วอยซ์ทีวี สู้ร้องศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราว สู้คำสั่งจอดำ 15 วัน ชี้ธุรกิจเสียหาย 76 ล้าน

เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 14 ก.พ. ที่สำนักงานศาลปกครอง นายประทีป คงสิบ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายข่าวและเนื้อหารายการ สถานีโทรทัศน์ วอยซ์ทีวี เข้ายื่นคำฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.), สำนักงาน กสทช. ต่อศาลปกครองกลาง กรณี กสทช.มีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตสถานีวอยซ์ทีวี 15 วัน ด้วยเหตุผลว่า

มีการนำเสนอรายงานข่าวหลายรายการมีลักษณะส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้งนั้น โดยสถานีวอยซ์ทีวีได้ยื่นคำขอต่อศาลปกครองกลางเพื่อขออุทธรณ์คำสั่งกสทช.ดังกล่าว และขอให้ศาลปกครองกลางไต่สวนฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้จอดำ เพื่อให้สถานีกลับไปดำเนินรายการได้ตามปกติ

นายประทีป กล่าวว่า เหตุผลที่จะมายื่นคำร้องในวันนี้ มี 3 ประเด็นหลัก คือ 1.การสั่งปิดสถานีวอยซ์ทีวี กระทบกับความเสียหายทางธุรกิจของบริษัทอย่างรุนแรง ซึ่งตัวเลขความเสียหายเท่าที่ประเมินไว้ประมาณ 76 ล้านบาท

โดยเป็นการประเมินจากโอกาสเรื่องโฆษณาในช่องทางต่างๆ ของทางสถานี เป็นระยะเวลา 15 วัน ที่ถูกสั่งปิด แต่การเรียกร้องค่าเสียหายตรงนี้คงจะเป็นขั้นตอนต่อไป ถ้าหากศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว วอยซ์ทีวีก็จะทำการยื่นเรียกร้องค่าเสียหายสู้ตามขั้นตอนกฎหมายปกติ

2.เราจำเป็นต้องขอความคุ้มครองชั่วคราว เพราะในช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองกำลังมีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งนั้น ประชาชนมีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับความคุ้มครอง

ดังนั้นการสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ในสถานการณ์แบบนี้จะสร้างผลกระทบต่อการรับรู้ข่าวสารของประชาชนอย่างรุนแรง เราจึงจำเป็นต้องขอความคุ้มครองชั่วคราว เพราะยิ่งในช่วงนี้ที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งแล้วทางกสทช. ควรที่จะต้องผ่อนคลายกฎที่ใช้กำกับดูแลและควบคุมสื่อ และควรจะมีบทบาทสนับสนุนเสรีภาพของสื่อด้วยซ้ำ

และ 3.เราจำเป็นต้องยื่นอุทธรณ์ เพราะในเนื้อหาประเด็น ที่ กสทช.เอามาเป็นบทลงโทษนั้น ทางสถานีมั่นใจว่าไม่ได้ทำผิด ตามประกาศคสช.ฉบับที่ 97 หรือว่า พ.ร.บ.ประกาศวิทยุ กระจายเสียงมาตรา 37

ขอเรียกร้องต่อ กสทช. และ หัวหน้าคสช.ให้ช่วยกันผลักดันยกเลิกประกาศคำสั่งคสช.ฉบับที่ 97 และ 103 โดยเฉพาะหัวหน้าคสช. ซึ่งชัดเจนแล้วว่าจะมาลงเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ เมื่อลงมาเล่นการเมืองชัดเจนเช่นนี้

ในขณะที่ยังเป็นหัวหน้าคสช.และมีประกาศควบคุมสื่ออยู่ จะทำให้การเสนอข่าวสารไม่มีเสรีภาพเพียงพอ ซึ่งการบอกว่าอยากจะให้การเลือกตั้งนำไปสู่เสรีภาพและเป็นธรรม ก็จะเป็นไปได้ยากที่จะเกิดขึ้น”นายประทีปกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมองว่าเป็นการใช้อำนาจที่ผิดปกติของกสทช.หรือไม่ นายประทีป กล่าวว่า เราคิดว่าเป็นแบบนั้น เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 35 มีการรับรองสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ดังนั้นการจะปิดสิ่งพิมพ์หรือสื่อมวลชนไม่ได้ เพราะจะเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ

ดังนั้นการที่ กสทช.นำประกาศคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 97 และ103 มาใช้ในการลงโทษนั้น ควรจะยกเลิกได้แล้ว ซึ่งที่ตนเรียกร้องเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ประโยชน์ของช่องวอยซ์ทีวี แต่เป็นประโยชน์สำหรับสื่อมวลชนทุกแขนง เพราะตั้งแต่หลังปี 2557 ที่มีการรัฐประหาร มีการใช้กฎหมายพิเศษเป็นประกาศ คือคำสั่ง คสช.ที่ 97 และ 103 มีผลบังคับใช้

ซึ่งหลังช่วงรัฐประหารใหม่ๆ เราก็เข้าใจสถานการณ์ของประเทศว่าอยู่ในบรรยากาศอย่างไรเราก็ได้พยายามปรับเนื้อหาหรือว่าวิธีการนำเสนอ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์

ทั้งนี้โดยความเห็นส่วนตัวแล้วเป็นที่สังเกตว่าที่ผ่านมาจะมีการสั่งปิดช่องวอยซ์ทีวี ในช่วงเวลาที่มีเหตุการณ์สำคัญทางประชาธิปไตย อาทิ หลังมีการรัฐประหาร ช่วงที่มีการรณรงค์ให้มีการลงประชามติผ่านร่างรัฐธรรมนูญ 2560 และล่าสุดครั้งนี้ก็คือเป็นช่วงที่ใกล้จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.

เกาะติดข่าวการเมืองข่าวเลือกตั้ง แค่กดเป็นเพื่อนกับไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน