รุมจี้ ‘เทือก’ ร่วมรับผิดชอบ ค่าเสียหาย ‘โฮปเวลล์’ หลังกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ต้องคืนเงินชดเชย ให้กับบริษัทโฮปเวลล์ เพียงฝ่ายเดียว

จากกรณี ที่ศาลปกครองกลาง ศาลปกครองสูงสุด พิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองกลางให้บังคับคดีโฮปเวลล์ ชนะคดีตาม คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้ภาครัฐจ่าย รวม 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี พร้อมคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท ที่ออกโดยธนาคารกรุงเทพ

ซึ่งประกอบด้วยเงินที่บริษัทได้ชำระเป็นค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ รฟท. ถึงก่อนวันบอกเลิกสัญญาเป็นเงิน 2,850 ล้านบาท รวมถึงเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38 ล้านบาท และเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับคดีถึงที่สุด ตามที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.เกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวถึงกรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีโครงการก่อสร้างถนนและทางรถไฟยกระดับโฮปเวลล์ ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลต้องนำภาษีของประชาชนทั้งประเทศมาจ่ายเงินให้กับบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเงิน 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีโดยทันที

ครม.ชวน 2 และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีคมนาคม ในขณะนั้น ลงนาม เลิกสัญญา โดยที่ในสัญญาระบุว่า ฝ่ายผู้ว่าจ้าง จะเลิกสัญญาไม่ได้ จะรับผิดชอบอะไรให้ประเทศชาติหรือไม่ ในฐานะลุงกำนันคนดีที่อ้างว่ารักชาติมากกว่าใคร อีกทั้งรัฐบาลนี้จะยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายพร้อมยึดทรัพย์สินจากคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นหรือนายสุเทพหรือไม่

ด้าน ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าจากกรณีปัญหาโฮปเวลล์ ที่สัญญามีการเอื้อผลประโยชน์ให้แก่ผู้ลงทุน (บริษัทโฮปเวลล์) สามารถบอกเลิกสัญญาได้เพียงฝ่ายเดียว รัฐบาลไม่สามารถบอกเลิกสัญญาได้ ดังนั้นจึงเป็นการไม่สมควรที่รัฐบาลในสมัยนั้นจะบอกเลิกสัญญาดังกล่าว

ซึ่งจากการกระทำการในครั้งนั้นได้ส่งผลให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาพิพากษาให้ กระทรวงคมนาคม (คค.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้องคืนเงินชดเชยให้กับบริษัทโฮปเวลล์ รวมเป็นเงิน 11,888 ล้านบาท โดยไม่รวมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี พร้อมคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท ซึ่งหากพิจารณาจากเหตุที่ทำให้ต้องเสียค่าปรับดังกล่าวแล้วการที่จะให้ คค.และ รฟท. ต้องรับผิดชอบแต่เพียงฝ่ายเดียวนั้น เป็นการเหมาะสมและถูกต้องหรือไม่

เพราะนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้สั่งการบอกเลิกสัญญา ซึ่งทำให้ประเทศไทยต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนมากมายมหาศาล

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวอีกว่า จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ถ้าหากนายสุเทพฯ ได้มีการศึกษาสัญญาให้ถี่ถ้วนก่อน จะทำให้ทราบและพิจารณาได้ว่า เป็นการสมควรหรือไม่ที่รัฐบาลในสมัยนั้นจะบอกยกเลิกสัญญา ซึ่งนอกจากจะทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียเงินแล้ว ยังต้องสูญเสียการพัฒนาประเทศ และเสียเวลาในการแก้ไขปัญหารถติดของกรุงเทพมหานคร และ ปริมณฑลมา เป็นเวลานานกว่า 20 ปี

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน