“บิ๊กตู่”ขู่ขยับ โรดแม็ป ถ้ามี อะไรมาขัดขวาง “วัฒนา” เข้ากองทัพภาคที่ 1 คุย บิ๊กแดงนาน 4 ชั่วโมง “กกต.-ปปช.”พร้อม แจง งบฯบิน ดูงานต่างประเทศ รมช.พาณิชย์โต้ลั่นปมถือหุ้น ยันทำทุกอย่างตามกฎหมาย มอบ”อสส.” ตามคดีโรลส์-รอยซ์ เผยติดขัดปมโทษประหาร ต้องแจงแค่จำคุกก่อนขอข้อมูลนายกฯตู่สั่งยกเลิกผลศึกษาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ให้ศึกษาใหม่ เน้นประชาชนมีส่วนร่วม

“บิ๊กตู่”ขู่เลื่อนโรดแม็ป

เมื่อวันที่ 27 ก.พ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงนี้อยากให้ทุกคนสงบสติอารมณ์ ทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย จะทำอะไรขอให้นึกถึง คนส่วนใหญ่ของประเทศ รัฐบาลคิดทุกอย่าง นึกถึงคนทั้งประเทศอยู่ทุกวันๆ แก้ปัญหาทุกปัญหาทุกวันๆ ฉะนั้นอะไรที่ไม่จำเป็น อะไรที่เป็นความขัดแย้ง ไม่สร้างสรรค์ อย่าไปสนใจ มากนัก ให้เจ้าหน้าที่เขาทำงานเท่านั้นเอง

“การจะทำอะไรต้องมีแผนงาน รัฐบาลทำงานก็มีโรดแม็ปว่าทำอะไรเมื่อไรและจะเสร็จเมื่อไร แต่ถ้ามีอะไรมาขัดขวาง โรดแม็ป มันก็ขยับ ทำไม่เสร็จ เข้าใจแค่นี้พอ ไม่ต้องเรื่องมาก” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

จับโพสต์เบอร์มือถือ”ป้อม”แล้ว

ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม กล่าวถึงคืบหน้าสร้างความปรองดองว่า บรรยากาศโดยรวมเป็นไปได้ด้วยดี เนื่องจากทุกพรรคให้ความร่วมมือ พร้อมตอบรับเข้าร่วมพูดคุยเพื่อเสนอแนะแนวทางการปรองดองทุกพรรค 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้กระบวนการทุกอย่างเดินหน้าไปได้

เมื่อถามว่าคสช. เชิญนายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย มากองทัพภาคที่ 1 พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่ทราบรายละเอียด คงเป็นเรื่องของคสช.ที่ติดตามความเคลื่อนไหว ต่างๆ ของนายวัฒนามาตลอด เชื่อว่าทุกคนเข้าใจรัฐบาลและคสช. แต่มีบางคนทำเหมือนไม่เข้าใจ

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมบุคคลที่นำหมายเลขโทรศัพท์บ้านและเบอร์ส่วนตัวของตนไปเผยแพร่บนเพจเฟซบุ๊ก พลเมืองต่อต้านซิงเกิลเกตเวย์ เพื่อสันติภาพและความยุติธรรม ในโซเชี่ยลมีเดียได้แล้ว แต่ไม่ขอเปิดเผยว่าเป็นบุคคลกลุ่มใด

ที่กระทรวงกลาโหม นายกลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวภายหลังเข้าพบพล.อ.ประวิตรว่า ดีใจที่ได้เข้าพบพล.อ.ประวิตร ซึ่งพูดคุยในหลายเรื่อง โดยขอบคุณการฝึกคอบร้าโกลด์ 2017 ที่จะสร้างความมั่นคงปลอดภัยในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ยังหารือถึงความร่วมมือด้านสาธารณสุข การบังคับใช้กฎหมายและความสัมพันธ์ของประชาชนสองประเทศ และพูดคุยถึงเรื่องการปรองดองและการดำเนินการตามโรดแม็ป เพื่อนำไปสู่กระบวนการประชา ธิปไตย ส่วนที่ไทยจะมีเลือกตั้งในปีหน้านั้น สหรัฐตั้งความหวังว่าจะเป็นไปตามแผนของการปรองดองเพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนควรมีส่วนร่วม ส่วนรายละเอียดของการพูดคุย คงไม่สามารถเปิดเผยได้

“วัฒนา”รุดคุยทหารตามคำเชิญ

ที่ปั๊มน้ำมัน ปตท. สนามเสือป่า นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันที่ 25 ก.พ. ที่ผ่านมา ได้รับโทรศัพท์จากผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ระบุว่า ทางการต้องการข้อมูลและขอเชิญตนไปพบที่กองทัพภาคที่ 1 เมื่อเชิญมาอย่างสุภาพก็ต้องมา หากไม่มาก็หาว่าไม่ปรองดอง จึงตอบตกลงโดยนัดตนมาที่ปั๊มปตท.ในสนามเสือป่า ส่วนรายละเอียดการ พูดคุยนั้นไม่ทราบ และไม่กังวลว่าจะกักตัว เพราะบอกเชิญมาให้ข้อมูลเท่านั้น หากกักตัวขอพูดแบบตรงๆ ว่าเจ้าเล่ห์เพทุบาย จะจับ ก็จับเลย ไม่ต้องใช้วิธีให้มาแล้วกักตัว หากเป็น แบบนี้ประชาชนไม่ต้องเชื่อกองทัพไทยอีกแล้ว คิดว่าวันนี้การพูดคุยคงเป็นไปได้ด้วยดี และคงใช้เวลาไม่นาน

นายวัฒนายังกล่าวถึงคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง เชิญพรรคเพื่อไทยเข้าให้ความคิดเห็นในวันที่ 8 มี.ค. ว่า คงไม่เข้าไปกับพรรค ซึ่งคำว่าปรองดองไม่ใช่แค่แยกนักเรียนช่างกลที่ตีกัน มาจับมือ ทำเอ็มโอยู แต่รายละเอียดเยอะกว่านั้น พรรคเพื่อไทยคงมาด้วยข้อเสนอ แต่ตนไม่อยากมาเพราะไม่อยากให้บรรยากาศการพูดคุยกระอักกระอ่วนใจ หากตนมาคงทำลายบรรยากาศมากกว่า เชื่อว่าทุกคนอยากให้บ้านเมืองสงบ แต่วิธีการนั้นเป็นอีกเรื่อง

ชี้ผู้มีอำนาจไม่เข้าใจปรองดอง

นายวัฒนากล่าวว่า ขณะนี้กติกาในการอยู่ร่วมกันคือรัฐธรรมนูญได้ถูกร่างขึ้นมาแล้ว แต่ตนมองว่าไม่สามารถแก้ปัญหาขัดแย้ง ได้ เพราะความขัดแย้งมาจากการเมือง ขอพูดเลยว่าบั้นปลายของรัฐธรรมนูญไม่เกิดความปรองดองแน่นอน เว้นแต่คนที่มีอำนาจเข้าใจบริบทของคำว่าปรองดอง แต่เท่าที่คนฟังผู้ที่มี อำนาจพูดนั้น ไม่เข้าใจคำว่าปรองดอง เพราะระบุว่าทหารไม่ใช่ผู้ขัดแย้ง ทั้งที่เป็นคู่กรณี ทั้งนี้ใครก็ตามที่มีความเชื่อด้านการเมือง ยอมเสียสละความเป็นส่วนตัวเข้ามาต่อสู้เพื่อความเชื่อของเขา คนคนนั้นเป็นคนที่มีอุดมการณ์ เช่น ม็อบสีเสื้อต่างๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวแล้วเชื่อว่าบ้านเมืองจะดีขึ้น หรือทหารที่เข้ามาปฏิวัติ เขาเชื่อว่าจะทำให้บ้านเมืองดีและสงบขึ้น ทุกคนเข้ามาด้วยเจตนาที่ดี แต่วิธีการจะถูกต้องหรือไม่ ต้องมาคุยกัน แต่การปฏิเสธว่าไม่ใช่คู่ขัดแย้ง แสดงว่ายังไม่เข้าใจบริบทของคำว่าปรองดอง

จากนั้นเวลา 09.30 น. ทหารจากกองทัพภาคที่ 1 (ทภ.1) นำหนังสือเชิญมาให้นายวัฒนา ก่อนขับรถนำเข้าไปในทภ.1 และต่อมาเวลา 13.00 น. นายวัฒนาได้เดินทางออกจากทภ.1

เผยแม่ทัพภาค 1 เชิญคุยปรองดอง

ต่อมานายวัฒนาโพสต์ข้อความผ่านทาง เฟซบุ๊กว่า “ออกมาแล้ว” วันนี้เวลา 10.00 น. ตนไปพบ พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ที่ทภ.1 ตามคำเชิญ ตนนั่งรถไปกับนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยและน้องๆ ที่ขอไปเป็นเพื่อน แม่ทัพอนุญาตให้ตนและคณะเข้าไปในกองทัพภาคที่ 1 ได้ แต่ขอให้คณะพักรอในห้องรับรอง และเชิญตนเข้า ไปคุยในห้องทำงานเป็นส่วนตัวเรื่องแนวทางสร้างปรองดอง เนื่องจากตนปฏิเสธการเป็นตัวแทนของพรรคเพื่อไทยไปพูดคุยกับคณะอนุกรรมการฯ ที่กระทรวงกลาโหม จึงเชิญตน มาพูดคุยต่างหากเพื่อเป็นข้อมูล การสนทนาสิ้นสุดเวลา 13.00 น.

ทั้งนี้ตนยังคงแสดงความเห็นทางการเมืองต่อไปเพราะไม่มีใครมาขอร้อง ขอขอบคุณ ทุกคนที่เป็นห่วงและให้กำลังใจ ตนออกมาอย่างปลอดภัยและพร้อมสู้ต่อไปจนกว่าเรา จะได้ประชาธิปไตยบนหลักนิติธรรม

วิษณุให้รอดู”ม.44″

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงประชุมครม.ในวันที่ 28 ก.พ.ว่า ก่อนประชุมครม.จะประชุมคสช.แล้วจึงจะประชุมครม.ตามปกติ ส่วนจะพิจารณาเพื่อออกคำสั่งหัวหน้าคสช.เพื่อใช้อำนาจตามม.44 ออกมาอีกหรือไม่นั้น ไม่ขอบอก ให้รอดู ประกาศจากราชกิจจานุเบกษา

นายวิษณุกล่าวถึงสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ตรวจสอบการใช้งบประมาณขององค์กรอิสระ และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ซึ่งใช้งบประมาณในโครงการศึกษาดูงานต่างประเทศผิดวัตถุประสงค์ว่า เป็นเรื่องที่สตง.ช่วยเป็นหูเป็นตา และในที่ประชุมครม.มีข้อสั่งการเข้มงวดเรื่องการดูงานต่างประเทศของหน่วยงานราชการ แต่ไม่ครอบคลุมหน่วยงานอิสระ แต่ต้องระมัดระวัง เมื่อมีมติข้อสั่งการของครม.กำหนดหลักเกณฑ์ไว้แล้ว สตง.ก็ใช้ระเบียบนี้จับผิดและตรวจสอบว่าใช้เงินถูก ประเภทหรือไม่ เพราะการไปดูงานต่างประเทศ ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมาย ซึ่งกรณีของมรภ.เชียงใหม่ สตง.จะตรวจสอบ โดยรัฐบาลจะไม่ เข้าไปยุ่งเกี่ยว

“กกต.-ปปช.”พร้อมแจงดูงาน

นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการ การเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงสตง.ตรวจสอบการใช้งบประมาณเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศของกกต.ว่า เป็นหน้าที่ของสตง.ที่จะตรวจสอบอยู่แล้ว ซึ่งกกต.พร้อมให้ตรวจสอบ และหากสตง.ต้องการข้อมูลหรือเอกสารใด กกต.ก็พร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ จึงไม่กังวล ทั้งนี้ ขอชี้แจงว่าการไปศึกษาดูงานต่างประเทศของหลักสูตรพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง(พตส.)ของกกต. ไปดูงานเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง ระบบพรรคการเมือง เพื่อนำความรู้ที่ได้รับมาพัฒนาระบบการเลือกตั้ง

ที่สำนักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีสตง.ตรวจสอบองค์กรอิสระที่ไปดูงาน ต่างประเทศในหลักสูตรต่างๆ ว่าทางป.ป.ช. ก็เคร่งครัดอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นหน่วยงาน ที่ตรวจสอบองค์กรอื่น เราต้องให้นโยบายชัดเจนในหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) เพราะการศึกษาดูงานมีประโยชน์ ซึ่งเราเน้นอยู่แล้วว่าเรียนแล้วต้องได้ประโยชน์ จริงๆ ดังนั้น ที่สตง.จะมาตรวจสอบก็จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพราะเราเป็นหน่วยงานที่ใช้งบประมาณแผ่นดิน ซึ่งสตง.มีสิทธิ์จะมาตรวจสอบ แต่ขณะนี้สตง.ยังไม่ขอข้อมูลมายังป.ป.ช. แต่หากมีข้อเสนอแนะมา ป.ป.ช. พร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไขให้มีประสิทธิ์ภาพและถูกต้อง

ปปช.เรียกถกสินบนต่างประเทศ

วันเดียวกัน พล.ต.อ.วัชรพลในฐานะประธานคณะกรรมการประสานและเร่งรัดการดำเนินคดีทุจริตระหว่างประเทศ เป็นประธานประชุมนัดแรกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อัยการสูงสุด(อสส.) ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ผู้บังคับการ กองการต่างประเทศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายและแผนและการต่างประเทศ ของป.ป.ช. เลขาธิการป.ป.ช. ผอ. สำนักการต่างประเทศ ผอ.สำนักการข่าว และกิจการพิเศษ หัวหน้าศูนย์ประสาน งานคดีต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่สำนักงานป.ป.ช.

พล.ต.อ.วัชรพลแถลงหลังการประชุมว่า คดีสินบนระหว่างประเทศที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของป.ป.ช.มีทั้งสิ้น 12 คดี รวมถึงคดีสินบนโรลส์-รอยซ์ ซึ่งที่ประชุมได้ข้อสรุปถึงทิศทางการทำคดีสินบนระหว่างประเทศว่า เมื่อเกิดคดีใหม่ คณะกรรมการชุดนี้จะประชุมทันทีเพื่อดูว่าหน่วยงานใดมีข้อมูลอยู่แล้วบ้าง ก่อนนำมาแลกเปลี่ยนเพื่อบูรณาการให้เกิดประสิทธิภาพ และต่อไปจะกำหนดให้หน่วยงานใดให้ข่าวเพื่อไม่ให้กระทบต่อคดี

มอบ”อสส.”บี้คดีโรลส์-รอยซ์

พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า ส่วนข้อมูลและรายชื่อผู้เกี่ยวข้องกับสินบนโรลส์-รอยซ์จากหน่วยงานต่างประเทศนั้น ขณะนี้ป.ป.ช.ยังไม่ได้รับ เนื่องจากเรายังไม่ได้ทำเรื่องขออย่างเป็นทางการ จึงต้องทำตามกฎหมาย ซึ่งที่ประชุมวันนี้มีมติมอบให้อสส.เป็นหน่วยงานหลักประสานข้อมูลสินบนโรลส์-รอยซ์จากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตประเทศอังกฤษ (เอสเอฟโอ) อย่างเป็นทางการ ส่วนป.ป.ช.จะเป็นหน่วยงานประสานข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ

“ที่ประชุมได้พูดคุยปัญหานี้ชัดเจนแล้ว ต่อไปจะไม่มีปัญหา โดยการขอข้อมูลอย่างเป็นทางการนั้นเป็นหน้าที่ของอสส. ส่วนการขอข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการนั้น เป็นหน้าที่ป.ป.ช.ในฐานะที่รับผิดชอบไต่สวนคดีทุจริตระหว่างประเทศตามกฎหมาย ถือเป็นการทำงานร่วมกันเพื่อความชัดเจนในการขอข้อมูลกับหน่วยงานต่างประเทศ ถึงแม้จะขออย่างไม่เป็นทางการก็ต้องทำตามที่มีเอ็มโอยูและเคารพในสิทธิระหว่างประเทศ ที่เขาให้ความร่วมมือกับเราด้วย” ประธานป.ป.ช.กล่าว

ชี้ขอข้อมูลติดเพราะโทษประหาร

พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า คดีสินบนโรลส์- รอยซ์เกิดขึ้นใน 3 ช่วงเวลา แต่ 2 ช่วงแรกที่เกี่ยวกับการบินไทย ป.ป.ช.ได้ข้อมูลค่อนข้างสมบูรณ์แล้วว่าใครเกี่ยวข้องบ้าง แต่ต้องระวังก่อนจะแจ้งข้อกล่าวหาเพื่อดำเนินการไต่สวน จึงต้องรอวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติม ส่วนช่วงที่ 3 ยังไม่สมบูรณ์ จะประสานข้อมูลจากการบิน ไทยให้สมบูรณ์มากขึ้น ยืนยันเราทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานตรวจสอบเต็มที่แน่นอน

ด้านนายอำนาจ โชติชัย อธิบดีอัยการ สำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุดกล่าวว่า ที่ผ่านมาการขอข้อมูลดังกล่าวมีเหตุขัดข้อง โดยเฉพาะเรื่องโทษประหารในกฎหมาย ไทยที่กำหนดโทษสูงสุดสำหรับผู้ทุจริตไว้ อสส.จึงต้องทำคำยืนยันต่อหน่วยงานต่างประเทศที่จะขอข้อมูลสินบนโรลส์-รอยซ์ว่าทางการไทยจะไม่ใช้โทษประหารชีวิต แต่อาจใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตแทน

เผยปปช.สอบอยู่ 12 คดี

สำหรับ 12 คดีทุจริตระหว่างประเทศ ที่อยู่ ระหว่างดำเนินการของป.ป.ช. ได้แก่ 1.คดีสินบนโรลส์-รอยซ์ 2.คดีบริษัทเจเนอนัล เคเบิล ผู้ผลิตสายเคเบิล และสายไฟจ่ายสินบนให้ เจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้า ส่วนภูมิภาค และบริษัท ทีโอที อยู่ในชั้นแสวงหาข้อเท็จจริง 3.บริษัทไบโอราด แลบอราทอรี่ส์ จำกัด ให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้เป็นคู่สัญญาผลิตภัณฑ์ซื้อขายตรวจวินิจฉัยโรค อยู่ในชั้นแสวงหาข้อเท็จจริง

4.กรณีสินบนโรงงานยาสูบ ในการจัดซื้อใบยาสูบ อยู่ในชั้นอนุกรรมการไต่สวน 5.บริษัท ดีอาร์จีโอ พีแอลซี ให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้ช่วยเหลือคดีภาษีสุรา อยู่ในชั้นอนุกรรมการ ไต่สวน 6.เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรเรียกรับสินบน เอกชนผู้นำเข้ารถหรู อยู่ในชั้นอนุกรรมการไต่สวน 7.กรณีบริษัทปตท. กรีนเอนเนอร์ยี จัดหาที่ดินปลูกปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซียโดยมิชอบ ซึ่งมี 5 คดีย่อย โดยบางคดีใกล้ได้ข้อสรุปแล้ว

8.คดีสร้างสนามฟุตซอลบางกอกอารีนา อยู่ในชั้นอนุกรรมการไต่สวน ซึ่งกำลังประสาน ข้อมูลกับสวิตเซอร์แลนด์ 9.กรณีก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ คลองลาดพร้าว ซึ่งมีหน่วยงานในประเทศญี่ปุ่นเกี่ยวข้องด้วย 10.กรณีบริษัทคิงส์ เกต สำรวจและทำเหมืองแร่ โดยมิชอบ อยู่ในชั้นอนุกรรมการไต่สวน 11.กรณีสินบนเทศกาลภาพยนตร์นานชาติกรุงเทพฯ และ 12.กรณีอดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งในวันที่ 29 มี.ค.นี้ ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษา โดยคดีนี้ป.ป.ช.เป็นผู้ฟ้องคดีเอง

จี้ปลด 2 รมต.มีหุ้นบริษัท

ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ผ่าน เจ้าหน้าที่ศูนย์ เพื่อเรียกร้องให้ปลดนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมช.พาณิชย์ ออกจากตำแหน่ง กรณีเป็นหุ้นส่วนทำธุรกิจที่ดินเขาใหญ่ เข้าข่าย ผิดมาตรา 4 ของพ.ร.บ.จัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543

นายเรืองไกรกล่าวว่า มาตรา 4 ห้ามรัฐมนตรีเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วน และห้าม เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท แต่หลายฝ่ายมองเฉพาะการเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทเท่านั้น เช่น การถือหุ้นเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ แต่กรณีนายอุตตมและนายสนธิรัตน์มีหลักฐานชัดเจนเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญ โดยมีหลักฐานแจ้งไว้ต่อป.ป.ช. ว่าทำสัญญาลงทุนทำธุรกิจที่ดินที่เขาใหญ่ 29 ไร่ มูลค่า 100 ล้านบาท เพื่อแบ่งผลกำไรกัน ซึ่งเข้าลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญชัดเจน โดยมาตรา 4 ยกเว้นให้เฉพาะ 2 กรณีคือ การเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดเกิน 5 เปอร์ เซ็นต์ หรือการเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ แต่หากเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญ อย่างการลงทุนทำธุรกิจที่ดินของรัฐมนตรีทั้ง 2 คนมาตรา 4 ห้ามเอาไว้โดย เด็ดขาด

รมช.พาณิชย์โต้-ทำตามกฎหมาย

นายเรืองไกรกล่าวว่า เมื่อมีการฝ่าฝืนกฎหมาย จึงมี 2 ทางเลือกคือ รัฐมนตรีทั้ง 2 คนควรลาออก หรือนายกฯ ต้องปรับออกจากตำแหน่ง แต่กรณีที่เกิดขึ้น ยังไม่เห็นการแสดงความรับผิดชอบจากรัฐมนตรีทั้ง 2 คน จึงขอให้ นายกฯ พิจารณาปรับทั้ง 2 คนออกจากตำแหน่ง และหวังว่านายกฯ จะยึดหลักกฎหมายตาม ที่เคยพูดไว้ ทั้งนี้ หากยังไม่มีความคืบหน้า ในสัปดาห์หน้าตนจะไปยื่นเรื่องต่อป.ป.ช. เพื่อให้ตรวจสอบฐานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเอง

ที่กระทรวงพาณิชย์ นายสนธิรัตน์ สนธิ จิรวงศ์ รมช.พาณิชย์ กล่าวถึงกรณีนายเรืองไกร ขอให้พิจารณาปรับรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง 2 คน กรณีร่วมหุ้นในธุรกิจที่ดินเขาใหญ่ ว่า กรณีดังกล่าว ตนคงไม่ต้องพูดอะไรมาก และไม่รู้จะตอบอะไรอย่างไร เพราะทุกอย่างที่ทำนั้น ได้ทำตามที่ข้อกฎหมายกำหนดให้ทำได้ทุกข้ออยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องลาออก

9 มีค.ส่งกม.คุมสื่อให้สปท.

ที่รัฐสภา พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธาน คณะกรรมาธิการ(กมธ.) ด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) และพล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกมธ. แถลงผลการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ…ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเนื้อหาเกือบเสร็จแล้ว โดยจะพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 6 มี.ค.นี้ และจะนำเข้าสู่ที่ประชุม กมธ.วิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(วิปสปท.) ในวันที่ 9 มี.ค. เพื่อสรุปว่าจะบรรจุวาระการประชุมสปท.ได้เมื่อใด ทั้งนี้ มีสมาชิกเสนอว่าจะต้องแจกร่างให้ศึกษาอย่างน้อย 2 สัปดาห์

พล.อ.อ.คณิตกล่าวว่า ที่ประชุมได้ปรับแก้เนื้อหาหลายแห่ง ได้แก่ มาตรา 3 คำจำกัดความผู้ประกอบวิชาชีพสื่อและผู้ประกอบการ ซึ่งในปี 2020 เทคโนโลยีจะก้าวเข้าสู่ยุค 5 จี ซึ่งจะต้องปรับคำนิยามให้ครอบคลุมไปถึงในช่วงนั้น ส่วนผู้ที่เขียนบทความที่ไม่ประจำจะไม่อยู่ในขอบข่ายนี้ ส่วนมาตรา 36 ได้แก้ไขจากเดิมที่ให้สตง. เป็นผู้สอบบัญชีและประเมิน ผลการใช้จ่ายเงิน เป็นผู้ตรวจบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตแทน

เพิ่มผู้แทนวิชาชีพเป็น 7 คน

พล.อ.อ.คณิตกล่าวว่า ส่วนคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติเดิม 13 คน เพิ่มเป็น 15 คน โดยได้เพิ่มสัดส่วนของผู้แทนสมาชิกวิชาชีพจาก 5 คน เป็น 7 คน เนื่องจากให้สื่อภูมิภาคเข้ามามีส่วนร่วมด้วย สำหรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อ ในบทเฉพาะกาลกำหนดให้สื่อที่ประกอบวิชาชีพก่อนที่กฎหมาย ฉบับนี้จะบังคับใช้ ให้ถือมีใบอนุญาตโดยอัตโนมัติ แต่จะต้องแจ้งสภาวิชาชีพภายใน 2 ปี แต่ผู้ที่จะประกอบวิชาชีพสื่อรายใหม่จะต้องเข้ารับการอบรม ทดสอบ ประเมินผล (KPI) ซึ่งรายละเอียดหรือหลักเกณฑ์จะต้องเป็นไปตามที่สภาวิชาชีพกำหนด

ด้านพล.ต.ต.พิสิษฐ์กล่าวว่า การขึ้นทะเบียน ของสื่อหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ เจ้าของสื่อหรือต้นสังกัดจะเป็นผู้ออกใบรับรองว่าเป็นสื่อจริง เพื่อขอขึ้นทะเบียนเอง ส่วนคนที่ทำสื่อออนไลน์ต้องดูเจตนาว่าต้องการเผยแพร่ข่าวสารสู่สาธารณะหรือไม่ และมีรายได้ประจำ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ก็ถือว่าเข้าข่ายตามกฎหมายนี้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดห้ามคณะทำงานสรรหาสมาชิกสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ให้มารับตำแหน่งในสภาวิชาชีพ เพราะถือว่าเป็นเรื่องมารยาท แต่เมื่อมีเสียงทักท้วงก็จะนำประเด็นนี้เข้าสู่การหารือในที่ประชุมครั้งหน้าต่อไป

อนุฯชงเยียวยาตั้งแต่ปี 35-57

ที่ห้องประชุม 220 อาคารวุฒิสภา มีการประชุมคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษารวมความเห็น วิเคราะห์ และสังเคราะห์ประเด็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองทางการเมืองใน กมธ.ด้าน การเมือง สปท. มีนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นประธาน ได้พิจารณารายงานข้อเสนอแนะ แนวทางการสร้างความปรองดองของ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ เลขานุการคณะอนุกมธ. กล่าวภายหลังการประชุมว่า มีการแบ่งงานเป็น 6 กลุ่ม ซึ่งเรื่องสำคัญที่เห็นว่าควรทำในสถานการณ์ปัจจุบันคือ การอำนวยความยุติธรรม โดยเฉพาะการเยียวยา ซึ่งในเหตุการณ์ ปี 2535, 2552, 2553 และ2557 ต่างมีผู้สูญเสีย ดังนั้นควรมีการเยียวยาต่อผู้บาดเจ็บ พิการ เสียชีวิต ซึ่งเราเสนอว่าควรออกเป็นกฎหมายระบุรายละเอียดให้ชัดเจน นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอต่อไปควรมีองค์กรกลางที่จะเข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย หากเห็นว่าจะนำไปสู่การชุมนุม อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งและรุนแรง สำหรับเอกสารข้อสรุปทั้งหมด จะยื่นให้นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ.ด้านการเมือง สปท.ในวันที่ 28 ก.พ. พิจารณาอีกครั้ง ก่อนส่ง ให้ป.ย.ป.ในต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน