เลือกตั้ง 2562 โดย คาดเชือก คาถาพัน

เลือกตั้ง 2562 โดย คาดเชือก คาถาพัน – ปีนี้จะมีการเลือกตั้ง

ถึงวันนี้ถนนทุกสาย ความสนใจแทบทุกเส้นก็อยู่ที่การเลือกตั้ง

ตั้งแต่พรรคไหน ใครจะชนะการเลือกตั้ง

ไปจนกระทั่งใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

และสุดท้ายคือแล้วประเทศชาติจะไปต่อท่าไหน

การเลือกตั้งจึงเป็นทั้งตัวคำตอบ

และเป็นประตูที่เปิดไปสู่สถานการณ์ใหม่

อันที่จริงการเลือกตั้งก็สำคัญกับสังคมไทยมาทุกครั้ง

แต่ที่การเลือกตั้งหนนี้เหมือนจะได้รับความสนใจมากกว่าการเลือกตั้งหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา

น่าจะเพราะความประจวบกันของหลายเหตุการณ์

อย่างแรกเลยก็คือ ประเทศนี้ว่างเว้นจากการเลือกตั้งรวมๆ แล้วก็ 8 ปี

คนที่ศรัทธาในประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเคยเลือกตั้งมาแล้วหรือไม่ ก็อยากเลือกตั้ง

คนที่เบื่อหน่ายกับสถานการณ์ 4-5 ปีที่ผ่านมา ก็คิดว่าการเลือกตั้งน่าจะเป็นทางเลือกใหม่

นานาอารยประเทศที่เราไปโฆษณาชวนเชื่อหรือสัญญิงสัญญากับเขาไว้ว่ามีเลือกตั้งแน่มาตั้งแต่ปี 2559-2560-2561

ก็จับตาดูอยู่ว่า จมูกของเราจะยาวขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่

เมื่อรวมๆ กันเข้ามาแล้ว แม้แต่คนที่ไม่อยากเลือกตั้งมากที่สุด

ก็ยังต้องเดินเข้าสู่สนามเลือกตั้ง

ประการต่อมา เหมือนที่หลายท่านพูดเอาไว้หลายครั้งแล้วว่า

นี่จะเป็นการตัดสินอนาคตของประเทศ ว่าคนไทยส่วนใหญ่จะเลือกแบบไหน

ระหว่างอำนาจนิยมกับประชาธิปไตย

ใคร พรรคไหน มีจุดยืนอย่างไรเห็นจะไม่ต้องอธิบาย

แต่ยิ่งใกล้เลือกตั้งเข้าไปเท่าไหร่ ประเด็นนี้จะยิ่งได้รับการตอกย้ำให้ชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น

และเชื่อว่าจะมีน้ำหนักไม่น้อยต่อการเลือก-การตัดสินใจของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง

จริงหรือไม่ ผลการเลือกตั้งจะเป็นคำตอบ

อีกประการหนึ่ง

การเลือกตั้งหนนี้เกิดขึ้นในภาวะที่ประชาชนจำนวนไม่น้อย “จะอดตายกันอยู่แล้ว”

อันนี้ว่าตามคำบอกเล่าของคนในรัฐบาลซึ่งมีส่วนร่วมในการตั้งพรรคการเมือง เพื่อสร้าง “ความต่อเนื่อง” (ก็สำนวนของท่านอีกเช่นกัน แต่อีกฝ่ายเขาเรียกสืบทอดอำนาจ)

ปัจจัยทางเศรษฐกิจจะมีส่วนในการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนแค่ไหน

24 กุมภาพันธ์ 2562 จะรู้ผล

แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้แทบจะทุกพรรคการเมือง (แม้กระทั่งพรรคที่อยู่ข้างเดียวกันกับรัฐบาล) หยิบเรื่องนี้ขึ้นมา “ขยี้” แบบกัดไม่ปล่อย

ในขณะที่รัฐบาลเองก็ให้ “บังเอิญ” เหลือเกิน ที่ออกโปรแกรมอัดฉีดชนิดมโหฬารที่สุดในรอบ 4 ปีเอาช่วงปลายปีที่ผ่านมาถึงตอนนี้พอดี

ส่วนว่าแจกไปแล้วจะได้คะแนนมากน้อยแค่ไหน เพราะแจกไปก็ทวงบุญคุณไป หรือแจกไปก็สั่งสอนไป นั่นก็อีกเรื่อง

ตัวอย่างจากเลือกตั้งมาเลเซียเมื่อกลางปีก็มี ให้เห็น

นาจิบ ราซัก แจกเงินมโหฬารให้คนชรา ข้าราชการเกษียณ ซึ่งมีสถิติว่าเป็นกลุ่มที่ออกไปลงคะแนนเลือกตั้งมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วง อายุอื่นๆ

ยังแพ้ อันวาร์ อิบราฮิม-มหาเธร์ โมฮัมหมัด ชนิดหลุดลุ่ยไม่มีคะแนน

ไทยจะเดินรอยตามเดียวกันหรือไม่ หรือมั่นใจว่าแจกได้ฉลาดกว่า ตรงเป้ากว่า มีคะแนนกว่า

ก็น่าติดตามดู

แต่ที่น่าสนใจก็คือเหตุการณ์ที่สอดแทรกเข้ามาเมื่อประกาศเลือกตั้งพอดี

อันได้แก่การแถลงผลความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สินของ Credit Suisse ที่บอกว่าไทยก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของโลกไปแล้วเรียบร้อย

จะที่ 1 จริงหรือไม่ก็เถียงกันไป

เหลื่อมมาแต่หนไหน รัฐบาลนี้ต้องรับผิดชอบเท่าไหร่ก็ถกกันไป

แต่หัวข้อว่าด้วยความเหลื่อมล้ำนี่มัน “กระตุกหัวใจ” คนจำนวนไม่น้อย

ที่กำลังอึดอัดขัดข้องกับภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย” อยู่ก่อนแล้ว

เช่นกัน ประเด็นว่าด้วยความเหลื่อมล้ำ หรือใคร คนไหน พรรคไหนเข้าข้าง “เจ้าสัว” แล้วจะส่งผลอย่างไรต่อการเลือกตั้ง

24 กุมภา มีคำตอบให้

ที่พูดถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำขึ้นมาด้วย

เพราะได้แรงบันดาลใจจากข้อเขียนของท่านผู้รู้ (น่าจะเป็นอาจารย์เกษียร เตชะพีระ น่ะครับ-ถ้าจำผิดพลาดไปอย่างไรก็ขออภัย)

ว่าจริงๆ ในขณะที่อื่นๆ ในเมืองไทยมันเหลื่อมล้ำกันยิ่งๆ ขึ้นไปทุกวัน

ทั้งการถือครองทรัพย์สิน รายได้ การศึกษา

และโอกาส

ที่เหมือนจะเหลื่อมล้ำ (หรืออย่างน้อยก็ปลอบประโลมใจว่าเหลื่อมล้ำ) น้อยที่สุด

ก็คือการเมือง การเลือกตั้ง ในระบอบประชาธิปไตย

ที่ยืนยันสิทธิในความเป็นคนเท่ากัน

หนึ่งคนหนึ่งเสียงเท่ากัน

แต่สิบกว่าปีที่ผ่านมา แม้แต่ความภูมิใจเล็กๆ น้อยๆ นี้ก็ถูกพรากไป

อำนาจที่เคยอยู่ในมือชาวบ้าน (แม้จะแค่ 4 วินาทีอย่างที่เขาว่าๆ กัน)

ถูกดึงไปอยู่ในมือของคนไม่กี่คน

การ “คายอำนาจ” กลับคืนมาให้ประชาชน (ไม่ว่าจะเต็มใจหรือกลั้นใจก็ตามที)

จะส่งผลอย่างไรกับการตัดสินใจของคนทั่วไป

นี่ก็น่าสนใจ

และ 24 กุมภา จะเป็นคำตอบเช่นกัน

แต่ที่โชคร้ายมาก

เหมือนใครแกล้งเขียนบทให้ “ดราม่าการเมือง” เพิ่มระดับพุ่งปรี๊ดขึ้นมา

ก็คือการจัดงานระดมทุนของ 2 พรรคการเมืองที่ประกาศตัวอย่างเปิดเผย

ว่าจะสนับสนุนคณะทหารให้ครองอำนาจต่อไป

พรรคหนึ่งได้เงิน 240 ล้าน

อีกพรรคได้ 650 ล้าน

เอาแค่ประเด็นว่าใครบริจาคบ้าง

ใครอยู่เบื้องหลังของพรรคเหล่านี้

หรือที่มาของเงินถูกต้องหรือไม่ (เอาเงินภาษีชาวบ้านผันมาหนุนพรรคการเมืองส่วนตัวไหม)

ก็เหนื่อยสาหัสแล้ว

ยังเละเทะในเชิงนามธรรมอีกด้วย

เมื่อการจัดงานระดมทุนมหาศาลอย่างนี้

ถูกตราหน้าว่านี่แหละคือตัวอย่างที่ชัดเจนของ “ความเหลื่อมล้ำ” ใน สังคมไทย

พรรคที่รับการอุดหนุนจาก 1% ที่อยู่ข้างบน

จะเลือกทำงานให้ใคร

99% ที่ไม่มีปัญญาไปจ่ายค่าโต๊ะจีนให้

หรือ 1% ที่กระดิกนิ้วเมื่อไหร่ ควักเมื่อนั้น

เช่นกัน

ประเด็นนี้จะมีผลต่อการเลือกตั้งขนาดไหน

ได้เงินแต่จะเสียรังวัดเสียคะแนนเสียงหรือไม่

หรือจะไม่สนใจ เพราะขอกวาดเงินลงเก๊ะไว้ก่อน เพราะมีเรื่องที่ต้องใช้จ่ายอีกเยอะ

24 กุมภา จะชี้ขาด

และที่ลืมไม่ได้เลยก็คือ

นี่คือการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้อิทธิพลของโลกดิจิตอลและโซเชี่ยล เน็ตเวิร์กในสังคมไทย

การแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นอย่างกว้างขวาง

การจะปิดจะบัง หรือพยายามเก็บอะไรซุกไว้ในซอกในหลืบ แพลมออกมาเฉพาะส่วนที่เป็นคุณกับตัวเองนั้นทำได้ยากขึ้น

ขนาดปฏิบัติการจิตวิทยาที่จะ “บ่อนทำลาย” คู่แข่ง คู่แค้น หรือคนที่มีปัญหาในสายตาของผู้มีอำนาจ

ยังถูกโลกโซเชี่ยลตีกลับเสียจนเป๋ไปอีกทาง

พลังของโซเชี่ยลที่รัฐคุมไม่ได้ (แต่อยากนักหนาที่จะเข้าไปคุม)

จะส่งผลหรือมีอิทธิพลอย่างไรต่อการเลือกตั้ง ก็น่าสนใจ

จะเป็นแค่เครื่องมือในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเฉยๆ ให้ชาวบ้านตัดสินใจ ง่ายขึ้น

หรือล้ำไปถึงขนาดเป็นช่องทางให้ใคร-พรรคไหน เติบโตก้าวกระโดดขึ้นมา

นี่ก็น่าสนใจอีกเช่นกัน

ด้วยสารพัดปัจจัยที่ประดังเข้ามาพร้อมกันเช่นนี้เอง

เลือกตั้ง 2562 ถึงได้ทำท่าว่าจะ”มันส์”กว่าหนไหนๆ

และถึงอยากเลิกอยากเลื่อน ก็ทำไม่ได้-หรือทำแล้วมีความเสี่ยงสูง

ยังไงก็ต้องสูดลมหายใจลึกๆ แล้วเดินหน้าเข้าสู่สนามเลือกตั้งกันต่อไป

ในฐานะเจ้าของสิทธิ์ เจ้าของเสียง เจ้าของประเทศกับเขาด้วย-ถึงจะคนละเล็กละน้อย

เราๆ ท่านๆ ทั้งหลายจะใช้เลือกตั้ง 2562 ให้เป็นประโยชน์ที่สุดกับตัวเอง คนรอบข้าง และสังคมส่วนรวมอย่างไร

นี่แหละน่าสนใจที่สุด

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน