แห่แชร์ข้อมูลอีกด้าน! ซูฮก ‘นายหัวชวน หลีกภัย’ เริ่มนำพาเมืองไทยปลดหนี้ IMF ไม่ใช่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’

ชวน IMF ทักษิณ – โลกออนไลน์ได้มีการแชร์ข้อมูลนี้กันอย่างกว้างขวาง ซึ่งมีผู้กดถูกใจและแชร์หลายพันคน โดย ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Tub Dusadeepun ได้โพสต์ และเปิดเป็นสาธารณะ โดยบรรยายไว้ ดังนี้

วันที่จำ … ไม่มีวันลืม

ชวน หลีกภัย วีรบุรุษ ไอเอ็มเอฟ ตัวจริง ! ไม่ใช่ทักษิณ ครับ

ถ้าจำกันได้ช่วง วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งตอนนั้น พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ คือนายกรัฐมนตรี ที่ลดค่าเงินบาท จนประเทศย่ำแย่ ต้องกู้เงินจาก ไอเอ็มเอฟ

หลังจากนั้นคุณ ชวน หลีกภัย ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วก็ตามใช้หนี้ ที่พลเอก ชวลิต กู้มา เป็นก้อนๆทุก 3 เดือน เริ่มต้นตั้งแต่ปี 41 ใครอยู่ในยุคช่วงนั้นคงจำกันได้ … ผมจำแม่น โดนตัดเงินเดือนกันทั้งบริษัทด้วยความเต็มใจ เพื่อส่วนรวม

คุณ ชวน ออกนโยบาย ให้คนไทยช่วยกันรัดเข็มขัดและประหยัดกัน ช่วงนั้นก็ทยอยใช้หนี้ ไอเอ็มเอฟ ไปเรื่อยๆ จากเดิมทีเราต้องต้องกู้ทั้งหมด 7 ปี แต่ด้วยนโยบาย รัดเข็มขัดของคุณชวน ที่ชวนคนไทยทั้งประเทศช่วยกัน ปรากฎว่าเมื่อถึงปี 44 ถ้าจำไม่ผิด คุณชวนขอยกเลิกกู้เงิน ก้อนสุดท้ายทั้งหมด !!

ให้เหตุผลว่าเสถียรภาพทางการเงินของประเทศดีขึ้นแล้ว และก็ยังใช้หนี้ ไอเอ็มเอฟ เกือบหมดจนเหลืองวดสุดท้าย ที่จะต้องใช้ภายในปี 46

แต่พอหลังจากนั้น ทักษิณ ชินวัตร เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้มาใช้หนี้ก้อนสุดท้าย ตอนปี 46 พอดี แต่การใช้หนี้ครั้งนั้นก็ไปกู้คนอื่นมาอีกประเทศไทยจึงมีหนี้และดอกเบี้ยเพิ่ม !!
แต่ทักษิณ ก็เครมว่าตัวเองเป็น วีรบุรุษ ไอเอ็มเอฟ !! ถามหน่อยช่วงลดค่าเงินบาทพวกไหนรวยกันบ้าง !!!

ช่วงที่คุณ ชวน เป็นนายกอยู่นั้นประเทศชาติเงินเหลือเพราะ ประชาชนร่วมมือกับรัฐบาล โดยใช้ความพอเพียงจริงๆ งบประมาณแผ่นดินต่างๆ ถูกใช้อย่างประหยัดมากๆ ทหารในยุคนั้นก็ช่วยกันแทบจะไม่ซื้ออาวุธ โครงการต่างๆที่ยังไม่จำเป็นก็ชลอไว้ก่อน ไม่เว้นแม้แต่หลวงตาบัวยังลงมาช่วยทำโครงการผ้าป่าช่วยชาติเลย แล้วก็ยังถูกกล่าวหาว่าทำงานช้า บ้านเมืองไม่เจริญ แต่ทั้งๆที่ประเทศมีเงินเหลือและใช้หนี้ ไอเอ็มเอฟ หมด สิ่งเหล่านี้ชาวบ้านไม่รู้หรอก เพราะไม่ใช่ประชานิยม

สาเหตุที่ต้องเขียนให้เข้าใจ
เพราะในช่วงเศรษฐกิจ
บ้านเมืองไม่ค่อยจะดี
เลยถือโอกาส มีการเอาไปหาเสียงกัน
ที่ไม่ตรงไปตามข้อเท็จจริงนัก

อีกหนึ่งท่านที่ต้องให้เครดิตคือ คุณ ธารินทร์ เป็น รัฐมนตรี กระทรวงการคลัง ที่เป็นกำลังสำคัญ ในรัฐบาลคุณ ชวน หลีกภัย ที่พาประเทศเดินหน้าไปกับคนไทย จนรอดวิกฤตมาจนได้ในช่วงนั้น

จะเห็นได้เลยว่าถ้าคนไทยรักและร่วมมือกัน เราจะผ่านพ้นทุกวิกฤตได้ หันมานักกันและสร้างเอกภาพให้กับคนไทยด้วยกันเหมือนเมื่อก่อนที่ยังไม่แตกแยก แบ่งสีแยกข้าง แค่ทำให้ภาคประชาชนแข็งแรง แค่นี้เองประเทศเราก็จะเดินไปข้างหน้าด้วยกัน วันที่จำ …ไม่มีวันลืม

เปิดความจริง “ใคร” ปลดหนี้ IMF ?

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อมาประคองเศรษฐกิจของประเทศ ประเทศไทยไม่สามารถดำเนินนโยบายเศรษฐกิจได้อย่างเสรี จำยอมต้องดำเนินนโยบายการเงินและคลังตามเงื่อนไขที่เข้มงวดของไอเอ็มเอฟ

แม้รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จะได้รับคำทัดทานว่าอาจจะทำให้ประเทศขาดสภาพคล่องแต่ทักษิณก็เร่งรัดให้มีการใช้หนี้ไอเอ็มเอฟก่อนกำหนด ด้วยเหตุผลที่ว่า “…ผมมีประสบการณ์เป็นนักกู้เงินมาก่อน ถ้าเราเป็นหนี้แล้วใช้คืนได้เขาถึงว่าเราเป็นลูกค้าชั้นดีที่จะให้กู้มากขึ้นอีก”

และในเวลา 20.30น. ของวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 ทักษิณได้กล่าวสุนทรพจน์ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยความว่า

วันนี้เป็นวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ชำระหนี้ไอเอ็มเอฟก้อนสุดท้าย เมื่อกลางวันนี้ได้ชำระคืนให้กับธนาคารของประเทศญี่ปุ่น และเย็นนี้ซึ่งเป็นเวลากลางวันของซีกประเทศตะวันตกก็ได้ชำระเงินก้อนสุดท้ายคืนให้กับไอเอ็มเอฟ ทั้งหมดที่ชำระคืนในวันนี้ก็ประมาณ 60,000 กว่าล้านบาท เป็นก้อนสุดท้ายแล้ว หลังจากที่ได้เจอวิกฤตเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540

ซึ่งขณะนั้นทางไอเอ็มเอฟร่วมกับธนาคารกลางและกระทรวงการคลังของ 8 ประเทศ และประเทศญี่ปุ่นได้อนุมัติวงเงินให้เรากู้เป็นเงินถึง 14,500 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เราได้มีการเบิกใช้จริง 12,296 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 510,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลที่แล้วได้ใช้หนี้ส่วน 510,000 ล้านบาทนี้ไป 10,000 ล้านบาท เหลือหนี้ทั้งหมด 500,000 ล้านบาท

รัฐบาลนี้ได้เข้ามาทำงาน 2 ปีครึ่ง ได้ชำระหนี้ทั้ง 500,000 ล้านบาทหมดในวันนี้ ทำให้เราถือว่าหมดพันธะต่อการที่ต้องพึงปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีไว้ต่อไอเอ็มเอฟ ผมอยากจะบอกให้พี่น้องประชาชนให้มีความมั่นใจ และภูมิใจในความเป็นคนไทย ว่าวันนี้เราไม่มีพันธะใดๆ

การชำระหนี้ดังกล่าวเป็นการชำระก่อนกำหนดถึงสองปี แม้จะถูกฝ่ายต่อต้านโจมตีว่าทักษิณใช้วิธีกู้เงินจากแหล่งใหม่ด้วยดอกเบี้ยที่แพงกว่ามาใช้คืนไอเอ็มเอฟ (รัฐบาลคงเป็นหนี้เหมือนเดิม) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการพ้นพันธะจากไอเอ็มเอฟทำให้รัฐบาลสามารถแก้ไขกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจ 11 ฉบับและไม่ต้องเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นร้อยละ 10 นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย

ส่งผลให้มีกระแสเงินเข้ามาลงทุนในภาคเศรษฐกิจของไทยมากขึ้นจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2547 ประเทศไทยได้รับการปรับระดับความน่าเชื่อถือ (Credit rating) โดยสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส จากระดับ BBB ขึ้นสู่ระดับ BBB+ ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของประเทศต่ำลง

อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์ได้ออกมาแถลงต่อกรณีดังกล่าวว่า “..สิ่งที่ทำให้รัฐบาลชุดนี้ใช้หนี้ได้ก่อนกำหนด เนื่องจากรัฐบาลชุดที่แล้วกู้เงินต่ำกว่าที่ไอเอ็มเอฟกำหนดถึง 2,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นจึงไม่อยากให้รัฐบาลนำเรื่องนี้มาเป็นผลงานมากจนเกินไป”


ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน