นปช.-กปปส.ยืนยันขนแกนนำ ชุดใหญ่ร่วมเวทีปรองดอง “จตุพร”ระบุ 15 มี.ค.แกนนำเสื้อแดงไปกันครบ “เทือก”ก็ประกาศยกทั้งคณะนกหวีดร่วมพูดคุย 17 มี.ค. อนุปรองดองรับฟังข้อเสนอปรองดองเล็งเชิญกลุ่มนักธุรกิจ-นักวิชาการ-นักศึกษา เข้าเสนอความเห็นเป็นคิวต่อไป อนุศึกษาร่างกฎหมายกสม.ชงปรับเนื้อหา ดึงเอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชน สภาทนาย บุคลากรวงการแพทย์และตัวแทนสภาวิชาชีพสื่อ ร่วมเป็นกรรมการ กมธ.ศาสนา สนช. ชะลอปรับแก้กฎหมายแพ่ง-พาณิชย์เกี่ยวกับการจัดการทรัพย์ของสงฆ์ หวั่นกลายเป็นประเด็นสุมไฟขัดแย้ง “ปู”ทอดผ้าป่าผู้สูงอายุ-บรรจุหัวใจองค์พระพุทธรูป ที่พะเยา

กห.เล็งเชิญนักธุรกิจ-อจ.-นศ.

วันที่ 11 มี.ค. พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ในชุดคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง กล่าวถึงความคืบหน้ารับฟังข้อเสนอแนะแนวทางปรองดองของพรรคการเมืองต่างๆ ว่า จากการรับฟังความคิดเห็นของตัวแทนพรรคการเมือง คิดว่าในสัปดาห์หน้าคงจะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นใกล้จะครบแล้ว ส่วนกระบวนการต่อไปก็จะเชิญกลุ่มการเมืองต่างๆ เข้าร่วมเสนอความคิดเห็น โดยวันที่ 15 มี.ค. จะเชิญกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และวันที่ 17 มี.ค. จะเชิญกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) จากนั้นจะเชิญกลุ่มภาคส่วนอื่นๆ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย เช่นกัน ทั้งกลุ่มภาคธุรกิจ กลุ่มนักศึกษา กลุ่มนักวิชาการ รวมทั้งกลุ่มอื่นๆ โดยฝ่ายเลขานุการจะประสานเชิญเข้าร่วมพูดคุยเสนอแนะแนวทางปรองดองในโอกาสต่อไป คิดว่าจะพยายามเชิญทุกๆ ภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด

“สำหรับการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความปรองดองของคนในชาติ คณะอนุ กรรมการของผมจะรับฟังความคิดเห็นของตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ โดยมีคณะอนุกรรมการพิจารณาบูรณาการข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มีพล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผบ.สส. เป็นประธาน ร่วมรับฟังข้อคิดเห็นไปด้วยกัน พร้อมทั้งวิเคราะห์ข้อมูลและรวบรวมความคิดเห็นคู่ขนานไปพร้อมๆ กัน ที่ผ่านมาเราได้รับฟังข้อมูลที่ดี ทุกพรรคการเมือง ให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสร้างความปรองดอง” ปลัดกระทรวงกลาโหมกล่าว

ยัน 10 แกนนำนปช.ร่วมเวที

นายจตุพร พรหพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวว่า สำหรับ นปช.ยังคงยืนยันที่จะเข้าร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการสร้างความปรองดอง ตามคำเชิญของทางคณะอนุกรรม การรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ในวันที่ 15 มี.ค.นี้ เวลา 13.00 น.เป็นต้นไปที่กระทรวงกลาโหม โดยจะมีแกนนำ นปช.ไปร่วมพูดคุยครบทั้ง 10 คน อาทิ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ นพ.เหวง โตจิราการ นายนิสิต สินธุไพร และตน เป็นต้น โดยเราจะได้จัดทำคำตอบของคำถามรวม 10 ข้อ รวมทั้งข้อเสนอแนะรวมถึงทางออกของปัญหา ซึ่ง นปช.ได้พูดคุยกันอย่างตกผลึก จัดพิมพ์เป็นเอกสารรูปเล่มความหนา 16 หน้า เสนอต่อทางคณะอนุกรรมการไปด้วย นอกจากนี้จะได้นำข้อเสนอแนะที่เสนอกับทาง สปท.ไปก่อนหน้านี้ แนบไปพร้อมกันด้วย

“ความปรองดองที่ทุกคนมีความเชื่อและคาดหวังนั้น เกิดขึ้น เพราะพระกระแสรับสั่งของในหลวงรัชกาลที่ 10 ดังนั้นเราพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ทั้งนี้ยืนยันว่าในการไปเสนอแนะความเห็นนั้นจะพูดถึงข้อเท็จจริงเชิงวิชาการและเสนอแนะทางออกของปัญหาอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่การไปประณามหรือว่ากล่าวกันอย่างแน่นอน” นายจตุพรกล่าว

กปปส.ยกคณะร่วม-ย้ำปฏิรูป

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย แกนนำกปปส. กล่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ หัวข้อ “กปปส. พบป.ย.ป. ร่วมเสนอแนวทางปฏิรูปประเทศ” ตอนหนึ่งว่า ตนในฐานะคณะกรรมการ กปปส.ได้ตอบรับคำเชิญ ป.ย.ป.ที่ได้มีหนังสือมาถึง กปปส.เพื่อขอให้เข้าไปแสดงความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปในวันที่ 17 มี.ค.นี้ โดยเราจะยกไปทั้งคณะเพื่อไป แสดงความเห็น ซึ่งจะสอดคล้องกับที่มวล มหาประชาชนได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศไทยโดยทันที

นายสุเทพกล่าวว่า นับตั้งแต่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เข้ามาบริหารประเทศได้ลงมือปฏิรูปเท่าที่ทำได้ไปหลายเรื่อง และมีผลดำเนินงานที่ประชาชนพอใจ ที่สำคัญคือรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปที่นายมีชัย ฤชุพันธ์ุ ประธาน กรธ.ได้จัดทำสำเสร็จ และประชาชนให้ความเห็นชอบ ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้จะมีการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นรายละเอียดของกระบวนการและขั้นตอนของการปฏิรูปในแต่ละด้าน ดังนั้น กปปส.จะไปเสนอความเห็นให้สมกับเจตนารมณ์ของมวลมหาประชาชนที่ได้แสดงเจตจำนงเอาไว้ โดยเราจะร่วมมือกับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ผลักดันการปฏิรูปให้สำเร็จให้ได้ และตั้งแต่วันนี้ตนจะขอนำเสนอรายละเอียดเพื่อเป็นการทบทวนความทรงจำของมวลมหาประชาชนทั้งหลาย และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมคิด เพื่อให้งานปฏิรูปสมบูรณ์แบบอย่างที่ฝันและตั้งใจไว้

โต้ไอเดียทหารกลับกรมกอง

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงข้อเสนอให้ทหารกลับกรมกอง ในเวทีรับฟังความเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองที่ จ.นครราช สีมา ว่า คงไม่ผิดปกติอะไรถือเป็นมุมมองและข้อคิดเห็นหนึ่ง ที่จริงแล้วหากสภาพการณ์บ้านเมืองปกติจะเห็นว่าทหารก็คงอยู่ในกรอบงานและปฏิบัติงานตามปกติ ซึ่งอาจแตกต่างไปบ้างเพราะช่วงนี้ยังเป็นช่วงเวลาที่ไม่ปกติ จึงเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทหารมีภาระหน้าที่เพิ่มเติมบ้างตามคำมอบหมายงานผ่านคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. เพื่อให้ประเทศบรรลุเป้าหมาย พร้อมทั้งเสริมประสิทธิภาพให้งานด้านต่างๆ รวมทั้งทำให้สังคมได้รับความเป็นธรรมไม่ถูกเอาเปรียบเช่นเรื่องปัญหาผู้มีอิทธิพล หรือปัญหาเงินกู้นอกระบบเป็นต้น อีกทั้งที่ผ่านมาสัญญาณที่เห็นกันในเชิงประจักษ์ส่วนใหญ่ค่อนข้างส่งผลบวก และค่อนข้างได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน

กรธ.แก้ร่างพรบ.กสม.แล้วเสร็จ

นายนรชิต สิงหเสนี กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาหลักการร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ…. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับปรุงเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญกสม. ว่าหลังจากที่ กรธ.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อเนื้อหาและมีภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าให้ความคิดเห็นนั้น

ล่าสุด กรธ. ได้ปรับปรุงเนื้อหาฉบับเบื้องต้นแล้วเสร็จแล้ว สาระสำคัญคือทำเนื้อหาให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ และกำหนดวิธีการขั้นตอนที่แก้ปัญหาในอดีตที่ผ่านมา อาทิ บทบัญญัติว่าด้วยการกรรมการสรรหา กสม.ที่กำหนดให้มีตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพต่างๆ ได้แก่ ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน จำนวน 3 คน ผู้แทนสภาทนายความ 1 คน ผู้แทนสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณ สุข 1 คน และ ผู้แทนสภาวิชาชีพสื่อมวลชน 1 คน เป็นกรรมการร่วม ประธานศาลฎีกา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภา ตุลาการศาลปกครองสูงสุด รวมเป็น 9 คนนั้น เพราะต้องการให้กรรมการสรรหามีความหลากหลายและแก้ไขข้อทักท้วงของคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ไอซีซี) ที่ระบุว่าการสรรหา กสม.ไม่หลากหลายและส่งผลให้การจัดอันดับขององค์กรกสม.ในประเทศ ไทยถูกลดเกรดจาก เกรดเอ เป็นบีเมื่อปีที่ ผ่านมา

ดึงตัวแทนสภาวิชาชีพสื่อเข้าร่วม

นายนรชิตกล่าวว่า ส่วนเหตุผลสำคัญที่กำหนดให้มีตัวแทนสภาวิชาชีพสื่อมวลชนด้วยนั้นเพราะเป็นประเด็นที่องค์กรสากลเสนอแนะไว้ เชื่อว่ากรณีให้มีตัวแทนสภาวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นกรรมการสรรหานั้นจะไม่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ อีกทั้งการคัดเลือกผู้แทนของสภาวิชาชีพจะคัดเลือกบุคคลที่อยู่ในสายงานด้านสิทธิมนุษยชน เพราะ ต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์เข้าคัดสรรคนด้วย

นายนรชิตกล่าวว่า สำหรับการทำหน้าที่ ของกสม. ส่วนของการตรวจสอบและชี้แจงกรณีพบรายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงหรือไม่เป็นธรรมนั้นไม่ใช่กำหนดขึ้นเพื่อให้ กสม.แก้ต่างแทนรัฐบาล แต่เห็นว่าเป็นหน้าที่ที่กสม.ต้องทำ พร้อมกับการทำรายงานประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนประจำทุกปีให้กับรัฐสภารับทราบด้วย ขณะเดียวกัน การปฏิบัติหน้าที่ของ กสม. ต่อการเข้าประชุมหรือการออกเสียงลงมติต่างๆ มีข้อกำหนดให้ กสม.ต้องเข้าประชุม หากไม่สามารถร่วมประชุมได้ต้องแจ้งเหตุของการไม่เข้าประชุมด้วย และเมื่อมีการลงมติในเรื่องใดๆ กำหนดให้กรรมการทุกคนที่ร่วมประชุมต้องออกเสียงชี้ขาด หากไม่ออกเสียงโดยไม่มีเหตุอันสมควร เช่น เดินออกจากที่ประชุมให้ถือว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม

สนช.ยันไม่ใช้ม.77ถ่วงกฎหมายลูก

นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 กล่าวถึงกระบวนการร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับต่อจากกรธ. ว่า สนช.เตรียมพร้อม โดยเฉพาะมาตรา 77 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญใหม่ เรื่องรับฟังความเห็นกฎหมายลูก ซึ่งกรธ.ได้ดำเนินการแล้ว ก่อนส่งมาที่สนช. ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นทางการและกรธ.ส่งร่างกฎหมายมาเราไม่ต้องไปทำซ้ำในสิ่งที่ กรธ.ทำไปแล้ว สนช.เพียงมีหน้าที่ดูว่าสิ่งที่กรธ.ทำ ครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งมาตรา 77 วรรค 2 จะกระทบกับกฎหมายเดิมที่ค้างอยู่ในชั้นสนช. เช่น กฎหมายปิโตรเลียม กฎหมายเกษตรพันธสัญญา ที่กำลังเร่งทำอยู่เท่านั้น จะไม่ทำให้กฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งล่าช้า ส่วนที่มีคนเกรงว่าสนช.จะดึงกฎหมายลูกนั้น นายพีระศักดิ์กล่าวว่าขอให้สบายใจเพราะทุกฝ่ายรู้หน้าที่ของตัวเอง ส่วนตัวก็ไม่คิดจะดึงเพราะไม่ชอบหมกเม็ดอยู่แล้ว สนช.เองก็หารือเตรียมพร้อมอยู่ตลอด

นายพีระศักดิ์กล่าวว่า ในรอบ 90 วันนี้ สนช.พยายามกำชับสมาชิกให้มาลงมติการประชุมเกินครึ่งของจำนวนการลงมติ บรรยา กาศเป็นไปด้วยดี คึกคักเพราะเราพยายามกระตุ้น ช่วยกันบริหารเวลา จะแจ้งสมาชิกเรื่องการลงมติล่วงหน้าได้จัดระเบียบเรื่องการลงมติกฎหมายสำคัญจะบรรจุไว้ช่วงบ่ายของการประชุมวันพฤหัสฯ ส่วนวันศุกร์เป็นเรื่องกระทู้เพื่อช่วยให้สมาชิกไปจัดลำดับการทำหน้าที่ของตนเอง

สนช.เรียกประชุมวาระถอดปึ้ง

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ได้นัดประชุมสนช.ครั้งที่ 17/2560 ในวันที่ 16 มี.ค. เวลา 10.00 น.โดยวาระสำคัญคือการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (ฉบับที่ ..) พ.ศ….. ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอในวาระรับหลักการ, ร่างพ.ร.บ.ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาศึกษาเสร็จแล้ว 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …และร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ…..

นอกจากนี้ ยังมีวาระการดำเนินกระบวน การถอดถอนนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ ออกจากตำแหน่ง (กรณีออกหนังสือเดินทางธรรมดาให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) โดยมิชอบ) ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ประกอบมาตรา 64 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยจะเป็นขั้นตอนการแถลงเปิดสำนวนของทั้ง 2 ฝ่าย คือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้กล่าวหา และการแถลงคัดค้านโต้แย้งคำแถลงเปิดสำนวนของนาย สุรพงษ์ ผู้ถูกกล่าวหา โดยที่ประชุมจะพิจารณาประเด็นที่จะซักถามเพิ่มเติม และตั้งคณะกรรมาธิการซักถามด้วย

ทั้งนี้ การดำเนินการถอดถอนหรือไม่ถอดถอนนายสุรพงษ์ สนช.ได้กำหนดลงมติในวันที่ 30 มี.ค.นี้ ซึ่งน่าจะเป็นคดีถอดถอนสุดท้ายของ สนช.เนื่องจากรัฐธรรมนูญใหม่ที่รอการโปรดเกล้าฯ ได้ตัดอำนาจการถอดถอนซึ่งเคยเป็นหน้าที่ของวุฒิสภาออก ไปแล้ว

ชะลอกม.จัดการทรัพย์สินสงฆ์

พล.อ.อ.อาคม กาญจนหิรัญ รองประธานคณะทำงานปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ในคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สนช. เผยว่า หลังจากที่นายจรัญ ภักดีธนากุล คณะทำงานปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เสนอเรื่องไปยังประธาน สนช.เพื่อให้มีการแก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 2 มาตราที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพย์สินของวัดและพระสงฆ์ ซึ่งประธานสนช.ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมาธิการศาสนาฯ พิจารณา และได้มีการตั้งคณะทำงานที่มีนายสมพร เทพสิทธา เป็นประธานขึ้นมาพิจารณาศึกษาเรื่องดังกล่าว ซึ่งคณะทำงานได้มีการประชุม 2 ครั้ง แต่ยังไม่ได้ข้อยุติใดๆ ปรากฏว่ามีการนำเสนอข่าวทำนองว่า สนช.เตรียมแก้ไข พ.ร.บ.สงฆ์ ทำให้ พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ ประธานกรรมาธิการ เห็นว่าข่าวดังกล่าวประสงค์ร้ายต่อ สนช.เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและร้ายแรงต่อสังคมส่วนใหญ่ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสนช. จะกลายเป็นไปสุมไฟมากขึ้น จึงสั่งให้ระงับการพิจารณาศึกษาไว้ก่อน ถึงแม้คณะทำงานจะมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาศึกษาก็ตาม แต่เรื่องดังกล่าวเป็นไปไม่ได้เพราะเกี่ยวกับการเงินต้องผ่านความเห็นชอบรัฐบาล คณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน สนช.ไม่สามารถดำเนินการได้ทันที

พล.อ.อ.อาคมกล่าวว่า ยืนยันว่าเรื่องที่คณะทำงานศึกษาเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับวัดพระธรรมกายใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนที่มีกระแสข่าวเรื่องที่ลูกศิษย์หลวงตามหาบัวทำหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ให้ระงับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สงฆ์ (ฉบับมหาคณิสสร) เพราะเป็นการเหยียบย่ำพระธรรมวินัยและราชประเพณีร้ายแรงนั้น เห็นในข่าวเท่านั้น แต่ทางกรรมาธิการยังไม่ได้รับเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น

พท.จี้รบ.ลดรายจ่ายตัวเอง

นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย การเดินหน้าประเทศตามโรดแม็ปก็ไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้นเลย ไม่รู้ว่ากรธ.ร่างกฎหมายลูกไปถึงไหนแล้ว เมื่อไรถึงจะเสร็จ โดยเฉพาะกฎหมายลูกสำคัญๆ ที่ต้องใช้ในการเลือกตั้ง ทั้งร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรค การเมือง ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขอเตือนให้ พล.อ.ประยุทธ์ รีบคืนอำนาจ รีบเดินหน้าเลือกตั้งตามโรดแม็ป ประเทศถึงจะกลับฟื้นคืนได้จากสภาวะที่ย่ำแย่อยู่ในขณะนี้

นายวรชัยกล่าวว่า สถานการณ์ข่าวในโลกโซเชี่ยลขณะนี้หนีไม่พ้นเรื่องของวัดพระธรรมกาย ประเด็นการซื้อเรือดำน้ำไปจนถึงเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาพูดว่าจะขอขึ้นแวตอีก 1% อดสงสัยไม่ได้เลยว่าถ้าไม่มีเสียงคัดค้านจากหลายๆ ฝ่าย รวมทั้งประชาชน รัฐบาลอาจขึ้นภาษีอีก 1% ก็เป็นได้ รัฐบาลชุดอื่นๆ สร้างเศรษฐกิจให้ประชาชนลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ แต่รัฐบาลนี้กลับทำสวนทาง สร้างแต่รายจ่าย รายได้ก็ไม่เพิ่ม แต่ภาพที่รัฐบาลไปเพิ่มงบประมาณให้กระทรวงกลาโหมเป็นแสนล้านเพื่อไปจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งไม่มีความจำเป็นเลย รัฐบาลต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุด โดยต้องลดรายจ่ายของตัวเองลง ไม่ต้องไปซื้ออาวุธและเรือดำน้ำ ไม่ต้องไปเสียเงินทำโครงการที่ยังไม่จำเป็น

ปชป.เข้าใจ”บิ๊กตู่”-พลาดกันได้

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณีพล.อ.ประยุทธ์ ถูกโจมตีเรื่องการออกมาพูดถึงการขึ้นภาษีจาก 7 เป็น 8 เปอร์เซ็นต์ว่า ที่จริงไม่อยากวิจารณ์เพราะไม่ถนัดเรื่องเศรษฐกิจ แต่ถ้าพูดถึงเรื่องการเมืองต้องยอมรับความจริงว่าตัว นายกฯ ไม่ได้เติบโตมาในสายการเมือง เรื่องบางเรื่องพอคิดอาจพูดไปเลย บางเรื่องอ่อนไหว อย่าไปทำให้เป็นเรื่องใหญ่ในบรรยากาศการปรองดองแบบนี้ ถ้าการพูดของนายกฯผิดจังหวะหรือพลาดไป ถ้าไม่คอขาดบาดตายก็อย่าไปขยายปม คนผิดพลาดกันได้ แต่เราต้องดูว่าความผิดพลาดเสียหายกับบ้านเมืองหรือไม่ ถ้าไม่เสียหายอะไรมากก็ลืมๆ ไปเสียบ้าง

นายนิพิฏฐ์กล่าวว่าส่วนเรื่องปรองดองที่เริ่มมีคนออกมาโจมตีรัฐบาลในทำนองเปิดเวทีแบบไม่จริงใจนั้น ตนบอกแต่ต้นแล้วทุกคนต้องให้ความร่วมมือ ประคับประคองให้เกิดขึ้นให้ได้ และต้องประเมินว่าการพูดของเราทำให้เกิดความปรองดองยากหรือไม่ ถ้าทำให้เกิดขึ้นยาก ก็อย่าเพิ่งพูด ถ้าพูดแล้วปรองดองเกิด ง่ายขึ้นก็พูด ทุกคนหวังผลสำเร็จทั้งนั้น

ไม่ห่วงม.77ทำกม.ลูกล่าช้า

นายนิพิฏฐ์กล่าวถึงกรณี สนช.และกรธ.เป็นห่วงการออกกฎหมาย หลังร่างรัฐธรรม นูญใหม่ประกาศใช้จะล่าช้า เพราะต้องคำนึงถึงมาตรา 77 วรรค 2 ในรัฐธรรมนูญใหม่ ที่กำหนดให้ต้องรับฟังความเห็นจากผู้ได้รับผลกระทบก่อน ว่า ไม่น่ามีปัญหา โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ กรธ.บอกว่าบางฉบับเสร็จแล้ว กำลังนำไปรับฟังความเห็นในต่างจังหวัดอยู่ตลอด แบบนี้เรียกว่าทำรอไว้ล่วงหน้าทำไปด้วยรับฟังไปด้วย พอรัฐธรรมนูญประกาศใช้ก็ส่งสนช.ต่อทันที แต่ถ้าสนช.จะถ่วงก็มีขั้นตอนให้ถ่วงได้ แต่ต้องดูเจตนา ถ้าสนช.คิดจะถ่วงจะคว่ำสิ่งที่กรธ.เขียนทันที ถามว่ามันเคยมีหรือไม่ที่แม่น้ำสายหนึ่งไปขัดแย้งกับแม่น้ำกับอีกสายอย่างรุนแรงจนไม่รับกฎหมาย ซึ่งมันไม่เคยมี ขนาดงบประมาณยังผ่านแค่ไม่กี่ชั่วโมง ดังนั้น ถ้าสนช.คว่ำโดยไม่มีเจตนาอื่นนอกจากอยากอยู่นาน

“แต่ขอเตือนว่าจะคว่ำสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ ต้องดูเจตนาผู้มีอำนาจ อย่าซี้ซั้ว ต้องเล็งทายใจนายกฯให้ถูกว่า ทำอย่างนี้ท่านนายกฯ จะรักหรือไม่ เหมือนเด็กที่ต้องคอยดูผู้ใหญ่ ถ้าไม่รัก ก็ไม่ทำ ถ้าสนช.เก็งข้อสอบผิดจะไม่ได้กลับมาเป็น ส.ว. 250 คน จึงมีพวกพยายามเอาใจผู้มีอำนาจมีตัวให้เห็นอยู่แล้วชัดเจนแบบจะจะ” นายนิพิฏฐ์กล่าว

“ปู”ทอดผ้าป่า-บรรจุหัวใจพระ

เวลา 12.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เดินทางมาเป็นประธานการทำบุญทอดผ้าป่าสามัคคี ณ วัดเทพวราราม (วัดป่าบ้านถ้ำ) บ้านสันต้นเปา หมู่ 11 ต.บ้านถ้ำ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา โดยมีนักการเมืองของพรรคเพื่อไทยในพื้นที่มาร่วมครบทีม ประกอบด้วย นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีตส.ส. พะเยา นายไพโรจน์ ตันบรรจง น.ส.อรุณี ชำนาญยา นายเสถียร เชื้อประเสริฐศักดิ์ และ นายวรวิทย์ บุรณศิริ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา ทั้งหมดเดินทางถึงวัดเทพวราราม เพื่อร่วมงานทอดผ้าป่าผู้สูงอายุ 4 ตำบล กับประชาชนในหมู่บ้าน

หลังเสร็จพิธี น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้พบประชาชนที่มาร่วมทำบุญและรอต้อนรับประมาณ 300 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ต.บ้านถ้ำ อ.ดอกคำใต้ และกลุ่มผู้นำจากพื้นที่ อ.เมืองพะเยา อ.จุน มาร่วมงานในครั้งนี้ โดยประชาชนที่มารอพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นำดอกกุหลาบสีแดงมามอบเป็นการต้อนรับด้วย จากนั้นเวลา 14.45 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางไปที่วัดพระธาตุจอมศีล ต.บ้านถ้ำ ด.ดอกคำใต้ ร่วมพิธีหล่อพระสิงห์ 1 เป็นประธานบรรจุหัวใจองค์พระพุทธรูปองค์ที่ 109 ของวัด โดยมีนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีต ส.ส.เชียงราย ร่วมพิธีด้วย เสร็จพิธีพบปะประชาชนแล้วเดินทางกลับจังหวัดเชียงใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวพะเยาต่างดีใจในการเดินทางมาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์อย่างมาก เพราะครั้งล่าสุดที่เดินทางมาที่ จ.พะเยาเมื่อครั้งเป็นนายกฯ ในปี 2555

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน