วงเสวนามธ. คึกคัก! นักกฎหมาย ย้ำพ้นก.ย.2559 พลเรือนขึ้นศาลทหารไม่ได้ เผยเปิดสภาใหม่พร้อมชง ปลดอาวุธคสช. แนะเร่งออกพ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งม.44

เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มูลนิธิศาตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย และศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญวิทยา จัดเสวนาเรื่อง “วิพากษ์มรดกกฎหมายอาญายุคคสช.” โดย นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตกฎหมายเพื่อประชาชน (ไอลอว์) กล่าวว่า ในยุค คสช.กฎหมายถูกออกโดยผู้มีอำนาจและใช้เพื่อผู้มีอำนาจ ซึ่งตามสถิติการออกกฎหมายโดยคสช.โดยการทำงานของ สนช. รวม 444 ฉบับ ประกาศและคำสั่งคสช.อีก 537 ฉบับ ฉบับไหนมีประโยชน์ก็คงไว้ ฉบับไหนสร้างผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนก็แก้ไขยกเลิก เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณะ ที่ถูกนำมาใช้ปิดกั้นการแสดงออก จับประชาชนเป็นร้อยคน ถือเป็นงานใหญ่ที่ต้องจัดการ

นายยิ่งชีพ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การรณรงค์ล่าชื่อ 10,000 รายชื่อปลดอาวุธคสช. ที่ไม่ได้หมายถึงปืน แต่คือกฎหมาย ประกาศและคำสั่งที่รัฐธรรมนูญมาตรา 279 รองรับไว้ ซึ่งต้องใช้การออกพ.ร.บ.ที่ประชาชนผลักดัน เมื่อเปิดสภาที่มาจากการเลือกตั้งมายกเลิก ตามมาตรา 133 ของรัฐธรรมนูญ เบื้องต้นมีทั้งสิ้น 35 ฉบับที่ต้องจัดการ มิเช่นนั้นประกาศคำสั่งเหล่านี้ จะมีอายุยืนยาวตลอดไป

เกาะติดข่าวการเมืองข่าวเลือกตั้ง แค่กดเป็นเพื่อนกับไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ด้าน นายปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า กฎหมายที่ไม่ถูกต้อง เมื่อมีสภาก็ต้องแก้ไขสิ่งไม่ถูกต้อง ด้วยวิธีที่ถูกต้องตามระบบ ต้องใช้กลไกรัฐสภาตามหลักสากลในการแก้ไข เรื่องการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารก็เช่นกัน ต้องตีความตามป.วิอาญา ที่การจะบังคับใช้กฎหมายต้องทำทันที ส่วนตามป.อาญานั้น จะมีผลร้ายย้อนหลังไม่ได้ ซึ่งในเดือนก.ย.2559 มีประกาศคสช.ออกมาแล้วว่า พลเรือนไม่ต้องขึ้นศาลทหารแล้ว ให้คดีทั้งหมดมาที่พลเรือน ดังนั้น ต่อให้คดีที่เกิดก่อนเดือนก.ย. 2559 ก็ต้องมาที่ศาลพลเรือนตามหลักทั่วไป

ขณะที่ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า เรื่องที่ต้องทำจริงจังทันที คือการยกเลิกไม่ให้พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร การตีความคดีที่เกิดขึ้นก่อนเดือนก.ย.2559 พลเรือนยังต้องขึ้นศาลทหารนั้น ถือว่าไม่เข้าท่า ขัดต่อรัฐธรรมนนูญ ซึ่งสังคมไทยควรกลับคืนสู่ความปกติตั้งแต่บังคับใช้เมื่อเดือนเม.ย. 2560 แล้ว ถือเป็นครั้งแรกที่มีการใช้อำนาจพิเศษในปริมาณที่มากและอำนาจตามมาตรา 44 จะยกเลิกได้ต้องออกเป็นพ.ร.บ.เท่านั้น ไม่ใช่ยกเลิกง่ายๆ

นายปริญญา กล่าวต่อว่า โดยการจะแก้ไขได้ง่าย ๆ นั้น อาจจะขอให้รัฐบาลใหม่ยกเลิกด้วยคำสั่งนายกฯ หรือมติ ครม.ได้เลย แต่หากรัฐบาลใหม่ เป็นนายกฯ คนเดิมก็อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะยกเลิกคำสั่งที่เขาเป็นคนออกเอง ดังนั้น ตนอยากให้ทุกพรรคนำความเชื่อมั่นระบบรัฐสภากลับคืนมา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน