“คุณหญิงหน่อย”พร้อม 5 แกนนำเพื่อไทยเข้าหารือเวทีปรองดอง ชง6 ข้อสมานฉันท์ ขอให้รัฐบาลจริงใจ ยึดหลักการให้อภัย เยียวยาเหยื่อที่ได้รับผลกระทบ กำหนดโรดแม็ปร่วมกันแล้วตั้งกก.อิสระมาจากทุกภาคส่วนรับฟังเสียงทุกฝ่าย ด้าน “บิ๊กตู่” ชี้อีก 5 ปีจะมีรัฐบาลดิจิตอลขับเคลื่อนประเทศ ครวญมีคนโทรศัพท์มาด่า แต่พร้อมรับฟังแต่ขอให้มีเหตุผลด้วย สั่งทำเนียบงดออกกำลังกาย เหตุคลื่นความร้อนปกคลุมประเทศไทย หวั่นเป็นลมแดด ป.ป.ช.นัดถกจ่อตั้งอนุกรรมการไต่สวนคดีสินบนโรลส์-รอยซ์ เล็งเอาผิดผู้เกี่ยวข้องช่วงรัฐบาลทักษิณ

บิ๊กตู่ฝันอีก 5 ปีเข้าสู่รัฐบาลดิจิตอล

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 8 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ปาฐกถาพิเศษ “รัฐบาลดิจิตอล กุญแจสู่ประเทศไทย 4.0 และแถลงวิสัยทัศน์รัฐบาลดิจิตอลประเทศไทย” ตอนหนึ่งว่า เราต้องร่วมมือกันทำให้ประเทศก้าวหน้าไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ทุกวันนี้เทคโนโลยีดิจิตอลเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนสังคม ซึ่งยอมรับว่ากังวล จึงมอบนโยบายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดำเนินการ ซึ่งเราจะเดินหน้าอีก 5 ปีให้เป็นรัฐบาลดิจิตอล ระหว่างปี 2557-2559 รัฐบาลได้เก็บทุกปัญหา จัดกลุ่ม วิธีแก้ปัญหา กำหนดกลุ่มเป้าหมาย วางโรด แม็ปการทำงานทุกด้าน โดยยืนยันว่าการพัฒนาต่างๆ เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ถ้าประชาชนมองไม่เห็นประโยชน์ในสิ่งที่รัฐบาลทำก็จะขัดแย้งเรื่อยไป รัฐบาลทำทุกวันนี้ก็เพื่อประชาชน ไม่ใช่เพื่อตัวเอง

“การที่บอกว่าจะให้เกิดผลสำเร็จภายใน 5 ปี เดี๋ยวก็โดนดูถูกอีกว่าทำได้จริงหรือเปล่า ถ้าความขัดแย้งยังสูง มีเรื่องต่างๆ เข้ามา ประชาชนก็ไม่สนใจสิ่งที่รัฐบาลทำ ทุกอย่างก็ไปไม่ได้ โดยเฉพาะความไว้เนื้อเชื่อใจก็จะไม่เกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือการมีเสถียรภาพของบ้านเมือง ที่ผมต้องการเน้นคือการบูรณาการ ไม่ใช่แค่การประสานงาน การประชุมวันนี้คนมักมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อไรจะสำเร็จ เมื่อไรมาตรา 44 จะใช้ได้ มันทำให้ผมปวดฟันปวดหัว มาตรา 44 จะใช้ได้ อยู่ที่ผู้ปฏิบัติกับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จะร่วมมือแก้ปัญหา” นายกฯกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การคิดต้องเริ่มจากวิสัยทัศน์ มองความต้องการของประเทศใน 5-10 ปีข้างหน้า เพื่อไปสู่ผลสัมฤทธิ์ ต้องลดความขัดแย้งด้วย ไม่เช่นนั้นคิดอะไรออกมาก็เดินไม่ได้ บุคลากรภาครัฐต้องเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เฉพาะนายกฯหรือรัฐมนตรี ทั้งหมดต้องช่วยกันทำงานควบคู่กับการลดความขัดแย้ง อะไรที่ไม่ตรงกันเอาไว้ก่อน อยากให้ทุกคนมีจิตใจร่วมกับตน

ครวญด่าได้-แต่ขอให้มีเหตุผล

นายกฯกล่าวว่า วันนี้มาพูดถึงเรื่องดิจิตอล แต่ไม่บังอาจบอกได้ว่ารู้มากกว่า เพราะตนเป็นแค่คนในยุคเบบี้บูมเมอร์ แค่ใช้แค่รู้หรือพูดได้ก็เก่งแล้ว แต่พยายามคิด พูดและเข้าใจในสิ่งที่พูดไป ประเด็นสำคัญต้องรู้ว่าจะใช้ประโยชน์จากดิจิตอลได้อย่างไร มีคนเคยพูด เปิดเผยคือโปร่งใส ปกปิดคือยกเว้น ตนฟังก็งง ดูเหมือนเราไปปกปิดใคร ถ้าเราจะขับเคลื่อนไทยด้วยเทคโนโลยีต้องปรับวิธีคิดใหม่ให้แตกต่าง ต้องช่วยกันเป็นผู้นำเพื่อสู่การเปลี่ยนแปลง คิดใหม่ ทำใหม่ โดยฟังคนอื่น

“ผมอยู่มา 3 ปี ทั้งฟัง ทั้งอ่าน จนตาเริ่มเจ็บ มองอะไรเจ็บ เริ่มต้องใส่แว่นบ่อยขึ้น ฉะนั้น หากเราใช้ระบบดิจิตอลได้จะช่วยลดเอกสารได้มาก เพราะบางครั้งนั่งอ่านตาแทบแฉะ เรื่องนิดเดียวมาเป็นปึก ขณะเดียวกัน วันนี้มีบุคคลในมูลนิธิ 2 คนฟ้องร้องมาเป็นพันคดี แค่รับฟังแล้วพยายามแก้ปัญหา เพราะอย่างน้อยเขาทำให้เราระมัดระวังมากขึ้น แต่ขอว่าอย่าบิดเบือน เพราะถ้าบิดเบือนก็ต้องใช้กฎหมาย ผมไม่อยากเอ่ยชื่อเพราะอาจเกิดปัญหา ขี้เกียจพูด ทะเลาะกับคนมาพอแล้ว ผมไม่เคยอยากทะเลาะกับใคร แต่บางครั้งก็เผลอไปบ้าง เพราะเป็นมนุษย์” นายกฯกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้คนไทยใช้ เฟซบุ๊กกว่า 44 ล้านคน และยังใช้โทรศัทพ์คนละหลายเครื่อง รวมถึงตนด้วย บางเบอร์ของตนก็มีให้ด่าอย่างเดียวและถูกละเมิดไปมาก แต่หากอยากจะว่าอะไรก็รับฟัง และที่บอกว่าเป็นนายกฯของประชาชนต้องยอมรับการด่านั้น ต้องมีเหตุผลด้วย ขณะเดียวกัน การทำอะไรต้องทำให้สำเร็จให้ได้ ซึ่งตนได้สั่งการตั้งแต่เป็นผบ.ทบ. ว่าทหารจะต้องรู้เรื่องพลเรือน ไม่ใช่รู้เพื่อปฏิวัติ แต่รู้เพื่อช่วยประชาชนได้ ไม่ได้หวังจะแย่งหรือไปแทนใคร ไม่ต้องการตรงนั้น ที่ผ่านมาก็ทำแบบนี้มาตลอด กองทัพบกเป็นหลักชัยทุกรัฐบาล จึงขอให้ย้อนกลับไปดูแล้วกัน แต่เมื่อใดก็ตามที่ประเทศมีปัญหาก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ไม่มีใครอยากให้เกิดและอยากให้เป็น

คิวพท.ส่งคนหารือเวทีปรองดอง

เมื่อเวลา 09.00 น. ที่กระทรวงกลาโหม แกนนำพรรคเพื่อไทย ประกอบด้วยพล.ต.ท. วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรค กทม. นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค นายโภคิน พลกุล อดีตรองนายกฯ นายชัยเกษม นิติสิริ อดีต รมว.ยุติธรรม ได้เข้าหารือพูดคุยกับคณะอนุกรรม การรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มีพล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน เพื่อร่วมสร้างแนวทางสามัคคีปรองดองพร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อเสนอแนะตามกรอบ 10 ประเด็น ที่คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) กำหนด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทยเสนอหลักการและแนวทางการปรองดองต่อคณะอนุกรรมการ ดังนี้ 1.ปัจจัยที่ทำให้การปรองดองเกิดความสำเร็จคือ ความจริงใจของรัฐบาลและคสช. รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย มีความเข้าใจและองค์ความรู้ที่ถูกต้องต่อความหมายและกระบวนการปรองดอง เป็นกลาง มีอิสระ ไม่อยู่ภายใต้การชี้นำและสั่งการของฝ่ายใด และการปราศจากอคติของบุคคลที่ใช้อำนาจรัฐ

ต้องไม่คับแคบโทษแต่บางกลุ่ม

2.การปรองดองและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ต้องอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมทางสังคม ทุกองค์กรของรัฐต้องยึดหลักนิติธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ อีกสิ่งที่ละเลยไม่ได้คือการให้อภัย ผู้ที่ได้ประโยชน์จากความขัดแย้ง ต้องเลิกคิดและหาประโยชน์จากความขัดแย้ง ต้องไม่ย่ำยีผู้ที่เป็นเหยื่อของความขัดแย้งอีกต่อไป ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือเหยื่อของความขัดแย้งต้องปรับจิตใจตนเอง ให้อภัยผู้ที่กระทำต่อตน โดยผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องยอมรับในกระบวนการยุติธรรมที่จะนำไปสู่ความสมานฉันท์ นำการให้อภัยไปสู่การปฏิบัติต่อไป

3.ต้องค้นหาสาเหตุของความขัดแย้ง โดยต้องยอมรับว่าความขัดแย้งไม่ได้เกิดจากบางกลุ่ม แต่แทบทุกฝ่ายเข้าไปมีส่วนไม่มากก็น้อย จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนต้องรับฟัง ยอมรับในความผิดพลาดและให้อภัยกัน ลบความคิดแบบอคติออกให้หมด ทั้งนี้ ควรเริ่มจากรายงานหรือผลการศึกษาที่องค์กรต่างๆ จัดทำขึ้นทั้งในและต่างประเทศ

4.การกำหนดคู่ขัดแย้ง ต้องพิจารณาให้รอบด้าน ทั้งด้านความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ด้านประเด็นอำนาจคือชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ กองทัพและระบบราชการ พรรคและนักการเมืองและประชาชนที่ต้องการใช้อำนาจของตนผ่านการเลือกตั้ง ด้านการพิจารณา อย่าคับแคบเพื่อโทษบางกลุ่ม หรือมุ่งที่ 2 พรรคใหญ่ กลุ่มอิทธิพลใหญ่คือกลุ่มเสื้อเหลืองกับกลุ่ม กปปส.และกลุ่มเสื้อแดง

แนะตั้งกก.อิสระจากทุกภาคส่วน

5.กระบวนการสร้างปรองดอง ควรพิจารณาเป็นขั้นตอน ดังนี้ พิจารณาและยอมรับในสาเหตุร่วมกัน เยียวยาผู้ได้รับผล กระทบตามหลักนิติธรรม และบังคับใช้หลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัด นำกระบวนการยุติธรรมเพื่อการสมานฉันท์มาใช้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ชดเชยค่าเสียหายแก่ผู้ได้รับผล กระทบ เยียวยาผู้ได้รับความอยุติธรรมด้วยหลักนิติธรรม รณรงค์ให้ทุกฝ่ายให้อภัยผู้กระทำ ไม่มีการแก้แค้น กำหนดแผนและ ขั้นตอน(โรดแม็ป)ร่วมกันในการดำเนินการ

นอกจากนี้ต้องหามาตรการเสริม หลักนิติธรรม เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาในอนาคต เช่น การตรวจสอบและปฏิรูปศาลและองค์กรอิสระ การส่งเสริมและควบคุมให้สื่อต่างๆ ทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง ไม่ยุยงหรือสร้างความเกลียดชัง ไม่ใช้การรัฐประหารเพื่อแก้ไขปัญหา

6.ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมคือ ควรจัดตั้งคณะกรรมการอิสระ มาจากทุกภาคส่วน เปิดให้นักวิชาการ สื่อมวลชน องค์กรภาคประชาชน และผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง มีโอกาสร่วมเสนอความคิดเห็นอย่างเสรี และผลสรุปของแนวทางการสร้างปรองดอง ต้องเป็นข้อตกลงร่วมกันบนพื้นฐานที่คำนึงถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของมนุษย์อย่างเท่าเทียม ผูกพันกับหลักประชาธิปไตย และหลักนิติธรรมที่เป็นสากล ไม่ใช่เกิดจากการบังคับด้วยอำนาจ

กห.แจงไม่มีข้อเสนอให้อภัยโทษ

จากนั้นเวลา 11.30 น. พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ฯ กล่าวว่า บรรยากาศการพูดคุยร่วมกับทุกพรรค มีความเป็นกันเอง และสร้างสรรค์ มุ่งมั่นเสนอทางออกให้ประเทศ พร้อมเอาใจช่วยให้การปรองดองครั้งนี้เกิดผลสัมฤทธิ์ โดยการแถลงผลทุกครั้งเป็นการสรุปความเห็นของพรรค ไม่ใช่ความคิดเห็นส่วนตัว ซึ่งอนุกรรมการฯ เปิดกว้างรับฟังทุกความคิดเห็น และทำความเข้าใจไปพร้อมกันเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย ทั้งนี้ ทุกพรรคมองว่าเรื่องความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติของสังคม และเห็นประโยชน์ในการหาทางออกจากความขัดแย้งร่วมกัน ดังนั้น การเปิดกว้างให้พรรคและทุกฝ่ายได้แสดงความเห็นร่วมกันกำหนดทิศทาง จะเป็นทางออกและเกิดความรู้สึก เท่าเทียมกัน ทุกพรรคเห็นว่าต้องทำเรื่องปรองดองอย่างจริงใจ จริงจัง และไม่มีอคติ เนื่องจากไม่อยากให้เสียโอกาสในการเริ่มต้นวางรากฐานปรองดองให้ประเทศ

“ทุกพรรคมองว่าทุกฝ่ายควรทบทวนตนเองว่ามีบทบาทเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่ผ่านมาอย่างไร ยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกที่คั่งค้าง จำเป็นต้องใช้เวลา แต่ทุกฝ่ายต้องก้าวเดินออกไปร่วมกัน ทั้งภาคการเมือง ราชการ กองทัพ กระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจและกลุ่มทุน รวมถึงภาคสังคมทุกมิติต้องปฏิรูปตัวเอง ไม่อยากให้รื้อฟื้นถึงเรื่องเก่าๆ เพราะจะทำให้เดินหน้า ต่อไปไม่ได้ ทั้งนี้ทางพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยไม่ได้เสนอเรื่องการอภัยโทษ มีเพียงแต่บอกว่าทุกฝ่ายต้องให้อภัยกัน” พล.ต.คงชีพ กล่าว

โภคินชี้ปรองดองอยู่ภายใต้ปชต.

ด้านนายโภคิน พลกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวภายหลังการเสนอความคิดเห็นว่า ทางพรรคคิดว่าการปรองดองต้องอยู่ภายใต้บริบทประชาธิปไตย และเป็นกระบวนการที่ไม่ได้จบเพียงวันเดียว แม้จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วก็ตาม แต่ทุกภาคส่วนต้อง มีส่วนร่วมสร้างความปรองดองต่อไปในอนาคตด้วย ทั้งนี้ พรรคย้ำว่าต้องมีหลักนิติธรรม และยึดหลักให้อภัยต่อกัน โดยเฉพาะผู้เป็นเหยื่อต้องให้อภัยกับผู้กระทำ ส่วนคนกระทำควรพูดคำว่าขอโทษ

นายโภคินยังยกตัวอย่างกรณีสมาชิกบ้านเลขที่ 111 และ 109 ที่ถูกตัดสิทธิ์ 5 ปี โดยพวกเราไม่เคยต่อสู้คดีในศาล แต่สุดท้ายศาลยุติธรรมตัดสินว่าไม่ผิด ถามว่าแบบนี้พวกเราเป็นเหยื่อหรือไม่ แต่พวกเราก็ให้อภัย ถ้าไม่ทำแบบนี้ก็สร้างปรองดองไม่ได้ ซึ่งเราจะรณรงค์ทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว เพราะต้องมีคนเสียสละ มีคนได้รับความเจ็บปวด ซึ่งตนขอให้ผู้มีอำนาจเลิกย่ำยีผู้ถูกกระทำด้วย

นายโภคินกล่าวอีกว่า การปรองดองจะสำเร็จได้ ทุกฝ่ายต้องเลิกใช้วาทกรรมสร้างความเกลียดชังต่อกัน โดยให้กลุ่มการเมืองควรหยุดคำพูดที่ใช้อารมณ์ พร้อมกำชับแนวร่วม และผู้สนับสนุนการเมืองไม่ให้สร้าง วาทกรรมเกลียดชัง ซึ่งต้องทำให้ได้ ส่วนกระบวนการยุติธรรม ทั้งศาล รวมถึงองค์กรของรัฐต้องเป็นกลางอย่างเคร่งครัด และควรให้ประชาชนตรวจสอบได้ ซึ่งตนคิดว่าสิ่งที่จะทำให้สังคมไทยออกจากความขัดแย้งได้ คือ 1.ความจริงใจ 2.ความรู้ที่ถูกต้องในการแก้ปัญหา 3.ปราศจากอคติ และ 4.ต้องยึดหลักนิติธรรมและให้อภัยต่อกัน ขอย้ำว่าข้อเสนอของพรรคไม่ได้พูดถึงการนิรโทษกรรม

มีประชาชนร่วม-อย่าแค่พิธีกรรม

เมื่อถามว่าทำไมพรรคเพื่อไทยถึงตัดสินใจเข้าร่วมปรองดองในครั้งนี้ นายโภคินกล่าวว่า สังคมตระหนักแล้วว่าเราจะอยู่ในความขัดแย้งต่อไปแบบนี้ไม่ได้ และไม่เกี่ยวว่าใครเป็นคนริเริ่ม ในเมื่อกระทรวงกลาโหมริเริ่มปรองดองแล้ว จะไปบอกให้เลิกคงเป็นไปไม่ได้ เมื่อถามว่าข้อเสนอพรรค ได้หารือกับนายทักษิณและน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ มาก่อนหรือไม่ นายโภคินกล่าวว่า ไม่ถึงขั้นนั้น แต่เราสอบถามความเห็นจากหลายๆ คน พร้อมศึกษาเพิ่มเติมจากงานวิชาการ

“ผมหวังว่าเวทีปรองดองครั้งนี้จะไม่ใช่แค่พิธีกรรม และขอให้นักวิชาการ สื่อ เสนอความคิดเห็นได้อย่างเสรี ทำนองเดียวกันหากการปรองดองในครั้งนี้ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ก็จะตอบโจทย์การปรองดองไม่ได้ ส่วนการลงนามข้อตกลงการอยู่ร่วมกันในอนาคต ผมคิดว่าเรายังไม่ควรพูดถึงอนาคต เราไม่รู้ว่าต่อไปจะเป็นเช่นไร ไม่อยากเอาอนาคตมาทะเลาะกัน” นายโภคินกล่าว

อนุทินยันนิรโทษฯขอเสนอเมื่อ5ปี

วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า สิ่งที่นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่าตนเล่นการเมืองและเกี้ยเซี้ยกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และเป็นคนนำพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตหัวหน้าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ไปพบนายทักษิณนั้น เป็นเหตุการณ์เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ซึ่งพรรคภูมิใจไทยเคยมีแนวคิดเช่นนี้จริง แต่สถานการณ์การเมืองขณะนั้นแตกต่างจากตอนนี้ ตอนนั้นเรายังเป็นระบบรัฐสภา ทุกขั้วมวลชนต่างมีคดีติดตัวพอๆ กัน แต่ปัจจุบัน สถานะของคดีของแต่ละฝ่ายไม่เท่ากันแล้ว บางฝ่ายต้องคำพิพากษาไปแล้ว ขณะที่บางฝ่ายยังไม่ได้ขึ้นศาล เรื่องการนิรโทษกรรมทำไม่ได้แล้ว เพราะฐานของคดีที่แต่ละฝ่ายมีอยู่เป็นคนละฐานแล้ว ไม่มีทางคุยรู้เรื่อง

นายอนุทินกล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค. ที่พรรคได้รับเชิญไปประชุมกับคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่กระทรวงกลาโหม พรรคไม่ได้ให้ข้อมูลใดๆ กับสื่อ อีกทั้งตนก็ไม่ได้ให้สัมภาษณ์เลยหลังประชุมเสร็จ คงมีแต่นายวัชระ ออกมาให้สัมภาษณ์กล่าวหาพรรคภูมิใจไทยหนุนนิรโทษกรรม เลยเป็นประเด็นขึ้นมา

“สิ่งที่เขาพูดคือเหตุการณ์เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ผมขอเน้นย้ำว่าไม่ใช่แนวคิดในปัจจุบัน และประเด็นนิรโทษกรรมก็ตกไปพร้อมกับการสิ้นสุดของรัฐสภาเมื่อเดือนพ.ค.2557 ซึ่งการทำหน้าที่นิติบัญญัติของพรรคผมก็หมดสิ้นไปแล้ว”นายอนุทินกล่าว

กกต.แจงเป็นข้อเสนอหนุนปฏิรูป

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายภูมิพิทักษ์ กองแก้ว ผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการในตำแหน่งรองเลขาธิการกกต.ด้านกิจการบริหารกลาง เปิดเผยว่า ที่ประชุมกกต.มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาพรรค การเมืองเพื่อการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรม นูญ โดยให้นายเอนก เป็นประธาน และมีกรรมการประกอบด้วยตัวแทนของพรรคและนักวิชาการนั้น ยืนยันว่าการออกคำสั่งของ กกต. ไม่ใช่เพราะมีคำสั่งจากรัฐบาล แต่เป็นข้อเสนอด้านกิจการพรรคการเมือง เพื่อให้สอดคล้องกับปฏิรูปพรรคและการปฏิรูปประเทศของรัฐบาล

นายภูมิพิทักษ์กล่าวว่า ส่วนที่มองว่ามีเฉพาะตัวแทนพรรคใหญ่เข้าร่วมนั้น กกต.เห็นว่าถ้าตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่เกินไปจะไม่มีความกระชับเรื่องการทำงาน และการเชิญตัวแทนพรรคเข้าร่วมยืนยันว่าเข้าร่วมในนามส่วนตัว เอาประสบการณ์ของบุคคลนั้นๆ มาทำงาน ดังนั้น การตัดสินใจของบุคคลดังกล่าวในการทำงานจะไม่เกี่ยวข้องกับมติพรรค

ยิ่งลักษณ์โพสต์ในวันสตรีสากล

วันเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ โพสต์เฟซบุ๊กว่า วันที่ 8 มี.ค.ของทุกปีเป็นวันสตรีสากล ที่องค์การสหประชา ชาติ(ยูเอ็น) ก่อตั้งขึ้น เพื่อรำลึกถึงสตรีจากทั่วทุกมุมโลกที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้หญิง จากที่อ่านรายงานสภาเศรษฐกิจโลก พบว่าดัชนีช่องว่างระหว่างเพศ ปี 2016 ช่องว่างระหว่างเพศในโลกจะหมดไปอย่างสิ้นเชิงต้องใช้เวลาถึง 169 ปี จึงเป็นที่มาที่ยูเอ็นรณรงค์แคมเปญ กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงในปีนี้ เพื่อให้โลกของเราเปลี่ยนเป็นสังคมที่เสมอภาคเร็วขึ้น ซึ่งเริ่มได้จากตัวเรา ไม่ว่าหญิงหรือชาย เพียงให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ประเทศและโลกของเราจะเข้าใกล้สังคมที่มีความเสมอภาคมากขึ้น

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ขอเป็นอีกคนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยงแปลงที่ชัดเจน ขอเชิญชวนทุกภาคส่วนให้ความสำคัญเดินหน้าแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศระหว่างหญิงและชายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการใช้กำลังรุนแรงกับสตรี ขอให้วันสตรีสากลเป็นจุดเริ่มต้นของทุกคนในการให้เกียรติกัน พร้อมเชิญชวนให้แฟนเพจและประชาชนทุกคนเริ่มต้นคนละเล็กละน้อยด้วยการรับและให้โอกาสผู้หญิงรอบตัวท่านได้แสดงความสามารถ เพื่อให้บ้านเราเปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมที่เสมอภาค อย่าลืมเข้ามาเล่าสู่กันฟังในเพจนี้ว่า วันนี้ได้ทำอะไรเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชายแล้วหรือยัง

ณัฐวุฒิประชด-รู้สึกสุขขึ้นทันที

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)กล่าวว่า จากข่าวที่รัฐบาลบอกว่าสำนักข่าวต่างประเทศให้ไทยมีความสุขด้านเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกนั้น ทำให้ตนมีความสุขมากขึ้นทันที จึงค้นหาว่าที่มานั้นคืออะไรบ้าง พอสันนิษฐานได้ว่าเราอาจมีความสุข เพราะเกือบ 3 ปี คนไทยเท่าเทียมกันคือจนลงและทำมาหากินยากทุกสาขาอาชีพ บ้านเมืองสงบ ทั้งห้างร้าน กิจการต่างๆ แม้แต่ตลาดสดก็สงบเงียบเชียบ ได้รับเกียรติจากภาครัฐจัดให้เป็นคนมีฐานะ เพราะขึ้นภาษีหลายด้านทยอยประกาศตลอดเวลา การเมืองก็เรียบร้อย ในสภาไม่มีภาพโต้แย้งให้รำคาญ ใจ แม้แต่เรื่องใหญ่แบบซื้อเรือดำน้ำอยู่ในพ.ร.บ.งบประมาณฯ ก็ผ่านสนช.โดยไม่มีสมาชิกคนใดทักท้วง

“คนไทยรู้จักให้อภัย ไม่เอาเรื่องกัน รับค่าหัวคิวแล้วคืนเงินก็ไม่เป็นไร ตั้งบริษัทในค่ายทหารก็ได้ ขาดลงมติในสภามากมายก็ไม่ต้องโชว์ใบลา ทุกเรื่องที่มีปัญหาตั้งกรรมการสอบกันเองแล้วจบกันไป สภาพแบบนี้อาจถูกอธิบายเป็นการคืนความสุขหรือไม่ คิดว่าดัชนีชี้วัดความสุขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ผมอยากเห็นรัฐบาลมีความสุข ทำอะไรที่สบายใจ ไม่ต้องกังวลว่าใครจะต่อต้าน เพราะเรายืนยันว่าไม่เคลื่อนไหวใดๆ อยู่นานแค่ไหนก็ว่าไปเลย สถานการณ์แบบนี้คือการเรียนรู้ร่วมกันของสังคมไทยทั้งประชาชนและผู้มีอำนาจ ขึ้นอยู่กับบทสุดท้าย ใครจะให้บทเรียนกับใคร และที่พยายามจุดกระแสเรื่องพล.อ.สนธิไปพบนายทักษิณนั้น อย่าไปทำให้เป็นทุกข์เลย เรื่องเกิดหลายปีแล้ว ตอนนั้นพล.อ.สนธิไม่มีอำนาจแล้วด้วย แต่ถ้าได้รู้ว่าก่อนยึดอำนาจ 19 ก.ย.49 ใคร กลุ่มไหน พรรคใดไปพบไปคุยกับพล.อ.สนธิบ้าง น่าสนใจกว่าเยอะ” นายณัฐวุฒิกล่าว

สปท.ชงให้โอกาสผู้ต้องคดีชุมนุม

ที่รัฐสภา นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ให้สัมภาษณ์ถึงการปรับปรุงรายงานการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างปรองดองทางการเมืองว่า อยู่ระหว่างให้เจ้าหน้าที่แก้ไขถ้อยคำของรายงาน ก่อนส่งให้วิปสปท.พิจารณาในสัปดาห์หน้า โดยหลักการสำคัญที่เพิ่มเติมคือ การให้โอกาสแก่ผู้ที่ต้องคดีซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2547-2557 โดยใช้กระบวนการฝ่ายบริหารดำเนินการร่วมกับการพิจารณาของศาล

นายเสรีกล่าวว่า สำหรับข้อเสนอนั้นจะให้รัฐบาลและป.ย.ป. เป็นผู้ตั้งคณะกรรมการฝ่ายที่ 3 ซึ่งไม่ใช่คู่ขัดแย้ง เพื่อพิจารณารายละเอียดของบุคคลที่ถูกกล่าวหาและโดนดำเนินคดีทางการเมือง สำหรับบุคคลที่ยังอยู่ในชั้นดำเนินการของอัยการ อาจมีมาตรการถอนฟ้อง หรือกรณีเข้าสู่กระบวนการทางศาลแล้วอาจใช้แนวทางรอลงอาญา ส่วนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีและถูกจำคุกนั้น เสนอให้ใช้มาตรการพักการลงโทษตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์

นายเสรีกล่าวด้วยว่า สำหรับบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม และถูกหน่วยงานฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายนั้น เสนอให้รัฐบาลใช้มาตรการเจรจา ไกล่เกลี่ยตามกระบวนการ เช่น กรณีชดใช้ หรือกรณีไม่ชดใช้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวใช้นโยบายของรัฐดำเนินการได้ ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวไม่ใช่เพื่อเอื้อให้กับกลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่ถูกหน่วยงานฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการชุมนุมที่สร้างผล กระทบทางเศรษฐกิจ แต่เป็นประเด็นที่ต้องการคลี่คลายปัญหา เพราะต้องยอมรับว่ากลุ่มบุคคลที่ถูกฟ้องร้องทางแพ่งนั้น แม้ฝ่ายรัฐจะชนะคดี แต่บุคคลคงไม่มีทรัพย์สินใดให้ชดใช้ และ บางคนอาจถูกฟ้องล้มละลาย โดยรัฐไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ดังนั้น ข้อเสนอดังกล่าวต้องการปลดล็อกปัญหาการเมือง

“ตู่”งดออกกำลัง-ผวาฮีตสโตรก

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 8 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเปิดสัมมนา “วิสัยทัศน์รัฐบาลดิจิทัลประเทศไทย” โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า โลกมีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน และ วันเดียวกันนี้ สภาพอากาศจะร้อนมากโดยเฉพาะช่วงบ่ายจะร้อนสุดๆ จึงหารือว่าถ้าอากาศเป็นอย่างนี้ควรจะออกกำลังกายหรือไม่ ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยง จึงขอให้ชะลอการออกกำลังกายในวันนี้ไว้ก่อน แต่ไม่ได้บังคับสำหรับผู้ที่มีความแข็งแรงถ้าจะออกกำลังกายก็ไม่ว่ากัน แต่ขอให้งานอย่าเสีย

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เผยว่า สาเหตุที่นายกฯ งดออกกำลังกายประจำสัปดาห์ ในวันนี้ เนื่องจากได้รับทราบข้อมูลจากกรมอุตตุนิยมวิทยาว่าคลื่นความร้อน (heat wave) เข้ามายังประเทศไทยแล้ว กลัวว่าถ้าออกกำลังกายในช่วงบ่ายคนจะเป็นฮีตสโตรก โดยเฉพาะผู้สูงอายุ

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ในวันนี้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ได้งดจัดกิจกรรมออกกำลังกายกลางแจ้งประจำสัปดาห์ ที่ทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากสภาพอากาศที่เริ่มร้อนจัด พล.อ.ประยุทธ์ จึงเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อสุขภาพของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่ทำเนียบ ที่ร่วมกิจกรรม แต่หน่วยงานอื่นๆ นายกฯขอให้ใช้ดุลพินิจว่าควรจัดกิจกรรมหรือไม่ และหากจะจัดกิจกรรมควรเป็นบริเวณใด สถานที่ใดจึง จะเหมาะสม แต่ขอให้คำนึงถึงสุขภาพของบุคลากรภายในหน่วยงานเป็นสำคัญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน