บิ๊กตู่เซ็งคนรุมต้านใช้มาตรา 44 ถี่ ประชดลั่นจะเขียนกฎหมาย มาตรา 88 แรงขึ้นอีกเท่า วอน สังคมอย่ารังเกียจที่เข้ามาไม่ถูกต้อง แต่ให้ดูว่าเข้ามาทำอะไรบ้าง ยันยืนไม่ต้องการให้ใครรัก ศรีสุวรรณลุยต่อ 7 สนช.นักโดด บุกยื่นป.ป.ช.ให้สอบ อีกทาง ชี้ประโยชน์ขัดกัน ทุจริตต่อหน้าที่ ป.ป.ช.ตามซ้ำอัดวิปสนช.แถลงทะแม่ง ปกป้องช่วยเหลือกันเอง ป.ป.ช.ยันลุยสอบผบช.น. ต่อไป ส่วนกรณีรับเงินที่ปรึกษาไทยเบฟให้ ไปชี้แจงกับผู้ตรวจการแผ่นดินเอาเอง

บิ๊กตู่ขู่ลั่น-ล้างหนี้นอกระบบ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 1 มี.ค. ที่เมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเปิดงานการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รอง นายกฯ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ และภาคประชาชนกว่า 1,500 คน เข้าร่วม

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งว่า การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบถือเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลจะเร่งจัดการหนี้นอกระบบให้เป็นศูนย์ แต่ไม่ใช่จะยกหนี้ให้ เพียงแต่ทำให้หนี้นอกระบบซึ่งถือว่าผิดกฎหมายให้เป็นศูนย์ และกลับเข้ามาในระบบ รัฐบาลจะกวาดล้างพวกเจ้าหนี้ ผู้ให้กู้ และนายทุนนอกระบบที่ผิดกฎหมายให้หมด ถ้าใครกล้าก็ลองดู เราต้องทำอย่างเด็ดขาด ใครเกี่ยวข้องต้องโดนทุกคน จับให้หมด ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้รังแกใคร เพราะถ้าไม่ทำ ปัญหาก็ไม่จบ และขอให้เจ้าหนี้นอกระบบมาขึ้นทะเบียน ให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะต่อจากนี้จะให้เจ้าหน้าที่และตำรวจกวาดล้างทั้งหมด

อย่ารังเกียจ-ไม่ทำให้ทุกคนชอบ

นายกฯ กล่าวว่า ทุกอย่างต้องดำเนินการตามกฎหมาย แต่วันนี้ยังพันกันอยู่หลายอย่าง ประเทศไทยต้องคิดใหม่เพื่อที่ผลกระทบเศรษฐกิจสังคมจะได้หมดไป แม้รัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งมีหลายร้อยปัญหาและมี ผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก แต่ถ้าไม่พูดคุย ไม่ใช้หลักประชาธิปไตย ปัญหาก็จะไม่ได้รับการแก้ไขแบบตรงจุด ต้องแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งไม่ได้อยู่ที่ตำรวจรือครม. แต่ ทุกคนต้องช่วยกัน

“ไม่ใช่มาคอยจับจ้องว่าผมและรัฐบาลนี้เข้ามาแบบไหน อยากให้มองว่าผมเข้ามาแล้วทำงานอะไร ซึ่งผมรู้อยู่แล้วว่าเข้ามาไม่ถูกต้อง ขอร้องว่าอย่ารังเกียจผมเลย ให้กำลังใจเพื่อให้ผมมีกำลังใจ มีสติที่จะทำงานต่อไป ไม่เช่นนั้นทำอะไรก็แย่ไปหมด เพราะต้องคุ้ยทุกปัญหาออกมา ซึ่งมีมาก และคงไม่สามารถแก้ทุกปัญหาได้ภายในวันเดียว ขอร้องคนไทยอย่าใจร้อน ที่ผ่านมาผมไม่ได้ว่าดีหรือเลว และไม่โทษใคร แต่ตั้งข้อสงสัยว่าทำไมจึงปล่อยปะละเลย วันนี้อย่าใช้แค่ความรู้สึกตัดสินปัญหา ต้องทบทวนตัวเอง ถ้าผมไม่ดี ก็ไม่ต้องมาชอบผม ซึ่งผมไม่ได้มาทำงานเพื่อให้ทุกคนมาชอบ ยืนยันว่าจริงใจกับทุกคน อาจมีปัญหาอยู่บ้างในการทำงานแต่เชื่อว่าจะแก้ได้” นายกฯ กล่าว

ประชดไม่เอาม.44เดี๋ยวจะใช้ม.88

นายกฯ กล่าวว่า ตอนนี้ทุกประเทศมีปัญหา การบังคับใช้กฎหมายก็มีปัญหา เพราะเส้นแบ่งสิทธิมนุษยชนกับการทำผิดกฎหมายเป็นเส้นแบ่งเดียวกัน ใครทำผิดกฎหมายอย่ามาอ้างเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่ผ่านมาแม้จะมีปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรม ต้องทำให้ชัดเจนขึ้น แต่ไม่ใช่เอาเรื่องสิทธิมนุษยชนมาอ้าง เหมือนนิทานอีสปหมาป่ากับลูกแกะ ซึ่งตนไม่เข้าใจทำไมยังวุ่นวาย ดังนั้น หากเอาขัดแย้งวางขึ้นก่อนก็เดินหน้าประเทศไม่ได้ เพราะยังมีปัญหารออีกมากทั้งภายในและภายนอกประเทศ ยืนยันรัฐบาลฟังเสียงประชาชนมากกว่าทุกรัฐบาล ถ้าไม่ฟังคงทุบโต๊ะไปทุกเรื่อง ซึ่งบางครั้งฟังแล้วก็หมดกำลังใจ แต่ตนอาสาเข้ามาเอง เข้ามาแล้ว ก็ต้องทำให้ได้ ทุกคนก็ต้องร่วมชะตากรรมกับตน จึงต้องขอโทษรัฐมนตรีทุกคนที่พามาลำบาก แต่มาเพื่อทำให้ประชาชนสบาย ขอให้ทุกคนยึดกฎหมาย บ้านเมืองจะได้ไม่วุ่นวายอีกต่อไป

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐบาลพยายามทำทุกอย่างทั้งเรื่องกฎหมาย เศรษฐกิจ สังคม กระบวนการยุติธรรม เพื่อเปิดเวทีให้กว้างขึ้นเพื่อให้คนมีช่องทาง ได้รับสิทธิ์และการเข้าถึงในสิ่งต่างๆ อย่างเท่าเทียม แต่ทุกอย่างต้องโปร่งใส อย่างเรื่องรักษาพยาบาลขณะนี้ขึ้นมา 3,091 บาทต่อหัว รัฐบาลไม่เคยคิดยกเลิก มีแต่หาทางเพิ่มให้ ขณะเดียวกันต้องเตรียมมาตรการรองรับผู้สูงอายุ และที่เราต้องขึ้นบัญชีต่างๆ กับประชาชน ไม่ใช่ไปดูถูกหรือล้วงความลับ แต่ต้องการทราบข้อมูลเพื่อ นำเงินที่มีอยู่ไปทำให้เกิดประโยชน์

“ถ้าเราไม่ใช้กฎหมาย มันจะเดินไปไม่ได้ บางครั้งต้องใช้ประกาศคสช. ซึ่งมีพวกที่ว่า ถ้าดีกับตัวเองก็บอกว่าดี ถ้าไม่ดีกับตัวเองก็บอกว่าไม่ดี สรุปจะให้ใช้แบบไหนไม่รู้เลย ถ้าจำเป็นผมก็ใช้ ถ้าไม่จำเป็นจะใช้ทำไม ถ้าไม่มีคำสั่งเหล่านี้ มันก็ทำไม่ได้ ขอเถอะ ถ้าไม่ชอบมาตรา 44 เดี๋ยวเปลี่ยนเป็นมาตรา 45 มาบอกมาตรา 44 ให้ใช้ไม่ได้ เดี๋ยวจะร่างใหม่เป็นมาตรา 88 เลย เอาให้สองเท่าเลย ดูว่าจะทำได้ไหม ถ้าเราไม่ร่วมมือ กฎหมายก็ใช้ไม่ได้ทั้งสิ้น ที่ต้องใช้เพราะไม่ปฏิบัติ ไม่เชื่อฟังกฎหมายปกติ ทุกพวกทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

โวทำความดีจึงไม่กลัวโดนแช่ง

นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมรับฟังเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ใครเป็น เจ้าหนี้ที่ไม่ทำตามกฎหมาย ขอให้ส่งคำร้องมาที่ทำเนียบรัฐบาลทันที เราจะดำเนินการให้ เราจะต้องแก้ปัญหาเรื่องหนี้ให้ได้โดยเร็ว ขอให้ทุกคนช่วยตนแก้ไขด้วย อย่าโยนมาให้ตนอย่างเดียวก็ตายกันพอดี ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันและเคารพกฎหมาย บ้านเมืองเราจะไม่วุ่นวายอีกต่อไป ถ้าไม่ช่วยกันก็ไปไม่ได้

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เราต้องอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ถึงเราจะจนแต่ต้องไม่คดโกงใคร จะทำผิดหรือถูก เรารู้อยู่แก่ใจ ไม่ต้องให้ใครเขามาว่า ให้รู้สึกว่านอนแล้วมีความสุข อย่า ให้คนนั่งแช่งหรือด่าทุกวัน นอนก็ไม่มีความสุขเหมือนตนที่กำลังโดนอยู่ แต่ตนไม่กลัว เพราะตนทำให้คนดี ส่วนคนไม่ดีจะแช่งตนก็ช่างเขา ก็กลับไปหาตัวเอง ทางพระบอกเอาไว้ว่าอย่าไปสาปแช่งใคร ใครว่าเราก็ย้อนกลับที่เขานั่นแหละ ส่วนใครที่ว่าตนก็เปลี่ยนใจได้

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองว่า วันนี้รัฐบาลให้ความสำคัญกับทุกงาน ฉะนั้นอย่าดึงประเทศหรือดึงสังคมไปเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อบ้านเมือง ให้เจ้าหน้าที่ทำงานและมาให้ความสำคัญกับเรื่องที่สร้างสรรค์ ที่ทำใหม่ขึ้นมา น่าจะดีกว่า

ศรีสุวรรณยื่นปปช.สอบ 7 สนช.

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นายสิระ เจนจาคะ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการป.ป.ช. ให้เอาผิดสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 7 คน กรณีขาดลงมติประชุมสนช.ไม่ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. นางวรารัตน์ อติแพทย์ เลขาธิการวุฒิสภา กรณีอนุมัติใบลาประชุมให้ 7 สมาชิกสนช. โดยไม่ตรวจสอบ

นายศรีสุวรรณกล่าวว่า เหตุที่มายื่นร้องต่อป.ป.ช.เพราะหลังจากเลขาธิการวุฒิสภาแถลงสถิติข้อมูลการแสดงตนของสนช. 7 คนในรอบ 1 ปี พบข้อผิดปกติหลายประการได้แก่ 1.สถิติการแสดงตนไม่ได้นับจากระยะเวลา 90 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด เป็นการจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริง 2.ตัวเลขการลงมติที่ไม่นับเป็นการขาดลงมติ เนื่องจากมีการยื่นใบลาอย่างถูกต้องนั้น มีสัดส่วนสูงมาก อาทิ นายดิสทัต โหตระกิตย์ มีใบลา 1,047 ใบ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ มีใบลา 1,034 ครั้ง หากนับรวมทั้ง 7 สนช.จะมีใบลารวมกันใน 1 ปี ถึง 5,836 ใบ การอนุญาตให้ลาได้มากๆ เช่นนี้เข้าข่ายผิดระเบียบสนช.ว่าด้วยการลงชื่อมาประชุมและการลาประชุมสนช.ปี 2557 ที่กำหนดการลาได้แต่เฉพาะกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น

ชี้ประโยชน์ขัดกัน-ทุจริตหน้าที่

นายศรีสุวรรณกล่าวว่า พฤติการณ์ของ 7 สนช. จึงเข้าข่ายการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม รวมทั้งทุจริตต่อหน้าที่ เพราะสนช.ที่ขาดหรือลา ประชุมมากๆ มีสิทธิได้เงินเพิ่มหรือเงินตอบแทนตามพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของ ผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ การที่สนช.แต่ละคนได้สิทธิการลา โดยไม่มีข้อจำกัดจึงเป็นการคอร์รัปชั่นเวลาชัดเจน ชี้ให้เห็นว่า นักการเมืองในอดีตและคนที่อาสาเข้ามาทำงานเพื่อชาติในปัจจุบัน ไม่อาจเรียกว่าเป็นคนดีเพื่อชาติได้อีกต่อไป หรือการอ้างว่าเป็นคนดีนั้น เป็นเพียงม็อตโต้โฆษณาชวนเชื่อหลอกประชาชนไปวันๆ เท่านั้น

ด้านนายสิระกล่าวว่า สนช.ถือเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ต้องอุทิศตนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ และเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ หากไม่สามารถทำได้ควรแสดงสปิริตลาออก ไม่ต้องให้ประชาชนมาขับไล่ ที่สำคัญควรคืนเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่ม และเงินต่างๆ ที่ได้รับจากภาษีประชาชนคืนประเทศให้หมด

กปปส.หารือถกเวทีปรองดอง

วันเดียวกัน นายถาวร เสนเนียม แกนนำกปปส. เปิดเผยว่า กปปส.ได้ประชุมหารือกันเพื่อพิจารณาข้อเสนอต่างๆ ที่จะเป็นข้อสรุปและนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ในวันที่ 10 มี.ค. โดย กปปส.จะตอบคำถามลงลึกในรายละเอียดทั้ง 10 ข้อที่เป็นโจทย์ให้หมด สิ่งที่จะเสนอ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องไม่มีกกต.จังหวัด เพราะที่ผ่านมาทำงานไม่มีประสิทธิภาพจนนำไปสู่การทุจริต ดังนั้นจึงต้องมีศาลเลือกตั้ง เพื่อพิจารณาคดีเลือกตั้งให้เสร็จภายใน 30 วัน เป็นต้น

นายถาวรกล่าวต่อว่านอกจากนี้ เราจะเสนอพื้นฐานการปฏิรูปและการปรองดอง 5 ข้อ ได้แก่ 1.การสร้างความปรองดองของพรรคการเมืองและการปฏิรูประบบพรรค การเมือง โดยพรรคการเมืองต้องเป็นของประชาชนเพื่อประชาชน ตามระบอบประชาธิปไตย ประชาชนต้องเป็นเจ้าของพรรคการเมืองโดยมีส่วนร่วมและจ่ายเงินบำรุงพรรคการเมือง 2.การปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน ที่ภาครัฐจะต้องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น 3.การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ยังไม่มีความเท่าเทียม 4.การป้องกันการทุจริต เช่น คดีทุจริตจะต้องให้ประชาชนที่เป็นผู้เสียหายฟ้องคดีเองได้ และคดีไม่ควรมีอายุความ และ 5.การปฏิรูปองค์กรตำรวจและกระบวนการยุติธรรม

อนุทินนำทีมภูมิใจไทยให้ข้อมูล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 6 มี.ค. เวลา 13.00 น. แกนนำพรรคภูมิใจไทย นำโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค พร้อมด้วยนายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานที่ปรึกษาพรรค นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค นายทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรค นายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ รองหัวหน้าพรรค นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรค จะเข้าร่วมหารือกับคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

สำหรับแนวทางการหารือเบื้องต้น พรรคจะเสนอการแก้ปัญหาตามโจทย์ 10 ประเด็นที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้มาโดยเฉพาะอยากให้มีการปฏิรูป การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และแก้ปัญหารากเหง้าของปัญหาทั้งหมด คือความยากจนให้หมดไปเพราะจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนจนกับคนรวยในสังคมไทยให้เกิดความเท่าเทียมกัน

นอกจากนี้ พรรคจะเสนอการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ยึดแนวทางตามหลักสากลโลกที่เคยดำเนินการมา โดยเฉพาะหลักความยุติธรรมยุคเปลี่ยนผ่าน อาทิ มีการพูดคุยทำความเข้าใจ เยียวยาผู้เสียหาย พิสูจน์ความจริง รวมทั้งคดีที่อยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน และชั้นอัยการ อาจจะสั่งไม่ฟ้องหรือสั่งถอนฟ้องในคดีที่อยู่ในศาลแล้ว รวมถึงคดีความที่ศาลตัดสินไปแล้ว ก็อาจให้มีการนิรโทษกรรมยกเว้นโทษ เป็นต้น ซึ่งพรรคเชื่อว่าแนวทางดังกล่าวจะทำให้บ้านเมืองเกิดความปรองดองได้อย่างแท้จริง

คิวพรรคพลังชล-พลังมหาชน

ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองในชุดคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง พร้อมคณะอนุกรรมการได้เชิญพรรคการเมืองเข้าให้ข้อคิดเห็นเสนอแนวทางสร้างความปรองดอง 10 ประเด็น โดยเป็นคิวนัดหมายของพรรคพลังชล ซึ่งนายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล นำตัวแทนพรรคมาร่วมพูดคุย นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนจากพรรคพลังมหาชนมาร่วมพูดคุยด้วย จากเดิมที่ขอเลื่อนนัดเนื่องจากติดภารกิจเมื่อวันที่ 28 ก.พ.

จากนั้นเวลา 11.30 น. พล.ต.คงชีพ ตันตระวานิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชา สัมพันธ์ เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง แถลงสรุปภาพรวมการพูดคุยเสนอแนวทางปรองดองของพรรคการเมืองว่า ภาพรวมบรรยากาศเป็นไปได้ด้วยดี เห็นถึงความตั้งใจจริงของทุกฝ่ายในการสร้างสภาวะแวดล้อมให้ประเทศและเตรียมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน มองว่าทุกภาคส่วนไม่ควรสร้างวาทกรรม หรือเงื่อนไขที่เป็นปัญหาให้กับคนในชาติ ส่วนเรื่องความขัดแย้งเกิดขึ้นจากการเมือง การไม่เคารพกฎหมาย การทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ยอมรับกลไกที่มีอยู่ อาศัยช่องว่างความเหลื่อมล้ำขยายออกไปจนลงลึกในสังคม อีกทั้งสื่อมีบทบาทสำคัญที่ขยายความขัดแย้งและมองเห็นตรงกันว่าสื่อจะต้องรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น แต่ยังคงความเป็นอิสระภายใต้จรรยาบรรณวิชาชีพ

พล.ต.คงชีพกล่าวว่า ตลอด 3 สัปดาห์ที่ผ่านมามีพรรคการเมือง เข้าร่วมเสนอความคิดเห็นให้กับคณะอนุกรรมการแล้ว 30 พรรค และได้ทยอยรวบรวมข้อมูลส่งให้คณะอนุกรรมการพิจารณาบูรณาการ ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยมีพล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) เป็นประธานอนุกรรมการ คาดว่า ในสิ้นเดือนมี.ค.นี้จะสามารถเชิญพรรคการเมืองที่เหลือเข้ามาเสนอความคิดเห็นได้ครบทุกพรรค หลังจากนั้นในเดือนเม.ย. จะเชิญกลุ่มการเมือง กลุ่มภาคประชาสังคม กลุ่มภาคธุรกิจเข้าร่วม

พลังชลเสนอยุติธรรมเท่าเทียม

ที่กระทรวงกลาโหม นายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล นายสุระ เตชะทัต โฆษกพรรคพลังชน เข้าพบคณะกรรมการเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน เพื่อเสนอแนะการสร้างความปรองดอง และยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมให้เกิดขึ้นในชาติใช้เวลาหารือประมาณ 3 ชั่วโมง

รายงานข่าวแจ้งว่า ข้อเสนอของพรรค พลังชลเกี่ยวกับการแก้ปัญหาทางด้านการเมืองคือคดีความต่างๆ ต้องเข้าสู่กระบวน การยุติธรรมอย่างเสมอภาค ก่อนการจัดให้มีการเลือกตั้ง รวมทั้งต้องมีบทลงโทษ หรือจัดการกับกลุ่มที่สร้างความขัดแย้งในอนาคตอีกด้วย ขณะที่การบังคับใช้กฎหมายทั้งระบบต้องมีความเหมาะสมและชัดเจน รวมทั้งต้องเร่งแก้ปัญหาลดความเหลื่อมล้ำในสังคมในทุกมิติ ได้แก่ ด้านการศึกษา ที่ดินทำกินและการบริหารจัดการน้ำให้แก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกันเป็นต้น และสนับสนุนแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล เพราะเชื่อว่าจะทำให้การพัฒนาประเทศในอนาคตข้างหน้ามีความชัดเจนเพื่อความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

นอกจากนี้ ยังเสนอปฏิรูปสื่อมวลชนไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือสร้างความขัดแย้งดังเช่นในอดีตโดยต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่ถูกแทรกแซง ส่วนการดูแลเรื่องจริยธรรมและความรับผิดชอบของสื่อฯ ควรตั้งองค์กรเข้ามามีบทบาทดูแล ควบคุมการทำงานของสื่อด้วยกันเอง

พท.เตรียมทำเอกสารชี้แจง

ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการส่งคนเข้าร่วมเวทีปรองดองในส่วนของพรรคเพื่อไทยว่า ล่าสุดตัวแทนจากสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมได้ประสานกับสำนักเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เพื่อกำหนดวันพูดคุยและเสนอแนะแนวทางปรองดองใหม่อีกครั้ง โดยจะยังคงเป็นวันที่ 8 มี.ค.นี้เหมือนเดิม ตามที่พรรคเสนอไปก่อนหน้านี้ เริ่มตั้งแต่เวลา 09.00-12.00 น.

นายภูมิธรรมกล่าวว่า ส่วนตัวบุคคลที่จะร่วมพูดคุยนั้น อยู่ระหว่างการหารือกัน เนื่องจากหลายคนติดภารกิจ แต่ส่วนใหญ่จะยังเป็นบุคคลที่พรรคได้แถลงรายชื่อไปแล้ว ส่วนการจัดทำเอกสารเพื่อชี้แจงต่อสังคม รวมทั้งเพื่อแสดงจุดยืนและเสนอทางออกจากวิกฤตของปัญหาของทางพรรคนั้น อยู่ระหว่างการนำเสนอความคิดเห็นของแกนนำแต่ละคน จากนั้นจะรวบรวมและสรุปข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับการปรองดองทั้งหมดจัดทำเป็นเอกสารต่อไป คาดว่าจะชัดเจนในช่วงต้นสัปดาห์หน้า

เผยเนื้อหากม.คดีนักการเมือง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ศาลฎีกาส่งให้กรธ.ประกอบพิจารณา มีทั้งหมด 71 มาตรา 7 หมวด และบทเฉพาะกาล มีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้ มาตรา 22 เมื่อศาลรับฟ้องให้ผู้ถูกกล่าวหายุติการปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น มาตรา 31 กำหนดให้ เมื่อศาลประทับรับฟ้องแล้วห้ามไม่ให้ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องเว้นแต่จะได้ความว่าหากไม่อนุญาตให้ถอนฟ้องจะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรม มาตรา 33 การกำหนด ไม่นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีมาเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ และในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย ถ้าจำเลยหลบหนีระหว่างนั้นไม่ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับอายุความตามประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ

ส่วนหมวด 6 เป็นเรื่องใหม่ คือการอุทธรณ์คำพิพากษา ได้ระบุวิธีการไว้ในมาตรา 62 และ 63 ว่าให้ดำเนินการได้ภายใน 30 วัน นับแต่มีคำพิพากษาของศาล แต่จะอุทธรณ์ได้ต่อเมื่อจำเลยมาแสดงตนต่อเจ้าพนักงานของศาลเท่านั้น มิเช่นนั้นศาลจะไม่รับอุทธรณ์ ขณะเดียวกัน ยังกำหนดหลักการอุทธรณ์ไว้อีกชั้นหนึ่งในมาตรา 66 กรณีที่ผู้พิพากษาในองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์หรือประธานแผนกคดีอาญาฯ เห็นปัญหาข้อกฎหมาย ที่ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้แตกต่างกัน จะเสนอให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหานั้นโดยที่ประชุมใหญ่ก็ได้ และให้ถือคำวินิจฉัยนั้นเป็นคำพิพากษาโดยที่ประชุมใหญ่ของศาล แต่ทั้งนี้บทเฉพาะกาลมาตรา 70 และมาตรา 71 กำหนดให้คดีที่ยื่นฟ้องก่อนวันที่พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้บังคับ ให้ใช้ตามพ.ร.บ.ฉบับปี 2542 และที่แก้ไข เท่าที่ไม่ขัดกับพ.ร.บ.ฉบับนี้ เมื่อมีการประกาศใช้ ยกเว้นหมวด 6 สามารถใช้บังคับได้ทันทีที่กฎหมายบังคับใช้

ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันไผ่

เมื่อเวลา 13.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลจังหวัดขอนแก่น ได้เบิกตัวนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ผู้ต้องหาตามความผิดประมวลกฎหมายอาญา ม.112 และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาไต่สวน หลังทนาย ความและนายประกันตัวได้ยื่นขอประกันตัวต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในช่วงของการพิจารณาคดี โดยศาลใช้เวลาไต่สวนและตรวจเอกสารหลักฐานประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนมีคำสั่งยกคำร้องไม่ให้ประกันตัว

นายอธิพงษ์ ภูผิว ทนายความ กล่าวว่า ศาลอุทธรณ์ได้เบิกตัวจำเลย มาสอบถามก่อนที่คำสั่งยกคำร้อง ด้วยเหตุผลว่าพิเคราะห์แล้ว คดีมีอัตราโทษสูงและเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และจากพฤติการณ์ของจำเลย มีแนวโน้มจะกระทำซ้ำ ทำความเสียหายต่อรัฐอีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณา จึงยกคำร้อง นายอธิพงษ์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การที่จำเลยไม่ได้รับการประกันตัวนั้นส่งผลให้จำเลยไม่สามารถปรึกษาคดีความกับทีมทนายได้อย่างเต็มที่และเสียสิทธิ์ในหลายๆ ด้าน ดังนั้น ทีมทนายจะหารือร่วมกับนายประกันและทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ส่งทีมทนายความมาร่วมดำเนินการในคดีดังกล่าว จะต้องเร่งรวบรวมพยานหลักฐานและเอกสารต่างๆ เพื่อให้สมบูรณ์ที่สุดในการนัดพร้อมพิจารณาคดีนัดแรกวันที่ 21 มี.ค.นี้

ปปช.ยันลุยสอบทรัพย์สินผบช.น.

เมื่อวันที่ 1 มี.ค. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ในวันที่ 2 มี.ค.ว่า มีวาระเรื่องการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเข้าหลายเรื่อง ส่วนเรื่องคำขอรายการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของพล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น. ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินทำเรื่องขอมา ยังไม่มีอยู่ในวาระแต่อาจจะเสนอเป็นวาระจร

นายสรรเสริญกล่าวว่า หากป.ป.ช.มีมติให้ส่งรายการแสดงบัญชีทรัพย์สินฯของพล.ต.ท.ศานิตย์ ไปให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว จะเป็นหน้าที่ของพล.ต.ท.ศานิตย์ ต้องไปชี้แจงกับผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ข้อความที่แจ้งในบัญชีทรัพย์สินฯกับป.ป.ช. เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น การที่บอกว่าแจ้งผิด ให้เด็กเป็นคนทำโดยที่ตัวเองไม่ได้ดู ต้องไปชี้แจงให้ผู้ตรวจการแผ่นดินฟังและต้องดูว่าฟังขึ้นหรือไม่ ต้องมีการพิสูจน์กัน

เลขาธิการป.ป.ช.กล่าวว่า ส่วนคดีของพล.ต.ท.ศานิตย์ ในป.ป.ช. แบ่งเป็นอาญาและเรื่องจริยธรรม โดยคดีอาญาป.ป.ช.ตรวจสอบได้เลย ไม่ต้องรอผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่วนเรื่องจริยธรรมต้องรอผลจากผู้ตรวจการแผ่นดินก่อน ถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ว่าพล.ต.ท.ศานิตย์ ผิดจริยธรรมร้ายแรง ตรงนี้เป็นอำนาจของป.ป.ช.โดยตรงที่จะต้องตรวจสอบต่อ แต่ไม่ว่าผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นอย่างไร ผิดหรือไม่ผิด ป.ป.ช.จะยังต้องเดินหน้าตรวจสอบในส่วนของตัวเองจนเสร็จ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน