ้เลือกตั้งใช้กระบวนการ ในระบบเคารพในกติกาประชาธิปไตย ทหารวางตนเป็นกลาง ไม่ก่อการรัฐประหาร ความขัดแย้งจะไม่เกิดขึ้น และมีการใช้กระบวนการทางกฎหมายที่เป็น 2 มาตรฐานขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับการยึดอำนาจและทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และใช้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือล้มการเลือกตั้ง อย่างไร้เหตุผล การไม่ยอมรับในหลักการประชาธิปไตย และมีการสร้างวาทกรรมให้เกิดความเกลียดชังต่อฝ่ายตรงข้าม เพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ส่งผลให้สังคม เกิดความเกลียดชัง เคียดแค้น

แนะทางแก้-ยึดหลักยุติธรรม

นายภูมิธรรมกล่าวว่า 2.แนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดอง ได้แก่ ต้องอาศัยความร่วมมือ การมีส่วนร่วมของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายพรรค กลุ่มการเมือง องค์กรวิชาชีพ และองค์กรเอกชน ฝ่ายผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ซึ่งกองทัพก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา รวมถึงฝ่ายและองค์อื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม และต้องหาสาเหตุของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ซึ่งในส่วนนี้ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อ ความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และสถาบัน พระปกเกล้าเคยศึกษาไว้อย่างละเอียดและครอบคลุมพอสมควรแล้ว สมควรหยิบยกมาพิจารณาประกอบควบคู่กัน

นอกจากนี้การจะสร้างความปรองดองได้ ต้องปรับแก้หรือปฏิรูปในด้านต่างๆ ที่เป็น ต้นเหตุของความไม่ปรองดอง หรือเกิดความ ขัดแย้งในสังคม ซึ่งพรรคเห็นว่าการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้สังคมเป็นธรรม มีหลักนิติธรรม ไม่มีระบบสองมาตรฐาน อีกต่อไป เป็นกลไกสำคัญที่จะแก้ปัญหา ขัดแย้งของสังคมได้ และคณะกรรมการที่จะเข้ามาดำเนินการเรื่องการปรองดองควรมีความจริงใจและตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาเรื่องความปรองดอง ควรมีองค์ประกอบจากผู้ที่มีความเป็นกลาง มีความเป็นอิสระ มีคุณธรรม และสังคมให้การยอมรับ

สปท.เดินหน้ากม.คุมสื่อ

เมื่อเวลา 12.15 น. ที่รัฐสภา กมธ.ด้านสื่อสารมวลชน สปท. นำโดยพล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานกมธ. แถลงตอบโต้ 30 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่แถลงคัดค้าน ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน โดยพล.อ.อ.คณิตกล่าวว่า ขอยืนยันว่าได้รับเรื่องมาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และครม. ที่เห็นชอบให้ตั้งสภาวิชาชีพ โดยก่อนหน้านี้มอบให้อนุกมธ.ด้านสิ่งพิมพ์ ที่มีนางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด เป็นประธานและได้หารือกับตัวแทนสื่ออย่างต่อเนื่อง มีการกินข้าวพูดคุยกันที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง จนเกิดข้อสรุปของกฎหมายดังกล่าวออกมา และนำมาเสนอกมธ.ชุดใหญ่ จนออกมาเป็นแนวทางดังกล่าว

พล.อ.อ.คณิตกล่าวว่า คาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญในเรื่องสภาองค์กรวิชาชีพสื่อ ที่มีสาระสำคัญคือกรรมการ 13 คน ประกอบด้วย ตัวแทนสื่อ 5 คน จากปลัดกระทรวง 4 คน ประกอบด้วยกระทรวงการคลัง สำนักนายกฯ กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และตัวแทนวิชาชีพจากองค์กรต่างๆ อีก 4 คน ซึ่งสามารถออกระเบียบกติกาดูแลสื่อ รวมทั้งการให้ใบอนุญาตและเพิกถอนใบอนุญาตสื่อได้ด้วย โดยจะนำเสนอต่อวิปสปท.ในวันที่ 2 ก.พ.นี้ เพื่อพิจารณาบรรจุเป็นวาระของสปท.ต่อไป

ด้านพล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกมธ.คนที่ 1 กล่าวว่า ยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้ให้อิสระสื่อ และปราศจากการแทรกแซงของรัฐ รวมทั้งยังกำกับจริยธรรมของสื่อไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนการตรวจสอบการทำงานของสื่อมีการดำเนินการตามขั้นตอนคือ 1.ตรวจสอบกันเอง 2.องค์การสื่อตรวจสอบ และหากยังไม่เป็นที่พอใจของผู้เสียหาย จึงจะไปถึงสภาองค์กรวิชาชีพสื่อ

องค์กรสื่อยันถูกปิดกั้น

นายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในฐานะประธานคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป กล่าวยืนยันว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีเป้าหมายในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานจริยธรรมของสื่อดังที่พล.อ.อ.คณิตได้แถลง องค์กรวิชาชีพสื่อขอยืนยันอีกครั้งว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อลิดรอนเสรีภาพของสื่อในการรายงานข่าวสาร และตรวจสอบอำนาจรัฐ และเสรีภาพของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

“การมีปลัดจาก 4 กระทรวงอยู่ในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติที่จะจัดตั้งขึ้นภายใต้ร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช่การถ่วงดุลอย่างที่อ้างอย่างแน่นอน แต่จะเป็นการทำให้สื่อต้องอยู่ใต้การกำกับของตัวแทนอำนาจรัฐ ปลัดกระทรวงคือข้าราชการที่ควรถูกสื่อ ตรวจสอบ แต่กฎหมายฉบับนี้กลับทำให้ปลัดกระทรวงมีอำนาจในการกำกับและลงโทษสื่อ ที่สำคัญกว่านั้น การรายงานข่าว การแสดงความเห็น และการตรวจสอบ ไม่ควรจะมีใครมากำหนดเป็นมาตรฐานว่าต้องเป็นแนวทางใดแนวทางหนึ่ง หรือต้องถูกใจคนที่มีอำนาจเท่านั้นถึงจะถูกต้อง” นายเทพชัยกล่าว

“องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 30 องค์กรจะเดินหน้ายกระดับการคัดค้านร่างพ.ร.บ.นี้ ซึ่งถือว่าเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงอย่างมากต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและตรวจสอบอำนาจรัฐ โดยจะมีการยื่นจดหมายเปิดผนึกคัดค้านร่างกฎหมายนี้ ต่อสมาชิกสปท. ผ่านนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสปท.ในวันที่ 2 ก.พ.นี้ เวลา 10.00 น. ที่อาคารรัฐสภา

“บิ๊กจิ๋ว”ล้ม-อยู่รพ.2เดือน

รายงานข่าวจากคนใกล้ชิดพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ เปิดเผยว่า พล.อ.ชวลิตได้นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ มานาน 2 เดือนแล้ว สาเหตุเกิดจากล้มในช่วงกลางคืน ซึ่งแพทย์รักษาด้วยการฉีดยาละลายลิ่มเลือดที่คั่งอยู่ในสมองที่ได้รับการกระทบกระเทือนเล็กน้อย ทำให้ปลายประสาทขา ด้านซ้ายอ่อนแรง

ทั้งนี้ พล.อ.ชวลิตอยู่ระหว่างทำกายภาพ บำบัดฝึกเดิน เพื่อเรียกกำลังขา ส่วนอื่นๆ เป็นปกติ ความจำปกติดี สามารถพูดคุยหยอกล้อคนใกล้ชิดและแพทย์ได้ตามปกติ โดยแพทย์ลงความเห็นเบื้องต้นว่าร่างกายใกล้สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ รอเพียงการฟื้นฟูกำลังขาเท่านั้น

อจ.-นศ.ยื่นศาลขอสิทธิ์ประกันไผ่

เวลา 11.00 น. ที่ศาลฎีกา ถ.แจ้งวัฒนะ นายอนุสรณ์ อุณโน คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) พร้อมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ 10 คน ยื่นหนังสือ ต่อประธานศาลฎีกา พร้อมแนบรายชื่อนักวิชา การนักศึกษาทั้งไทยและต่างประเทศ 352 รายชื่อ ขอให้ประธานศาลฎีกาและผู้พิพากษาทั่วประเทศพิจารณาเรื่องระบบนิติรัฐและการละเมิดสิทธิ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ผู้ต้องหาคดี 112 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน ทั้งที่ยื่นประกัน มาแล้วถึง 5 ครั้ง โดยมีนางปิยะนุช มนูรังสรรค์ เลขาธิการประธานศาลฎีกา และนายจีระพัฒน์ พันธุ์ทวี เลขานุการประธานศาลฎีกา รับหนังสือ

นายอนุสรณ์ระบุว่า การที่นายจตุภัทร์โพสต์รูปภาพหรือข้อความทางเฟซบุ๊ก หลังได้รับการปล่อยชั่วคราว คนส.เห็นว่าเป็นการแสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพที่ทำได้ จึงขอเรียกร้องดังนี้ 1.ในระยะยาว ถึงเวลาที่บุคลากรในองค์กรตุลาการจะต้องพิจารณาหาแนวทางแก้ไขหรือปฏิรูประบบยุติธรรมของไทย

2.ในระยะเฉพาะหน้า ขอให้ศาลทบทวนพิจารณาเพิกถอนการปล่อยชั่วคราว นายจตุภัทร์ เมื่อมีการยื่นคำร้องตามกระบวนการทางกฎหมายเพื่อคืนสิทธิ์อันพึงมีให้นายจตุภัทร์

นอกจากนี้ คนส.ยังส่งจดหมายถึงประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลภาค และหัวหน้าศาลจังหวัดทุกจังหวัดอีก 200 กว่าคน เพื่อให้นำไปประกอบการพิจารณายื่นคำร้องขอฝากขังในวันที่ 1 ก.พ.นี้ ซึ่งในวันดังกล่าวนายจตุภัทร์ จะยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวอีกครั้ง

สนช.บี้สอบสินบนซีซีทีวี

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่หนึ่ง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐเปิดเผยข้อมูลการจ่ายสินบนแก่บุคคลที่อ้างตัวเป็นที่ปรึกษาโครงการติดตั้งกล้องซีซีทีวีภายในรัฐสภาว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อปี 2549 อยู่ในความ รับผิดชอบของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ไม่เกี่ยวกับฝ่ายบริหารชุดปัจจุบัน ตนในฐานะรับผิดชอบงานด้านความปลอดภัย จึงมีคำสั่งให้คณะกรรมการกองอาคารระบบและความปลอดภัย ของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เชิญผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ในช่วงดังกล่าวมาชี้แจงข้อมูล จากนั้นจะทำรายงานสรุปส่งประธานสนช. พิจารณา

การสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตเป็นอำนาจของนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เบื้องต้นจะดำเนินการให้เกิดความชัดเจนกับคดีทุจริตที่ไม่มีอายุความทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ หากเกี่ยวโยงกับข้าราชการประจำที่ยังทำหน้าที่อยู่ จะเกี่ยวกับความผิดทางวินัย แต่คนที่เกษียณอายุไปแล้วก็ต้องดำเนินการทางกฎหมาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน