กระทรวงการคลังเคาะค่าเสียหายจำนำข้าวยอดรวมทั้งสิ้น1.78 แสนล้าน ให้ยิ่งลักษณ์ชดใช้ 3.57 หมื่นล้าน อ้างเหตุจงใจไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้น ชงรมว.คลังเซ็นยื่นฟ้อง ด้าน “ไก่อู”ย้ำรัฐบาลยิ่งลักษณ์บริหารน้ำผิดพลาด-ใช้งบ ไม่โปร่งใส แจงทุกคดีเป็นไปตามขั้นตอน ไม่มีรวบรัด ขณะที่ป.ป.ช.ยันตั้งอนุไต่สวนปมน้ำท่วม สอบทั้ง”อภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์” โต้ไม่ได้จ้องเล่นงานแค่พรรคเพื่อไทย เร่งสอบคำร้องฝายผ่องพรรณพัฒนา-บริษัทลูก”บิ๊กติ๊ก”ที่ได้งานประมูลกองทัพภาค 3 ประธานกกต.เผยร่างกม.เลือกตั้งส.ว.เสร็จแล้ว แจงเพิ่มอำนาจกกต. เพื่อแก้โกง ยันต้องมีกกต.จังหวัด แต่จำกัดอำนาจ ด้านสปท. ชงรีเซ็ต 5 กรรมการองค์กรอิสระ แนะเขียนให้กกต.อยู่แค่จัดเลือกตั้งเสร็จ

“บิ๊กตู่”เปิดเวทีกลุ่ม77-ชูศก.พอเพียง

เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระหว่างเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 71 วันที่ 18-25 ก.ย. ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งช้ากว่าเวลาประเทศไทย 11 ชั่วโมง ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานเปิดการประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่ม 77

โดยนายกฯ กล่าวว่า หลายทศวรรษที่ผ่านมา การรีบเร่งการพัฒนาเพราะเชื่อมั่นในการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการแข่งขันแย่งชิงและแสวงประโยชน์ มุ่งเน้นความทันสมัย เป็นสังคมอุตสาหกรรม แต่ทอดทิ้งชนบท ทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมเพิ่มขึ้น และสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลง เพราะคิดกันว่าขอให้ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจก่อน แล้วจะกลับมาชดเชยคืนให้กับสังคมภายหลัง แต่ผลที่ตามมาร้ายแรงกว่านั้น เพราะตามทฤษฎีผีเสื้อ สิ่งเล็กๆ ที่ทำกันไปและไม่ได้คิดว่าจะมีผลร้ายแรง สุดท้ายอาจย้อนกลับมาส่งผลรุนแรงอย่างมากในอนาคต

“ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ปัญหามีแต่จะเพิ่มและรุนแรงขึ้น เชื่อมโยงและซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยเป็นความท้าทายร่วมกันของทุกประเทศ ซึ่งประเทศไทยประสบวิกฤตเศรษฐกิจ ต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 สึนามิเมื่อปี 2547 อุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 ทุกครั้งประเทศไทยฟื้นกลับอย่างรวดเร็วและเข้มแข็งกว่าเดิม ซึ่งไม่ใช่ความบังเอิญหรือปาฏิหาริย์ แต่เป็นเพราะมีความตั้งใจจริง มุ่งมั่น และอดทน โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และนำมาปฏิบัติได้จริง” นายกฯ กล่าว

ชม”บัน คีมุน”ผลักดันวาระโลก

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี ค.ศ.2030 ว่า ต้องอาศัยการรวมพลังกันจากทุกภาคส่วน ไทยในฐานะประธานกลุ่ม 77 จึงพยายามเป็นสะพานเชื่อมระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่มีเป้าหมายเดียวกันในการสร้างโลกที่ดีขึ้น เกิดการพัฒนาที่เชื่อมโยงและครอบคลุมอย่างแท้จริง ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ละเลยเรื่องความเป็นอิสระทางนโยบายของแต่ละประเทศ ในการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมกับบริบทของตน แต่ต้องสอดประสานทางนโยบายระหว่างประเทศต่างๆ เช่น นโยบายการค้า การเงิน การคลัง การโยกย้ายถิ่นฐาน เพื่อรักษาเสถียรภาพและส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

“ปีนี้เป็นการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เนื่องจากจะมีการสรรหาเลขาธิการยูเอ็นคนใหม่ ผมขอขอบคุณนายบัน คีมุน เลขาธิการยูเอ็นคนปัจจุบัน ที่มีบทบาทสำคัญช่วยผลักดันวาระระดับโลกต่างๆ โดยเฉพาะการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ กลุ่ม 77 ให้ความสำคัญและได้เข้าร่วมอย่างใกล้ชิดในการสรรหาเลขาธิการยูเอ็นคนใหม่ โดยสนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนามีส่วนร่วมมากขึ้นเพื่อให้การสรรหาโปร่งใส และเป็นไปตามเจตจำนงของประเทศสมาชิกยูเอ็นอย่างแท้จริง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวชื่นชมที่ประชุม ที่จะรับรองร่างปฏิญญารัฐมนตรีกลุ่ม 77 ที่สะท้อนถึงความสำเร็จในปีที่ผ่านมา และประเด็นต่างๆ ที่กลุ่ม 77 ให้ความสำคัญโดยเฉพาะการประชุม UNGA71 และการประชุม Habitat III ที่กรุงกีโต เอกวาดอร์ เชื่อว่าด้วยศักยภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน จะช่วยฝ่าฟันความท้าทายต่างๆ บรรลุตาม เป้าหมายและผลประโยชน์ของกลุ่ม 77

ลั่นสหรัฐขยายลงทุนเพิ่มในไทย

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึง ผลการเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 71 และการประชุมกลุ่ม 77 ว่า หารือในหลายประเด็น โดยได้เสนอแนวหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทั้งในเวทีการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ และที่ประชุมกลุ่ม 77 ซึ่งปัจจุบันมีหลายประเทศให้ความสนใจและนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในประเทศของตน สะท้อนว่าแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทำไว้ไม่ได้มีประโยชน์ต่อประเทศไทยเท่านั้น แต่มีประโยชน์ต่อคนทั้งโลก

นายกฯ กล่าวถึงการหารือกับภาคเอกชนสหรัฐว่า เอกชนส่วนใหญ่ลงทุนอยู่ในไทยอยู่แล้ว และเชื่อมั่นในศักยภาพเศรษฐกิจของไทย โดยพร้อมจะขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น ทั้งการร่วมทุนใช้ยางผลิตล้อเครื่องบิน ซึ่งจะเพิ่มการใช้ยางในประเทศมากขึ้น และบริษัทวอลมาร์ทสนใจสั่งซื้อสินค้าประมงจากไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากรัฐบาลแก้ปัญหาการทำประมง ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง

เผยคนไทยขอให้ประเทศปลอดภัย

นายกฯ กล่าวถึงการพบคนไทยในสหรัฐว่า น่ายินดีที่คนไทยเหล่านี้แม้บางคนจะได้สัญชาติอเมริกันแล้ว แต่ยังรักประเทศไทย รักสถาบัน โดยขอให้ตนนำพาประเทศให้ปลอดภัย บริหารราชการแผ่นดินมีธรรมา ภิบาล ลดปัญหายากจน ปัญหาทุจริตในภาครัฐ นอกจากนี้ขอให้คนไทยดูเรื่องการจัดระเบียบเมือง อย่างนครนิวยอร์ก ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวเช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร น่าจะนำแบบอย่างการจัดร้านที่ไม่ได้ตั้งในทุกจุดที่เป็น ริมของถนน แต่เลือกที่จะตั้งร้านตามมุมสี่แยก

คลังเคาะ”ปู”ชดใช้คดีข้าว 3.5 หมื่นล.

ที่อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งเรียกค่าเสียหายจำนำข้าว แถลง ผลสรุปค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ภายในงานพบปะสื่อมวลชน เนื่องในโอกาสเกษียณอายุราชการว่า คณะกรรมการฯ ได้สรุปความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯทั้งหมดอยู่ที่ 1.78 แสนล้านบาท โดยเมื่อพิจารณาความรับผิดเฉพาะตามพ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ในมาตราที่ 8 ที่ระบุว่า กรณีที่การละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่หลายคน มิให้นำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับ และเจ้าหน้าที่แต่ละคนต้องรับผิดชอบใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น ทำให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นคิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของความเสียหายทั้งหมดของโครงการ หรือคิดเป็น 3.57 หมื่นล้านบาท

“ในประเด็นที่มีการนำนโยบายรับจำนำข้าว มาเป็นนโยบายหาเสียงนั้น ไม่ได้ถือว่าเป็นความผิด เนื่องจากยังไม่มีการทำให้เกิดความเสียหาย แต่เป็นความผิดที่เกิดขึ้นในด้านผู้บังคับบัญชาในการเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งมีหน้าที่ต้องระมัดระวังความ เสียหายที่จะเกิดขึ้น ส่วนความรับผิดชอบอีก 80 เปอร์เซ็นต์นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องรับไปดำเนินการ ซึ่งต้องเร่งยื่นเรื่องดำเนินการตามกฎหมาย ภายในเดือนก.พ. 2560 โดยคดีจะมีอายุความทั้งสิ้น 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2554-2564” นายมนัสกล่าว

เหตุจงใจไม่ยับยั้งความเสียหาย

นายมนัสกล่าวว่า ทั้งนี้ ยอมรับว่าตัวเลขความเสียหายอาจจะไม่ตรงกับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดจากโครงการรับจำนำข้าว ที่มีนายจิรชัย มูลทองโร่ย เป็นประธานได้สรุปความเสียหายอยู่ที่ 2.8 แสนล้านบาท เนื่องจากกระบวนการพิจารณาความเสียหายแตกต่างกัน

นายมนัสกล่าวอีกว่า การพิจารณาความเสียหายครั้งนี้ พิจารณาความเสียหายเฉพาะ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการรับจำนำข้าว ฤดูกาลผลิต 2555/56 และ 2556/57 จากทั้งหมด 4 โครงการ เนื่องจากในช่วงที่ดำเนินโครงการนั้น มีหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งหนังสือเตือนถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชี้แนะให้ทราบถึงปัญหาและหาแนวทางป้องกันแก้ไข

นายมนัสกล่าวว่า นอกจากนี้กระทรวงการคลังได้ทำหนังสือชี้แจงและเสนอความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินโครงการว่า อาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณ 2 แสนล้านบาท และการกู้เงินถึง 4 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นหลักฐานที่แน่ชัดว่าโครงการเกิดความเสียหายแล้ว ซึ่งตามวินัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะต้องท้วงติงหรือสั่งระงับโครงการ แต่กลับไม่ดำเนินการยับยั้ง รวมถึงคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ได้ชี้แจงไปยังรัฐบาลขณะนั้นว่าโครงการรับจำนำข้าวจะทำให้เกิดความเสียหาย จากประเด็นดังกล่าว เป็นเหตุผลทำให้เข้าใจว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จงใจให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ทั้ง 2 โครงการ

ชงรมว.คลังเซ็นยื่นฟ้อง

“ในกระบวนการพิจารณาความเสียหายทั้งหมดนั้น เราได้นำสำนวนของคณะกรรมการชุดนายจิรชัย มาประกอบการพิจารณาด้วย มานั่งดูกันว่าตรงไหนใช่ ไม่ใช่ ส่วนไหนใช้ได้และเห็นสอดคล้องกันบ้าง จนนำมาเป็นข้อสรุปว่าความเสียหายอยู่ที่ 1.78 แสนล้านบาท ยืนยันว่าการพิจารณาเป็นไปตามกระบวนการ และไม่หนักใจ เพราะได้ทำอย่างที่ถูกต้องและที่สมควรแล้ว โดยเมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา เวลา 16.00 น. ผมในฐานะประธาน ได้ลงนามในหนังสือรับรองสรุปความเสียหายเรียบร้อยแล้ว ถือว่าสิ้นสุดความรับผิดชอบในส่วนของผม จากนี้จะเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย” นายมนัสกล่าว

นายมนัสกล่าวว่า ทั้งนี้ได้ส่งต่อไปยังรองปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอให้นาย อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง พิจารณาลงนามเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ขณะเดียวกันยังนำรายงานการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งส่งให้อดีตนายกฯแล้ว เมื่อน.ส. ยิ่งลักษณ์ได้รับหนังสือแล้ว หากไม่เห็นด้วยก็สามารถยื่นต่อศาลปกครอง เพื่อขอเพิกถอนยกเลิกคำสั่งดังกล่าวได้ แต่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลปกครอง หากไม่ยื่น ทางกรมบังคับคดีจะดำเนินยึดทรัพย์ต่อไป

ไก่อูย้ำรัฐบาล”ปู”ต้นเหตุน้ำท่วม

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงถูกดำเนินคดีในประเด็นการบริหารจัดการน้ำ โดยยกเหตุผลว่าการบริหารจัดการน้ำมีมาก่อนที่รัฐบาลของตนเองจะมาบริหารว่า ต้องดูข้อเท็จจริงว่าการบริหารจัดการแต่ละช่วงเป็นเช่นไร หากฝนตกน้ำท่วมตามธรรมชาติ คงไม่มีใครคิดดำเนินคดีใคร แต่ความบกพร่องในการบริหารจัดการ ด้วยการระบายน้ำที่ไร้การวางแผน เป็นเหตุให้น้ำท่วมขังเป็นเดือน ไล่ลงมาตั้งแต่ภาคเหนือจนถึงกรุงเทพฯ สร้างความเสียหายให้ประเทศมหาศาล และประเด็นการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่โปร่งใส มีข้อครหาการจัดสรรงบเพื่อบริหารจัดการน้ำต่างหาก คือเรื่องที่ต้องพิสูจน์ และนำไปสู่ การตรวจสอบเป็นคดีความ จึงอยากให้น.ส. ยิ่งลักษณ์ เข้าใจให้ตรงประเด็น

พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า คำสั่งมาตรา 44 ให้อำนาจกรมบังคับคดียึดทรัพย์ ถือเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ซึ่งสามารถดำเนินการคู่ขนานกับคดีอาญาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ และมั่นใจว่าศาลจะพิจารณาทุกอย่างโดยยุติธรรมตามหลักฐานข้อมูล ไม่มีใครหรือสิ่งใด มามีอิทธิพลหรือชี้นำการตัดสินใจของศาลได้ ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ควรระมัดระวังในการกล่าวว่าศาลจะถูกชี้นำ เพราะอาจเข้าข่ายดูหมิ่นศาล

แจงทำตามขั้นตอน-ไม่มีรวบรัด

“ยืนยันว่าคดีต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นรัฐบาลนั้น พิจารณาตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมทุกประการ ไม่ได้เร่งรัด หรือดำเนินการแตกต่างจากคดีอื่นๆ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ควรนำไปเปรียบเทียบกับคดีในอดีต ที่นักการเมืองแทบจะไม่เคยถูกดำเนินคดี เนื่องจากกฎหมายเอื้อมไปไม่ถึง จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ส่งผลให้คนผิดลอยนวลต่อไป เพราะรัฐบาลชุดนี้ต้องการทำกฎหมายให้เป็นกฎหมาย มีมาตรฐานและอำนวยความยุติธรรมให้ทุกคน มิใช่แต่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง” โฆษกรัฐบาลกล่าว

พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า อยากฝากทีมทนายความว่าควรช่วยอธิบายให้น.ส.ยิ่งลักษณ์เข้าใจถึงการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมายที่เกิดขึ้นในอดีตจนนำมาสู่คดีความในปัจจุบัน เพราะการที่ให้สัมภาษณ์ทำนอง นั่งอยู่ดีๆ ต้องมารับเรื่องคดีทั้งหมด สะท้อนถึงการขาดข้อมูลที่ควรจะได้รับ

ป.ป.ช.จ่อถกคำร้อง”ปู”ค้านสุภา

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการป.ป.ช. กล่าวถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ มอบให้ทนายความยื่นขอความเป็นธรรมต่อป.ป.ช. ขอให้เปลี่ยนตัวน.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป.ป.ช. ออกจากประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนในคดีที่เกี่ยวกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ทุกคดีว่า ได้รายงานให้ที่ประชุมป.ป.ช.ทราบแล้ว และให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเข้าข่ายการคัดค้านเปลี่ยนตัวได้หรือไม่ รวมถึงให้น.ส.สุภาได้ชี้แจงข้อเท็จจริงตามที่ถูกกล่าวหา ซึ่งที่ ประชุมป.ป.ช.จะนำข้อมูลมาพิจารณาร่วมกัน คาดว่าจะใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ จะได้ข้อสรุป ทั้งนี้ การจะเข้าข่ายเปลี่ยนตัวคณะอนุกรรมการไต่สวน ต้องเข้าองค์ประกอบตามมาตรา 46 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แต่กรณีกรรมการป.ป.ช.ไปเบิกความ ต่อศาลในคดีที่เกี่ยวกับผู้ถูกกล่าวหา ถือว่าทำตามหน้าที่ ไม่ถือเป็นเหตุอ้างว่าเป็นคู่ขัดแย้ง

แจงทั้ง 15 คดีเป็นคดีนักการเมือง

นายสรรเสริญกล่าวว่า ในการประชุมป.ป.ช.วันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา น.ส.สุภาขอถอนตัวจากประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนน.ส.ยิ่งลักษณ์ 1 คดีคือ กรณีไม่ยอมดำเนินการตามข้อเสนอป.ป.ช.ให้หน่วยงานรัฐเปิดเผยข้อมูลราคากลางจัดซื้อจัดจ้าง เนื่องจาก น.ส. สุภาเคยเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง ดูแลเรื่องราคากลางการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ แม้จะไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในคดี แต่เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย จึงขอถอนตัว

เลขาธิการป.ป.ช. กล่าวว่า ส่วนที่น.ส.สุภา ถูกตั้งเป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนคดีน.ส.ยิ่งลักษณ์ถึง 6 คดี จาก 15 คดี เนื่องจากป.ป.ช.แบ่งงานตามหน้าที่ กรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นคดีของนักการเมือง อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักไต่สวนการทุจริตภาคการเมือง ซึ่งน.ส.สุภารับผิดชอบอยู่ ดังนั้น คดีน.ส. ยิ่งลักษณ์ส่วนใหญ่จึงอยู่ในความดูแลของน.ส.สุภาเป็นหลัก ยกเว้นหากคดีนั้น มีคนอื่นที่เชี่ยวชาญมากกว่า หรือเห็นว่าน.ส.สุภา มีงานมากเกินไป อาจมอบให้กรรมการคนอื่นเป็นประธานแทนได้ ไม่ได้หมายความว่า ป.ป.ช.มอบคดีน.ส.ยิ่งลักษณ์ให้น.ส.สุภา ดูแลทุกคดี

เผยคดีน้ำท่วมสอบทั้ง”มาร์ค-ปู”

เลขาฯ ป.ป.ช. กล่าวว่า ส่วนการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนน.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีการบริหารจัดการเก็บกัก ระบายน้ำผิดพลาด เป็นเหตุให้เกิดมหาอุทกภัยปี 2554 นั้น เป็นคดีเดิมที่มีผู้ร้องเรียนมาตั้งแต่ป.ป.ช.ชุดที่แล้ว ให้ไต่สวนรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีการบริหารงานการเก็บกักและระบายน้ำผิดพลาด ในช่วงปี 2553-2554 เป็นเหตุให้เกิดมหาอุทกภัยปี 2554 ซึ่งป.ป.ช.ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนทั้งนาย อภิสิทธิ์และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่เป็นคดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เพียงคนเดียว จากนี้ป.ป.ช. จะไปไต่สวนว่า แต่ละรัฐบาล มีการบริหารจัดการเรื่องน้ำกันอย่างไร ยืนยันว่าป.ป.ช. ทำงานอย่างเป็นธรรม ไม่ได้จ้องเล่นงานเฉพาะ น.ส.ยิ่งลักษณ์หรือพรรคเพื่อไทย ตามที่กล่าวหา

เร่งสอบฝาย-บริษัทลูกบิ๊กติ๊ก

นายชัยรัตน์ ขนิษฐบุตร รองเลขาธิการป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงการร้องเรียนให้ป.ป.ช.ตรวจสอบโครงการสร้างฝายแม่ผ่องพรรณพัฒนา ที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และการที่คณะของนางผ่องพรรณ จันทร์โอชา ภริยาพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม ใช้เครื่องบินของกองทัพเดินทางไปเปิดการสร้างฝายนี้ และการที่บริษัทของลูกชายของพล.อ.ปรีชา ชนะประมูลงานก่อสร้างในกองทัพภาคที่ 3 อาจเข้าข่ายความผิดตาม ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ฯ ว่า ทุกกรณีเป็นเรื่องสำคัญที่สังคมสนใจ ซึ่งป.ป.ช.เร่งรัดตรวจสอบ ทุกเรื่อง โดยกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่ที่ป.ป.ช.ต้องดำเนินการต่อเนื่อง ส่วนพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ฯ ถ้าออกมาแล้วก็ต้องนำมาใช้กับทุกคน แต่ ขณะนี้กฎหมายดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับ ใช้สมบูรณ์ จึงไม่มีผลย้อนหลังกับการสร้างฝายดังกล่าวและบริษัทลูกชายของพล.อ.ปรีชา

กห.วอนสังคมแยกแยะปมสร้างฝาย

พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีฝายแม่ผ่องพรรณพัฒนา อ.ฝาง พังเสียหายจากฝนตกหนัก และน้ำป่าไหลหลากว่า ฝายดังกล่าวไม่ใช่ฝายคอนกรีต แต่เป็นฝายไม้ไผ่ชะลอน้ำ พอฝนตกหนักและมีน้ำป่าไหลหลากก็ต้องพัง รับกระแสน้ำไม่อยู่เป็นธรรมดา คิดว่าหน่วยงานทหารในพื้นที่จะช่วยซ่อมขึ้นมาใหม่และทำให้แข็งแรงขึ้นกว่าเดิม เพื่อรองรับปริมาณน้ำได้ อยากเข้าใจว่าฝายดังกล่าวอยู่ในการรับผิดชอบของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม อีกทั้งเป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการฝาย 7 แห่ง ซึ่งฝายนี้เป็นที่แรก และเป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมแม่บ้านสำนักงานปลัดฯ โดยศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ และชาวบ้านในพื้นที่

พล.ต.คงชีพกล่าวว่า ส่วนข้อวิจารณ์นางผ่องพรรณ จันทร์โอชา นั้นต้องฟังข้อเท็จจริงก่อน ซึ่งตนคิดว่าเป็นการโจมตีประเด็นว่าทำไมตั้งชื่อฝายแบบนี้ ไม่ได้บอกว่าฝายไม่ดี และภาพที่ออกมาดูเสมือนว่ามีกำลังพลไปดูแลนางผ่องพรรณอย่างดี ซึ่งเรื่องนี้มองเฉพาะเรื่องส่วนบุคคล จะเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมอยากให้แยกแยะ พิจารณากันเองว่าถูกต้องหรือไม่ ตนไม่อยากให้เหมารวมกัน ขอให้มองผลประโยชน์ส่วนรวมว่าประชาชนในพื้นที่ได้ประโยชน์จากการสร้างฝาย ถ้าแยกแยะระหว่างเรื่องส่วนบุคคลออกจากตัวองค์กรทุกอย่างก็จะไปได้

“เต้น”ซัดไก่อู-ไล่ไปแก้น้ำท่วม

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า หลังรัฐประหารทุกคนรู้ว่าชะตากรรมของน.ส.ยิ่งลักษณ์ คงหนักหนาสาหัส แต่ถึงขั้นจะเอาผิดเรื่องน้ำท่วม ถือว่ารังแกกันเกินไปหรือไม่ รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์เพิ่งเข้าทำหน้าที่ก็พยายามแก้ไขน้ำท่วมที่วิกฤตหนักในรอบหลายสิบปีอย่างเต็มที่ ถ้าจะดำเนินคดีเรื่องนี้ ต่อไปน้ำท่วมที่ไหนก็โดนทุกรัฐบาล

นายณัฐวุฒิกล่าวอีกว่า ส่วนที่โฆษกรัฐบาลแสดงความเห็นเรื่องนี้นั้น ควรจะทบทวนบทบาทให้ดีว่ารัฐบาลนี้เป็นคู่กรณีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ การออกหน้าวิจารณ์จะเกิดคำถามว่า รัฐบาลกับป.ป.ช.รับส่งสัญญาณกันหรือไม่ รัฐบาลควรใช้เวลาแก้ปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัดภาคเหนือตอนล่างให้เรียบร้อยโดยเร็วจะดีกว่าการใช้น้ำลายตีกินคนที่เสียเปรียบทุกประตูอยู่แล้ว เพราะไม่น่าจะเกิดประโยชน์อะไรกับประชาชน

เชื่อ”ปู”พร้อมสู้ทุกข้อกล่าวหา

“ผมเชื่อว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมต่อสู้ทุกข้อกล่าวหา แต่น่าเห็นใจที่อยู่ในสภาพซ้ายก็โดน ขวาก็โดน ทำอะไรไว้ก็ผิดทุกอย่าง คนอื่นทำแบบเดียวกันบ้างก็ถูกไปเสียทุกเรื่อง ถ้าคนเป็นถึงอดีตนายกฯ ยังต้องดิ้นรนหาความเป็นธรรม แล้วประชาชนทั่วไปจะเกิดความมั่นใจได้อย่างไร” นายณัฐวุฒิกล่าว และว่า กรณีฝ่ายผู้มีอำนาจพยายามอธิบายว่าทุกเรื่องเป็นไปตามหลักนิติธรรมนั้น ตราบใดที่ยังใช้มาตรา 44 มาเกี่ยวข้องก็อ้างหลักนิติธรรม ไม่ได้ การดำเนินการกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ มีมาตรา 44 เป็นองค์ประกอบในหลายขั้นตอน การที่น.ส.ยิ่งลักษณ์จะแสดงความรู้สึกให้สังคมรับรู้บ้าง จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้

“ศุภชัย”ยันต้องมีกกต.จว.

ที่จ.เพชรบุรี นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต.ว่า กกต.จะนำเสนอร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ในวันที่ 29 ก.ย.นี้ มีหลักการใหม่หลายเรื่อง อาทิ การสืบสวนสอบสวนที่ให้พนักงานสืบสวนสอบ สวนของกกต.เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลวิธีพิจารณากฎหมายอาญา เฉพาะการกระทำผิดทุจริตต่อการเลือกตั้งเท่านั้น โดยมีอำนาจออกหมายเรียกและหมายค้น หากพบการซื้อสิทธิ์ขายเสียงแบบซึ่งหน้าสามารถจับกุมได้

ประธาน กกต.กล่าวว่า การเพิ่มอำนาจนี้เนื่องจากหากไม่มีอำนาจเรียกผู้กระทำผิดจะทำให้คดีล่าช้า และระหว่างที่คดีล่าช้าหาก ผู้กระทำผิดเข้าสู่อำนาจทางการเมืองได้จะเป็นผู้มีอิทธิพลและเป็นอันตรายต่อพยานได้ ส่วนที่กกต.กำหนดให้ยังคงมีกกต.จังหวัดอยู่ เพราะเห็นว่ากกต.จังหวัดมีประโยชน์ต่อการทำงานของกกต.ส่วนกลาง ดูแลแบ่งเบาภาระงานในแต่ละจังหวัดได้ แต่ได้จำกัดอำนาจในร่างกฎหมายใหม่ว่าไม่ให้กกต.จังหวัดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาสำนวนและไม่ให้มีอำนาจบังคับบัญชาพนักงาน เพราะในบางจังหวัดมีความขัดแย้งระหว่างผู้อำนวยการ เลือกตั้ง(ผอ.กต.) ประจำจังหวัดกับกกต.จังหวัด

นัดถกร่างกม.เลือกตั้งส.ว.

นายศุภชัยกล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีมาตรการคัดเลือกบุคคลที่มีความสุจริต เป็น กลาง ไม่ใช่คนของนักการเมืองเข้ามาเป็นกกต.จังหวัด ซึ่งกกต.จะสืบสวนทางลับว่าบุคคลเหล่านั้นเกี่ยวพันกับนักการเมืองหรือไม่ และยังตั้งกองทุนเพื่อปราบปรามการทุจริตการเลือกตั้งโดยเฉพาะ และมีมาตรการกันบุคคลไว้เป็นพยานเพราะในคดีเลือกตั้งมักหาคนมาเป็นพยานได้น้อย ผู้ที่รับเงินจากการซื้อเสียงยังถือว่ามีความผิด แต่หากให้การที่เป็นประโยชน์ต่อการสอบสวนจะเสนอให้กัน ไว้เป็นพยาน ซึ่งส่วนนี้กรธ.ต้องระมัดระวัง เรื่องการกลั่นแกล้งเช่นกัน

ประธาน กกต.กล่าวถึงการยกร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ว่า คณะทำงานได้ยกร่างเสร็จแล้ว เตรียมนำเข้าที่ประชุม กกต.วันที่ 26 ก.ย. ซึ่งตนยังไม่เห็นรายละเอียด แต่ยอมรับว่าร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะการนับคะแนนการเลือกไขว้ใน 20 กลุ่ม เนื่องจากในรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่ามีกลุ่มใดบ้าง ซึ่งกกต.ต้องนำไปหารือกับกรธ.อีกครั้ง และการตัดสินใจขึ้นอยู่กับกรธ. และตนเห็นด้วยกับกรธ.ที่ระบุว่ากระบวนการได้มาซึ่งส.ว.ควรเป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพราะยิ่งช้าก็ยิ่งเกิดปัญหา

สปท.ชงเซ็ตซีโร่ 5 องค์กรอิสระ

พล.อ.นคร สุขประเสริฐ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) กล่าวถึงกรณีพล.อ.ฐิติวัฒน์ กำลังเอก สมาชิก สปท.วิจารณ์กกต.เข้าสู่ยุคเสื่อม ต้องมีการปฏิรูปว่า สมาชิก สปท.และ กรธ.บางคนได้คุยกันมาสักระยะว่าจำเป็นต้องเซ็ตซีโร่กกต. และอีก 4 องค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ด้วย เพื่อเริ่มต้นใหม่ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ เนื่องจากเนื้อหาที่มาของกรรมการองค์กรอิสระ โครงสร้างหน่วยงาน อำนาจหน้าที่ มีความแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญเดิม

พล.อ.นครกล่าวว่า ที่ผ่านมาเราเห็นปัญหาการไม่ยอมรับกรรมการบางองค์กร ถูกครหาว่ามีใบสั่ง ก่อนหน้านี้ก็ตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้ จนคสช.ต้องใช้มาตรา 44 ยุติปัญหา ล่าสุด กกต.ก็มีข่าวแย่งอำนาจกัน ต่อรองตำแหน่งประธาน การบริหารงบประมาณ เสนอร่างกฎหมายเพิ่มอำนาจตนเองจนเกิด ผลเสียแก่องค์กร ไม่สามารถคาดหวังให้การทำงานสำคัญมีประสิทธิภาพได้

แนะคสช.รีเซ็ตกกต.ใหม่

พล.อ.นครกล่าวว่า องค์กรอิสระจึงจำเป็นต้องเซ็ตซีโร่ โดยเฉพาะกกต. ที่รัฐธรรมนูญมีการปรับโครงสร้างแบ่งงานกันใหม่ เพิ่มกรรมการจาก 5 เป็น 7 คน หากคสช.ผลักดันเรื่องนี้ได้ ก็จะเป็นผลดีกับคสช.เอง ภาพ จะออกมาว่าคสช.ไม่ได้เลือกปฏิบัติ สองมาตรฐาน แต่ปฏิรูปทุกฝ่ายเพื่อให้บ้านเมือง ดีขึ้น ส่วนข้อห่วงกังวลว่าหากต้องตั้งกกต.ชุดใหม่อาจมีปัญหาการจัดเลือกตั้งปลายปี 2560 ก็สามารถเขียนในบทเฉพาะกาลของกฎหมายว่าด้วยกกต. กำหนดให้กกต.ชุดนี้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอีก 20 เดือน เพื่อให้จัดเลือกตั้งส.ส. และวางกระบวนการสรรหาส.ว.ให้เสร็จก่อนส่งมอบภารกิจให้กกต.ชุดใหม่ต่อไป

สมาชิก สปท.กล่าวว่า ส่วนกรรมการองค์กรอิสระอื่นสามารถมอบความเป็นธรรมให้แก่กรรมการที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งได้ ไม่นาน โดยกำหนดให้เข้ารับการสรรหาใหม่ได้ ทั้งนี้ จะสอดคล้องกับบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องไว้ว่าวาระดำรงตำแหน่งของกรรมการองค์กรอิสระที่อยู่ตอนนี้ให้เป็นตามกฎหมายลูก เชื่อว่าการจัดสัมมนาของ กรธ.ในวันที่ 28 ก.ย.นี้ จะมีการอภิปรายในประเด็นดังกล่าวอย่างกว้างขวาง

“อังคณา”แนะรัฐปฏิรูปเรือนจำ

เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่อนุสรณ์สถาน สี่แยกคอกวัว ถ.ราชดำเนินกลาง กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “สิทธิของเสรีภาพ ความทรงจำในกรงขัง” มีนาย รังสิมันต์ โรม ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ นายณัชปกร นามเมือง โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน และนางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะอนุกรรมการด้าน สิทธิพลเมือง กสม. ร่วมเสวนา

นายรังสิมันต์กล่าวว่า คำว่า เรือนจำ สังคมมองว่าเป็นสถานที่ที่ขังคนไม่ดี ซึ่งตนไม่เห็นด้วย แต่ควรมองว่าเป็นสถานที่ที่แก้ไขให้คนหรือนักโทษสามารถเข้าสู่สังคมภายนอกได้อย่างปกติ ตนเคยเข้าเรือนจำ 2 ครั้ง ตามคดีของนักโทษการเมือง ซึ่งตนไม่เห็นด้วยกรณีเจ้าหน้าที่เรือนจำถ่ายวิดีโอนักโทษขณะอาบน้ำ มีทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว การตีตรวนด้วยโซ่ ที่ข้อเท้า รวมทั้งขณะพูดคุยกับเจ้าหน้าที่เรือนจำต้องนั่งพื้น นั่งตีเสมอไม่ได้ เป็นการกระทำ ที่กดขี่ จึงอยากขอคืนความเป็นคนให้กับนักโทษในเรือนจำ

ด้านนางอังคณากล่าวว่า ปัญหาเรือนจำของไทยที่พบในปัจจุบัน คือการใช้ดุลพินิจ ที่ล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนมากกว่าที่กฎหมายกำหนด เจ้าหน้าที่หลายคนกระทำกับผู้ต้องขังด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผล มีการกลั่นแกล้งในเรือนจำ ตนมีโอกาสพูดคุยกับผู้ต้องขัง บางคดี ผู้ต้องขังเป็นแพะและจบชีวิตที่เรือนจำ บางคนต้องติดโรคร้ายมาจากเรือนจำ

“อย่างแรกที่เรือนจำควรปฏิรูปคือ การสร้างทัศนคติที่ดีของเจ้าหน้าที่ทุกกระบวนการยุติธรรม โดยไม่มองว่าคนที่เห็นต่างเป็นศัตรู รวมทั้งการลิดรอนสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะตรวจค้นตัวที่เป็นลักษณะล่วงละเมิด โดย กสม.ก็เป็นกังวลกับเรื่องเหล่านี้เพราะมีการร้องเรียนเยอะ” นางอังคณากล่าว

นางอังคณากล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดเรื่องต่างๆ เช่น การเข้าถึงสาธารณสุข ความแออัดของเรือนจำ การเข้าถึงข่าวสารต่างๆ รวมทั้งกลุ่มหลากหลายทางเพศที่ถูกจำกัดเรื่องการใช้ยาฮอร์โมน ซึ่งเราต้องมองย้อนกลับไปสู่ทัศนคติ เพราะสังคมส่วนใหญ่มองว่าสมควรแล้วที่คนไม่ดีต้องอยู่อย่างยากลำบาก นี่จึงเป็นสาเหตุหลักที่นักโทษไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตภายนอกได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญเราต้องมองถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ทุกคนพึงมี เรือนจำคุมขังพวกเขาได้เพียงร่างกาย แต่ไม่สามารถพันธนาการทางจิตใจของพวกเขาได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน