โลกจับตา เลือกตั้ง ไทย หวังเป็นไปอย่างเสรี แม้มีประชาธิปไตยแค่ครึ่งเดียว

เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานปฏิกิริยาจากประชาคมโลกต่อประเทศไทย กรณีนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงกำหนดวัน เลือกตั้ง ส.ส.เป็นวันที่ 24 มี.ค. ภายหลังมีการประกาศพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้งส.ส.เป็นการทั่วไป 2562 ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นครั้งแรกหลังคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือคสช. นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ายึดอำนาจรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ พรรคเพื่อไทย มานานกว่า 5 ปี ถือเป็นหนึ่งในการรัฐประหารที่อยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดของไทย

ด้วยเหตุนี้เอง การประกาศพ.ร.ฎ.และการกำหนดวันเลือกตั้งดังกล่าว จึงเรียกเสียงตอบรับทันทีจากสหภาพยุโรป หรือ อียู ซึ่งได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า

การประกาศพ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง และการประกาศของกกต.ให้วันที่ 24 มี.ค.เป็นวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ นับเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญของการคืนประชาธิปไตยกลับสู่ประเทศไทย ทางการอียูมองว่าการยุติข้อหวงห้ามการเคลื่อนไหวทางด้านการเมืองที่มีขึ้นตั้งแต่เดือนที่ผ่านมา เป็นจุดเริ่มต้นไปสู่พัฒนาการทางบวก

อียูหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเลือกตั้งของไทยจะดำเนินไปอย่างสันติและโปร่งใส และเปิดโอกาสให้กับเสรีภาพการแสดงออกทางความคิดเห็น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย

โดยอียูคาดหวังให้สนามการเลือกตั้งหาเสียงในไทย เป็นการแข่งขันที่มีความน่าเชื่อถือและให้โอกาสทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนตามกระบวนการประชาธิปไตย อียูขอแสดงความพร้อมสนับสนุนให้ไทยเดินหน้ากลับสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยต่อไป

นายเปียร์ก้า ตาปีโอลา เอกอัครราชทูตอียูประจำประเทศไทย กล่าวผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า ทางการไทยกำลังก้าวไปสู่การกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย สะท้อนจากพ.ร.ฎ.และการประกาศวันเลือกตั้งของ กกต. จะคอยรอดูการหาเสียงที่มีเสรีภาพและสันติ ให้โอกาสทุกฝ่ายเท่าเทียม อียูพร้อมสนับสนุนไทยในฐานะคู่ค้าและมิตรประเทศ

มหาอำนาจจับตาเลือกตั้งไทย

ด้านปฏิกิริยาจากสหรัฐอเมริกา ชาติมหาอำนาจผู้นำด้านระบอบประชาธิปไตย แสดงความยินดีต่อการประกาศวันเลือกตั้งในไทย ผ่านแถลงการณ์ของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ซึ่งแสดงความหวังต่อผลลัพธ์การเลือกตั้งที่จะสะท้อนฉันทามติและข้อถกเถียงของประชาชนชาวไทยได้

เช่นเดียวกันกับ นายทาฮา แมคเฟอร์สัน เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย กล่าวผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า ชาวนิวซีแลนด์จะสนับสนุนและช่วยส่งเสริมการเดินหน้ากลับสู่ระบอบประชาธิปไตยของไทยต่อไป ขณะที่กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน หรือ เอพีเอชอาร์ ออกแถลงการณ์เรียกร้องคสช.ยุติข้อห้ามทุกประการที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นก่อนการเลือกตั้ง

คนเลือกแบบเดิม

ส่วนเอเอฟพีรายงานว่า นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิเคราะห์ทางการเมืองจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนั้น เป็นประชาธิปไตยเพียงครึ่งเดียว และยังมองว่ารอยร้าวความแตกแยกทางเมืองของชาวไทยอาจยังไม่หายไป

รัฐประหารที่ผ่านมานั้นเหมือนการนำพรมมาทับความแตกแยกไว้ เมื่อนำพรมออกก็จะพบว่าความแตกแยกไม่ได้หายไปไหน

ขณะที่นายคริส เบเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทย กล่าวว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ยังถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังจากชาวไทยส่วนหนึ่ง ส่วนการสัมภาษณ์ชาวไทยหลายคนที่ไม่ยอมเปิดเผยชื่อพบว่า ไม่รู้สึกตื่นเต้นกับการเลือกตั้งที่จะมาถึง เพราะมองว่าระเบียบต่างๆ ถูกกำหนดมาให้เอื้อกับฝ่ายกองทัพ

“การรัฐประหารที่ผ่านมาทำให้ประเทศชาติเสื่อมถอยลงจากแย่เป็นขั้นเลวร้ายกว่าเดิม ต่อให้มีเลือกตั้ง เชื่อว่าก็คงได้นายกฯคนเดิมมาอีกนั่นแหละ”

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน