อุตตม สาวนายน เลือกตั้งครั้งนี้-ท้าทายแต่ไม่กังวล : สัมภาษณ์พิเศษ

อุตตม สาวนายน เลือกตั้งครั้งนี้-ท้าทายแต่ไม่กังวล

หมายเหตุ – สัมภาษณ์พิเศษ นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) และรมว.อุตสาหกรรม ถึงการก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมืองและการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น การเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯต่อ แนวโน้มการจัดตั้งรัฐบาลท่ามกลางสถานการณ์การเมืองแบ่งเป็น 2 ขั้วชัดเจน ปัจจัยที่จะนำไปสู่ความวุ่นวายซ้ำรอยเหตุการณ์ปี 2553 รวมถึงรัฐบาลที่เกิดขึ้นในครั้งนี้อาจเป็นแค่รัฐบาลเฉพาะกิจ

ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นนั้น พรรคพลังประชารัฐเน้นเรื่องความสงบเป็นพื้นฐาน ส่วนการตอบสนองความคาดหวังของประชาชนั้นจะเป็นเรื่องหลักประกันและสวัสดิการ ความเป็นอยู่ อาชีพ และสุขภาพ สิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตของคนไทยแก้ปัญหาหนี้ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ รวมทั้งดูแลเกษตรกร ถ้าหลักประกันไม่มี ก็ห่วงหน้าพะวงหลัง การจะปรับไปสู่ยุค 4.0 คงเป็นไปไม่ได้

ทั้งนี้ ถึงเวลาที่เศรษฐกิจไทยต้องปรับเปลี่ยนพื้นฐาน ต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นไปพร้อมกับกระจายโอกาสและกระจายความเจริญไปสู่ เมืองและชุมชน ยกระดับการทำงานภาครัฐต้องปรับกลไกทำงานยึดธรรมาภิบาล บังคับใช้กฎหมายให้เข้มแข็ง เท่าเทียม และเสมอภาคกัน รวมถึงสร้างสังคมสีขาวปลอดยาเสพติด ปลอดโรค ปลอดภัย

หลังเลือกตั้ง การเมืองอาจแบ่ง 2 ขั้ว ระหว่างพรรคเพื่อไทย ไทยรักษาชาติ กับพปชร.และพรรคที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

ประเทศไทยผ่านห้วงเวลาที่มีความเห็นแตกแยก กัน มีขั้วเดิมอยู่ พอมาถึงการเลือกตั้งครั้งนี้ อาจยังมีความรู้สึกอยู่บ้างพปชร.ซึ่งเป็นพรรคเกิดใหม่ คนก็พูดว่ามาใหม่แล้วจะเป็นอีกขั้วหนึ่งและจะสนับสนุนใครเป็นพิเศษหรือไม่ ผมคิดว่าเป็นเรื่องของการเมืองที่กำลังเริ่มขึ้นแล้วจะมีไปอย่างต่อเนื่อง เราต้องบอกว่าพปชร.เป็นตัวของตัวเอง เกิดมาด้วยความมุ่งมั่นที่ชัดเจน เสนอตัวเข้ามาที่จะรับใช้ประชาชนด้วยแนวความคิดของเรา

ในอดีตจะมีขั้วการเมืองอย่างไร เราไม่สนใจ เราจะก้าวข้ามให้ได้และจะไม่ทำตัวเป็นขั้วใด เราไม่ได้พูดว่าต้องสนับสนุนคนนั้นคนนี้มาเป็นนายกฯ สุดท้ายเมื่อถึงเวลาก่อนจะเลือกตั้ง พรรคจะยื่นกกต.และจะเปิดเผยว่าเราสนับสนุนใคร โดยจะคุยกันภายในให้เป็นไปตามกระบวนการนั้น และไม่ได้บอกว่าต้องเป็นขั้วไหนทั้งนั้น วันนี้ไม่ได้พูดจะคุยกับขั้วไหนด้วย เพราะยังไม่ถึงเวลาที่จะคุย

วันนี้ประชาชนคาดหวังว่าเลือกตั้งแล้วต้อง ไม่แตกแยกเหมือนเดิม ต้องไม่เกิดเป็นขั้วที่ทำให้เกิดความแตกแยก ความไม่เรียบร้อยในบ้านเมือง เมื่อประชาชนตัดสินแล้ว พรรคการเมืองทั้งหลายต้องเคารพ จะเอาเรื่องของตนเองขึ้นมาก่อนว่าเป็นคนละขั้ว ไม่ว่ากลุ่มเดิมหรือจะจับกันใหม่หลังเลือกตั้ง และต้องตระหนักว่าเรื่องขั้วไม่ใช่แนวทางที่ประเทศเดินต่อไปได้ อยากให้คิดร่วมกัน ถึงจะเห็นแตกต่าง แต่สุดท้ายอย่านำไปสู่ความแตกแยก

เมื่อตัวเลขผลลงคะแนนการเลือกตั้งออกมาจะ เห็นกลุ่มที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็ต้องไปตามกติกา ใครที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มนี้ เป็นฝ่ายค้านก็ต้องทำตามกติกา พรรคการเมืองต้องยอมรับกติกาโดยไม่ส่งเสริมให้เกิดขั้ว ทำให้แตกแยกทั้งในและนอกสภา นี่คือสิ่งที่คนคาดหวัง

รัฐบาลใหม่จะบริหารงานท่ามกลางความคาดหวังและแรงกดดันให้แก้ปัญหาหลายเรื่องได้นานแค่ไหน

เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับตัวรัฐบาล และดูแล้วน่าจะเป็นรัฐบาลผสมชัดเจน แต่ยังบอกไม่ได้ว่ามีใครบ้างเพราะเร็วไป และเมื่อเข้ามาแล้ว ประชาชนย่อมมีความคาดหวังมาก ทั้งความสงบและเศรษฐกิจ เพราะ 10 ปีที่ผ่านมา ทุกอย่างชะงักและมีความแตกแยกอยู่ คนก็คาดหวังว่าจะเดินหน้าอย่างไร รวมทั้งต้องทำให้มีความสงบ ห้ามแตกแยกกัน ไม่อย่างนั้นจะค้าขายและประกอบอาชีพไม่ได้ รัฐบาลใหม่จะต้องแก้ตรงนี้ รวมทั้งแก้ปัญหาที่สะสมและความเหลื่อมล้ำ ทำให้เป็นระบบ

แต่สุดท้ายจะอยู่นานแค่ไหน ต้องกลับไปดูที่พฤติกรรมว่า สังคมและประชาชนยอมรับไหม แก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างไร รัฐบาลถึงจะมีเสถียรภาพ

มีปัจจัยอื่นใดที่อาจนำไปสู่ความวุ่นวายและขัดแย้งแตกแยกหลังการเลือกตั้ง

เวลานี้ประชาชนสะท้อนว่าไม่อยากให้สิ่งพวกนี้เกิด ซึ่งพรรคการเมืองต้องรับรู้ตรงนี้ และการกระทำใดนับจากนี้จนเข้าสู่การเลือกตั้ง หลังเลือกตั้ง ไปจนถึงจัดตั้งรัฐบาล ต้องไม่ให้ความขัดแย้งเกิดขึ้น ที่หลายคนบอกว่ากังวลเพราะเป็นห่วง แล้วถ้าคุณไปทำให้เกิดในสิ่งที่เขาเป็นห่วง ถามว่าจะสมควรอยู่เป็นรัฐบาลหรือไม่

ส่วนจะมีปัจจัยอะไร ต้องรอดู เราพูดตอนนี้ ไม่ได้ โดยเฉพาะพปชร.เราเน้นย้ำก้าวข้ามความขัดแย้ง ฉะนั้น วันนี้จะไม่พูดอะไรที่ทำให้เกิดความสงสัยหรือความขัดแย้งตรงนั้น ยังไม่พูดว่าขั้วไหน หรือห่วงว่าจะเกิดอะไร เพราะอยู่ที่ตัวเรา ต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น

ปี 2553 มีบทเรียนที่ประชาชนแบ่งฝ่ายออกมาสนับสนุนพรรคที่ชื่นชอบ จนมีการชุมนุมเกิดขึ้น หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ก็มีความเป็นไปได้ รัฐบาลจะแก้ไขอย่างไร

เป็นหน้าที่รัฐบาลใหม่จะดูแลให้ประเทศเดินหน้าได้ ต้องทำให้ประเทศสงบ ไม่เล่นนอกกติกาทั้งในและนอกสภา ถ้าบอกว่ายอมรับผลเลือกตั้งที่เป็นประกาศิตประชาชน เราต้องยอมรับและปฏิบัติตัวให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและนอกสภา ไม่ไปสร้างอำนาจอะไรอย่างอื่น

คิดอย่างไรกับข้อสังเกตว่ารัฐบาลหน้าอาจเป็นเพียงรัฐบาลเฉพาะกิจ แก้ปัญหาแบบขัดตาทัพก่อนเลือกตั้งใหม่

ผมไม่คิดและไม่มีมุมมองอย่างนั้น มองว่าวันนี้คนไทยคาดหวังกับรัฐบาลใหม่พอสมควร และประเทศต้องเดินหน้า การเลือกตั้งครั้งนี้จึงไม่ใช่รัฐบาลเฉพาะกิจแน่นอน คำพูดที่บอกว่าคนจะออกมาเลือกตั้งมาก ก็สะท้อนอยู่ในตัวว่า คนสนใจว่าการเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญกับประเทศมาก

ดังนั้น คงไม่ออกมาแค่เลือกรัฐบาลเฉพาะกิจ เพราะเขาคาดหวังว่ารัฐบาลที่จะมาถึงคือตัวจริง ทำงานจริง จะอยู่ได้แค่ไหนอยู่ที่ผลงาน ส่วนที่กระแสของพปชร.มาแรงนั้น ก็น่ายินดี เราต้องทำงานหนักเพราะเป็นพรรคเกิดใหม่ ต้องทำเต็มที่ แต่จะแรงแค่ไหน อยู่ที่ประชาชนจริงๆ

● กังวลกับการบริหารจัดการกลุ่มต่างๆ ในพรรคหรืออุปสรรคที่จะเกิดขึ้นหลังเลือกตั้งและมีการตั้งรัฐบาลหรือไม่

ไม่กังวล เพราะวันนี้พรรคก่อเกิดขึ้นและมีคนมาจากหลายกลุ่ม ทั้งนักการเมืองเดิม และคนใหม่รวมทั้งตัวผม แต่เมื่อเรามารวมกลุ่มกันได้ บอกเลยว่า พปชร.ไม่มีปัญหาต่อรอง หรือเป็นมุ้งเป็นกลุ่ม เพราะเขามาด้วยใจ ไม่มีการต่อรอง เขาวิเคราะห์ด้วยตัวเองแล้วว่า พรรคเรานำเสนออย่างนี้ ต่างจากพรรคอื่นหรือพรรคสังกัดเดิมอย่างไร แล้วที่มาพรรคเราก็ชัดเจนว่าไม่ได้มาพร้อมเงื่อนไขใดๆ

สำหรับผมชัดเจนว่ามีเป้าหมายอย่างไร เดินและปฏิบัติไปตามนั้น ยอมรับว่าท้าทายแต่ไม่กังวล พร้อมสู้อยู่แล้ว ผมคิดว่าวันนี้ทุกพรรคตระหนักว่าวันนี้เป็นเวลาของการเปลี่ยนแปลง และจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อรับความท้าทายใหม่

หวังว่าทุกพรรค เมื่อเข้าสู่เลือกตั้งให้ช่วยกันดูแลตามกฎ กติกา ผลออกมาแล้วต้องยอมรับเสียงประชาชน ไม่ใช่ตีความกันเองเพราะมีกลไกติดตามผลโดยกกต. อย่าเพิ่งมองในแง่ที่จะสร้างความแตกแยกตั้งแต่เดี๋ยวนี้ อะไรที่ไม่ถูกต้องก็ชี้ขึ้นมาแล้วให้กลไกที่มีหน้าที่ทำงาน แต่จะไม่นำไปสร้างความแตกแยก มาดูว่ารัฐบาลใหม่จะทำในสิ่งที่บอกว่า รับกติกา เดินหน้าประเทศได้หรือไม่

คลิกอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน