การเมือง : ความเหลื่อมล้ำทางสังคม

การเมือง : ความเหลื่อมล้ำทางสังคมหมายเหตุ : เมื่อวันที่ 16 .. ที่หอประชุมใหญ่ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ จัดโครงการความร่วมมือทางวิชาการ โดยม.ศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมกับ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดเสวนาหัวข้อมุมมองทางการเมืองต่อความเหลื่อมล้ำทางสังคมโดยมีตัวแทนจากพรรคการเมืองเข้าร่วมอภิปราย ถึงการแก้ปัญหารวยกระจุกจนกระจาย ตลอดจนการส่งเสริมโอกาสทั้งการศึกษา การคมนาคม ภายหลังมีการ เลือกตั้งปี 2562 เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ความเหลื่อมล้ำทางสังคม

การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำต้องยอมรับความจริง 2 ข้อ คือ 1.เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง มาตรการเฉพาะหน้าไม่เพียงพอ ต้องเข้าไปแก้พื้นฐานทางเศรษฐกิจ

2.ความเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างเทคโนโลยี มีผล กระทบต่อเศรษฐกิจแบบทุนนิยม จะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำเพิ่มเติม

พรรคประชาธิปัตย์ ขอเสนอ 7 ประเด็นแก้ปัญหา 1.เราไม่อาจบริหารเศรษฐกิจแบบเดิมได้ อย่างจีดีพีที่โตแล้วบอกว่าดีนั้นไม่ใช่ ที่ผ่านมาโตจริง แต่รายได้ภาคการเกษตร ก็ลดลง ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เป้าหมายต้องเป็นการกระจาย รายได้ เปลี่ยนตัวชี้วัดเป็นชีวิตความเป็นอยู่ของคนให้ดีขึ้น การจัดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทำลายชุมชน เงินไม่ได้หมุนเวียนในชุมชน

2.การจัดสรรทรัพยากร ต้องดูความเหลื่อมล้ำ เช่น ก๊าซหุงต้มในครัวเรือนไม่จำเป็นต้องแพงกว่าราคาตลาด ที่ใช้ในภาคอื่น

3.การผูกขาดในภาคเอกชน และภาครัฐ ต้องไม่มีอำนาจเหนือตลาด ผ่านการเชื่อมโยงกฎหมายเอาเปรียบกัน ต้องมองประโยชน์ส่วนรวม

4.ระบบสวัสดิการ ประชาธิปัตย์เคยทำผ่านการประกัน รายได้ ไม่แทรกแซงตลาด ไม่สร้างปัญหาทุจริต วันนี้ต้องขยายไปยังภาคแรงงาน อุดช่องว่าง ที่นายจ้างไม่เพิ่มรายได้ ผู้สูงอายุและเด็ก ขยายระบบการออม เบี้ยยังชีพ เกิดปั๊บรับสิทธิ์เงินแสน ช่วยดูแลเด็กเล็ก

5.การศึกษาและสาธารณสุข ต้องมีความเป็นธรรมมากขึ้น ผ่านการเรียนฟรี การเข้าถึงโอกาส โรงพยาบาลเอกชนต้องถูกควบคุม ไม่เอาทรัพยากรของรัฐไปอุดหนุน

6.ปฏิรูประบบภาษี ปรับโครงสร้างที่ถดถอย เพื่อให้คนมีกำลังจ่ายมากขึ้น ไม่ต้องแบกรับภาระ 7.การบังคับใช้กฎหมาย ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การเมืองต้องไร้ผลประโยชน์ทับซ้อน ผ่านกลุ่มคนเล็กๆ ที่เข้ามามีอำนาจผูกขาด

ความเหลื่อมล้ำกับคมนาคมมีความเชื่อมโยงกัน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บอกให้ขึ้นรถไฟฟ้าได้ฟรี แต่พอไปบุรีรัมย์คนก็ถามว่าขึ้นที่ไหน ทั้งหมดจึงหมายถึงการเปิดพื้นที่ เพื่อนำไปสู่ความเจริญ จึงจำเป็นต้องลงทุน ซึ่งถนนก็มีความจำเป็นไม่แพ้ราง เมืองใหญ่ในหลายจังหวัดต้องเปิดให้มีการบริหารจัดการตนเองได้

ระบบขนส่งมวลชนต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะคุ้มทุน คำถามคือใครแบกรับในส่วนนี้ อย่างรถไฟฟ้าที่ราคาแพงต้องตกลงกับเอกชนตั้งแต่ต้นว่าให้ได้เท่าไร รัฐบริหารจัดการเอง ต้องหารายได้มา ซึ่งเราไปผลักภาระให้คนอื่นไม่ได้ จำเป็นต้องจัดเก็บภาษีส่วนสิ้นเปลืองมาอุดหนุน

ทางออกของเรื่องนี้ ต้องออกจากวังวนการเมืองแบบเผด็จการ เลือกพรรคการเมืองที่ยึดประชาธิปไตยอย่างมีความรับผิดชอบ

ศิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ

พรรคภูมิใจไทย

ความเหลื่อมล้ำทางสังคม

25 ปีที่ผ่านมา ทุกคนรวยขึ้น แต่การเติบโตมันแตกต่างกัน คนจนจากรายได้ 1 พันกว่าบาทเป็น 4 พันบาท คนรวยจาก 1 หมื่นกว่าบาทเป็น 9 หมื่นบาท นี่คือความเหลื่อมล้ำ

พรรคภูมิใจไทยเห็นว่า การแก้ไขต้องสร้างโอกาส ผ่านการศึกษาที่เท่าเทียมกัน การรับบริการ ทางสาธารณสุข ความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนสุดคือ กรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด ประชากรร้อยละ 20 อยู่กรุงเทพฯ ได้รับงบประมาณร้อยละ 80 แต่คนส่วนใหญ่ร้อยละ 80 ในต่างจังหวัด ได้รับงบประมาณร้อยละ 20

การแก้กฎหมายก็มีความจำเป็น เพราะรัฐบาลมีการผูกขาด เบียร์คือสิ่งที่เห็นได้ชัดเจน ซึ่งไม่ใช่การผูกขาดที่คุณภาพ แต่อยู่ที่ปริมาณ วิธีคิดของภาครัฐต้องเปลี่ยนใหม่ ต้องเลิกลดแลกแจกแถม แต่ปรับการเข้าถึงโอกาส จำเป็นต้องมีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง

หลายนโยบายส่วนกลางกำหนด แต่ปัญหาอยู่กับส่วนภูมิภาค ยกตัวอย่างค่าแรงขั้นต่ำ กำหนดนโยบายจากส่วนกลาง ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นทั้งประเทศ แต่ความสามารถในการแข่งขันยังต่างกัน กระจายอำนาจทางการเมืองต้องไปด้วย งบประมาณก็ต้องไปด้วย

ที่สำคัญคือความเหลื่อมล้ำของหน่วยงานราชการเอง ไม่ใช่กรมการขนส่งทางบกบอกมีใบขับขี่อัจฉริยะ แต่ตำรวจบอกไม่ได้ กฎหมายยังไม่แก้ อย่างเรื่องฝุ่น ปัจจัยสำคัญคือ การผลิตไฟฟ้า แต่โซลาร์รูฟท็อฟทำไม่ได้ เพราะติดปัญหาในบางกระทรวง

สำหรับการขนส่งรถไฟฟ้านั้นเห็นด้วย การทำโครงข่ายยังไม่เป็นระบบ วางแผนไม่ดี นี่คือปัญหาของประเทศเรา ทำอะไรได้ทำไปก่อน บางสายก็ไม่มีคนขึ้น รัฐบาลก็บอกว่าเพราะยังไม่ครบโครงข่าย หลังการเลือกตั้งจึงต้องปรับเปลี่ยน

การลงทุนของภาครัฐหลายตัว คือรายได้ไม่ได้กระจายไปให้คนไทยทั้งประเทศ การจัดซื้อทำให้เงินตราไหลออกไปต่างประเทศก็ ต้องหยุด ต้องเรียนรู้ทำเองใช้เอง ให้เงินหมุนอยู่ในระบบได้

ระบบขนส่งทั้งหมดยังคงมีปัญหาเยอะแยะ ทั้งระบบ เวลา ราคา แต่นี่คือปัญหาของคนเมือง ยังมีคนอีกมากที่ต้องการ การลงทุนมักมองความคุ้มค่าเป็นหลัก ในหลายจังหวัด ก็มีเอกชนมีความต้องการลงทุนระบบขนส่งของตัวเอง ซึ่งขาดทุนกลายเป็นภาระของเอกชน เรื่องนี้จึงอาจไม่ตอบโจทย์ในต่างจังหวัด

พรรคภูมิใจไทย จึงจะส่งเสริมให้แกร็บ ไบก์, แกร็บ แท็กซี่ ให้ถูกกฎหมาย หยุดทำให้กฎหมายเป็นภาระของประชาชน

วราวุธ ศิลปอาชา

ประธานยุทธศาสตร์และนโยบาย พรรคชาติไทยพัฒนา

ความเหลื่อมล้ำทางสังคม

แนวทางการแก้ปัญหาต้องแก้ที่สองส่วนหลักคือ 1.ภาคการเกษตร ที่แตกต่างระหว่างสังคมเมืองและสังคมชนบท เฉลี่ยรายได้ 3 แสนบาทต่อปีเท่านั้น ต้องดูแลครอบครัว 4-5 คน

หัวใจสำคัญคือทำให้ชาวไร่ชาวนามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พรรคชาติไทยพัฒนา ต้องการติดอาวุธทางปัญญา ลดต้นทุนทางการผลิต ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านแก้ปัญหา เมื่อทำได้ช่องว่างจะลดลง

2.การศึกษา คือสิ่งสำคัญที่สุด เปลี่ยนรัฐมนตรีทีหนึ่งก็เปลี่ยนนโยบาย จึงต้องทำ ให้วงการศึกษาหลุดออกจากวงวจรการเมือง จึงขอเสนอให้ตั้ง สภาร่างพ...การศึกษา โดยตัวแทนมาจากทุกองค์ประกอบของสังคม ทั้งผู้ประกอบการ ครู นักเรียน และผู้ปกครอง

ซึ่งต้องไม่ใช่คนที่มีอายุ 60 ปี อย่างกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ หัวขาวกันทุกคน บางท่านอาจอยู่ไม่ถึง 20 ปีด้วยซ้ำ ถามว่าจะร่างอนาคตแต่ทำไมไม่ถามพวกเรา

ดังนั้นพวกเราต้องร่างอนาคตของเราเอง ปัญหาทุกอย่างที่แก้ไขต้องเริ่มต้นมาจากการศึกษา

รถเมล์คือความเสมอต้นเสมอปลาย ตอนเด็กเป็นอย่างไร โตมาก็เป็นอย่างนั้น สำนักงบประมาณจ่ายเงินกับเรื่องนี้ ในลักษณะเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย จ่ายทีละขยัก

โดยรถเมล์ต้องมีหน้าที่ชัดเจนในการป้อนคนให้ระบบรถไฟฟ้า ส่วนค่าบริการต้องมีราคาให้เหมาะสมกับผู้บริโภค

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

ความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ช่องว่างระหว่างคนรวยคนจน หลายคนบอกว่า เกิดจากคนจนโง่หรือขี้เกียจเอง แต่ความเป็นจริงพ่อค้าแม่ค้าหลายคนทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวัน แรงงานทำงานเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน 6 วัน แต่ก็ยังดูแลครอบครัวไม่ได้ ต้องทำงานล่วงเวลา ทั้งที่ทำงานสัปดาห์ละ 42 ชั่วโมงแล้ว ทำไมจึงยังมีชีวิตไม่ดีขึ้น

สะท้อนว่าสังคมไทยเดินหน้ามาไกลกว่าการแก้ไขปัญหาเชิงประเด็นแล้ว

หลายโครงการในแต่ละจังหวัดคือสิ่งที่คนในพื้นที่ไม่ต้องการ ผลประโยชน์จากการพัฒนาไม่ตกกับคนในพื้นที่ ด้านการศึกษา มหาวิทยาลัย ได้รับเงินอุดหนุน 2 หมื่นล้าน แต่มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่งได้รับเพียง 1.9 พันล้านบาท นี่คือปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ทำให้สังคมไทยล้าหลัง ก้าวหน้าไม่ได้

นี่คือความอยุติธรรมที่กดทับสังคมไทยอยู่ จากกลุ่มทุนผูกขาด ทหาร และชนชั้นนำอนุรักษนิยม ที่รวมตัวกันผูกขาดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของสังคมไทยมาช้านาน ผมเห็นด้วยกับการแก้ปัญหาผ่านนโยบาย แต่ต้องไปให้ถึงโครงสร้าง

พรรคอนาคตใหม่ตั้งขึ้นมาเพื่อรวมตัวกันไปต่อรองกับกลุ่มคนน้อยนิด เพื่อดึงผลประโยชน์ในมือคนไม่กี่ตระกูลลงมา แล้ว กระจายไปให้คนรายได้น้อยทั่วประเทศ นโยบายทั้งหมดของพรรควางอยู่บนแนวคิดนี้

ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา การพัฒนาไม่เคยตัดรางรถไฟเลย ตัดแต่ถนน ซึ่งนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำ รายได้กลางไม่อาจทำให้ทุกคนซื้อรถยนต์ได้ การเดินทางคือการเข้าถึงโอกาส แต่กลับบีบให้คนใช้รถยนต์ นี่คือวิธีคิดของการพัฒนาที่ผ่านมา

ดังนั้น ต้องขับเคลื่อนระบบรางให้เป็นกระดูกสันหลัง ให้ท้องถิ่นแต่ละพื้นที่รับผิดชอบ ส่วนรถเมล์กับรถไฟฟ้าต่างกัน ให้ท้องถิ่นเป็นคนตัดสินใจ รัฐไทยตัดสินใจแทนไม่ได้ ท้องถิ่นต้องเป็นคนออกแบบระบบมาเชื่อมต่อกับระบบรางที่พัฒนา หากทำได้ดี ก็ต่อยอดได้อีก

ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลักดันเองได้ ระบบราง ต้องเริ่มจากรางคู่ก่อน ความเร็วสูงอาจช้าไปแล้ว ต้องลองมองดู hyper loop

ทั้งหมดต้องเอาอำนาจออกจากกรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมการขนส่งทางบก ที่หลายฝ่ายติดขัดการพัฒนาเหล่านี้ที่ขั้นตอนเยอะ จนหันไปหารถตู้ ซึ่งตอนแรกก็ผิดกฎหมาย ต้องเอาอำนาจจาก 2 กรมนี้ไปสู่เทศบาลให้เชื่อมโยงกันเองให้ได้

เพราะรัฐส่วนกลางไม่ยอมให้มีการกระจายอำนาจ ออกจากระบบรัฐราชการรวมศูนย์ นี่คือความจริงที่โหดร้าย เขาไม่อยากให้คนไทยฉลาด เขาอยากให้คนไทยโง่

นโยบายเชิงประเด็นจะทำไม่ได้เลย ถ้าไม่ผลักดันการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่แข็งตัวแล้วไม่ปล่อยโอกาสให้คนส่วนใหญ่เลย

..ปรีชาพล พงษ์พานิช

หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ

ความเหลื่อมล้ำทางสังคม

4-5 ปีที่ผ่านมา คำว่ารวยกระจุกจนกระจาย อยู่ในใจใครหลายคนทั้งในเมืองและต่างจังหวัด มีการอุ้มนายทุนกดหัวคนจน การประมูลโครงการใหญ่ ต่างมีรายชื่อเชื่อมโยงกับ ผู้มีอำนาจหลายคนในรัฐบาลนี้

การแก้ความเหลื่อมล้ำต้องแก้ทางเศรษฐกิจ ต้องกระจายรายได้ เหมือนรดน้ำต้องรดที่โคน แต่ตอนนี้รดที่ใบไม่ถึงโคน

เกษตรกร 25 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 3 ของประเทศต้องได้รับการช่วยเหลือก่อน ระยะใกล้พยุงราคา ระยะกลาง ระยะยาวจะนำเทคโนโลยีมาใช้ การเกษตรแม่นยำ เปิดตลาดโลกให้เป็นตลาดของไทย ทั้ง 7 พันล้านคน

ส่งเสริมกองทุนสตาร์ต อัพ สร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ที่ต้องอยู่ร่วมกับโลกที่กำลังขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี

ด้านการขนส่งมีความสำคัญทั้งรถเมล์และรถไฟฟ้า เพียงแต่ที่ผ่านมา การดูแลไม่ได้เชื่อมโยงทั้งสองระบบเข้าด้วยกัน ยอมรับว่าประเทศไทยอาจแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ยาก ด้วยข้อจำกัดทางการผังเมือง

แต่การเดินหน้าสู่ระบบโครงข่ายรถไฟฟ้าจำเป็นต้องถูกเชื่อมโยง บนราคาที่เหมาะสมตามค่าครองชีพ อย่างค่าโดยสาร บางหว้า หมอชิต 59 บาท ไปกลับ 118 บาท ผู้ใช้แรงงานขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการนี้ทันที

นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ของพรรคไทยรักษาชาติ จึงเสนอให้มีแนว ทางซื้อบริการนี้ให้กลับมาเป็นของภาครัฐ รถเมล์ก็ต้องปรับตัวขนคนจากชานเมืองไปหาสถานีรถไฟฟ้า สนับสนุนบริการ ด้วยแอพพลิเคชั่น ให้จัดตารางเวลาได้สะดวก ทำให้คุณภาพชีวิตดีมากขึ้น โอกาสทุกอย่างจะคุ้มค่ากับเวลาที่สูญเสียไป

พร้อมด้วยการเชื่อมโยงบัตรโครงข่ายการขนส่งทั้งหมด ที่ผ่านมา เพื่อไทยเคยเสนอทำราคารถไฟฟ้าเดียวกันทั้งระบบที่ 20 บาท แต่น่าเสียดายที่ช้ากว่ารถถัง แล้วสุดท้ายเรือดำน้ำก็ตามมา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน