“เรืองไกร อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ” จ่อร้องหัวหน้า คสช.ใช้ ม.44 สอบสถานะ “ชัช ชลวร” ยังเป็นตุลาการศาล รธน.หรือไม่

เมื่อวันที่ 10 มี.ค. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว. และอดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ เปิดเผยว่า มติของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) นั้น ตนยังติดใจเพราะเป็นคนยื่นคำร้องทักท้วงว่า บุคคลหนึ่งในองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คือนายชัช ชลวรนั้น พ้นจากตำแหน่งด้วยการลาออกมาตั้งแต่เดือน ส.ค.54 แล้วหรือไม่ แต่ไม่ได้รับการพิจารณาแต่อย่างใด

นายชัช ชลวร

ซึ่งการไม่พิจารณาดังกล่าว ไม่ได้แปลว่าคำร้องทักท้วงของตนไม่มีมูล ซึ่งกรณีของนายชัชนั้น ได้มีการลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญไปแล้วตั้งแต่เดือน ส.ค.54 และมีพระบรมราชโองการให้พ้นตำแหน่งแล้ว แต่นายชัชยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อไป โดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญชี้แจงว่านายชัชมีสองสถานะมาตั้งแต่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อเดือนพ.ค.51

นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า การชี้แจงของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมีข้อสังเกตที่อาจเป็นปัญหาตามมา ว่า นายชัชพ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญแล้ว และไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามที่ประธานวุฒิสภากราบบังคมทูลแต่อย่างใด เรื่องนี้มีข้อสังเกตจากหนังสือของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่ชี้แจงไว้พอสรุปได้ 3 กรณี คือ

1.นายชัชมีสองสถานะมาตั้งแต่แรก โดยการอ้างข้อความจากพระบรมราชโองการที่ระบุว่า “… ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งเก้า…” ซึ่งไม่ตรงกับข้อความในพระบรมราชโองการ เพราะข้อความที่ถูกต้องใช้คำว่า “ซึ่งบุคคลทั้งเก้า…”

2.หากนายชัชมีสองสถานะมาตั้งแต่แรก ก็เป็นเรื่องแปลกที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มีหนังสือขอให้ประธานวุฒิสภากราบบังคมทูลเพื่อทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายชัชพ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ และเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค.54

3.ต่อมาตามพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญ (ราชกิจจานุเบกษา หน้า 2 เล่ม 128 ตอนพิเศษ 138 ง วันที่ 17 พฤศจิกายน 2554) ซึ่งในพระบรมราชโองการหาได้มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายชัชเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค.54 แต่อย่างใด

นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า เรื่องนี้เกิดมานานแล้วตั้งแต่ส.ค.54 และมามีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 18 วรรคสอง บัญญัติว่า “ประธานศาลรัฐธรรมนูญซึ่งลาออกจากตำแหน่งให้พ้นจากตำแหน่งตุลาการด้วย” ซึ่งกรณีที่นายชัชได้พ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญด้วยการลาออกไปแล้ว จึงไม่ควรจะมีสถานะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเหลืออยู่แต่อย่างใด

ดังนั้นการที่องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ลงมติยุบพรรคไทยรักษาชาติ มีนายชัชรวมอยู่ด้วย จึงอาจไม่ชอบ แต่มติของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ไม่มีศาลอื่นมีอำนาจวินิจฉัยได้ จึงเป็นปัญหาที่ต้องร้องขอมายังหัวหน้า คสช.เพื่อใช้มาตรา 44 ดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ให้ถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย รัฐธรรมนูญ และหลักนิติธรรมต่อไป เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก

เพราะหากองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ลงมติยุบพรรคไทยรักษาชาติ มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรวมอยู่ด้วย อาจเท่ากับมีคนนอกร่วมลงมติ ก็จะทำให้มติดังกล่าวมีปัญหาตามมาทันที ทั้งนี้ ตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ที่บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและให้ผู้พิพากษาและตุลาการพ้นจากตำแหน่ง แต่ในกรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย เกษียณอายุ ตามวาระ หรือพ้นจากราชการเพราะถูกลงโทษให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ”

นายเรืองไกร กล่าวว่า ดังนั้นกรณีของนายชัชจึงต้องทำให้ชัดเจนถูกต้อง ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม ซึ่งเรื่องนี้ตนได้ทักท้วงแล้ว แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับไม่พิจารณา ดังนั้นกรณีของนายชัชที่มีปัญหาว่ามีสถานะเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยชอบหรือไม่นั้น จึงต้องร้องขอให้หัวหน้า คสช.ตรวจสอบต่อไปว่านายชัชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

ถ้ามี มีตั้งแต่เมื่อใด ถ้าไม่มี ก็ขอให้หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อพิจารณาออกคำสั่งให้นายชัช ไม่มีสถานะเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนับตั้งแต่ลาออกจากประธานศาลรัฐธรรมนูญแล้ว และมีคำสั่งให้เพิกถอนมติของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติต่อไปด้วย โดยตนจะไปยื่นหนังสือร้องด้วยตนเองที่ศูนย์รับเรื่องฯ ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 11 มี.ค.นี้ เวลา 10.00 น.


ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน