อนาคตใหม่ ฉะสนช.ดัน พ.ร.บ.ไซเบอร์ โค้งสุดท้าย จ้องสกัดฝ่ายต้าน เอื้อคสช.สืบทอดอำนาจ คาด นักลงทุนยี้ ไร้นิติรัฐ ขวางนวัตกรรม เสี่ยงถูกสอดแนม

พ.ร.บ.ไซเบอร์ / วันที่ 28 ก.พ. น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค อนาคตใหม่ กล่าวถึง ร่างพ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ ที่ สนช.เห็นชอบสมควรใช้เป็นกฎหมาย ว่า ความมั่นคงไซเบอร์คือภัยคุกคามใหม่ ที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องเผชิญ สำหรับประเทศไทยก็มีความเสี่ยงสูงพบได้จากข่าวการแฮ็กข้อมูล

บางครั้งมาจากเซิร์ฟเวอร์ในประเทศไทย แทนที่รัฐบาลคสช.จะผลักดันร่างกฎหมายเพื่อรับมือกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง กลับใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์มาอ้าง ในการออกกฎหมายที่มีเนื้อหามุ่งไปที่การควบคุมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถสอดแนม ควบคุมประชาชนในโลกดิจิทัลได้โดยไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล ซึ่งก็เป็นไปตามแนวคิดความั่นคงของรัฐแบบเผด็จการ

การผลักดันกฎหมายสำคัญเช่นนี้ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งเพียง 1 เดือน ท่ามกลางกระแสคัดค้านอย่างหนักในโลกออนไลน์ ก็ทำให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่า ต้องการใช้กฎหมายฉบับนี้เป็นเครื่องมือทางการเมือง กลั่นแกล้งฝ่ายการเมืองที่อยู่ตรงข้าม ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง เพื่อหวังนำไปสู่การสืบทอดอำนาจของพวกพ้อง ใช่หรือไม่

“อนาคตใหม่ยืนยันว่า จะต้องแก้ไขอย่างแน่นอนหลังการเลือกตั้ง เพื่อให้ตอบโจทย์ต่อการรับมือภัยคุกคามโซเบอร์อย่างแท้จริง โดยจะมีการเปิดรับฟังเสียงจากภาคประชาชน และภาคเอกชน ที่ได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงจากการค้าการลงทุนประกอบกันด้วย เพื่อทำให้อำนาจรัฐลดลง แต่การรับมือภัยไซเบอร์มีประสิทธิภาพมากขึ้น” โฆษกพรรคอนค.กล่าว

ด้านนายไกลก้อง ไวทยาการ นายทะเบียนพรรคอนาคตใหม่ ผู้รับผิดชอบนโยบายการสร้างฐานข้อมูลเปิดเพื่อความโปร่งใส กล่าวว่า สนช.ไม่ได้ฟังเสียงข้อห่วงใยในโลกออนไลน์ ที่ชาวโซเชียลแสดงความคิดเห็นคัดค้าน เพราะต่างห่วงกังวลถึงเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

จากการที่กฎหมายเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐอ้างวิกฤตเพื่อสอดแนมข้อมูลได้โดยไม่ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลจากศาล หรือการเยียวยาใดๆ สุ่มเสี่ยงจะถูกนำมาใช้กับผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ สะท้อนว่า คสช.มีเจตนาต้องการผลักดันให้ได้ ซึ่งอนาคตใหม่ และหลายพรรคการเมืองต่างเห็นตรงกันว่า เมื่อเข้าไปแล้วจะต้องมีการแก้ไข

นอกจากละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้ใช้ทั่วไปแล้ว ยังขัดขวางความก้าวหน้าทางนวัตกรรม เช่น เราอยากสร้างฐานข้อมูลเปิดเพื่อวิเคราะห์พัฒนากฎหมาย จึงสร้างปัญญาประดิษฐ์เข้าเว็บรัฐสภา เพื่อเก็บรวมข้อมูล ก็อาจถูกเจ้าหน้าที่ตีความตามกฎหมายนี่ว่าคือ การเจาะระบบ มีความผิด

“ขณะเดียวกันในทางธุรกิจ ก็ส่งผลให้นักลงทุนด้านดิจิทัล ไม่มีความมั่นใจ เนื่องจากกฎหมายเช่นนี้ ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อฐานข้อมูลพวกเขามาก โดยเฉพาะธุรกิจประเทศ data center ซึ่งที่ผ่านมาเราก็จะพบได้ว่า ผู้ให้บริการรายใหญ่อย่างเฟซบุ๊ก ก็ไปเลือกตั้งเซิร์ฟเวอร์ในประเทศเพื่อนบ้าน ด้านกุเกิ้ลเองก็มีนโยบายชัดเจนต่อการลงทุนว่า จะคำนึงถึงหลักนิติรัฐนิติธรรมเป็นสำคัญก่อนการตัดสินใจ” นายไกลก้องกล่าว

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน